นักเรียนยากจนพิเศษไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ลองตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกครั้ง
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนโฉมการเรียนรู้จากห้องเรียนออนไซต์เป็นห้องเรียนออนไลน์ อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นปัจจัยจำเป็นในการเข้าถึงการศึกษา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อเปิดประตูสู่การเรียนรู้ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต แต่ในสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม
นักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งหมายถึงนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ เฉลี่ยเดือนละ 1,398.75 บาท เป็นกลุ่มวัยเรียนสำคัญที่มีปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการศึกษาจากหลากหลายสาเหตุสำคัญ
ลองไปสำรวจสัญญาณปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของนักเรียนยากจนไปพร้อมกัน
3 ปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
นักเรียนยากจนพิเศษ เผชิญปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการศึกษา จาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่*
- การไร้เน็ตบ้าน 66% ของนักเรียนยากจนพิเศษ ใช้เน็ตมือถืออย่างเดียว เนื่องจากการใช้เน็ตบ้านมีค่าติดตั้งเพิ่มเติม บริการไปไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล ต้องใช้ไฟฟ้าและเอกสาร ซึ่งบางบ้านไม่มี
- การไร้อุปกรณ์ 71% ของนักเรียนยากจนพิเศษใช้โทรศัพท์มือถือในการเรียนรู้ และไม่ถึง 5% ที่มีแท็บแล็ต/คอมพิวเตอร์ ทำให้นักเรียนยากจนพิเศษส่วนใหญ่ได้รับประสบการณ์เรียนรู้ไม่เต็มที่ บ้างจ้องหน้าจอขนาดเล็ก บ้างทนกับแบตเตอรี่โทรศัพท์ร้อนเร็ว
- การไร้เงินเติมเน็ต นักเรียนยากจนพิเศษต้องเสียค่าเติมเงินมือถือสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป ครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้น้อย 17% ของรายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเป็นค่าเติมเงินมือถือซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าครอบครัวนักเรียนทั่วไปถึงเกือบ 4 เท่าเลยทีเดียว
จากปัญหาเน็ตที่กวนใจส่งผลถึงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียน เมื่อเน็ตหลุด เน็ตหาย นั่นหลายถึงความไม่เสมอภาคทางการศึกษา หรือกระทั่งโอกาสที่อาจจะหลุดจากระบบการศึกษา
*ข้อมูลจากการสำรวจและวิเคราะห์การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาคในปี 2564 จัดทำโดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ด้วยวิธีโทรศัพท์ใน 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งหมายถึงนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ เฉลี่ยเดือนละ 1,398.75 บาท จำนวน 1,541 คน และนักเรียนครัวเรือนทั่วไป ซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 11,799.21 บาท จำนวน 861 คน
ไวไฟฟรีมีจริงไหม
ที่ผ่านมา นอกจากความรับผิดชอบส่วนบุคคล ทางด้านบริการพื้นฐานอย่าง “ไวไฟหมู่บ้าน” ที่รัฐบาลจะจัดให้มีทั่วประเทศได้แบ่งเบาภาระของนักเรียนยากจนพิเศษอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อ 31 ธันวาคม 2565) มีหมู่บ้านที่มีไวไฟฟรี จากโครงการเน็ตประชารัฐและอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจากสำนักงาน กสทช. พร้อมให้บริการ 36,183 หมู่บ้าน จาก 73,939* หมู่บ้าน ใน 878 อำเภอทั่วประเทศ ไม่รวมกรุงเทพฯ
ข่าวดีคือประเทศไทยมีไวไฟให้บริการครอบคลุมในทุกจังหวัด แต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนยากจนพิเศษก็ยังมีอีกหลายตัวแปรที่ควรคำนึง ทั้งความไกล-ใกล้ที่พักอาศัยของนักเรียนยากจนพิเศษ จุดไวไฟควรอยู่ในระยะ 6 กม. ซึ่งเป็นระยะที่เด็กนักเรียนพอจะเดินทางไปเพื่อใช้ไวไฟได้ไม่ไกลนัก** ไม่นับรวมการแบ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตร่วมกับประชากรกลุ่มอื่น คุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ต และพื้นที่ภูมิศาสตร์อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
อาทิ อินเทอร์เน็ตหมู่บ้านในพื้นที่ภูเขาติดชายแดน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งมีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดในประเทศ จำนวน 10,997 คน มีไวไฟฟรีให้บริการใน 42 หมู่บ้าน แต่พบปัญหากระจายตัวไม่ทั่วพื้นที่ในระยะการเดินทาง 6 กิโลเมตร
* ในการศึกษาครั้งนี้ ศึกษา 73,939 หมู่บ้าน โดยอิงจากข้อมูลหมู่บ้านจากสำนักงาน กสทช.
