สถ. และ กสศ. พร้อมเชื่อมโยงการทำงานในทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
พูดคุยกับ มนสวรรค์ สืบศรี หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ทางการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

สถ. และ กสศ. พร้อมเชื่อมโยงการทำงานในทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  มาแล้วเป็นปีที่ 5 เพื่อพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาครู และสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งสองหน่วยงานได้สร้างความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกการส่งต่อนักเรียน การเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียน สำหรับการคัดกรองความยากจนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด อปท. ทั่วประเทศ เกิดการปฏิรูปรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนค่าปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ด้วยการใช้ข้อมูลการคัดกรองความยากจนชี้เป้าเพื่อการจัดสรรเงินนักเรียนเป็นรายบุคคล ได้มากกว่า 25,000 คนต่อปีการศึกษา 

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ‘มนสวรรค์ สืบศรี’ หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ทางการศึกษาท้องถิ่น กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวถึงการทำงานระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงมิติอื่น ๆ อีกหลายด้าน 

มนสวรรค์ สืบศรี

หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ทางการศึกษาท้องถิ่น สถ. เล่าว่า การจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในบทบาทความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด คือเรื่องของการส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานกลาง ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เหมือน สถ. เป็นต้นคิด และคอยคล้องแขนจับมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอื่น ๆ มาร่วมกันทำให้สำเร็จ หากขับเคลื่อนไปโดยลำพังอาจจะเกิดผลเชิงประจักษ์ได้ยากในระยะเวลาที่จำกัด ภาระงานของ สถ. เหมือนการทำงานของ กสศ. ที่พยายามจะผนึกกำลังจากภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการศึกษา ในทุก ๆ มิติ เพื่อที่จะมาเติมเต็ม ให้เป้าหมายที่วางไว้สำเร็จลุล่วง

“การทำงานที่ผ่านมา ก็เหมือนการได้สัมผัสความเป็นจริงในระดับพื้นที่ บางพื้นที่ บางจังหวัด ก็ให้ความร่วมมือกับนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พยายามหาแนวทางเติมเต็มอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็ก ให้กับเยาวชนในท้องถิ่น บางพื้นที่ก็อาจจะถูกสังคมเมืองเข้าไปกลืนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เกิดเป็นช่องว่างทางสังคม กลายเป็นท้องถิ่นที่อยู่กันแบบตัวใครตัวเขา หากปัญหานี้เกิดขึ้นกับที่ไหน ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทลายกำแพงระหว่างกันที่เกิดขึ้นในชุมชน

“ช่วงที่โควิค-19 ระบาด เป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของหลาย ๆ ปัญหา ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องของการขาดโอกาสในหลาย ๆ มิติ สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคน ทุกชุมชน จะใช้ชีวิตเพียงลำพัง ขาดความเอาใจใส่ต่อคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ได้ วิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่กระตุ้นให้ทุกคนต้องมาช่วยกันทบทวนว่า เราจะหาวิธีดูแลคนในทุกช่วงอายุและทุกกลุ่มได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยต้องใช้เวลาและการทำงานที่ต่อเนื่องเพื่อสร้าง Mindset สร้างกรอบความคิด ทัศนคติ ให้เข้าใจความหมาย และตระหนักว่า การดูแลคนทุกกลุ่ม และพยายามสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือปล่อยให้สมาชิกในชุมชนคนหนึ่งคนใดเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เพียงลำพัง คือ จุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนสังคมในระดับฐานราก”

หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ทางการศึกษาท้องถิ่น สถ. เล่าอีกว่า ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ทำให้บอกได้ว่า การที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามและความต่อเนื่อง ไม่มีที่ไหนที่เราให้นโยบายการทำงานไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทันที ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ อปท. จัดตั้งขึ้นมาเอง โรงเรียนดังกล่าวมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมองการพัฒนาที่กว้างไกล พอที่จะหาช่องทางว่าทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน หามาตรการที่เหมาะสม และแก้ปัญหาได้จริงมาช่วยให้เด็กในพื้นที่เข้าถึงการศึกษา โดยไม่มีใครหลุดจากระบบการศึกษา  

โรงเรียนแห่งนี้ใช้วิธีออกแบบการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นต่อทักษะชีวิตของเด็ก สามารถสร้างให้เด็กมีความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของแต่ละคนได้ บางคนเก่งเรื่องกีฬา ก็ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ บางคนเก่งด้านคอมพิวเตอร์ ก็ได้รับการศึกษาที่ช่วยให้เรียนรู้จนต่อยอดไปสู่ความเป็นมืออาชีพได้ โรงเรียนแห่งนี้ สามารถออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง มีรายได้ระหว่างเรียน สามารถนำทักษะไปใช้ในการทำงานที่ถนัดได้จริง เป็นการจัดการศึกษาที่ช่วยให้เด็กที่เรียนจบแล้วมีแนวทางในการดูแลตัวเองได้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนแห่งนี้ มาจากความร่วมมือของหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร อปท. ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรในโรงเรียน มองเป้าหมายของการจัดการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน

