“ขอโอกาสให้เราได้ดูแลตัวเอง” จากใจผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ในวันที่สำเร็จการศึกษา

“ขอโอกาสให้เราได้ดูแลตัวเอง” จากใจผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ในวันที่สำเร็จการศึกษา

“การได้เรียนคือโอกาสให้เรามีงานทำ แล้วถ้ามีงานทำ เราก็เลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของใคร”

รอยยิ้ม แววตามุ่งมั่น ถ้อยคำเรียบง่ายส่งผ่านน้ำเสียงเริงร่า ทว่าส่งพลังความตั้งใจอันหนักแน่น ท่วมท้น ‘มะปราง’ จิดาภา นิติวีระกุล กล่าวย้ำถึงความสำคัญของ ‘โอกาส’ ด้วยสปีชอันทรงพลังบนเวที Youth Talk ในหัวข้อ ‘กสศ. กับโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ’ ซึ่งเธอได้ขึ้นพูดในฐานะตัวแทนเพื่อนนักศึกษาทุน 123 คน จาก 10 สถาบัน ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รุ่นที่ 2 ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2565

มะปรางเพิ่งจบชั้น ปวส. จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา จังหวัดชลบุรี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล เธอพยายามใช้เวลาสั้น ๆ บนเวทีให้คุ้มค่า เพื่อสื่อสารส่งไปถึงสถาบันการศึกษา สถานประกอบการ เพื่อนนักศึกษาในหอประชุม ตลอดจนทุกผู้คนในสังคมว่า ‘โอกาสทางการศึกษา’ สำคัญกับเธอและคนอื่น ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในหลืบเล็กมุมน้อยในประเทศนี้เพียงใด

“ดิฉันอยู่บนเวทีนี้เพื่อจะบอกทุกท่านว่า มีคนอีกมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ยิ่งในพื้นที่ห่างไกลโอกาสยิ่งปิด หรือหากจะกล่าวเฉพาะผู้พิการ ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านทราบดี ว่ามีครอบครัวอีกมากมายที่ไม่เคยรู้ว่ามีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เปิดรับพวกเรา ข้อมูลนี้คือเหตุผลสำคัญ ว่าทำไมถึงเกิดเป็นวงจรเวียนซ้ำ ทำให้พวกเราหลายคนต้องจำกัดตัวเองอยู่แต่ในบ้าน เพราะจุดเริ่มต้นคือเราไม่มีความรู้ จึงดูแลตัวเองไม่ได้ ทำให้ไม่กล้าไปไหน แล้วเมื่อไม่เคยเห็น ไม่เคยรับรู้เรื่องราวภายนอก ก็เท่ากับว่า เราไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิต

“ดิฉันจึงอยากให้คนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ที่เราจะได้พึ่งพาตัวเอง ได้ออกไปใช้ชีวิตเฉกเช่นเดียวกับคนทุก ๆ คน”

เพิ่มพื้นที่งานออนไลน์ เพิ่มโอกาส ‘ผู้มีศักยภาพ’

“หากสถานประกอบการทุกที่หรือส่วนมาก ปรับการทำงานเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น ทุกท่านคิดว่าจะเป็นอย่างไรคะ?”

มะปรางเปิดด้วยคำถาม ก่อนตามด้วยคำตอบที่กลั่นกรองแล้วอย่างดีจากภายใน “ดิฉันคิดว่าธุรกิจต่าง ๆ จะมีทางเลือกมากกว่าเดิม ซึ่งหมายถึงท่านจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะได้ทำงานกับคนมีความสามารถ”

ข้อเสนอข้อนี้ตั้งใจส่งถึงผู้ประกอบการโดยตรง ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเร่งอัตราความก้าวหน้าไปไกลขึ้นทุกที ขณะที่ ‘ผู้มีความต้องการพิเศษ’ จำนวนมาก สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองจนทัดเทียมคนทั่วไป ดังนั้นถ้าสถานประกอบการเปิดทางให้คนทำงานจากที่บ้านแบบ ‘work from home’ หรือ ‘work from everywhere’ ได้มากขึ้น องค์กรและบริษัทต่าง ๆ ก็จะยิ่งมีทางเลือกในการจ้างคนเก่งมาทำงาน โดยไร้ข้อจำกัดเรื่องระยะทางหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอื่น ๆ อีกต่อไป