**ตามมติ ครม. 7 ต.ค. 2562 ได้กำหนดระยะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลเดียวกัน ซึ่งประเมินว่า 6 กม. เป็นระยะทางที่เด็กนักเรียนสามารถเดินทางได้
ไวไฟฟรีหนึ่งจุด แชร์เน็ตกับเพื่อนนักเรียนยากจนพิเศษเยอะแค่ไหน
แม้อินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจะกระจายไปในทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่ไวไฟหนึ่งจุดบริการจะเพียงพอต่อการใช้งานของนักเรียนยากจนพิเศษแค่ไหน เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องพิจารณา
- ระดับอำเภอน่าห่วง ไวไฟหนึ่งจุดบริการรองรับนักเรียนยากจนพิเศษ ที่ค่ามัธยฐาน 27 คน ซึ่งคำนวณโดยคิดค่าของข้อมูลที่อยู่ตรงกลางของข้อมูลทั้งหมดเมื่อเรียงข้อมูลจากค่าน้อยที่สุดไปยังค่ามากที่สุด อย่างไรก็ดีอำเภอที่ไวไฟหนึ่งจุดบริการต้องรองรับนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดคือ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี (2,292:1)
- ระดับจังหวัดน่าห่วง จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษต่อไวไฟฟรีหนึ่งจุดบริการโดยเฉลี่ยสูงที่สุด คือ จ.นราธิวาส (139: 1) และจังหวัดในแถบชายแดนใต้อื่น ๆ อย่าง จ.ยะลา (127: 1) และจ.ปัตตานี (111: 1) นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ากลุ่มจังหวัดชายแดนก็มีสัดส่วนสูงเช่นกัน จ.ตาก (117: 1) จ.แม่ฮ่องสอน (93: 1) จ.อำนาจเจริญ (89: 1)
- ระดับภูมิภาคน่าห่วง สัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษต่อไวไฟหนึ่งจุดในภาคใต้สูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยไวไฟหนึ่งจุดบริการรองรับนักเรียนยากจนพิเศษ ระดับอำเภอในภาคใต้ที่ 46 คน
หมายเหตุ งานชิ้นนี้เปรียบเทียบเฉพาะการใช้งานของนักเรียนยากจนพิเศษต่อไวไฟหนึ่งจุดบริการ ไม่นับรวมประชากรอื่นในพื้นที่ที่อาจจะใช้งานไวไฟดังกล่าวในระยะเวลาเดียวกัน และไม่ได้พิจารณาตัวแปรเรื่องคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ส่งจดหมายถึงผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เสมอภาค
การเดินทางของอินเทอร์เน็ตสู่ประตูบ้านของนักเรียนยากจนพิเศษยังคงมีพื้นที่รอการพัฒนาให้ครอบคลุมและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแสดงบทบาทเพื่อสนับสนุนได้ ดังต่อไปนี้
จดหมายถึงหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม
- ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย
- ต้องทำให้ทุกคนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้ออินเทอร์เน็ตที่เท่ากัน
- ต้องสร้างมาตรการเชิงรุกไม่ให้ความยากจนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเพื่อการเรียนรู้
จดหมายถึงผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม
- จัดทำซิมเพื่อการศึกษา ซิมฟรี หรือ ซิมเน็ตที่มีราคาถูกที่สุดสำหรับนักเรียน
- จัดทำโปรโมชันเครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่หรือส่วนลด เมื่อนำโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเครื่องเก่าที่ยังมีคุณภาพไปให้นักเรียนที่ต้องการใช้เรียน
จดหมายถึงผู้ให้บริการเติมเงินอินเทอร์เน็ต
- ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการเติมเงิน
- ให้ข้อมูลราคาที่ครบถ้วนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับในการเติมเงินแต่ละช่วงราคา และอัตราค่าธรรมเนียมของแต่ละช่วงราคา เป็นต้น
- มีช่องทางการร้องเรียนและให้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ สะดวก รวดเร็ว