Mobile School : รถโรงเรียนยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต เริ่มเคลื่อนแล้ว!  
คุยกับ 3 คนเคลื่อนรถ ที่กำลังพาการศึกษาไปหาเด็กๆ ทุกคน

Mobile School : รถโรงเรียนยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต เริ่มเคลื่อนแล้ว!  

เคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมเวลานี้ประเทศไทยยังมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านทุนทรัพย์ ความจำเป็นของครอบครัว การลาออกกลางคัน หรือแม้แต่ปัญหาด้านสังคมในโรงเรียน และเราคนเดียวจะแก้ปัญหาการศึกษาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยได้มากน้อยแค่ไหน

ในงานเปิดตัวโครงการ ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา’ จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ และมอบวุฒิการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาทั่วประเทศ เป็นความร่วมมือของ กสศ. และเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม สถานประกอบการภาคเอกชน นักวิชาการในสาขาอาชีพต่างๆ และชุมชน

“จุดเน้นของ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา คือการทำงานเชิงรุก เน้นความยืดหยุ่น ตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียนเป็นรายคน โดยมีเด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ที่จะเรียนตามความถนัดและความสนใจ ที่สำคัญต้องเป็นการศึกษากินได้ เด็กสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และได้วุฒิการศึกษาอย่างน้อย ม.6 เพื่อยกระดับรายได้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ” คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าว

จากวงเสวนา ‘หลักสูตรยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต กับ ‘Mobile School’ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลายองค์กรที่ทำเพื่อสังคมจากหลากหลายวงการได้แบ่งปันแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรสำหรับเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาว่า ปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยองค์กรเดียว แต่จะมีพลังมากขึ้นเมื่อทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน

ครูตูน-พิมพ์ชนก จอมมงคล จากศูนย์การเรียน CYF มองว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ได้มีแค่เรื่องทุนทรัพย์ จากการทำงานร่วมกับเด็กในจังหวัดนครพนมกว่า 275 คนพบว่า 45% ของเด็กกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสังคมในโรงเรียน การบูลลี่ อำนาจของครู และรู้สึกว่าการศึกษาในระบบยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเท่าไรนัก ส่วน คุณแยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ได้พูดถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ว่ามีประโยชน์ต่อเด็กยุคนี้อย่างไร ในขณะที่ คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล จากมูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย ที่ทำโครงการ KFC Bucket Search เพื่อส่งมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่องค์กรต่างรูปแบบจะทำงานร่วมกัน แต่เรื่องราวของ Mobile School จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ได้กลับมามีความหวังได้มากขึ้น เมื่อ Mobile School หรือรถโรงเรียนคันนี้จะวิ่งเข้าไปหาเด็กๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ พร้อมด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่น และตอบโจทย์ชีวิต

ครูตูน-พิมพ์ชนก จอมมงคล

รถโรงเรียนสายชุมชน พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับแต่ละคน เพื่อคืนอำนาจทางการศึกษาให้เด็ก

หลายครั้งที่การแก้ปัญหาสังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาเป็นกำลังสำคัญ เช่น ศูนย์การเรียน CYF (Children and Youth Development Foundation) ร่วมกับ กสศ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม จัดตั้งโครงการ Mobile School เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนรู้ตามความสนใจทุกที่ทุกเวลา

เมื่อทีม CYF สำรวจและลงพื้นที่ค้นพบว่า จริงๆ แล้วในจังหวัดนครพนมมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก จึงตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง หรืออย่างน้อยได้เข้าการศึกษาในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ

ครูตูน-พิมพ์ชนก จอมมงคล จากศูนย์การเรียน CYF ได้เล่าเบื้องหลังการทำงานว่า “ที่ผ่านมาเราทำโครงการในจังหวัดนครพนมเป็นหลัก โดยทำงานร่วมกับอบต. ในพื้นที่เพื่อสำรวจจำนวนเด็กนอกระบบ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเรียนผ่านมือถือ ที่สามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกันได้ แถมยังได้รับวุฒิการศึกษาเพื่อต่อยอดการทำงานในอนาคตได้ หลังจากเด็กและผู้ปกครองเข้าใจ ทำให้เด็กกลับเข้าสู่การศึกษาในระบบได้เกือบ 100%”

และเพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องการจริงๆ ทีม CYF จึงได้ออกแบบหลักสูตรที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน เช่น เด็กที่อยู่ในชุมชนที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตครกหิน จะได้เรียนรู้หลักสูตรการผลิตครกหินตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เช่น กระบวนการผลิตครกหิน แร่ธาตุที่อยู่ในหิน ประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ในชุมชนนั้นว่าเพราะเหตุใดจึงมีวัตถุดิบให้ใช้เยอะ หรือหากเด็กครอบครัวที่ทำการเกษตร ก็จะมีหลักสูตรการปลูกข้าว ผสมปุ๋ยให้เหมาะกับดินและต้นไม้ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ดังนั้น ทีมงานจะนำองค์ความรู้มาปรับให้เข้ากับภูมิปัญญาในพื้นที่นั้นๆ 

