มากกว่าได้ครูใหม่ 1,500 คน คือการยืนยันว่าระบบผลิตครูเปลี่ยนแปลงได้
ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ยานแม่สายบู๊และผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

มากกว่าได้ครูใหม่ 1,500 คน คือการยืนยันว่าระบบผลิตครูเปลี่ยนแปลงได้

“เป้าหมายในการทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คนอื่นอาจมองว่า ผลิตครู 1,500 คน ไปบรรจุโรงเรียนปลายทาง แต่เป้าหมายลึกๆ ของอาจารย์ คือ การพัฒนาระบบผลิตครูตั้งแต่มหา’ลัย ถ้าทำสำเร็จอาจไม่ได้แค่ 1,500 คน แต่คุณจะได้อีกมหาศาล เด็กที่ไม่ได้รับทุนก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย”

สำหรับผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ในฐานะผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  นี่เป็นหนทางหนึ่งที่จะเข้าไปพัฒนาระบบผลิตครูแบบดั้งเดิม ที่อาจารย์มองเห็นจุดอ่อนตั้งแต่สมัยทำงานในระบบมหาวิทยาลัย เช่น การทำหลักสูตรสำเร็จรูปที่นิสิตนักศึกษาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ต้องเรียนเหมือนกันหมด แล้วก็เกิดปัญหาเมื่อมาเป็นครูจริงๆ ว่าจะปรับความรู้ให้เข้ากับบริบท สถานการณ์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่อย่างไร

ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

ทำให้กระบวนการผลิตครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกหานักเรียนที่อยากเป็นครูจริงๆ ผ่านกระบวนการติดตั้งความรู้และทักษะที่จำเป็น 

หนึ่งหัวใจสำคัญที่สุด อยู่ที่กระบวนการคัดกรองหาคนมาเป็นครู ถ้าตามระบบสมัครทุนทั่วไป เด็กจะเป็นฝ่ายเดินเข้ามาสมัครแต่ไม่ใช่สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะทุนนี้คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและ กสศ. จะเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาเด็กในที่พื้นที่ที่ขาดแคลนครู เพราะเป้าหมายคือการหาครูกลับไปบรรจุในชุมชนของเขา 

“เราต้องกลับไปที่บ้านเขา ได้คนตรงนั้นเพื่อมาเรียนครู ได้ไปเห็นบ้านเด็ก อันนี้มองในฝั่งมหาลัยนะ พออาจารย์ลงไปเห็นบ้านเด็ก เขาจะได้รู้ว่าเด็กคนนี้มีที่มาที่ไปยังไง” 

ภายใต้กระบวนการเดินเข้าไปหาเด็กแบบนี้ อ.พิสมัยบอกว่ามันค่อยๆ เปลี่ยนอาจารย์และครูอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นอีกหมุดหมายในการทำงานของอาจารย์ 

“อาจารย์เปลี่ยนบทบาทตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำในการไปค้นหาเด็ก ไม่ใช่แค่ได้เด็ก แต่เพื่อได้รู้ว่าเด็กมีที่มายังไง ได้ศึกษาบริบทโรงเรียนปลายทางด้วย เห็นว่าเด็กครอบครัวยากจนหน้าตาแบบนี้ คุณจะเติมอะไรให้เขา ไม่ได้เติมแค่ความรู้นะ สำคัญมากคือทักษะชีวิต”

ต่อมาคือค่ายเตรียมพร้อม อีกด่านสำคัญในการเฟ้นหาครูรัก(ษ์)ถิ่นตัวจริง 

“คำถามแรกที่เราจะถามเด็กๆ เสมอ คือ อยากเป็นอะไรถึงเข้าโครงการนี้ เด็กส่วนหนึ่งเลย 50-60% อยากรับราชการ อยากให้พ่อแม่ภูมิใจ อยากมีอาชีพมั่นคง นั่นไม่ใช่อยากเป็นครู เพราะทำอาชีพอื่นก็ได้ เราจึงต้องมีค่ายคัดเลือกครูที่แต่ละมหาวิทยาลัยออกแบบมา  ส่วนหนึ่งเพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ ก่อนว่า ครูทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็มีเครื่องมือประเมินว่า เขาเหมาะสมที่จะเป็นครูไหม”

เพราะในค่ายจะมีกระบวนการให้เด็กๆ ทดลองเป็นครู ให้ไปสัมผัสกับเด็กจริงๆ ดูว่า ถ้าไปเป็นครูแล้วเจอสถานการณ์ของเด็กๆ แบบนี้ จะอยู่ได้ไหม แก้ปัญหาได้หรือเปล่า ตัดสินใจอย่างไร  

“เป็นการประเมินทั้งสองฝ่าย ทั้งมหา’ลัยว่าคนนี้เหมาะเป็นครูไหม ส่วนผู้สมัครก็ได้ประเมินตัวเองว่า ฉันอยากเป็นครูจริงๆ ไหม”

