“ครูจะอยู่กับนักเรียนตลอดไป” ชีวิตบทใหม่ของ ‘มัส’ และ ‘มู’ การบรรจุเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นในโรงเรียนบนเกาะ

“ครูจะอยู่กับนักเรียนตลอดไป” ชีวิตบทใหม่ของ ‘มัส’ และ ‘มู’ การบรรจุเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นในโรงเรียนบนเกาะ

“สวัสดีครับ รอบนี้ครูจะกลับมาอยู่นานๆ แล้วนะ ไม่ได้อยู่แค่ 3 สัปดาห์ หรือแค่เทอมเดียวแล้ว แต่จะอยู่กับทุกคนตลอดไป”

ประโยคแรกที่ ‘มัส’ ณัฐวุฒิ งานแข็ง บอกเราว่า ตั้งใจจะพูดในคาบแรกที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง ในฐานะ ‘คุณครู’ บรรจุใหม่

ประโยคในคาบแรกของ ‘มู’ ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว ก็ไม่ต่างจากมัส เขาอยากบอกนักเรียนว่า “ครูกลับมาแล้วนะ” เพราะรู้ดีว่าเด็กๆ ต่างคิดถึงเขา จากคำบอกเล่าของครูในโรงเรียนที่โทรไปบอกเสมอว่า เด็กๆ โรงเรียนอ่าวกะพ้อคิดถึงคุณครูมูขนาดไหน

มัสและมูเป็นชาวเกาะยาวใหญ่ เกาะตั้งอยู่ในจังหวัดพังงา การได้รับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำให้ชีวิตทั้งสองมีสิ่งที่เหมือนกัน นอกจากความเป็นคนบ้านเดียวกัน คือ การเป็นครู ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่ให้สนับสนุนนักเรียนที่ขาดโอกาสได้การศึกษา ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีและกลับไปเป็นครูที่บ้านเกิด

ตุลาคมปี 2567 เป็นเดือนที่ทั้ง 2 คนจะได้กลับไปบรรจุหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มัสไปที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง ส่วนมูไปโรงเรียนอ่าวกะพ้อ ความกลัวหรือกังวลไม่ใช่ความรู้สึกที่ทั้งสองมีต่อเรื่องนี้ มีเพียงความตื่นเต้นที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนในระยะยาว หลังจากที่ผ่านมาพวกเขาไปใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนระยะสั้นๆ เพื่อสังเกตการสอน และฝึกการสอน 1 เทอม

ไม่ใช่แค่สองครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ตื่นเต้น แต่โรงเรียนปลายทางเองก็เฝ้ารอการกลับมาของพวกเขาด้วย รอยยิ้มของเด็กๆ ที่จะกว้างขึ้นเมื่อรู้ว่า ครูมูและครูมัสจะมาอยู่กับพวกเขานานแสนนาน อย่างน้อยก็ในระยะ 6 ปี ตามข้อกำหนดของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น

ประตูแห่งโอกาสทางการศึกษาเปิดกว้างขึ้น

อัตราเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย หรือระดับอุดมศึกษาของเด็กๆ ที่เกาะยาวใหญ่ถือว่าไม่สูงนัก จากคำบอกเล่าของอุดม กูลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ คือ มัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กบางคนเลือกที่จะออกมาช่วยครอบครัวหาเงิน อาชีพยอดนิยมของคนบนเกาะหนีไม่พ้นการทำประมง หรือไม่ก็เกษตรกรรม เด็กคนไหนที่ครอบครัวพอมีกำลังทรัพย์ จะถูกส่งออกไปเรียนจังหวัดอื่น ทำให้มีน้อยคนที่จะเลือกกลับมาที่เกาะยาวใหญ่

วันนี้เกาะยาวใหญ่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงเรียน หรือธุรกิจทัวร์ต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่ความนิยมนี้ก็ยังไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะช่วยลดอัตราครูโยกย้าย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานอยู่คู่เกือบทุกโรงเรียนบนเกาะยาวใหญ่

บรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งอ่าวกะพ้อและอ่าวมะม่วง ต่างตั้งความหวังว่า ทุนรัก(ษ์)ถิ่นจะเข้ามาช่วยลดอัตราครูโยกย้าย ด้วยการดึงคนในพื้นที่มาเป็นครู ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มโอกาสเรียนต่อให้เด็กที่ครอบครัวไม่มีทุนสนับสนุน

