“การจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ที่อาชีวศึกษากับสถานประกอบการจับมือกัน เหมือนเป็นใบเบิกทางให้ผู้พิการเข้าถึงตลาดแรงงาน ส่งเสริมโอกาสค้นหาและค้นพบตัวเองจากการได้ลองทำงานจริง ทั้งยังจุดประกายให้ผู้พิการมีเป้าหมายในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ส่วนสถานประกอบการก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะค้นพบคนทำงานที่มีศักยภาพ และพร้อมเติบโตไปด้วยกัน
“กุญแจสำคัญคือถ้าจับคู่งานได้ตรงความสามารถ ทั้งงานและผู้ปฏิบัติงานจะส่งเสริมกัน เช่นภาพที่เกิดขึ้นแล้วคือคนพิการที่ทำงานกับเรา เขาไม่เพียงมีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัวได้ แต่ยังมีเส้นทางก้าวหน้าในอาชีพได้เช่นเดียวกับคนทำงานทั่วไป”
กฤตย บุญไทย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การศึกษาและแรงงานสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป (Central Restaurant Group : CRG) ผู้นำกลุ่มธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มประเภท Quick Service Restaurants ที่มีแบรนด์ภายใต้การบริหารกว่า 20 แบรนด์ กล่าวถึงการจัดการศึกษาระบบ ‘ทวิภาคี’ ว่าเป็น ‘หัวใจ’ ของการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำสำหรับผู้พิการด้วยการเรียน 1 ปีในสถานศึกษาร่วมกับทำงานจริงอีก 1 ปีในสถานประกอบการ ซึ่งถือเป็นการ ‘เตรียมพร้อม’ และ ‘ส่งต่อ’ ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ และมีเป้าหมายรองรับ ขณะที่ภาคเอกชนเองนอกจากเข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากรแล้ว ยังมีช่องทางใหม่ ๆ ให้ค้นพบผู้พิการที่ ‘มีศักยภาพ’ เพื่อรับเข้าทำงานตามกฎหมายจ้างงานมาตรา 33
“บทเรียนจากการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีร่วมกับสถาบันสายอาชีพทั้งรัฐและเอกชนกว่า 600 แห่ง ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าอาชีวศึกษาเชี่ยวชาญเรื่องการปูพื้นฐานบุคลากร มีกระบวนการทำให้ผู้เรียนทำความเข้าใจตนเองในคุณลักษณะต่าง ๆ จนค้นพบจุดเด่นจุดด้อยของตน แล้วเริ่มพัฒนาจากความถนัดหรือข้อจำกัดนั้น
“จากนั้นเมื่อส่งต่อมาถึงสถานประกอบการ เราพบว่าการปฏิบัติงานมีส่วนอย่างมากต่อขั้นตอนการพัฒนาทักษะ ช่วยเติมเต็มเรื่องการตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง เพราะเมื่อน้อง ๆ ได้เห็นว่าเขามีศักยภาพที่จะหาเงินได้ ก้าวหน้าได้ มันยิ่งทำให้เขาสนใจใคร่รู้และอยากต่อยอด ส่วนรุ่นน้องที่สถาบันพอเห็นว่ารุ่นพี่ทำได้ ประสบความสำเร็จ มีทางไป ก็ยิ่งมีแรงบันดาลใจที่จะพาตัวเองเข้าสู่ตลาดแรงงานเช่นกัน ดังนั้นถ้าขยายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการได้ กลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษหรือผู้พิการ จะมีเส้นทางเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น”
กฤตยถอดประสบการณ์จาก ‘นโยบายการจ้างงานบนพื้นฐานของความหลากหลาย’ (Diversity hiring) ที่ Central Restaurant Group ได้ออกแบบระบบงานให้พนักงานผู้พิการทำงานร่วมกับพนักงานทั่วไปว่า การจ้างงานผู้พิการตลอด 9 ปีของธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ถ้าผู้พิการค้นพบงานที่ถนัด สนใจ ทำได้จริง จะส่งผลโดยตรงต่อความมุ่งมั่นในการเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อก้าวไปยังตำแหน่งงานที่สูงขึ้น
“ใครก็ตามถ้าได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง เขาจะมีทักษะและคุณลักษณะต่องานในแบบที่ ‘ไม่ใช่ใครก็ทำได้’ แล้วเมื่อก้าวถึงจุดนั้น เขาจะพร้อมเติบโตเป็นบุคลากรระดับหัวหน้าทีม (Team Leader/Supervisor) หรือ ผู้จัดการ (Manager) ตามลำดับ
“ระบบทวิภาคีจึงเปรียบได้กับการร่างเส้นทาง ‘ต่อจุดการศึกษาเพื่อมุ่งสู่การทำงาน’ ที่ผู้พิการจะได้นำทักษะความสามารถที่สั่งสมจากการเรียนมาใช้ แล้วต่อยอดพัฒนาผ่านการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากหน้างานจริง โดยเส้นทางนี้จะเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของการพัฒนาศักยภาพผู้พิการ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้เฉกเช่นคนอื่น ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเสมอภาค”
‘ปฏิบัติงานจริง’ บทเรียนเข้มข้นที่ทุกคนต้องก้าวผ่าน