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อปลายทางให้ได้ครูที่เหมาะสมโรงเรียนปลายทาง และเป็นครูที่พ่วงด้วย ‘นักพัฒนาชุมชน’ อีกตำแหน่ง

“ถ้าเราจะสอนให้เด็กเป็นครูนักพัฒนาชุมชน อาจารย์ต้องรู้ก่อน ไม่รู้ไม่ได้ การที่อาจารย์ลงไปศึกษาชุมชน ไปรู้ว่าชุมชนเขาเข้มแข็งอะไร หรืออ่อนแอตรงไหน บางชุมชนมียาเสพติด ต้องคิดต่อว่า จะเลือกครูเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายดี คิดเผื่ออนาคตที่เด็กจะไปทำงานด้วย อาจารย์ก็มีการบ้านกลับมา ฉันจะต้องออกแบบอย่างไร เพื่อให้ครูคนนี้เมื่อกลับไปอยู่ชุมชนแล้วสามารถอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ทำงานสอน แต่จัดการทั้งเนื้อทั้งตัวของเด็กไปหมดเลย”

การอยู่ในระบบการศึกษามายาวนาน ตั้งแต่บทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยผลิตครู จนมาถึงเบื้องหลังการทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นกับ กสศ. ที่อาจารย์พิศมัยตั้งใจว่า อยากให้เป็นตัวอย่างของความริเริ่มและทางเลือกใหม่ในการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตครู ด้วยการกลับตั้งต้นยังสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครู พาเขาลงพื้นที่ สัมผัสสถานการณ์จริงๆ ที่ครูจะต้องเจอ เพื่อติดตั้งทักษะและความรู้ที่จำเป็น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เพิ่มครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มาจากระบบผลิตใหม่ แต่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และทำได้จริงในระบบการผลิตครู ทำให้ครูที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา ทำหน้าที่ผลิตและดูแลการเติบโตของเด็กๆ ได้อย่างแท้จริง

อยากชวนอาจารย์คุยถึงกระบวนการผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น ขั้นตอนคัดเลือกเด็กที่ครูต้องเป็นฝ่ายไปค้นหาถึงในพื้นที่ที่เขาอยู่ ต่างจากทุนอื่นที่เด็กเป็นฝ่ายมาสมัครเอง เพราะอะไร

เพราะเดิมมหาวิทยาลัยจะรอเด็กมาสมัครเรียนเอง อาจารย์ไม่รู้ภูมิหลัง ไม่ทราบที่มาที่ไปของเด็ก รู้แค่ว่าเด็กอยากเป็นครู เมื่อใช้ระบบให้เด็กเดินเข้ามามหา’ลัย ก็จะใช้ ‘หลักสูตรสำเร็จรูป’ ไม่ว่าคุณมาจากไหนก็ตาม คุณเรียนหลักสูตรเดียวกันหมด แล้วไปหาวิธีใช้เอง (apply) เช่น เด็กมาจากเชียงใหม่ ยะลา บุรีรัมย์ กรุงเทพ เราไม่ได้สนใจที่มาของเด็ก เพราะมีหลักสูตรแบบเดียวเรียนเหมือนกัน แต่เขากลับไปเจอบริบทไม่เหมือนกัน หน้าที่ของเด็ก คือ ต้องหาทางใช้เอาเอง ทำให้เรียนไป 100% ใช้ได้จริง 20% ที่เหลือลบทิ้ง

เพราะเป้าหมายโครงการเราต้องการหาครูกลับไปบรรจุที่โรงเรียนในบ้านเขา ฉะนั้น ต้องลงพื้นที่ไปเพื่อหาคนมาเรียนเป็นครูจึงจะได้ตรงจุด ถ้ามองในมุมมหา’ลัย อาจารย์ลงไปเห็นบ้านเด็ก เขาจะได้รู้ว่าเด็กคนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อเอากลับมาดีไซน์หลักสูตร ดีไซน์การเรียนรู้ให้เด็กคนนี้ เพราะเด็กมีที่มาไม่เหมือนกัน บางคนมาจากทะเล ท้องนา หุบเขา ฯลฯ เขาเอาความรู้ที่ได้กลับไปใช้ในบริบทที่ต่างกัน เด็กไม่ใช่คนที่ต้องกลับไปทำเอง แต่อาจารย์ต้องออกแบบให้สอดคล้อง เพื่อเด็กจะได้เข้าใจว่า อ้อ ความรู้ชุดนี้ที่เขาเรียน เขาจะเอาไปใช้อย่างไรต่อ ไม่ได้ผลักภาระไปให้เขา