‘ครอบครัว’ เป็นเหตุผลที่ทำให้มัสตัดสินใจสมัครเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะการได้เป็นครูจะช่วยให้เขามีกำลังพอดูแลครอบครัว

ส่วนมูที่รับรู้สถานะการเงินครอบครัว เขาพร้อมที่จะช่วยครอบครัวหาเงินเพื่อส่งน้องๆ ที่เหลือเรียนต่อ หรือถ้าอยากเรียนต่อจริงๆ มูมอง ‘ปอเนาะ’ ไว้ ปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามในรูปแบบดั้งเดิม ถ้าเลือกเรียนต่อที่นี่มูก็จะได้ศึกษาศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่คนบนเกาะส่วนใหญ่นับถือ แถมไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้ามา ตอบความต้องการที่มูมี ทำให้เขาไม่ลังเลที่จะสมัครในที่สุดทั้งคู่ต่างได้รับทุนนี้

มู ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 โรงเรียนปลายทางโรงเรียนอ่าวกะพ้อ

ฟีดแบ็กจากผู้เรียน ข้อมูลสำคัญที่ทำให้พัฒนาตัวเองได้

การเรียนการสอนของครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ต่างจากการเรียนครูแบบอื่นๆ เพิ่มเติมคือมีโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อการทำงานของพวกเขา อย่าง Enrichment program หลักสูตรเสริมทักษะที่จำเป็น เน้นบริบทโรงเรียนปลายทางที่ไปอยู่ เช่น ถ้าเป็นโรงเรียนบนเกาะครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องรู้วิธีว่ายน้ำ หรือทักษะอาชีพที่เหมาะกับคนในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำพวกเขา

นอกจากนี้ มีการไปสังเกตการณ์โรงเรียนที่จะไปอยู่ทุกๆ ปี เพราะครูรัก(ษ์)ถิ่นต่างรู้แล้วว่า โรงเรียนปลายทางพวกเขาคือที่ไหน ก็ทำให้มีเวลาเตรียมตัวและได้ไปปรับตัวการใช้ชีวิตที่นั่น

มัสบอกว่า ระหว่างการฝึกสังเกตการสอนกับการไปฝึกสอน สำหรับเขาแตกต่างกัน เพราะการสังเกตเขาทำหน้าที่เป็นเพียงคนหลังห้อง มองดูการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในหนึ่งคาบ แต่เมื่อต้องรับบทเป็นคนสอน ก็ถือเป็นงานหินสำหรับมัสที่เจอปัญหาควบคุมเด็กในชั้นเรียนได้ยาก

“ช่วงฝึกสอนปี 4 เราได้สอนเด็กป.2 ปัญหาที่เจอ คือ การควบคุมชั้นเรียน เราควบคุมชั้นเรียนไม่ค่อยได้ เด็กไม่ค่อยฟังเรา คิดว่าเราอาจจะดุไม่พอ (หัวเราะ) บุคลิกภาพเราอาจมีส่วนด้วย บางทีสนิทกับเด็กมากไปเขาก็จะไม่ค่อยอยากฟังเรา”

ปรึกษาครูพี่เลี้ยงเป็นสิ่งที่มัสทำไปพร้อมๆ กับถามความคิดเห็นเด็กๆ ในห้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ามีส่วนไหนที่เขาต้องพัฒนา แล้วการสอนของเขาเป็นอย่างไร ทำให้มัสรู้ปัญหาและแก้ได้ เป็นที่มาว่าทำไมเด็กๆ โรงเรียนอ่าวมะม่วงถึงรอคอยวันที่ครูมัสกลับมาอีกครั้ง

“มีนักเรียนบางคนบอกว่าครูพูดเร็วไป เขาฟังไม่ทัน หรือเราให้เด็กทำกิจกรรมเขียนมากเกินไป เขาไม่อยากทำ อยากทำกิจกรรมแบบอื่นบ้าง” มัส ย้อนให้ฟังถึงฟีดแบ็กที่เขาได้รับจากนักเรียน

การฝึกสอนทำให้มัสรู้ว่า ห้องเรียนไม่ใช่แค่ที่ทำงานของครู แต่ยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำอีก อย่างงานเอกสารต่างๆ ทำให้บางทีมัสก็รู้สึกเหนื่อยและท้อบาง แต่กำลังใจที่ได้จากคุณครูในโรงเรียนก็ทำให้มัสใจชื้น และรู้ว่าเขาจะมีคนช่วยเหลือเสมอ

