โค้งสุดท้ายกับการการชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. กสศ. และ PPTVHD 36 ชวนผู้สมัครร่วมประชันวิสัยทัศน์แก้ปัญหาคนกรุง ในหัวข้อ ‘เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ’ นำเสนอเคสรับเปิดเทอม คุณยายวัยเกษียณสีไวโอลินเลี้ยงชีพ หาค่าเทอมส่งลูกเรียนชั้น ม.4 ซึ่งมีหนี้จากค่าเล่าเรียนเกือบ 1 แสนบาท เปิดปมปัญหาคน กทม. เรียนฟรีมีจริงหรือไม่ สะท้อนความรู้สึกคนรายได้น้อยในเมืองใหญ่ที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อให้ลูกหลานได้มีที่มีทางในระบบการศึกษา หวังเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงครอบครัวให้ดีขึ้น และฟังชัด ๆ ถึงแนวทางแก้ปัญหาของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. แต่ละท่าน ที่จะกำหนดอนาคตทางการศึกษาให้กับลูกหลานคนกรุงเทพ ฯ
‘ครูจิ๋ว’ ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน (ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ) เผยภาพครอบครัวคุณยายจงกลกับน้องแมน ที่คุณยายมีรายได้จากเงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกเดือนละ 200 บาททำให้ต้องเลี้ยงชีพด้วยการสีไวโอลินบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม โดยรับช่วงงานจากคุณตาที่เสียชีวิตไปเมื่อ 3 ปีก่อน
ส่วนน้องแมนเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี สามารถสอบเข้าเรียนหลักสูตร EP (English Program) ในโรงเรียนรัฐบาล แต่ก็แลกกับค่าใช้จ่ายต่อเทอมที่สูงถึงเทอมละ 20,700 บาท ทำให้ครอบครัวต้องเป็นหนี้การศึกษาติดค้าง 6 เทอม เป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท
ครูจิ๋วสะท้อนว่า เรื่องราวของครอบครัวคุณยายจงกลเป็นหนึ่งในเคสที่ฉายภาพปัญหาหนึ่ง ของครอบครัวคน กทม. ในฐานะสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษาที่ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า ‘เรียนฟรีไม่มีอยู่จริง’ และด้วยความสุ่มเสี่ยงรอบด้าน เมื่อมองในระยะยาวก็ไม่มีความแน่นอนใด ๆ เลยที่น้องแมนจะเรียนไปได้จนตลอดรอดฝั่ง ดังนั้น จะมีนโยบายด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง ที่จะช่วยให้เด็กที่มีความสามารถ มีความตั้งใจ ได้เข้าถึงโอกาส มีความมั่นคงทางการศึกษา หรือสามารถทำงานที่เหมาะสมไปพร้อมเรียนไปด้วยได้ เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและไม่หลุดไปจากระบบกลางคัน
แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย ‘มหานคร 24 ชั่วโมง’
โฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 24 กล่าวว่าปัญหาใหญ่ของคนกรุงวันนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ จึงต้องเปลี่ยน กทม.ให้เป็นเมืองที่ทำมาหากินได้ 24 ชั่วโมง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความยากจนหรือหนี้สินไปพร้อมกัน
“งานเร่งด่วนเลยคือเราต้องพักหนี้หรือช่วยไกล่เกลี่ยหนี้สิน เพื่อให้ทุกคนเดินต่อไปได้ เพราะอย่าลืมว่าความยากจนคือต้นตอของปัญหาที่จะลุกลามไปถึงปากท้อง
คุณภาพชีวิต การศึกษา ยาเสพติด หรืออาชญากรรมต่าง ๆ ฉะนั้นการพา กทม. พ้นความยากจน เราต้องเร่งทำกิน ขยายงาน สร้างงาน แล้วเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คนได้กลับมาทำงาน เมืองจะมีงบประมาณมากขึ้นในการพัฒนาส่วนอื่น ๆ”