ที่อาจารย์เกริ่นมาทั้งหมดเพื่ออยากบอกว่า ที่ผ่านมาการเรียนครู คือ เรียนอะไรมากมาย ไปถึงหน้างานปรับใช้ความรู้เอาเอง ฉะนั้น เป้าหมายของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คนอื่นอาจมองว่า ผลิตครู 1,500 คน ไปบรรจุโรงเรียนปลายทาง แต่เป้าหมายลึกๆ ของอาจารย์พิศมัย คือ การปรับเปลี่ยนระบบผลิตครูตั้งแต่มหา’ลัย ถ้าเปลี่ยนสำเร็จอาจไม่ได้แค่ 1,500 คน แต่คุณจะได้อีกมหาศาล เด็กที่ไม่ได้รับทุนก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย 

เป้าหมายของเรา คือ การปรับระบบผลิตครู อาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทตั้งแต่ต้นน้ำการไปค้นหาเด็ก  ได้ศึกษาบริบทโรงเรียนปลายทางด้วย ไม่ใช่แค่ได้เด็ก แต่ได้รู้ว่าเด็กมีที่มาอย่างไร คุณจะเติมอะไรให้เขา ไม่ได้เติมแค่ความรู้ แต่เติมสิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ ทักษะชีวิต สังเกตไหมว่าตอนเรียนปริญญาตรีเราได้เรียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราไหม?

ไม่ค่อยเท่าไหร่

เราต้องลองผิดลองถูกกันเอง โดยพื้นฐานเราต้องมีทักษะชีวิตขั้นพื้นฐานก่อน เราถึงจะไประดับความรู้ ระดับอาชีพ แต่บ้านเราสอนแต่ความรู้ ที่เหลือคุณไปหาเอง เด็กที่ยากจนขาดโอกาส เขาไม่มีสิ่งเหล่านี้มาเติมในระบบครอบครัว เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาต้องมารองรับเขาด้วยการเติมสิ่งเหล่านี้เข้าไป

อาจารย์ขอยกตัวอย่างเคสเด็กคนหนึ่ง ครอบครัวยากจนมาก ไปที่บ้านมีแต่ขยะเต็มไปหมด ในห้องน้ำก็เต็มไปด้วยขยะ มีหนอนขึ้นด้วย หม้อหุงข้าวเสียบทิ้งไว้ ถ้าเกณฑ์ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เด็กคนนี้ควรได้ทุนเพราะปัจจัยความยากจน แต่คำถามคือเด็กคนนี้เหมาะกับเป็นครูไหม? คำถามต่อมาคือทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้นล่ะ พ่อเป็นชาวประมงออกไปหาปลาตั้งแต่ดึกๆ กลับมาอีกทีสว่าง แม่เป็นแม่ครัวในโรงแรม ออกไปทำงานตั้งแต่เที่ยงคืน กลับมาอีกทีเที่ยงคืนอีกวัน เด็กมีพ่อแม่แต่ไม่ได้อยู่สอนความเป็นมนุษย์ให้เขา เด็กไม่รู้ว่าแบบนี้เรียกสกปรก หรือเสียบหม้อหุงข้าวทิ้งไว้แบบนี้ ไม่มีใครมาบอกเขาว่าไม่ปลอดภัย

สุดท้ายอาจารย์ตัดสินใจพาเด็กคนนี้มาสอนในมหา’ลัย ถ้าเจอการสอนแบบเดิมๆ เดินเข้ามาไม่มีใครสนใจ ให้แต่ความรู้ จดเลกเชอร์ กลับไปอยู่บ้านใช้ชีวิตแบบเดิม แต่เราต้องการเปลี่ยนกระบวนการตรงนี้ ฉะนั้น เวลาอาจารย์ไปเห็นเด็กคนนี้ ไปเห็นบ้านเขา อาจารย์จะดีไซน์กิจกรรม เช่น กิจกรรมห้องพัก ให้เด็กรู้จักการดูแลสุขภาวะ รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่น เอาสิ่งเหล่านี้กลับไปใช้ที่บ้าน แล้วถ้าเขาเป็นครู สิ่งเหล่านี้จะติดตัว เอาไปดูแลนักเรียนต่อ อาจารย์ว่าทักษะแบบนี้สำคัญกว่าความรู้แบบกระดาษ ถ้าเขาเข้าใจเขาจะสามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ จึงเป็นที่มาว่าทำไมอาจารย์ต้องลงไปค้นหาเด็กถึงบ้าน เพื่อเข้าใจที่มาและปัญหาของเด็กแต่ละคน

ไม่ใช่แค่ไปบ้านของเด็ก แต่ได้ไปเห็นชุมชนที่เด็กอยู่ด้วย?