“สัปดาห์แรกที่ฝึกสอน ผมจัดการเด็กไม่ค่อยได้ เด็กไม่ยอมฟังเรา ทำให้เรานึกถึงครูคนหนึ่งที่เราได้เรียนกับเขาตั้งแต่ป.1-6 เรามาคิดว่าทำไมเราถึงชอบที่จะเรียนกับเขา เด็กคนอื่นๆ ก็ชอบครูคนนี้ ขนาดเสาร์-อาทิตย์ยังไปอยู่บ้านครู มานั่งคิดว่าครูเขามีวิธียังไง แล้วก็หาข้อมูลอื่นไปด้วย สัปดาห์ที่ 2 เราลองเอาใหม่ เข้าหาเด็กมากขึ้น พยายามหากิจกรรมในห้องเรียนเพิ่ม ทำยังไงให้เด็กเข้าถึงเรา ให้เด็กที่เงียบที่สุดไม่ยอมพูดอะไร กล้าที่จะพูด”

ปัญหาที่มัสเจอเป็นปัญหาเดียวที่มูเจอเมื่อฝึกสอน คือ ควบคุมเด็กในห้องที่รับผิดชอบไม่ค่อยได้ แต่สุดท้ายมูก็หาวิธีรับมือได้ และจากฟีดแบ็กของผู้ปกครองเด็กในห้องเรียนที่มักเป็นครูๆ ในโรงเรียนเช่นเดียวกัน กลับมาบอกเขาว่า ลูกๆ ต่างชมครูมูให้ฟัง เล่าว่าเรียนกับครูมูสนุกมาก เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้คนฟังอย่างครูมูใจฟูขึ้น เขาบอกว่าวิธีการที่เขาค้นพบระหว่างฝึกสอน คือ ในการจัดการเรียนการสอนต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถึงจะทำให้เด็กอยากอยู่กับครูมากที่สุด

มัส ณัฐวุฒิ งานแข็ง นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 โรงเรียนปลายทางโรงเรียนอ่าวมะม่ว

ครูนักพัฒนาชุมชน

“ผมเคยมีครูสอนภาษาไทยแล้วย้ายออกไป พอเราไปเรียนกับครูอีกคน ซึ่งเขาไม่ได้จบเอกภาษาไทยมาโดยตรง เขาอาจจะไม่สามารถเต็มที่กับการสอนได้ สอนเราได้ในระดับพื้นฐาน มันก็มีปัญหาตรงนี้”

ปัญหาครูโยกย้ายเป็นปัญหาที่อยู่คู่โรงเรียนบนเกาะยาวใหญ่ ระยะเวลาที่ครูบรรจุเฉลี่ย 1-2 ปี ก่อนจะขอย้ายไปที่อื่น สมัยที่มัสยังเป็นนักเรียนมักจะเจอเหตุการณ์ครูย้ายบ่อยครั้ง การหาครูมาทดแทนก็ต้องใช้เวลา ทำให้บางครั้งครูจากวิชาอื่นต้องมาช่วยสอนแทน

ผอ.อุดมของโรงเรียนอ่าวกะพ้อเคยออกนโยบาย ‘ชวนน้องกลับบ้าน’ ชวนคนเกาะยาวที่ไปทำงานเป็นครูในพื้นที่อื่น ขอย้ายกลับมาสอนที่บ้าน เขามองว่าจะเป็นวิธีช่วยแก้ปัญหาครูโยกย้าย เพราะได้คนในพื้นที่มาสอน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเลยเป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้เพิ่ม

“ถ้าเราเป็นคนในพื้นที่ เราเรียนจบที่โรงเรียนนี้ ครูคนนั้นเคยสอนเรา เวลาเรากลับไปสอนมันจะง่ายขึ้น แต่บางคนเขาอาจคิดว่าเรายังเป็นเด็ก ยังไม่มีความสามารถมากพอ แต่เราคิดเสมอว่าเราเรียนจบครูแล้ว เรียนเท่าๆ กับครูคนอื่นนั่นแหละ”