“การดูแลจากวิทยาลัยและ กสศ. ในฐานะนักศึกษาทุน ได้เปิดประตูให้ดิฉันเห็นว่า โลกภายนอกมีทางเลือกของการทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ มากแค่ไหน นอกจากนี้พวกเรายังได้ค้นหาตัวเองว่าอยากเป็นอะไร อยากทำงานด้านไหน

“เทอมสุดท้ายก่อนเรียนจบ ที่วิทยาลัยมีวิชาฝึกงานในสถานประกอบการ ดิฉันได้ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 2 คนที่ได้ฝึกงานกับบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย โดยเป็นรูปแบบการทำงานออนไลน์ ดังนั้นถึงบริษัทจะอยู่กรุงเทพฯ แต่ดิฉันก็ทำงานได้จากบ้านที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประสบการณ์ครั้งนี้สำคัญมาก เพราะมันทำให้ดิฉันเห็นและเชื่อมั่นว่าพวกเราสามารถทำงานได้ โดยที่ทั้งตัวเราและบริษัทไม่ต้องกังวลกับอะไรเลย”

‘การศึกษาที่มีทางเลือก’ คือกุญแจปลดล็อกข้อจำกัด

มะปรางบอกว่าเวลา 5 ปีเต็มที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา คือ ‘จุดเปลี่ยน’ และเป็น ‘พื้นที่ของโอกาส’ ให้เธอฝึกฝนขัดเกลาทักษะ ได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วสถาบัน โดยมะปรางไม่เคยปฏิเสธทุกโอกาสที่ได้รับ ทำให้เธอค้นพบและแสดงออกถึงสิ่งที่มีในตัวได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปแข่งขัน ‘ความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล’ ในปี 2562 (Global IT Challenge for Youth with Disabilities: GICT 2019) ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเธอได้รับ 1 เหรียญทอง กับ 2 เหรียญเงิน กลับมาเป็นรางวัล ถัดมาในปี 2563 ได้รับรางวัล ‘นักเรียนพระราชทาน’ และในปี 2564 ได้รับรางวัล ‘ยุวสตรีพิการดีเด่น’ ในวันสตรีสากล รางวัลเหล่านี้คือความภาคภูมิใจ และเป็นแรงขับดันให้เธอตั้งใจพัฒนาตนเองต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด 

อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษในวันนี้ อาจมีหลากหลายแง่มุมที่เปิดกว้างขึ้น แต่เมื่อได้พูดคุยกับมะปรางหลังจบเวที Youth Talk ว่าเธอยังมองเห็นถึงข้อจำกัดใดบ้างที่อยากให้สถาบันการศึกษาช่วยกันปลดล็อก เพื่อให้เส้นทางการศึกษาสู่การประกอบอาชีพของเธอและเพื่อน ๆ สามารถขยับเข้าใกล้ความหมายของคำว่า ‘เสมอภาค’ ได้อีกสักก้าวหนึ่ง

มะปรางบอกว่า “เป็นความจริงที่ว่าพวกเราสามารถเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ในขอบเขตของคำว่ามากขึ้นนี้ หนูคิดว่ายังห่างไกลอยู่มากกับการเปิดกว้างของโอกาสทั้งหมดจริง ๆ

“หมายถึงด้วยความไม่พร้อมในหลายด้าน บางสถานศึกษาจึงยังไม่เปิดรับพวกเรา หรือบางแห่งก็เปิดรับได้เฉพาะผู้พิการบางประเภทเท่านั้น หรือในอีกทางแม้สถาบันจำนวนหนึ่งพร้อมเปิดรับ ก็ยังติดตรงที่หลักสูตรให้พวกเราเลือกเรียนยังไม่หลากหลายเพียงพอ เช่น เราอยากเรียนสาขาหนึ่ง แต่พอเห็นข้อมูลระบุว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ เราก็เลือกเรียนไม่ได้ ต้องหันไปพิจารณาสาขาอื่น ๆ ที่พร้อมรองรับพวกเรามากกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงคนเราต่างมีความสนใจและถนัดที่ต่างกันไป สำหรับผู้พิการแล้ว ทุกคนอาจไม่ได้ต้องการเรียนเฉพาะในสาขาที่กำหนดไว้ แต่เมื่อทางเลือกมีน้อย ก็เปรียบได้กับการไม่มีทางเลือกอยู่ดี เหมือนเราถูกจำกัดไว้ว่าสามารถเรียนได้แค่ใน ‘สาขาวิชาที่กำหนด’ เท่านั้น”