เพราะเขาเป็นครูนักพัฒนาชุมชน อาจารย์ในมหา’ลัยไม่ถนัดงานพัฒนาชุมชน เพราะอาจารย์เป็นอาจารย์สอนแต่ครู พอวันหนึ่งที่เราบอกว่า อาจารย์ที่สอนครู ต้องสอนให้ครูเป็นนักพัฒนาชุมชนด้วย โลกแตกเลย อาจารย์ไม่เคยลงชุมชน ถ้าจะสอนต้องเอาอาจารย์คณะมนุษย์หรือสังคมมาสอน ความรู้มันถูกแยกส่วนกัน นักพัฒนาชุมชนไปทาง ครูไปทาง แต่เราต้องการให้ 2 อย่างอยู่ในตัวคนคนเดียว เพราะฉะนั้น อาจารย์ในคณะผลิตครูต้องลงชุมชนเพื่อไปดูว่า เด็กคนนี้กลับบ้านไปต้องเจออะไร เขาจะไปสร้างอะไรได้

ภาษาไทยเรามีคำว่า ‘บวร’ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นหน่วยสังคมที่ต้องทำงานร่วมกัน เมื่อเราแยกส่วน แยกกระทรวงทำงาน โรงเรียนไปอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ชุมชนผู้ใหญ่บ้านสังกัดกระทรวงมหาดไทย วัดไปอยู่อีกกระทรวงหนึ่ง 3 อันนี้มันก็เลยแยกกันทำงาน แต่ชีวิตมนุษย์ไม่ได้แยกส่วนขนาดนั้น เราต้องการให้สิ่งเหล่านี้กลับมาบูรณาการ ครูจึงมีหน้าที่กลับไปดูแลชุมชนของตัวเองด้วย โดยการจัดการ การเรียนรู้ เอาศาสตร์ของความเป็นครูไปช่วยพัฒนาชุมชน 

ดังนั้น ถ้าเราจะสอนให้เด็กเป็นครูนักพัฒนาชุมชน อาจารย์ต้องรู้ก่อน ไม่รู้ไม่ได้ การที่อาจารย์ลงไปศึกษาชุมชน ไปรู้ว่าชุมชนเขาเข้มแข็งอะไร หรืออ่อนแอตรงไหน บางชุมชนมียาเสพติด ต้องคิดต่อว่า จะเลือกครูเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายดี คิดเผื่ออนาคตที่เด็กจะไปทำงานด้วย ถ้าเด็กคนนี้มาเป็นครูจะทำยังไง อาจารย์ก็มีการบ้านกลับมา ฉันจะต้องออกแบบอย่างไร เพื่อให้ครูคนนี้เมื่อกลับไปอยู่ชุมชนแล้วสามารถอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ทำงานสอน แต่จัดการทั้งเนื้อทั้งตัวของเด็กไปหมดเลย

นอกจากฐานะครอบครัวแล้ว มีปัจจัยอื่นๆ อีกไหมที่จะดูว่า เด็กคนหนึ่งเหมาะกับการเป็นครูจริงๆ

ครูดีไม่จำเป็นต้องยากจน เพียงแต่พันธกิจนี้มาอยู่ภายใต้ กสศ. ที่ทำเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา มันก็เลยต้องใช้เกณฑ์ความยากจนเข้ามาเพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณแผ่นดินที่จะสามารถสนับสนุนทุนได้ เด็กบางคนที่ไม่ได้ทุนไม่ใช่เขาเป็นคนไม่ดี แต่เขาไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของเรา หลังจากที่ทำมา 5 รุ่น เราคิดว่า ได้รูปแบบบางอย่างที่สามารถนำเสนอเป็นต้นแบบ หรือเป็นโมเดลของการคัดเลือกคนจะมาเรียนครูได้ คือ การทำค่ายเตรียมความพร้อมคนที่จะมาเป็นครูก่อน

โดยปกติมหา’ลัยจะจัด Open House เชิญเด็กมารับรู้ว่า มหา’ลัยสอนอะไร ค่ายคัดเลือกครูเป็นค่ายที่มหา’ลัยดีไซน์ขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ ที่จะมาเรียนครูก่อน แต่ขณะเดียวกันก็มีเครื่องมือประเมินว่า เขาเหมาะสมที่จะเป็นครูไหม มันก็ประเมินทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้เลือกอย่างมหา’ลัย และผู้สมัครเข้าค่ายได้ประเมินตัวเองว่า ฉันอยากเป็นครูจริงๆ ไหม

จุดเด่นของค่าย คือ ให้เด็กได้ทดลองเป็นครู ไปสัมผัสกับเด็กจริงๆ ว่า ถ้าคุณเป็นครู แล้วเจอสถานการณ์ของเด็กแบบนี้ คุณอยู่ได้ไหม คุณแก้ปัญหาได้หรือเปล่า อยากเป็นครูปฐมวัยก็ลองไปอยู่กับเด็กอนุบาล ไปจัดกิจกรรมเล่านิทาน แล้วดูซิว่าเด็กฟีดแบ็กเขายังไง  มีเครื่องมือวัดประเมินที่อาจารย์ต้องออกแบบมาว่า พฤติกรรมเด็กแบบนี้โอเคหรือไม่โอเค