“เรามองว่าการเรียนในระบบจะเน้นการสอบแบบวิชาการ เด็กทุกคนจะเรียนมาตรฐานเดียวกัน แต่ต้องบอกว่าวิชาการมีความสำคัญกับเด็กบางกลุ่ม แต่ทักษะชีวิตหรือทักษะอาชีพก็มีความสำคัญกับเด็กบางคนเช่นกัน คงตอบได้ยากว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบบริบทและการใช้ชีวิตของเด็กแต่ละคน”

สำหรับเด็กนอกระบบที่ยังไม่มั่นใจว่าจะเรียน Mobile School ดีหรือไม่ ครูตูน กล่าวว่า เด็กนอกระบบบางคนที่เคยผ่านการเรียนในระบบมาแล้วอาจถูกตีตราว่าเรียนไม่เก่ง เรียนไม่ได้ หากเข้ามาในโครงการ Mobile School แล้ว ทีม CYF พร้อมจะสนับสนุนในทุกช่องทาง โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรการเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้วุฒิการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรืออาจนำไปต่อยอดกับการทำงานในอนาคต ถือเป็นการคืนอำนาจทางการศึกษาให้อยู่ในมือผู้เรียน

คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล

รถโรงเรียนสายผู้ประกอบการ ส่งมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องจาก Bucket Search โดย KFC

ปัญหาการศึกษาเด็กหลุดจากระบบ ไปจนถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย หลายคนมองว่าภาคเอกชนจะเข้ามาสนับสนุนและแก้ปัญหาได้อย่างไร คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล จากมูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย และผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรเรียนแก้จน ด้วยหลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการกับ KFC กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.02 ล้านคน KFC จึงได้ทำโครงการ Bucket Search โรงเรียนนอกกรอบ เพื่อสนับสนุนเด็กให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้ ทักษะชีวิต และโอกาสที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง

โครงการ Bucket Search มีตั้งแต่หลักสูตรที่สอนในฝั่งหน้าร้าน และสำนักงาน เช่น การบริการและสุขาภิบาลอาหาร วิชาภาษาในโลกธุรกิจ การเงิน ครีเอทีฟ การบริหารและสื่อสารองค์กร วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาการตลาด เป็นต้น ไปจนถึงการชวนพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาให้คำแนะนำแก่เด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเดินตามความฝันได้อย่างมั่นใจ

คุณแจนเน็ตเล่าว่าความตั้งใจการเข้าร่วมโครงการ Mobile School ของ KFC เพื่อต้องการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง หลักสูตรของ KFC จะมอบทักษะอาชีพ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้เด็กๆ ได้นำไปต่อยอด และนำวุฒิการศึกษามาเทียบโอนหน่วยกิต

“สาเหตุที่ KFC เข้าร่วมกับโครงการ Mobile School ไม่ใช้เพื่อต้องการให้เด็กเหล่านี้เป็นแรงงาน แต่ต้องการมอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็กทั่วประเทศ เมื่อเด็กๆ เข้าร่วมโครงการแล้ว หากรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่ชอบ เพิ่งค้นพบความชอบของตัวเองภายหลัง เช่น อยากเป็นช่างทำผม พยาบาล นักข่าว หรือนักร้อง เราก็พร้อมต่อยอดความชอบเหล่านี้ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ” 

นอกจากจะสร้างอิมแพ็กให้สังคมแล้ว KFC ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ในสาขาอาชีพต่างๆ โดยช่วงแรกตั้งเป้าจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการไว้ที่ 300 คนทั่วประเทศ

อ่านเรื่องราว : ‘ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง’ ร้านไก่ KFC เปิดห้องเรียนยืดหยุ่น เติมความฝัน สร้างโอกาส ขยาย School Zone แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

รถโรงเรียนฝึกวิชาชีพสื่อ โดย The Reporters เน้นสื่อสารเรื่องชุมชนสู่สังคม

The Reporters คือสำนักข่าวอิสระที่มีความตั้งใจอยากทำข่าวจากนักข่าวภาคสนามโดยตรง เชื่อมั่นในการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพ เน้นการนำเสนอที่เจาะลึกทุกแง่มุม ก่อตั้งโดย คุณแยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวที่โลดแล่นในสนามข่าวมากกว่า 20 ปี

ด้วยความช่ำชองในสายงาน ทำให้ กสศ. ชวน The Reporters ทำโครงการ Mobile School ด้วยกัน คุณแยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters และผู้พัฒนาหลักสูตร The Reporters Juniors กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับ กสศ. ได้เจอและพูดคุยกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาพบว่า ยังมีเด็กและเยาวชนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ และเมื่อได้สื่อสารถึงโครงการ Mobile School ทำให้เด็กๆ รู้ว่ามีการศึกษาแบบยืดหยุ่น ที่ทำให้พวกเขาได้เรียนตามสิ่งที่ต้องการ 