มะปรางจึงขอส่งเสียงไปยังสังคม ว่าถ้ามีการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมตัวเลือกมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนสถาบันและสาขาวิชาที่เปิดรับ ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษอีกจำนวนมากก็จะสามารถปลดล็อกข้อจำกัดของตัวเอง รวมถึงผู้เรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือคนที่ครอบครัวไม่มีความพร้อม ก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้ใช้ชีวิต และได้แสดงศักยภาพที่มีในตัวได้มากขึ้น

“ขอโอกาสให้เราเรียนรู้ เพราะคงไม่มีใครดูแลเราไปได้จนตลอดชีวิต”

ประเด็นท้ายสุดที่นักศึกษาจบใหม่ไฟแรงจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา กล่าวถึงคือ แรงสนับสนุนจากผู้ปกครอง มะปรางบอกว่า สำหรับเธอที่มีครอบครัวพร้อมผลักดันทุกทาง จึงทำให้หลายสิ่งที่ยากเย็นเป็นไปไม่ได้ กลับต่อยอดและงอกเงยจนเป็นรูปร่างได้ในที่สุด

“ถ้าย้อนไปที่จุดตั้งต้น หนูเชื่อว่าไม่มีครอบครัวไหนมีข้อมูลมากกว่ากันเลยค่ะ สำหรับบ้านของหนู ความที่พ่อกับเม่ตั้งใจแล้วว่าต้องหาทางสนับสนุน และยืนยันว่าต้องทำให้ได้ ท่านเลยช่วยกันหาข้อมูลทุกทาง เริ่มจากติดต่อไปเกือบทุกสถาบัน จนเห็นช่องทางว่ามีโรงเรียนไหนเปิดรับบ้าง แต่ถึงจะมีข้อมูลและประสบการณ์แล้ว ทุกครั้งเมื่อต้องเปลี่ยนผ่านระดับชั้น เราก็เหมือนต้องวนย้อนไปเริ่มใหม่ที่จุดเดิมอีกเสมอ หนูจึงเชื่อว่า ความเชื่อมั่นและพยายามของผู้ปกครองเป็นพลังที่สำคัญมาก”

แม้ต้องดิ้นรนพยายามมากกว่าคนทั่วไปเพื่อเข้าถึงการศึกษาก็ตาม มะปรางยังกล่าวว่า “ตราบเท่าที่พ่อแม่ยังผลักดันหนุนหลัง หนูก็ไม่เคยหวั่น” ดังนั้นสิ่งที่เธออยากบอกกับผู้ปกครองของเพื่อน ๆ ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ จึงเป็นเรื่องของการเปิดใจให้โอกาส

“ท่านอย่าได้กังวลไปก่อนว่าลูกหลานจะลำบาก หรืออย่าคิดไปก่อนว่าสำหรับพวกเราเรียนจบมาแล้วก็คงไม่ได้ทำงานอยู่ดี หรืออย่าไปยึดติดกับความเชื่อว่าอยู่บ้านสบายอยู่แล้ว จะหาเรื่องออกไปลำบากทำไม ใครจะคอยดูแล

“หนูมองว่าความคิดและการกระทำของพ่อแม่ มีผลมากต่อตัวเราและสิ่งที่เราจะทำ อย่างหนูกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก แต่แม่หนูใจแข็ง ตัดใจส่งเข้าโรงเรียนประจำตั้งแต่ 7 ขวบ แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมห่วงลูกสงสารลูก แต่ท่านอย่าลืมว่าที่โรงเรียนเรามีพี่เลี้ยงคอยดูแล มีกระบวนการที่ออกแบบไว้ให้เรียนรู้ มีพื้นที่ มีสถานการณ์ที่จะสอนให้เราสู้ ให้เราปรับตัว ให้เราช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะถึงเราทำเองไม่ได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยโปรดให้โอกาสเราได้พยายามให้เต็มที่ที่สุดก่อน