นอกจากการคัดเลือกเด็กแล้ว มหาวิทยาลัยก็สำคัญไม่แพ้กันในการผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น โครงการมีวิธีคัดกรองอย่างไร

สิ่งแรกที่เราต้องมองก่อน คือ สถาบันไหนเหมาะที่จะเข้าร่วมโครงการเรา เราเคยเจอคำพูดที่รู้เลยว่า มหา’ลัยนี้ไม่พร้อม เช่น มีคนสมัครมา 200 คน คัดแค่ 30 คน เขาบอกไม่ยาก จะไปทำให้เหนื่อยทำไม เดี๋ยวเด็กก็กรอกใบสมัครออนไลน์มา คัดเลือกเด็กเข้ามาสัมภาษณ์ 30 คน สบายจะตาย หรือระดับบริหารบนๆ อยากเข้าโครงการมาก อธิการบดีมาประชุมเองเลย แต่ระดับปฎิบัติอาจารย์ไม่พร้อม ไม่อยากเข้าโครงการ

ระบบในมหา’ลัยถูกแช่แข็งมานานมาก เขาเป็นผู้นั่งรับคนแล้วก็สอนตามสิ่งที่มี เราวิจารณ์ได้เพราะเคยเป็นอาจารย์มหา’ลัยมาก่อน อาจารย์ไม่ต้องเอาความรู้ไปปรับใช้อะไร สอนตามสิ่งที่มี สบายจะตาย

อาจารย์คิดว่า มันเป็นเรื่องของอุดมการณ์ เขามีอุดมการณ์ที่อยากปรับเปลี่ยนการผลิตครูเหมือนกับเราหรือเปล่า ถ้าไม่มี เขาได้เด็กไปกลุ่มหนึ่งก็ผลิตแบบเดิม เรายอมรับว่าอาจารย์มหา’ลัยเก่ง มีมหา’ลัยชั้นนำเยอะแยะ แต่เราไม่ได้ต้องการแบบนั้นอย่างเดียว เราต้องการมหา’ลัยที่ผลิตครูที่เหมาะกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล แล้วเราก็ไม่ได้คัดเพื่อให้ได้เด็กที่เก่งอย่างเดียว ต้องได้คะแนนสอบเยอะๆ ที่เด็กบางคนทำคะแนนไม่สูง เพราะท้องเขายังหิวอยู่เลย เราจึงวัดที่ใจ เขาพร้อมไหมที่จะพัฒนาตัวเอง 4 ปี กลับไปเป็นครูพัฒนาโรงเรียนเล็กๆ

ระบบการศึกษาเดิมของเราเน้นการแข่งขัน เน้นการดึงคนออกจากชุมชน บอกว่าถ้าคุณเรียนสูง คุณต้องเจริญขึ้นนะ มันฝังอยู่ในวัฒนธรรมของเราว่า เรียนสูงเมื่อไหร่ ต้องไปทำงานในเมืองที่เจริญกว่า ระบบการศึกษาไทยผลิตลูกจ้างนะ ไม่ผลิตให้คนมีอิสระที่จะทำอะไรเอง

ระบบการศึกษาแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากออกจากชุมชน เราได้ยินเด็กบอกเสมอว่า จบแล้วกลับไปทำงานที่บ้านไม่ได้ เพราะไม่มีงานทำ ต้องเปลี่ยนใหม่ว่า ทำงานในพื้นที่ไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ชุดที่จะไปทำงานในพื้นที่ได้ ระบบการศึกษาที่เราต้องการ คือ ระบบผลิตคนที่เหมาะสมสอดคล้องกับการกลับไปทำงานในพื้นที่นั่นแหละ ต่อให้เป็นครู ก็ต้องเป็นครูที่เหมาะที่จะกลับไปทำงานในพื้นที่ พื้นที่นั้นคืออะไร คือ บ้านของคุณ ไม่ใช่ที่อื่น ถ้าครูส่วนใหญ่บอกว่า ต้องการย้ายโรงเรียนเพื่อย้ายกลับบ้าน ถ้าเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ต้องย้ายกลับบ้าน จบแล้วบรรจุที่บ้านเลย คุณได้พัฒนาบ้านคุณ เติบโตไปพร้อมๆ กับชุมชน ลูกศิษย์คุณ