คุณฐปณีย์ กล่าวถึงการร่วมงานในโครงการฯ ว่า “โครงการ Mobile School เปิดโอกาสให้เด็กนอกระบบได้ฝึกทักษะและวุฒิการศึกษาที่ได้ไปใช้เทียบโอนเพื่อประกอบวิชาชีพ ตอบโจทย์เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาอย่างมาก เพราะการลงสนามจริง คือ การเรียนรู้ที่แท้จริง สำหรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา การเรียนรู้ภาคสนามและระบบการทำจริงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในงานข่าวที่ต้องมีการสัมภาษณ์ การหาประเด็น การเขียนข่าว วิเคราะห์ข่าว หรือแม้แต่การรายงานข่าวหน้ากล้อง”

คุณฐปณีย์เล่ารายละเอียดการพัฒนาหลักสูตรว่า จริงๆ แล้วทุกคนเป็นสื่อได้ เพราะมีมือถือและโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง สิ่งที่เราสอนจึงเป็นเรื่องของวิชาชีพนักข่าว สอนการสื่อสารที่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่เน้นการสื่อสารปัญหาในชุมชน เป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถสื่อสารได้เอง 

ที่ผ่านมา The Reporters ได้เปิดรับนักศึกษาฝึกงานอย่างต่อเนื่องหลายปี และจบไปเป็นคนข่าวจำนวนมาก ทั้งการเป็นนักข่าวภาคสนาม ช่างภาพ ตากล้อง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับสนามข่าวได้จริง นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมแก่เยาวชนในชุมชนตามพื้นที่ชายขอบหรือชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือเยาวชนในภาคใต้ เพื่อบ่มเพาะให้เป็นนักข่าวชุมชน

“ทักษะการสื่อสารที่เด็กได้เรียนรู้ ไม่ได้ใช้แค่ในสายงานข่าวเท่านั้น แต่อาจต่อยอดไปสู่การไลฟ์สดขายของ หรือการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะ เป็นการสร้างความมั่นใจในการอยู่หน้ากล้อง”

ในการทำโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จ คุณฐปณีย์บอกว่า เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องฐานะทางการเงิน แต่ยังมีปัญหาเรื่องสังคมในโรงเรียน วิชาการเรียนการสอนที่ไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น พ่อแม่ต้องเปิดใจและยอมรับการศึกษาทางเลือก หากผู้ปกครองไม่เข้าใจหรือแสดงให้เห็นความขัดแย้ง ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กไม่กลับไปสู่การศึกษาอีกครั้ง

ถ้าเปรียบตัวเองเป็นรถโรงเรียน คิดว่ารถคันนี้จะมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ใด

ครูตูน-พิมพ์ชนก กล่าวว่า “อยากให้เด็กค้นพบศักยภาพตัวเองว่าต้องการอะไร มีเป้าหมายในชีวิต ทำให้เต็มที่ ส่วนเป้าหมายระยะยาวของโครงการ อยากให้ทุกคนรับรู้ว่ามีโครงการ Mobile School และอยากให้ภาคประชาสังคมและเยาวชนรับรู้ว่าตนเองมีอำนาจในการศึกษา โดยทุกภาคส่วนพร้อมจะเป็นผู้ช่วย” 

ด้าน คุณแจนเน็ต กล่าวว่า “เราต้องการส่งเขาให้ถึงปลายทางหรือจอดในจุดที่เขาต้องการ เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องที่เรียนรู้ไม่สิ้นสุด แม้จะเป็นรถโรงเรียนแต่ก็ต้องเป็นรถโรงเรียนที่มีการอัปเกรดอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นรถที่พร้อมจะส่งพวกเขาไปถึงจุดหมายที่ต้องการ” 

“ปัจจุบันยังมีเด็กอีกหลายคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ อยากบอกว่าไม่ต้องกดดัน ให้ลองทำก่อน การเข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อยเขาได้วิชาความรู้ ได้ใบประกาศนียบัตร การฝึกงานกับ The Reporters เป็นใบเบิกทางที่แสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับ ที่สำคัญอยากให้เด็กสื่อสารเรื่องราวได้มากกว่าเรื่องของตัวเอง เล่าเรื่องชุมชน หมู่บ้าน ถ่ายทอดปัญหาหรือเรื่องราวที่อยู่รอบตัวได้ ความรู้เหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะและต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ต่อไป” คุณฐปณีย์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ โครงการ Mobile School เปิดรับสมัครเพื่อเข้าเรียนในวันที่ 1-30 ของทุกเดือน มีความยืดหยุ่นทั้งเรื่องเวลา และเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทางด้านการศึกษา www.eef.or.th, Facebook eefthailand, อีเมล mibileschool@eef.or.th, โทร. 02-079-5475 กด 0