“อยากให้พ่อแม่ทุกท่านเข้าใจว่าในความบกพร่องขาดแคลน พวกเราก็สามารถทำอะไรหลายอย่างได้เหมือนหรือดีกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือท่านต้องตระหนักว่าพ่อแม่หรือใครก็ตาม พวกท่านจะไม่มีวันดูแลเราไปได้ตลอดชีวิต ถึงวันหนึ่งเราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ท่านควรมอบให้เรามากที่สุด จึงเป็นโอกาส …ที่เราจะได้เติบโต โอกาส …ให้เราได้ลองผิดลองถูกเช่นคนทั่วไป ซึ่งผู้ปกครองเองต้องเป็นด่านแรกที่จะช่วยจุดประกายให้เราเข้าถึงโอกาสนั้น 

“ถ้าท่านไม่สนับสนุนผลักดันให้ลูกเติบโตขึ้นตามความสนใจของเขา เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะยิ่งหันหลังให้สังคม ไม่อยากไปไหน ไม่อยากพบใคร และทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้เลย หนูเชื่อว่าไม่มีใครที่ได้อะไรมาโดยไม่ต้องสู้หรอกค่ะ ดังนั้นเพื่อที่เราจะออกไปใช้ชีวิตเองได้ พ่อแม่ต้องเข้มแข็ง เป็นเสาหลักที่แข็งแรง คอยสนับสนุนลูกอยู่ห่าง ๆ และท่านต้องเชื่อว่าคนทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้”

“เราไม่เคยละทิ้งความตั้งใจว่าลูกต้องได้เรียน”

ดนิตา นิติวีระกุล คุณแม่ของมะปราง ผู้เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า สิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันคือ ‘โอกาส’ เธอบอกกับเราว่าสิ่งเดียวที่คำนึงถึงในฐานะของแม่คือ ลูกต้องได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กคนอื่น ๆ

“โอกาส คือคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเราต้องสนับสนุนให้ลูกได้เรียน เพราะเมื่อเรามองในแง่มุมของความเป็นแม่ เมื่อนั้นเรื่องความรู้สึกอับอายหรือกลัวว่าลูกจะลำบากก็ไม่สำคัญเลย เราคิดแค่ว่าทำอย่างไรลูกจะได้เรียนและจบการศึกษา สิ่งนี้คือแรงขับให้เราหาข้อมูล แล้วช่วยกันวางแผนต่อเนื่องเป็นลำดับขั้น อนุบาลเข้าเรียนที่ไหน ต่อชั้นประถมที่ไหน มัธยมที่ไหน เราเริ่มจากหาโรงเรียนในละแวกใกล้บ้านก่อน แล้วขยับไกลออกไป ทีแรกก็เข้าไปคุยกับ ผอ. ก่อน แล้วนัดพาลูกไปพบ หลายที่เขาไม่รับเพราะดูแลไม่ไหว กลัวว่าลูกเราจะไปเป็นอะไรที่โรงเรียน เราก็เข้าใจ ไม่ได้ที่หนึ่งเราก็ไปอีกที่หนึ่ง ไกลบ้านออกไปเรื่อย ๆ จากชลบุรีไปเรียนไกลถึงขอนแก่นก็ยอม คือไม่ว่าถูกปฏิเสธมากี่ครั้ง เราก็ไม่เคยละทิ้งความตั้งใจว่าลูกต้องได้เรียน”