เราคิดว่า ระบบการศึกษาควรไปทิศทางนี้ ไม่ใช่แยกกันผลิต ผลิตสิ่งที่ไม่ตรงความต้องการชุมชน เมืองถึงโตเอาๆ ชุมชนเหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก เราถึงเลือกมหา’ลัยต่างจังหวัดเพราะเขาเข้าใจพื้นที่ พร้อมผลิตคนกลับไปท้องถิ่นตัวเอง มีหลายมหา’ลัยที่เข้าใจบทบาทตัวเองมากขึ้น พร้อมผลิตครูนักพัฒนาชุมชนสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 

เรื่องการสร้างครูในแบบที่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นกำลังทำงานอยู่ เรียกว่าเป็นความพยายามสร้างทางเลือกใหม่ที่เป็นไปได้ให้กับระบบผลิตครูแบบเดิมที่มีอยู่ได้ไหม

อ้างอิง VASK หลักการด้านการศึกษาสมัยใหม่ที่มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ ของ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช คือ V (values) ค่านิยมหรือแนวคิดว่าอยากประสบความสำเร็จอะไรในชีวิต ,  A(attitude) ทัศนคติหรือวิธีคิด ฝึกให้เด็กมีทัศนคติเชิงบวก , S(skills) ทักษะ การฝึกฝนเพื่อให้เกิดเทคนิควิธีการเพื่อการทำมาหากิน หรือเพื่อการดำรงชีวิต และ K(knowledge) ความรู้ การเรียนรู้สมัยใหม่ต้องไม่ใช่แค่ให้มี “ความรู้” แต่เพื่อเอาความรู้ไปใช้เป็น ที่ที่ผ่านมาเราอาจจะขาดการ สร้าง V กับ A ที่เป็นความเป็นครูที่แท้จริง ผ่านระบบการศึกษาที่ไม่ได้เน้นคุณค่าหรือทัศนคติ มันก็จะสร้างอะไรก็ได้ให้จบไป ไม่มีศาสตร์ความเป็นครูอยู่ในนั้น  เน้นให้ครูเป็นผู้บริหาร ไม่ได้มองว่าครูก็คือมนุษย์และมองคนอื่นอย่างเพื่อนมนุษย์

ครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เรากำลังสร้าง จะไปสร้างคุณค่าความเป็นครูได้อย่างไร

ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องเรียน Enrichment Program (กิจกรรมเสริมหลักสูตร) จะมีตัว A (attitude) และ S (skill)  พัฒนาทักษะ เจตคติแห่งความเป็นครูเยอะมาก วิชาที่สอนเชิงความเป็นมนุษย์ โปรแกรมจะมีทั้งระดับหลักสูตรและหอพัก หอพักไม่ใช่แค่พื้นที่การนอนหลับพักผ่อน แต่เป็นหอพักแห่งการเรียนรู้ เด็กจะมีสุขภาวะยังไง ทำอาหารกลางวันเป็นไหม มีส่วนร่วมการเป็นผู้นำ การอยู่ร่วมกับคนอื่น ผ่านกิจกรรมหอพัก 

สิ่งที่ขาดหายไปจากระบบผลิตครู เรามาเติมในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น หลายๆ ส่วนเราเติมผ่าน Enrichment Program ถ้ามหา’ลัยที่อยู่กับเรานานๆ ทำ Enrichment Program จนกระทั่งเข้าใจละว่า เออ มันได้ผล เราก็จะชวนเขาต่อว่า Enrichment Program มันไม่ยั่งยืน เพราะว่าเมื่อมีงบถึงจะทำได้ อาจารย์ควรเอาสิ่งที่อยู่ในโปรแกรมไปใส่เพิ่มในหลักสูตร เพราะการเป็นหลักสูตรมันจะยั่งยืนกว่า อาจารย์จะเปลี่ยนไปกี่คน ถ้าหลักสูตรยังอยู่ ยังมีรายวิชาแบบนี้อยู่ อาจารย์ก็ต้องสอน

การออกแบบ Enrichment Program บริบทพื้นที่ของมหา’ลัยมีผลด้วยไหม เช่น ภาคเหนือโปรแกรมจะเป็นแบบหนึ่ง ของภาคใต้เป็นอีกแบบ

สิ่งที่หลักสูตรไม่มีสอน เราจะเติมใน Enrichment Program เช่น ทักษะชีวิต ครูรัก(ษ์)ถิ่นเกือบทุกคนต้องเติมเรื่องการตัดผม ตัดผม 40 บาทบางคนอาจรู้สึกถูกมาก แต่บางคนคิดว่าเอาไปซื้อข้าวได้หลายมื้อ นักเรียนบางคนผู้ปกครองไม่มีเวลาพาไปตัดผม ฉะนั้น ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องตัดผมเป็นเกือบทุกคน ซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ในโรงเรียนได้ เป็นต้น