แต่การทลายกำแพงให้บุคลากรของแต่ละท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่มองเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนโรงเรียนไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า นโยบายเดียวกัน อาจจะสร้างความสำเร็จให้กับโรงเรียนหนึ่ง แต่กลับไม่เกิดผลลัพธ์อันพึงประสงค์ในบางโรงเรียน อาจเป็นเพราะบุคลากรของโรงเรียนหรือพื้นที่ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่จะเปลี่ยนแปลง และเลือกที่จะอยู่แบบเดิม

ปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนของท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คือคนในชุมชน ที่เริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าของความเป็นสังคมนั้น ๆ เกิดมุมมองร่วมกันว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ชุมชนที่ตัวเองพักอาศัยอยู่ มีอนาคตที่ดีขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ หากคนในชุมชนได้รับแรงกระตุ้นจากผู้นำ หรือบุคคลที่คนในชุมชนให้การยอมรับ เหมือนในหลาย ๆ พื้นที่ ที่ กสศ. ให้บุคลากรที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่ได้ อย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ไปจุดประกายให้คนในพื้นที่ ขับเคลื่อนชุมชนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถเปลี่ยนโรงเรียนให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้เด็กในพื้นที่เข้าถึงการศึกษาโดยไม่มีใครหลุดจากระบบการศึกษาได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่อยากมีต้นแบบความสำเร็จ ไว้เป็นพิมพ์เขียวเพื่อดำเนินตาม

มนสวรรค์กล่าวอีกว่า อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้ง ต้องช่วยเหลือประชาชน ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่หลายแห่งก็ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หลายแห่ง ยังไม่มีใครที่จะช่วยชี้ทิศทางการทำงานที่ถูกต้องให้กับพื้นที่ สิ่งที่อยากเห็นเพื่อเติมเต็มในส่วนนี้ อาจจะยกตัวอย่างได้จากกรณีที่ กสศ. ไปจับมือกับ อบจ.ปัตตานี จนสามารถสร้างกลไกการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จากบุคลากรในระดับตำบลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด  

ตัวอย่างความร่วมมือที่กล่าวมา ทำให้เกิดเครื่องมือสำคัญในการค้นหาเคสและให้ความช่วยเหลือ มีกองทุนให้ความช่วยเหลือ มีระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงข้อมูลของ รพ.สต. แต่ละพื้นที่ เกิดแนวทางในการดึงต้นทุนทางวัฒนธรรม มาเป็นทุนในการช่วยเหลือและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กและเยาชนในพื้นที่และออกแบบระบบการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ต้องย้ำว่า ผู้นำทางความคิดที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายให้ชุมชนลุกขึ้นมาออกแบบแนวทางในการดูแลตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญ

“ภารกิจที่ กสศ. ทำอยู่กับเด็กทุกช่วงวัย ทั้งที่อยู่ในวัยเรียนและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา เป็นเรื่องที่เดินมาถูกทางแล้ว ในอนาคตอยากให้มองไปที่กลุ่มของเด็กปฐมวัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรในวัยเด็กที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสร้างกลไกและช่วยกันหาแนวทางให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการพัฒนาในแต่ละด้านอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เด็ก ก็จะเป็นเหมือนการเข้าไปดูแลหรือแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทาง

“อีกส่วนหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นก็คือเรื่องของงานวิจัยด้านต่าง ๆ ที่สามารถนำมาส่งเสริมและสนับสนุนข้อเท็จจริงของสังคมไทย ในมิติต่าง ๆ  ที่ครอบคลุมกับปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา งานวิจัยที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกลไก ยุทธศาสตร์ และแนวทางในการบูรณาการการทำงานในระดับนโยบาย เกิดแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับชุมชน มาจนถึงส่วนกลาง เชื่อมโยงกับแนวทางในการแก้ไขความยากจนในกลุ่มคนเปราะบาง เชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อวางเป้าหมายในการทำงาน ให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย ไปพัฒนาการทำงาน และมองไปในอนาคต สร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะทำให้คนทุกคนเท่ากันได้ แต่เราก็ไม่ย่อท้อในการที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ คน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ” มนสวรรค์กล่าวทิ้งท้าย