นอกจากเรื่องการศึกษา คุณแม่มองว่าการพาน้องไปในที่ต่าง ๆ ด้วยกันเสมอ ถือเป็นประสบการณ์สำคัญที่จะแปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนชีวิตให้น้องได้เติบโตขึ้นอย่างรู้รอบ “เราพยายามผลักดันลูก ไปไหนก็พาไป เอาวีลแชร์ไปด้วยหนัก 20 กว่ากิโลฯ ขนขึ้นรถลงรถก็ต้องทำ เราอยากพาไปทุกที่ที่เขาอยากไป อยากให้ได้ลองทำทุกอย่างที่อยากทำ กิจกรรมอะไรก็ตามที่อยากลองก็พากันไป มันต้องทำค่ะ เป้าหมายเราคือทำให้เขาเติบโตได้มากที่สุดทั้งภายนอกภายใน”

“เห็นว่าเขามีความสุขได้ เราคุ้มเหนื่อยแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านที่อาจไม่ได้โรแมนติกงดงามแค่เพียงมีหัวใจและความพยายามเป็นต้นทุน คุณแม่ดนิตาก็ผ่านมาอย่างเข้าใจ และกล่าวไว้ว่า “หลายครอบครัวติดปัญหาความพร้อม เรื่องคนดูแล การเดินทาง หรือทุน เหล่านี้คือปัจจัยที่สนับสนุนความคิดและแผนการว่าเราจะดูแลลูกอย่างไร ซึ่งแต่ละครอบครัวก็มีความพร้อมต่างกัน อย่างเราพอจะทำได้แค่ไหน ก็พยายามเต็มที่ ส่วนหนึ่งคือพอได้มาเจอโรงเรียนศรีสังวาลย์แล้วค่อนข้างดีขึ้น ตอนนี้เวลาเจอใครมีปัญหาอย่างเดียวกันก็แนะนำให้ไปศรีสังวาลย์เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะด้วย ค่าเทอมเทอมละ 2,000 มีที่พัก มีครูดูแลตลอด จบแล้วมาต่อชั้น ปวช. ที่พัทยา ส่วน ปวส. ก็มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ที่ทำให้เห็นว่าช่วยให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้นจริง ทั้งได้เรียนและได้ใช้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งถึงตรงนี้ถือว่าความพยายามของเราได้พาเขามาบนเส้นทางการศึกษาที่ต่อเนื่องที่สุดแล้ว

“แค่เห็นลูกได้ไปเรียน มีเพื่อน ได้ไปใช้ชีวิตของเขา เห็นว่าเขามีความสุขได้ เราคุ้มเหนื่อยแล้ว คือถ้าเราให้เขาอยู่แต่ที่บ้าน มันจะอึดอัด หดหู่ เพราะเขาไม่เห็นอะไรข้างนอกเลย ยิ่งบ้านเราเป็นอาคารพาณิชย์ ลูกนอนชั้น 3 ขึ้นลงลำบาก ออกไปไหนก็ลำบาก กลับกันเวลาเขาไปอยู่ที่สถาบัน ได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้เจอชุมชนสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีทั้งเด็กปกติ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาบนพื้นฐานที่มองว่าทุกคนเหมือนกัน แค่แต่ละคนต้องการแตกต่างกันไป ชีวิตของเขาที่นั่นเราเลยมองว่าค่อนข้างสะดวก มีทางเฉพาะให้วีลแชร์เดินทางได้ ส่วนลูกก็ชอบอยู่ที่นั่น เพราะเขาได้ดูแลตัวเอง ได้ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง พอต้องกลับมาอยู่บ้านกลายเป็นว่าเบื่อ”

คุณแม่ดนิตาฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทุกคน ขอให้ทุกท่านพึงระลึกว่าถ้าสามารถทำได้ ควรให้โอกาสลูกหลานได้ออกไปใช้ชีวิต ได้เติมเต็มความสุข ความมั่นใจ พัฒนาทักษะ และเป็นการหล่อหลอมทัศนคติที่เด็ก ๆ จะมีต่อตัวเองและต่อสังคม ที่เขาจะต้องอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของประเทศและสถาบันการศึกษา ถ้าอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองไว้ใจส่งลูกหลานออกไปเรียน ออกไปอยู่ในความดูแลของท่าน ก็ต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะของเมือง แล้วเชื่อว่าจะมีผู้มีความต้องการพิเศษอีกไม่น้อยที่จะออกมาเรียนหนังสือ ทำงาน และดูแลตัวเองได้เป็นจำนวนมากขึ้น