กฤตยเสนอตัวอย่างจากแนวทางการทำงานในธุรกิจร้านอาหารเครือ Central Restaurant Group ที่ใช้พื้นที่การทำงานเป็นเวทีเรียนรู้ เพื่อปรับการสื่อสารและการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความหลากหลาย โดยจะวางลำดับขั้นตอนให้พนักงานผู้พิการซึ่งยังไม่พร้อมสื่อสารมากนักเริ่มต้นรับหน้าที่อยู่ด้านหลังร้าน จำกัดการสื่อสารเพียงในแผนก แต่เมื่อทำสักพัก เริ่มปรับตัวได้ ก็จะได้ลองขยับไปอยู่กลางร้าน เพื่อฝึกทักษะสื่อสารกับพนักงานแผนกอื่นจนคล่องแคล่วขึ้น ทีนี้จะได้ลองเปลี่ยนไปทำงานหน้าร้าน เพื่อสื่อสารกับทั้งพนักงานภายในและกับลูกค้าที่มาใช้บริการ
ระบบงานลักษณะนี้ทำให้เห็นว่า ผู้พิการเกือบทุกคนจะพัฒนาตนเองได้เร็วขึ้นในทุกด้าน เมื่อได้สื่อสารทำงานร่วมกับทั้งพนักงานผู้พิการด้วยกัน พนักงานที่เป็นคนทั่วไป รวมถึงผู้มาใช้บริการ ส่วนในอีกทางหนึ่งเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เองก็สามารถเรียนรู้และปรับตัวกับความแตกต่างหลากหลายเฉพาะบุคคล และทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
“งานมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานค้นหาวิธีการสื่อสารในหลายรูปแบบ และเขาจะค่อย ๆ พัฒนาทักษะขึ้นในทุกวัน ซึ่งเรามองว่าพื้นที่ต่าง ๆ ในร้านอาหาร (Service Sector) นั้นมีเสน่ห์ เหมือนพอเขาได้เจอทั้งเพื่อนร่วมงานผู้พิการด้วยกัน และเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ความมั่นใจในการสื่อสารก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แล้วพอเขยิบไปหน้าร้านได้รับลูกค้าจริง ต้องเผชิญความกดดัน รับทั้งคำชื่นชม ตำหนิ แต่ละวันมีดีมีร้าย มีหลากหลายโจทย์ให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันคือกระบวนการจริงของการทำงานที่ไม่ว่าใครก็ต้องผ่าน และสิ่งเหล่านี้เองจะทำให้คนทำงานแข็งแรงขึ้นทั้งภายนอกภายใน”
ในฐานะภาคเอกชนผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษร่วมกับ กสศ. กฤตยระบุว่า หน้าที่ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นผ่านการทำงานกับผู้คนและเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ คือ ‘ต้นทุน’ ที่ไม่เพียงช่วยให้ผู้พิการเติบโตก้าวหน้าได้ในเส้นทางอาชีพ หากยังถือเป็น ‘ขุมพลังของชีวิต’ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับเรื่องราวอื่น ๆ ได้ในอนาคต
“การทำงานร่วมกับผู้พิการต่อเนื่องตลอดหลายปี สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือเรามีพนักงานผู้พิการที่อยู่โยงทำงานยาวนานตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ หลายคนก้าวไปเป็นหัวหน้างาน หรือหลายคนก็แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพมากเกินกว่าจะทำแค่อาชีพเดียว โดยสามารถเป็นทั้งลูกจ้างทำงานกับเราและยังเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวในคนเดียวกัน ตรงนี้เราเชื่อว่าปัจจัยคือ ไม่ว่าผู้พิการหรือคนปกติ ถ้าได้ขัดเกลาทักษะ บ่มเพาะประสบการณ์ ได้พบช่องทางซึ่งเปิดกว้างเพียงพอ เขาจะสามารถประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและเติบโตพัฒนาได้
“ดังนั้นหากใช้กฎหมายจ้างงานมาตรา 33 ที่บัญญัติว่าสถานประกอบการทุกแห่งต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วนการจ้างงาน และตามลักษณะของงานที่เหมาะสมเป็นตัวตั้ง เราจะทำให้กระบวนการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำของผู้พิการสามารถมาบรรจบกับสถานประกอบการได้ และภาคธุรกิจและผู้พิการเองก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะมาเจอกัน ที่สำคัญคือความร่วมมือนี้ต้องไม่ทำร่วมกันแค่ 1-2 ปี แต่ต้องส่งต่อกันไปรุ่นต่อรุ่นให้เป็นระบบ เป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายจะเกิดความงอกงามร่วมกัน”
ปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคีที่เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ และทำงานในเครือ ‘Central Restaurant Group’ ราว 2,000 คนต่อปี ส่วนหนึ่งคือ ‘นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ’ ที่ กสศ. สอศ. คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ดำเนินโครงการร่วมกันย่างสู่ปีที่ 5 เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับ ปวส. เพื่อโอกาสการมีงานทำ โดยมุ่งไปที่การขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาสายอาชีพ และ ภาคธุรกิจเอกชน (Social partners) ทั่วประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง – กสศ. ขับเคลื่อนการศึกษาสายอาชีพสู่การมีงานทำ ส่งเสริมสังคมเสมอภาคด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