มูก็คิดเหมือนกันว่าการเป็นคนในพื้นที่จะช่วยให้การทำงานเป็นครูราบรื่นขึ้น เขามองไปถึงการเป็นครูนักพัฒนาชุมชน อีกงานที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นได้รับมอบหมาย ครูได้พัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กับพัฒนาโรงเรียน บางคนอาจมองว่าเป็นงานที่หนัก ทำให้ครูต้องรับภาระมากเกินจนอาจจะไม่มีเวลาโฟกัสการสอนมูบอกว่าเขาจะวางแผนที่จะทำหน้าที่ทั้งสองอย่างให้ดีที่สุด และมั่นใจว่ามันจะไม่ทำให้เขาเหนื่อย เพราะได้เตรียมตัวไว้แล้ว

และเพราะมูมองว่า โรงเรียนกับชุมชนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ มีความสัมพันธ์ในลักษณะเกื้อกูลอาศัยกัน เขายกตัวอย่างเวลาโรงเรียนจะจัดกิจกรรมอะไร มักจะมองหาจุดที่ชุมชนสามารถมาร่วมได้ เช่น งานประจำปี ชวนคนในชุมชนมาตั้งร้านขายของหารายได้ โรงเรียนก็จะมีอาหารและของให้คนมางานได้เลือกซื้อ หรือการที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อปรับหลักสูตรนำศาสนาอิสลามเข้ามาสอนควบคู่วิชาสามัญ ช่วยลดภาระครอบครัวที่ต้องส่งลูกออกไปเรียนข้างนอกเกาะ เพราะบนเกาะก็มีโรงเรียนที่สอนศาสนาให้ลูกๆ ได้ดีเหมือนกัน

“คําว่าพัฒนาชุมชนเนี่ยมันไม่ใช่ว่าเราต้องไปสร้างอะไรยิ่งใหญ่ ต้องไปเริ่มต้นใหม่ การพัฒนามีหลายด้าน อย่างพัฒนาจิตใจของคนในชุมชน พัฒนาสิ่งที่โรงเรียนมี ผมว่าการเป็นครูในโรงเรียน ครูที่ไม่ใช่ครูรัก(ษ์)ถิ่นนะ เขาก็ทำงานพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว เพราะคําว่าโรงเรียนคือมันต้องควบคู่กับชุมชน”

‘นิทานฮัจญ์’ โปรเจกต์จบการศึกษาของมู ด้วยความตั้งใจที่อยากทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ศาสนาเป็นหนึ่งสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน มูเลยนำพิธีสำคัญที่ชาวมุสลิมต้องทำ 1 ครั้งในชีวิตมาถ่ายทอด เพื่อให้คนที่ไม่เคยไปได้เรียนรู้ ได้สัมผัสประสบการณ์

งานของมัสก็ทำเป็นนิทานเช่นกัน ‘10 เรื่องเล่าบนเกาะยาว’ ที่เขาไปรวบรวมเรื่องราวสำคัญๆ ของเกาะให้คนที่สนใจ หรือลูกหลานได้รับรู้ว่า รากเหง้าเกาะเป็นอย่างไร

“โลกของเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดนะครับ บางสิ่งบางอย่างที่เป็นเรื่องราวเก่าๆ เป็นตำนาน หรืออะไรต่างๆ มันก็เริ่มจะหายไปตามคนเก่าคนแก่ที่ตายจากไป สิ่งที่เขาไปทําไว้คนรุ่นหลังบางคนอาจไม่มีโอกาสรับรู้ เราอยากเก็บรวบรวมสิ่งนี้ไว้”

ก่อนจะถึงเดือนตุลาคม มัสและมูมีเวลาที่จะได้พักจากการเรียนจบ แล้วเตรียมตัวเข้าสู่บทใหม่ของชีวิตที่จะทำให้ได้เรียนรู้โลกเพิ่มมากขึ้น

“ความรู้สึกในการไปบรรจุที่บ้าน คือ เราได้กลับบ้าน ได้กลับไปอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ได้พัฒนาบ้านเกิดของเรา แต่เราก็ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ อยากไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ อยากไปรู้ว่าถ้าสอนโรงเรียนบนดอยเป็นอย่างไร โรงเรียนในเมืองเป็นแบบไหน แต่อยู่ที่นี่เราก็ได้เรียนรู้เหมือนกัน

“อนาคตผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเป็นยังไง อาจจะเรียนต่อ หรือสอบเป็นผอ. ก็ค่อยว่ากัน มันเป็นอนาคตที่เรายังวางแผนได้” มูทิ้งท้าย