6 ปี คือ ระยะเวลาขั้นต่ำที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องประจำอยู่ที่โรงเรียนปลายทางตามเงื่อนไขของโครงการฯ เวลาเท่านี้ที่บางคนก็ว่านาน บางคนก็ว่าเร็ว แต่ทั้งนี้ไม่ว่ามันจะนานไป เร็วเกิน หรือเหมาะสมดี สิ่งที่ครูหลายคนต้องมาคิดกันต่อคือตลอดระยะเวลา 6 ปีนี้ จะใช้ชีวิตในเส้นทางครูอย่างไร ให้แข็งแรงทั้งใจ กาย เด็กเองๆ ก็มีความสุขเหมือนที่ครูของเค้าก็มีความสุข
ความกังวลคงเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ ครูหลายคนอาจกังวลว่าถ้า 6 ปีนี้ พวกเขาไม่สามารถปรับจูนให้กับสภาพแวดล้อมหรือโรงเรียนได้ เขาจะต้องทำอย่างไร แต่แน่นอนว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ทิ้งให้ครูรุ่นใหม่เผชิญเส้นทางนี้อย่างเดียวดาย เพราะมีทั้ง ‘ตัวช่วย’ และ ‘ทีมหนุนเสริม’ ที่เป็นกลไกผลักดันครูทั้งหลายให้ไปถึงฝั่งฝัน
ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของทีมหนุนเสริมจะมาตอบข้อสงสัยเรื่องตัวช่วยเสริมพลังต่างๆ ตลอดการใช้ทุน 6 ปี รวมถึงเล่าสู่กันฟังเรื่องการดูแลครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อไม่ให้ทุกคนกังวัลจนเกินไป
เชื่อว่าสังคมอาจจะมีคำถาม อาจจะยังกังวลว่า ภายใต้ระยะเวลาการใช้ทุน 6 ปีของครูรัก(ษ์)ถิ่น ครูเขาจะต้องทำยังไง หรือเขาจะอยู่ยังไง อาจารย์มีกลไกอะไรที่ช่วยซัปพอร์ตพวกเขาบ้าง
เรามีทีมหนุนเสริมดูแลและสังเกตการณ์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อครูรัก(ษ์)ถิ่น และการเตรียมโรงเรียนปลายทาง รวมถึงกลไกอื่นๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างพัฒนาอีกด้ว
ทีมหนุนเสริมคืออะไร
ทีมหนุนเสริม คือ ทีมงานที่ถูกพัฒนามาพร้อมกับโรงเรียน เกิดจากการรวมตัวของผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ และจิตอาสาที่มีความเข้าใจเรื่องโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นอย่างดี มี 150 คน ทั่ว 4 ภูมิภาค เข้ามาดูแลในช่วง 6 ปีหลังของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น หลังจากเรียนจบแล้ว
มีหน้าที่สนับสนุน ดูแล ให้คำปรึกษากับครูรัก(ษ์)ถิ่น และประสานกับ มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อให้ดำเนินงานโครงการฯ ไปอย่างราบรื่น
ที่มาที่ไป และทำไมต้องมีทีมหนุนเสริม
ตั้งต้นจากประเด็นที่ว่า หากเราจะต้องทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้คนในท้องถิ่นได้กลายเป็นครู มีบทเรียนอะไรที่เราควรจะต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อนบ้าง ดูกันตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการสรรหาเด็กเข้ามาเรียน หรือ โรงเรียนปลายทาง มีการออกแบบกันค่อนข้างชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กที่เราเตรียมไว้ได้มาเจอสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับเขาด้วย
บทเรียนจากการที่เราเคยเข้าร่วมโครงการคุรุทายาท (โครงการที่เปิดรับสมัครผู้ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า เพื่อเข้าศึกษาในวิชาชีพครู หากเรียนจบแล้วสามารถบรรจุเข้ารับราชการครูในภูมิลำเนาของตนเอง) ทำให้เราพบว่า น้องคนไหนที่เจอองค์กรที่ดี ก็จะก้าวหน้า พัฒนาดี ถ้าเขาไปเจอองค์กรที่ความคาดหวังไม่ตรงกัน มันก็ก่อเกิดความไม่ลงรอยกันได้ ทีนี้พอเรารู้แล้วว่าโรงเรียนปลายทางคือโรงเรียนอะไร แล้ว กสศ. มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำด้วยการช่วยเหลือโรงเรียนที่เป็นหมุดหมายหนึ่งด้วย กลไกนี้จึงสรุปได้ด้วย 3 องค์ประกอบ หนึ่ง-กระบวนการผลิตครู สอง-ดูแลนักศึกษาครู และ สาม-การเตรียมโรงเรียนปลายทาง
ทีมหนุนเสริมเรียกได้ว่าเป็นคณะทํางานชุดหนึ่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นคนที่จิตอาสาไหว้วานกัน ไม่มีค่าตอบแทนอะไรมากมายนอกจากขอให้ไปชะโงกดูโรงเรียนใกล้ๆ ตัวเองหน่อย
แสดงว่าตลอดระยะเวลา 6 ปี ครูจะมีทีมหนุนเสริมคอยประกบอยู่ตลอด?