“ปัญหาของคุณยายจงกลกับน้องแมนคือประเด็นการศึกษา วันนี้เรายังเรียนฟรีไม่จริง มีค่าใช้จ่ายมากมายที่ตามมา ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคของคนรายได้น้อยที่เราต้องทำสิ่งแรกคือผลักดันให้เด็กเรียนฟรีจริง แล้วจัดตั้งกองทุนพิเศษ สนับสนุนคนที่มีความสามารถให้เขาไปสู่การเรียนในระดับสูง หรืออาชีพที่ต้องการผู้ชำนาญเฉพาะทาง ส่วนผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถ ต้องชักชวนให้เขานำประสบการณ์ความสามารถที่มีอยู่ มาถ่ายทอดในศูนย์ส่งเสริมอาชีพให้กับคนอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราดันให้เป็นนโยบายได้เลยไม่ต้องแก้กฎหมาย”
‘รัฐสวัสดิการ’ ทุเลาปัญหา พาให้เมืองเดินหน้าต่อไป
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 เสนอว่า 1 ใน 12 นโยบายที่เสนอไว้ คือการ ‘ระดมสวัสดิการ’ เช่นเติมเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600 เป็น 1,000 บาท เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี และคนพิการ เพิ่มเป็นรายละ 1,200 บาท ต่อเดือน และต้องสนับสนุนให้มีการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลคนทุกคน โดยแม้เงินที่เสนอให้เพิ่มเข้าไปจะมีจำนวนไม่มาก แต่จะช่วยทุเลาปัญหาได้ทันที
“เงินส่วนที่เติมให้กับทุกคนนี้ไม่ใช่เงินสงเคราะห์ แต่คือสวัสดิการที่จะทำให้เมืองนี้เดินต่อไปได้ เป็นเงินที่จะเข้าไปหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน นี่คือหลักการของการให้คนตัวใหญ่ดูแลคนตัวเล็ก ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้ราว 7,300 – 8,000 ล้านบาท เงินส่วนนี้ กทม. จะเก็บได้จากภาษีที่ดินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และทวงหนี้ค้าง 2 ปี ที่รัฐลดภาษีที่ดินรวมมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทมาเติมเข้าไปด้วย นอกจากนี้จะมีการผลักดันการเก็บภาษีลาภลอยเข้าสภา อย่าลืมว่าพื้นที่เศรษฐกิจทุนนิยมที่มีห้างใหญ่โตหลายแห่ง คือประโยชน์จากการพัฒนาเมืองที่ทุนใหญ่ได้รับ ทั้งที่การพัฒนาเมืองนั้นมาจากเงินภาษีที่นายทุนไม่เคยต้องจ่าย ดังนั้น เราจะเอาเงินก้อนนี้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่”
“ส่วนเรื่องการศึกษาเท่าที่มีอยู่อาจจะมีฟรีจริง แต่ต้องแลกกับการศึกษาที่ห่วย ขณะที่น้องแมนเรียนในโปรแกรมที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อคุณภาพการศึกษา
ถึงเวลาแล้วรึยังที่เราต้องมีงบประมาณดูแลทุกโรงเรียนให้มีคุณภาพเสมอกัน ไม่ใช่ใครอยากเรียนฟรีจ่ายถูกต้องยอมรับความห่วย แล้วถ้าไม่ยอมจำนนคุณก็ต้องดิ้นรนหามาจ่ายเพิ่ม เราถึงต้องมีนโยบายปรับปรุงโรงเรียนให้มีมาตรฐานเท่ากันทุกแห่ง แล้วเราจะแก้ได้ที่รากของปัญหาเลย”
“แล้วผมอยากย้ำว่าต่อให้น้องเรียนไม่เก่ง เขาก็ต้องได้สิทธิ์ หรือโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น เราต้องดูแลเด็กทุกคนไม่ว่าฉลาดเป็นพิเศษหรือเรียนไม่เก่งเลย เพื่อให้เขาได้เรียนเท่าที่เขามีความสามารถและอยากเรียน”
กองทุนกู้ยืมไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อตั้งต้นประกอบอาชีพ
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 กล่าวว่า เคสของยายจงกลและน้องแมน แยกออกได้เป็น 2 ปัญหา ข้อแรกคือ ต้องทำให้ทุกโรงเรียนใน กทม.เรียนฟรีจริง ครอบคลุมทุกอย่างทั้งค่าเทอม อุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง เครื่องแบบ หรือหนังสือเรียน
