ถึงเวลาร่วมกันคิดหลักสูตรป้องกันภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคต
วิทยา เกษาอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4

ถึงเวลาร่วมกันคิดหลักสูตรป้องกันภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคต

หลังอุทกภัยผ่านพ้นไป โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีมาตรการสร้าง องค์ความรู้ มีความตื่นตัว มีการประชุมร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อสร้างกลไกการเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้น

นายวิทยา เกษาอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 4 เล่าว่าอุทกภัยครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกฝ่ายในพื้นที่จึงมองเห็นร่วมกันว่า การดูแลนักเรียนและโรงเรียนในระยะยาว จำเป็นต้องช่วยกันคิดถึงหลักสูตรการศึกษาหรือแนวทางที่จะเข้ามามีบทบาทในการดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ จำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจ และเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ต้องช่วยกันคิดถึงการเรียนการสอนในห้องเรียนที่แทรกเรื่องทักษะชีวิตด้านสถานการณ์น้ำท่วมเข้าไป ช่วยกันออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ออกแบบกิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ที่สอดคล้องกับการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องอุทกภัยหรือภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในท้องถิ่น” ผู้อำนวยการ สพป. เชียงราย เขต 4 กล่าวและระบุอีกว่า

หลักสูตรและกิจกรรมที่วางแผนกันไว้ว่าจะช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น จะต้องเป็นกิจกรรมที่มองภัยพิบัติด้านน้ำท่วมอย่างครบวงจร เป็นกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้นักเรียนสร้างเครือข่ายในการระวังภัยที่มีศักยภาพในการดูแลปกป้องตัวเองกรณีที่เกิดภัยพิบัติ นอกจากดูแลตัวเองได้แล้ว ยังสามารถใช้ความรู้ที่มี ช่วยเหลือชุมชนและผู้อื่นตามกำลังความสามารถได้อีกด้วย

วิทยา เกษาอาจ

เด็กนักเรียนของเราจะต้องรู้ว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่อย่างไรบ้าง จะต้องรู้จักการสร้างเครือข่ายการพัฒนาฐานข้อมูล พัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับ เตรียมการรับมือในพื้นที่ สถานศึกษา จะต้องช่วยกันคิดหลักสูตรที่เหมาะกับแต่ละโรงเรียน เหมือนเป็นหลักสูตร สำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่ โดยอาจจะเริ่มจากชวนเด็กไปเดินสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ครูอาจจะหากิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเข้าใจธรรมชาติ กิจกรรมที่ช่วยให้เด็กตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับภัยพิบัติในแง่มุมไหนบ้าง สอดแทรกเนื้อหาความยั่งยืนและธรรมชาติไว้ในแบบเรียน ที่ช่วยกันคิดขึ้น ส่งเสริมให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ไขปัญหา นอกเหนือจากหลักสูตรแกนกลางที่ต้องเรียนอยู่แล้ว

ตอนนี้ผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่ง ตื่นตัวกับการพัฒนาหลักสูตรด้านนี้กันมาก แต่เราก็ไม่ได้บังคับว่าโรงเรียนจะต้องทำในทันที ให้โรงเรียนแต่ละแห่งพิจารณาด้านความพร้อม และค่อย ๆ ทำ โดยตั้งเป้าเรื่องการสร้างความยั่งยืนในการทำงาน ซึ่งเอาปัญหา ที่เกิดขึ้นแล้วมาเป็นโจทย์ ในการดำเนินการ

เดิม สพฐ. มีแผนเผชิญเหตุ แผนช่วยเหลือนักเรียนหรือแผนเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับภัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ดำเนินการกับโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเกินคาด จึงทำให้โรงเรียนหลายแห่ง ไม่สามารถปรับแผนระวังป้องกัน ให้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้

“น้ำท่วมรอบนี้ จึงเป็นบทเรียนสำคัญ ที่กำลังบอกพวกเราว่า นอกจากหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่แล้ว ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน และเข้ามามีบทบาทในการสร้างหลักสูตรการศึกษาที่ช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหา ภัยพิบัติที่เริ่มรุนแรงขึ้นและคาดการณ์ได้ยากขึ้น อาจจะเริ่มจากหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชนมานั่งคุยกัน ว่าเราควรจะมีความรู้ด้านไหนบ้าง ต้องประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานไหนบ้าง เช่น กรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ หรือกระทั่งปราชญ์ในชุมชน หรือผู้ที่มีความเข้าใจลักษณะภัยธรรมชาติและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในท้องถิ่น มาช่วยกันออกแบบหลักสูตรป้องกันภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่ สำหรับให้นักเรียนเรียนรู้เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ผู้อำนวยการสพป. เชียงราย เขต 4 กล่าวปิดท้าย