เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
กสศ. ร่วมหารือ สมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี วางแผนดำเนินงาน ‘การศึกษายืดหยุ่นสอดคล้องวิถีชีวิต’
ผลักดัน ‘ราชบุรีโมเดล’ เป็นพื้นที่ต้นแบบ Thailand Zero Dropout

กสศ. ร่วมหารือ สมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี วางแผนดำเนินงาน ‘การศึกษายืดหยุ่นสอดคล้องวิถีชีวิต’

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการและหน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรมจ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดราชบุรี (อศจ.) สำนักงานนส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด (สกร.) ร่วมด้วย ผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการจัดการศึกษาของจังหวัด พร้อมพิจารณาร่าง Roadmap ตามแผน Thailand Zero Dropout จังหวัดราชบุรี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จังหวัดราชบุรี

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ประธานการประชุม กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาการศึกษาและแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ ของจังหวัดราชบุรี จำเป็นต้องอาศัยการ ‘พบปะ-รู้จัก-คุ้นเคย’ ของคณะทำงานทุกฝ่ายอยู่เสมอ วาระประชุมครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องการศึกษาจังหวัดราชบุรีและอาจรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง มีหนึ่งประเด็นสำคัญคือการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งต้องการเรียนรู้พัฒนาตนเอง ทางจังหวัดจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาวิธีการทำให้เกิดพื้นที่โอกาสของการ ‘เรียนรู้ภาษาไทย’ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาตนเองในช่องทางอื่น ๆ ไปจนถึงโอกาสในการทำงานประกอบอาชีพและมีรายได้ 

“ข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงคือ กลุ่มชาติพันธุ์เดิมในพื้นที่กับกลุ่มผู้ลี้ภัยนั้นจำแนกแยกกัน ตรงนี้คือการบ้านที่สมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรีต้องหารือกัน ตั้งแต่การสร้างโอกาสการเรียนภาษาไทย ไปจนถึงเส้นทางการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง หรือการเข้าถึงการทำงานอาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เพราะใจความสำคัญคือการทำงานบนหลักมนุษยชน หมายถึงคนทุกคนจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ส่งเสริม และได้รับโอกาสที่จะดูแลตัวเองอย่างเสมอภาคกัน”

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า การจัดตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัด เป็นความตั้งใจของหลายภาคส่วนการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง ‘การพัฒนาคน’ และด้วยภาพรวมของทั้งประเทศที่มีบริบทของปัญหาต่างกันไป การทำงานเชิงพื้นที่จึงเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยในลักษณะ ‘แนวราบ’ อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหญ่ที่ทุกพื้นที่มีความคล้ายคลึงกัน คือลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นจากบางนโยบายการศึกษา เช่นการเรียนไม่ซ้ำชั้น เนื่องจากทำให้มีเด็กจำนวนมากมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น เมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น

“ระบบสังคมเราเปลี่ยนไปเมื่อเด็กไม่ต้องกลัวเรียนซ้ำชั้น คราวนี้เขาจะไม่อ่านหนังสือ ไม่ทำการบ้าน ไม่กลัวครูที่ให้คุณหรือให้โทษกับเขาไม่ได้อีกแล้ว ทีนี้เด็กจะมีเวลาไปเกเร แล้วปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าติดเกม ติดยาเสพติด เด็กแว้น ท้องก่อนวัยอันควร และอะไรต่าง ๆ ก็ยิ่งมีจำนวนสูงขึ้น ขณะที่ในทางกลับกัน อัตราการเกิดของจำนวนประชากรกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าในอนาคตจะยิ่งมีเด็กในวัยเรียนลดลง ส่วนจำนวนสถานศึกษายังเท่าเดิม มุมมองหนึ่งจึงต้องทำการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กไม่ถึง 20 คน และมีครูเพียง 1-2 คน เพราะการที่ครูจำนวนเท่านี้ต้องดูแลเด็กทุกชั้นเรียนทุกรายวิชา มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะมีคุณภาพ แล้วเด็ก ๆ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่กับผู้สูงอายุ ด้วยข้อจำกัดของรายละเอียดชีวิตในมิติต่าง ๆ ครอบครัวจึงไม่ได้คาดหวังเรื่องคุณภาพการศึกษา ดังนั้นปัญหาที่เด็กยิ่งมีจำนวนลดลงทุกปี ๆ ถ้าเราไม่รีบวางแผนงานการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการศึกษาให้ดีและเหมาะสม ถึงเวลาหนึ่งจะมีปัญหามากมายที่แก้ไม่ทัน”

ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดราชบุรีสามารถเป็นตัวอย่างของการรับส่งงาน และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผล ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา รวมถึง สกร. ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับการทำงานรับส่งต่อกัน การแก้ไขและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของราชบุรีจึงมีผลลัพธ์ที่ดีเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่ง ณ จุดนี้คิดว่า ‘ราชบุรีโมเดล’ มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาการศึกษา ที่เกิดจากจัดตั้ง ‘สมัชชาการศึกษา’ และมีหน่วยงานและบุคคลจากทุกฝ่ายมาช่วยกันผลักดันการศึกษาของจังหวัดหนึ่ง หรือของพื้นที่หนึ่งไปด้วยกัน                

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า นอกจากจุดเด่นเรื่องการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จังหวัดราชบุรียังมีสถาบันอุดมศึกษาสองแห่งที่งอกงามด้วยจุดเด่นที่ต่างกัน ฟากฝั่งหนึ่งมี มจธ. ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ขณะที่ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง นั้นโดดเด่นเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ สองด้านนี้ได้ช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันในรูปแบบของการทำงานแบบ ‘Co-Curriculum’ ที่ส่งประโยชน์ไปถึงสังคมวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องการร่างการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ ที่รองรับกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีการสนับสนุน Soft Power ต่าง ๆ เช่นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มรดกวัฒนธรรม รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์และผู้ลี้ภัย ซึ่งสามารถผลักดันให้เป็นจุดเด่นของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ เพราะหากมีการออกแบบการศึกษาบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ก็จะยิ่งตอบโจทย์การจัดการศึกษาที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และเป็นการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

“ประโยชน์ตรงนี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนในจังหวัดราชบุรี แต่ในระดับประเทศเรายังมีแนวชายแดนทอดยาวกินพื้นที่กว่าสิบจังหวัดที่มีลักษณะพื้นเพใกล้เคียงกัน และงานนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเคารพเรื่องโอกาส และการช่วยเหลือผู้คนตามสิทธิที่คนทุกคนพึงได้รับ ซึ่งหมายถึงเราจะมีงานศึกษาวิจัยชิ้นสำคัญในระดับนานาชาติ”

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า นอกจากสถาบันอุดมศึกษา จังหวัดราชบุรียังมีภาคเอกชนขนาดใหญ่ ที่เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญของการทำงาน Zero Dropout ซึ่งทำให้เห็นว่าแม้ในโรงเรียนขยายโอกาสเล็ก ๆ ติดชายแดนที่มีเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก หากมีการบริหารจัดการที่ดีและมีแรงสนับสนุนจากภายนอกเข้ามาช่วย โอกาสที่จะลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เหลือ ‘0’ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงยังมีการส่งต่อที่เป็นระบบไปถึงระดับมัธยมศึกษา และการเรียนสายอาชีพ โดยหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ กสศ. พบ คือเด็กคนหนึ่งจะพาครอบครัวให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาระดับ ปวส. ถึงอนุปริญญาเป็นอย่างน้อย ดังนั้นทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำงานนี้ จำเป็นต้องมองถึงการสนับสนุนให้เกิดแนวทางการเรียนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพต่อเนื่องจากการศึกษาภาคบังคับไปถึง ปวช. และสิ้นสุดที่ ปวส. ให้ได้ เพื่อจะมีเยาวชนอีกไม่น้อยที่สามารถใช้การศึกษาเปลี่ยนแปลงชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตคนในครอบครัวได้จริง

“ราชบุรีโมเดล มีจุดเด่น 5 ประการ คือ 1.ระบบข้อมูลเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่ชัดเจน 2.อสม.ด้านการศึกษาที่เป็น Case Manager ทำหน้าที่ติดตามค้นหาและดูแลเด็ก 3.ภาคเอกชนที่มีใจอยากเข้ามาช่วยงานด้านการศึกษาของจังหวัด เช่นบริษัทแสนสิริ กลุ่มมิตรผล หรือบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ รวมถึงมีสถาบันการศึกษาที่ร่วมกันวางแนวทางส่งต่อเด็กเยาวชนข้ามช่วงชั้นการศึกษาแบบไร้รอยต่อ 4.สมัชชาการศึกษาที่บูรณาการเชื่อมร้อยหน่วยงาน ข้อมูล รวมถึงทรัพยากรทั้งจังหวัดเป็นเนื้อเดียว และ 5.การเป็นพื้นที่ต้นแบบนวัตกรรมการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ขับเคลื่อนโดย ศธจ. สพป. สพม. และโรงเรียนนำร่อง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีทางเลือกและยืดหยุ่นได้ตามบริบทชีวิต และจะช่วยลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราชบุรีโมเดลจึงเป็น ‘โมเดลที่มีชีวิต’ ที่เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่ยังคงเคลื่อนไหวพร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศทั้งวันนี้และในระยะยาว”

พัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.

นายพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. เสนอประเด็นหลักต่อสมัชชการศึกษาจังหวัดราชบุรีว่า Zero Dropout จังหวัดราชบุรีได้กำลังขยับไปสู่การทำงานเรื่อง Thailand Zero Dropout ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศด้วยการทำงานในพื้นที่จังหวัด ซึ่งข้อมูลสำคัญประการแรกคือ การตั้งต้นจากเงินทุน 100 ล้านบาทที่ภาคเอกชนคือ บมจ.แสนสิริ ระดมทุนมาที่จังหวัดราชบุรี เพื่อทำงานเรื่องเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาเป็นเวลา 4 ปี โดยขณะนี้เข้าสู่ปีที่สองของการทำงาน ซึ่งนำสู่ประเด็นที่สอง คือมีผลงานสำคัญหลายชิ้นที่อยู่ในการงานทั้งประเด็นเรื่องเด็กปฐมวัย เรื่องคุณภาพการศึกษารวมทั้งจังหวัด รวมถึงการทำงานพื้นฐานต่าง ๆ เช่นจัดตั้งกองทุน อาสาสมัครสานพลังทางการศึกษา โยงไปถึงการอ่านออกเขียนได้ และการศึกษาเพื่อการมีงานทำ โดยผลงานเหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญของการทำงานต่อเนื่องในอีกสองปีหลังจากนี้ กับงบประมาณที่เหลืออยู่ราว 40 ล้านบาท ไฮไลต์ที่อยากเห็นคือเรื่องของคนราชบุรีที่จะเป็นเจ้าของเรื่องนี้ต่อได้ในอนาคต ว่าจะทำให้เกิด All for Education ที่จะโยงงานต่าง ๆ เข้ากับสมัชชาการศึกษาจังหวัดได้อย่างไร ส่วนประเด็นที่สามคือเรื่องของการเดินต่อหลังจากนี้ที่ฐานข้อมูลของ Zero Dropout ซึ่ง กสศ. ทำระบบข้อมูลจากฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ผ่าน สพฐ. และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จนได้ตัวเลขเด็กเยาวชนนอกระบบในจังหวัดราชบุรีราว 1.4 หมื่นคน ซึ่งการทำงานตรงนี้ จะเป็นตัวแบบที่จะพัฒนาระบบงานทั่วประเทศในสามเรื่องใหญ่ 1.สร้างระบบข้อมูลกลางของประเทศในการดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา 2.หาวิธีค้นหาช่วยเหลือและติดตามเยาวชนกลุ่มนี้ และ 3.ออกแบบระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางทั้งในและนอกระบบได้อย่างครอบคลุม

“ราชบุรีมีทุนอยู่แล้ว สำคัญคือเราจะใช้ทุนนี้ในการทำงานต่ออย่างไร ก่อนจะขยายไปสู่ภาพใหญ่ของ Thailand Zero Dropout จากข้อมูล 1.4 หมื่นคน จะมีแอปพลิเคชันหนึ่งที่ กสศ. ทำร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและอีกหลายกระทรวง เพื่อไปสู่มติ ครม. ในการสร้างฐานข้อมูลเด็กเยาวชนรายคนแสดงผ่านแอปพลิเคชัน โดย กสศ. จะเริ่มทำงานกับจังหวัดราชบุรีในการจัดการข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงไปที่การค้นหาช่วยเหลือ และจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะเป็นภาพระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นของการขยับจากราชบุรี ไปที่ Thailand Zero Dropout ของทุกพื้นที่ทั่วประเทศ”            

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า 4 มาตรการสู่การทำงานต่อเรื่องราชบุรี Zero Dropout คือ 1.เชื่อมโยงระบบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ 1 ล้าน 4 หมื่นคนทั่วประเทศ 2.การติดตามช่วยเหลือระดับพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชันด้วยข้อมูลที่มั่นคงและปลอดภัย 3.ขยายผลเรื่องการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือก และ 4.ดึงผู้ประกอบการภาคเอกชนมาช่วยจัดการศึกษาแบบทวิภาคี การเทียบโอนคุณวุฒิ รวมถึงการเรียนรู้สู่การทำงาน เพื่อให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางมีรายได้ระหว่างเรียน และอยู่ในระบบการศึกษาได้จนถึงปลายทาง