ถ้าเป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นราบเยอะๆ อย่างภาคเหนือ อีสาน หรือกลาง Enrichment Program ตัวที่โดดเด่นจะเป็นทักษะอาชีพเกษตรกรรม สอนให้เด็กรู้จักการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก  การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวดินเค็ม ทำอาหารจากวัตถุดิบที่มี ส่วนภาคใต้ Enrichment Program ที่ต้องเติม คือ ต้องว่ายน้ำเป็น อาชีพที่มาจากประมง แปรรูปปลาให้ได้  

เราเคยไปเกาะตำมะลัง เป็นเกาะเล็กๆ จ.สตูล คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เด็กบอกว่า เห็นปัญหาหนึ่งระหว่างชาวบ้านและโรงเรียน คือ บนเกาะเขาเลี้ยงแพะ แล้วด้วยความที่เป็นเกาะเล็กๆ แพะไม่ค่อยมีที่อยู่ พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของเกาะ คือ สนามฟุตบอลโรงเรียน ชาวบ้านจะเอาแพะมาปล่อย ขี้แพะก็เต็มสนามไปหมด เป็นปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เด็กเรารู้สึกว่าต้องแก้ไข คิดว่านมแพะมีประโยชน์ แทนที่เด็กจะกินนมกล่อง ก็ซื้อนมแพะจากชาวบ้านสิ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและโรงเรียนดีขึ้น ซึ่งเด็กจะคิดแบบนี้ได้ เขาต้องได้ลงพื้นที่ ต้องได้เติมความรู้ที่จำเป็น

นอกจากเติมความเป็นมนุษย์ลงไปในการผลิตครู มีเติมอะไรเพิ่มอีกบ้าง

มีอีกระบบหนึ่งที่เราใส่ในกระบวนการผลิตครูของเรา คือ มหา’ลัยต้องมีระบบให้คำปรึกษา (advisor) นักศึกษา เพื่อเขาจะมีที่พึ่ง ไม่ว่าจะเรื่องจิตใจอารมณ์ สังคม หรืออะไรก็ตาม โดยเฉพาะช่วงที่เขาลงไปฝึกสอน จริงๆ มีอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะปรึกษาแค่เรื่องเรียน การทำโปรเจกต์ แต่ระบบให้คำปรึกษาที่เราทำมันใหญ่กว่ามาก หมายถึงปรึกษาเรื่องส่วนตัวได้ด้วย รวมไปถึงตอนฝึกสอน 

เราพยายามให้มีกระบวนการถอดบทเรียน ไม่ว่าจะตอนเด็กไปฝึกสอน ไปลงชุมชน หรือไปทำอะไรก็ตาม กลับมาต้องถอดบทเรียนกับอาจารย์ว่า ไปเจออะไร เผชิญสถานการณ์แต่ละอย่างเป็นอย่างไร เพื่อที่อาจารย์จะได้เติมส่วนที่เขาต้องการ เช่น เด็กคนหนึ่งไปฝึกสอนในห้องเรียนที่มีเด็กพิเศษเยอะมาก แต่เขาไม่รู้จะจัดการอย่างไร อาจารย์ก็จะรู้ละว่า ต้องเติมวิธีจัดการเด็กพิเศษใน Enrichment Program

อาจารย์ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงไม่ใช่แค่ผู้สอนไปวันๆ เด็กกลับบ้านจบ แต่มีการคุยปรึกษาแลกเปลี่ยนกันตลอด หรือแม้กระทั่งลงไปฝึกสอนแล้ว ต้องมีนิเทศออนไลน์ ยกตัวอย่างเคสครูรัก(ษ์)ถิ่น ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ ไปฝึกสอนที่โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน แล้วครูพี่เลี้ยงย้ายพอดี โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ครูมีอัตราย้ายสูง ช่วงที่เด็กเราลงไปฝึกสอนมีครูทั้งหมด 19 คน ขอย้ายได้ 11 คน ปรียานุชไปฝึกสอนเป็นครูปฐมวัย เขาต้องดูแลนักเรียนอนุบาล 1-3 รวมเกือบ 60 คน คำถามคือเขาต้องรับมืออย่างไร? 

สิ่งที่ปรียานุชต้องทำ คือ รวมเด็ก 3 ชั้นเข้าด้วยกัน แล้วจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ถ้าหาข้อมูลในกูเกิลจะได้ตอน 5 ทุ่ม เพราะคนใช้อินเทอร์เน็ตน้อยแล้ว แต่มีอีกวิธีที่เขานึกถึง คือ อาจารย์มหา’ลัย ก็เลือกโทรคุยดีกว่า อาจารย์ก็แนะนำให้ใช้วิธีมอนเตสซอรี (Montessori) นี่เป็นสถานการณ์พิเศษ ถามว่าเวลาเด็กมีปัญหาจะคิดถึงใคร คิดถึงเพื่อนไม่ได้แน่นอน เพราะเพื่อนไม่มีประสบการณ์ สิ่งที่เขาคิดถึงคืออาจารย์ หลายๆ ที่เราจะเห็นความสนิทสนม การดูแลกันตลอด 24 ชั่วโมง