“ส่วนหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการศึกษา กทม. ต้องเข้าไปช่วย ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของการดูแลสงเคราะห์ให้คนช่วยตัวเองไม่ได้สามารถลุกขึ้นตั้งหลักได้ อย่างกรณีนี้เขาไม่สามารถประกอบชีพได้ กทม. ต้องลงพื้นที่สำรวจแต่ละเขตว่าคนทำมาหากินทำอาชีพอย่างไร มีผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางมากน้อยแค่ไหน แล้วต้องมีการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อเป็นเงินตั้งต้นให้คนประกอบอาชีพได้”
หนุนเด็กที่มีความสามารถแต่ขาดทุนทรัพย์ให้เข้าถึงโอกาส
ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 กล่าวว่า ครอบครัวคุณยายจงกลคือตัวอย่างที่ดีในแง่ของทัศนคติด้านการศึกษาที่พร้อมสนับสนุนให้น้องได้เรียนอย่างดีที่สุด ประกอบกับน้องแมนมีความตั้งใจมีความสามารถ ใฝ่รู้ ประเด็นนี้ กทม. ต้องเข้ามาดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กเรียนฟรีได้จริง เพราะที่ผ่านมา ครอบครัวถือเป็นกลไกหนึ่งที่ดึงเด็กออกนอกระบบการศึกษา ดังจะเห็นว่ามีผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่เขาลำบาก เมื่อส่งลูกหลานไปเรียนแล้วต้องรับภาระการศึกษาที่หนักเกินกำลัง เขาจะคิดว่าเอาลูกกลับมาดีกว่า อย่างน้อยออกมาจากโรงเรียนก็เป็นการเพิ่มแรงงานหาเงินเข้าบ้านอีกหนึ่งคน
“เด็กที่มีพรสวรรค์เรียนดี กทม. ต้องคัดออกมา สนับสนุนให้เขาได้เรียนตรงตามความสามารถ ทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ แล้วทำให้น้องเติบโตขึ้นมาสร้างประโยชน์กับสังคมในอนาคต สำหรับคุณยายจงกลเราต้องดูเรื่องการส่งเสริมให้ประกอบอาชีพ เพราะที่ต้องมาสีไวโอลินเนื่องจากหลังคุณตาเสียไป เขาก็ไม่มีทางอื่นที่จะประกอบอาชีพได้เลย”
ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีความเป็นนักบริหาร หาเงินนอกกรอบได้
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวว่า การพัฒนาสังคมคือปัญหาหลักที่ต้องเร่งจัดการไม่แพ้น้ำท่วมหรือรถติด โดยจากประสบการณ์ในตำแหน่งรองผู้ว่า กทม. พบว่า งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จะลงไปที่งานพัฒนาสังคมเพียง 2 ร้อยล้าน ซึ่งยืนยันได้ว่ายังไม่เคยมีการให้น้ำหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“การพัฒนาสังคมเราต้องตั้งต้นที่เงินทุน ในแง่ของการเติมในสิ่งที่เขาอยากได้ แล้ว กทม. สามารถเข้าไปสนับสนุน ซึ่งเรามีระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว ที่สำคัญคือเราต้องติดอาวุธให้เขาด้วย กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพอยู่แล้ว ต้องทำให้ครบวงจร ตั้งแต่อบรมอาชีพจนถึงหาที่ทำกินที่ยั่งยืน”
“ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีความเป็นนักบริหาร สามารถหาเงินนอกกรอบ จะรอเงินจากรัฐอย่างเดียวมาแก้ปัญหาไม่พอแน่ ศักยภาพตรงนี้ผู้ว่าต้องมี เช่นเอาขยะให้เอกชนไปแปรเป็นเงินกลับมา หรือการเก็บภาษีโรงแรมจากชาวต่างชาติ ซึ่งเงินจากส่วนนี้เราเอามาช่วยคนได้อีกมาก ส่วนเรื่องโรงเรียน กทม. ได้เปรียบตรงที่ใน 50 เขต เรามีโรงเรียนถึง 437 โรงเรียน เฉลี่ยเขตละ 10 โรงเรียนใกล้บ้าน ปัญหาคือมาตรฐานยังไม่ดี เราต้องทำให้คุณภาพเท่ากัน และเรียนฟรีหมด นี่คือสิ่งที่ กทม. ทำได้ ด้วยอำนาจอิสระไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง สำคัญคือต้องมีเงิน และติดอาวุธให้กับเขาด้วย”