ครูรัก(ษ์)ถิ่น 1,500 คนที่กำลังจะเข้าไปในระบบการศึกษา อาจารย์คิดว่าจะส่งผลอย่างไร

1,500 คนคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์? มันน้อยมากนะ เหมือนโยนหินลงทะเลทราย แต่ดีกว่าไม่ทำอะไร เราไปเปลี่ยนข้างบนไม่ได้ เราก็ทำข้างล่างแบบนี้แหละ บางครั้งเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบนจากเด็กเหล่านี้ 

และเราก็สื่อสารกับมหา’ลัยตลอด เพื่อคุยกับอาจารย์ ผู้บริหารให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าจะถามถึงการเปลี่ยนแปลง บางครั้งเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงถ้าเด็กพวกนี้โตไปเป็นผู้บริหาร เพราะเค้าผ่านทั้งสถานการณ์และประสบการณ์จริงมา 

อาจารย์อยากฝากอะไรถึงครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ที่กำลังจะบรรจุเดือนตุลาคมนี้

วันแรกที่รับทุนเขารู้สึกฮึกเหิมกัน แต่นานๆ ไปมันอาจแฟบไปบ้าง ยิ่งช่วงโควิดสาหัสเหมือนกัน ความเข้มข้นในการเป็นครูของเขาอาจเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่ม บางทีเราอาจต้องบอกเขาว่า อย่าลืมความตั้งใจในวันแรกที่รับทุนว่า อยากเป็นครูแบบไหน จะตั้งใจทำอะไรบ้าง ไม่พ้นตัววีและเอที่อาจารย์พูดถึง โดยเฉพาะทัศนคติการเป็นครูที่ดี ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกลับไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก บางคนได้ไปฝึกสอนโรงเรียนใหญ่ๆ อาจเกิดการตั้งคำถามว่า จะกลับบ้านมาทำไม อยู่โรงเรียนเล็กๆ ไม่ดีเลย ต้องไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่จะได้ก้าวหน้า ต้องถามให้เขาทบทวนว่า ยังมีความคิดเหมือนวันแรกอยู่ไหม แล้วต้องคิดให้ดีกว่าเดิมด้วยว่า ฉันจะพัฒนาที่นี่อย่างไร ที่ไม่ต้องรูปแบบเดียวกับโรงเรียนในเมือง แต่อยู่แล้วมีความสุข เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง

อีกสิ่งที่ต้องให้เขา คือ การดูแลตัวเองให้รอดพ้นจากทุนนิยม บริโภคนิยม เรื่องนี้สำคัญมากในการเป็นครู เป็นวัฒนธรรมที่เราเห็นเสมอ คือ วันรับปริญญาจะมีธนาคารมาเปิดบัตรเครดิตให้ฟรี มาแนะนำเรื่องกู้เงิน แล้วบรรดาของต่างๆ ที่ต้องมี โทรศัพท์เครื่องใหม่ รถป้ายแดง สิ่งที่จะกระหน่ำมาที่เด็ก แต่ส่วนหนึ่งเขาได้เติม Enrichment program ด้านการเฝ้าระวังตัวเอง การสอนเด็กเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่มันเป็นเรื่องความมั่นคงทางจิตใจมากกว่า บางคนถูกคาดหวังจากครอบครัวตั้งแต่ได้รับเงินเดือนๆ แรก 

ก็อาจไม่ใช่ความผิดพวกเขาที่ไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้มาก่อน มีคำถามที่อาจารย์เคยถามเด็กคนหนึ่งว่า ถ้าได้เงินเดือนก้อนแรกจะซื้ออะไร เขานึกตั้งนานก็นึกไม่ออก เพราะในชีวิตเขาไม่เคยมีอะไรเลย ไม่รู้จะซื้ออะไร  เรามีเคสเด็กคนหนึ่งไม่เคยกินชานมไข่มุกมาก่อน ได้เงินเดือนสั่งชาไข่มุก 4 แก้ว กินวันละ 4 แก้ว อาจารย์ว่าเขาไม่ได้เสพติดความหวาน แต่เสพติดสิ่งที่ไม่เคยได้ทางใจ เด็กบางคนหมดเงินไปกับสิ่งเหล่านี้

อาจารย์ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กจะดำรงชีวิตท่ามกลางสิ่งเร้า ส่วนตัวเราว่ายังยากเลย จะบอกให้เขาเข้มแข็งทุกเรื่องก็ยาก บางคนต้องส่งเงินให้ผู้ปกครองด้วย เราต้องคิดเชิงเหตุผล ไม่ใช่เชิงอารมณ์อย่างเดียว กระบวนการครูรัก(ษ์)ถิ่นของเราก็จะประมาณนี้เลย