เราออกแบบทีมหนุนเสริมให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโรงเรียน ถ้าภายใน 4 ปีแรกไม่มีเรื่องอะไรเพิ่มเติมที่ต้องคอยเฝ้าดูเป็นพิเศษ ทีมหนุนเสริมเขาจะย้ายไปดูครูรุ่นต่อไปแทน ที่ต้องทำแบบนี้เพราะเราพยายามส่งมอบโรงเรียนให้กลับไปยังหน่วยงานหลัก เราเป็นเพียงตัวช่วยให้ทางโรงเรียนมา take action ได้มากขึ้น แต่ถ้าทำตลอด การบรรจุครูใหม่แต่ละครั้งโรงเรียนก็อาจจะไม่ทําอะไรเลย สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นโจทย์สำคัญต่อไปว่าถ้าเกิดผลักเข้าระบบปกติแบบเดิมแล้ว สิ่งที่ทีมหนุนเสริมทำไว้อาจไม่ได้ถูกสานต่อ
ทำไมการเตรียมโรงเรียนปลายทางถึงสำคัญ
เด็กของเราเป็นเด็กที่ผ่านการคัดเลือกและมีคุณภาพ เอาง่ายๆ คือเขามีของ ต้องส่งให้เขาไปอยู่ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับเขาด้วย ไม่อย่างนั้นเขาก็จะ burnout ได้ ซึ่งการเตรียมโรงเรียนนอกจะจากช่วยเหลือเด็กก็ยังสามารถให้โรงเรียนเอาสิ่งนี้ไปพัฒนาต่อได้
ทำอย่างไรถึงจะสร้างโรงเรียนที่พร้อมได้
มีงานวิจัยด้านการพัฒนาโรงเรียนขนาดกลางพบว่า มีองค์ประกอบ 6Q ที่จะทำให้โรงเรียนขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้
Q-Goal โรงเรียนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาบุคลากรไปเพื่ออะไร, Q-Network เครือข่ายที่ดีเพื่อขยายและแลกเปลี่ยนข้อมูล, Q-Info ระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่พร้อม ส่งต่อและจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ, Q-PLC ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กรแห่งการเรียนรู้, Q-Learning ครูจัดการเรียนรู้ตาม High Functioning Classroom และพัฒนาปัญญาตามแบบการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน และ Q-Leadership ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับโครงการ ติดตามความก้าวหน้าตลอดหลักสูตร และสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
จากที่อาจารย์เล่ามา ‘โรงเรียนพร้อม’ พร้อมในที่นี้รวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ครูที่อยู่มาก่อน สภาพโรงเรียนโดยรวม คนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เรามองข้ามไม่ได้?
ใช่ครับ ถ้าเป็นเคสโรงเรียนปลายทางที่ผมดูแล ผมก็จะประกบสื่อสารให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรู้เรื่องและเข้าใจตรงกันเลย เราก็ไปทำความเข้าใจกับเขาว่า เรามีตัวชี้วัดยังไง ต้องเตรียมพร้อมยังไง ก็เป็นกลไกที่ออกแบบไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
นอกจากผู้อำนวยการแล้ว เราก็มีการไปดึง ‘เจ้าพ่อเจ้าแม่’ ของโรงเรียนมา พวกเขาคือบุคลากรที่อยู่โรงเรียนมานาน เป็นครูในพื้นที่อยู่แล้ว เรียกว่าผู้นําตามธรรมชาติ คนเหล่านี้จะทําหน้าที่ช่วยเหลือผอ.ได้ด้วย ทำให้ข้อมูลหรือข้อปฏิบัติบางอย่างยังอยู่ถึงแม้ว่าผอ.จะไม่อยู่ก็ตาม
กลไกลอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาเพิ่มเติมมีอะไรอีกบ้าง
จริงๆ เราอยากพัฒนาให้ทีมหนุนเสริมเข้าไปดูแลเด็กได้ถึงตัวมากกว่านี้ อย่างการประเมินถ้าเราอยากให้มีคุณภาพมากกว่านั้น ก็ต้องประเมินไปหาเป้าหมายของการศึกษาที่ชัดเจน เช่น เข้าไปดูการเรียนการสอน ไปดูกระบวนการทํางานอื่นให้ลึกซึ้ง มากกว่าที่จะให้เขาอยู่ไปวันๆ แล้วก็ถึงเวลาประเมินก็นั่งคุยกัน กินกาแฟแล้วจบ
อีกอย่างหนึ่งที่สนใจคือการสร้างเครือข่ายของครูรัก(ษ์)ละแวกใกล้เคียงให้มาเจอกัน พบปะพูดคุย อาจจะต้องมีตัวแปรข้างนอกเข้าไปแทรกแซงทําให้เขาเกิดกลุ่ม แล้วก็หาเวลาที่จะนัดเจอกลุ่ม จะเป็นออนไลน์ออนไซต์ก็ได้ เอาเรื่องราวในห้องเรียนมาเล่าสู่กันฟัง ให้กําลังใจกัน เพิ่มที่ปรึกษาเข้าไปด้วย
มันเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยทําให้คุณครูเหล่านี้เขาไม่ burnout ได้เห็นความช่วยเหลือ และติดอาวุธอะไรให้เขาได้บ้าง ซึ่งก็นำไปสู่การเพิ่มเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต
ในช่วงเวลานี้ อาวุธอะไรที่เราพอจะสนับสนุนครูรัก(ษ์)ถิ่นให้มีติดตัวไว้ได้บ้าง
เรามองว่ามันคือการ การซัปพอร์ตงบประมาณ เพื่อให้เขาไปทําโครงการอะไรดีๆ ในโรงเรียนแล้วสามารถต่อยอดหรือขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ได้ บางคนคิดอยากทํานู่นทำนี่ แต่โรงเรียนไม่มีงบประมาณให้ ก็สามารถใช้เงินก้อนนี้ในการที่จะเอาไอเดียลงมาสู่ห้องเรียนได้ด้วยตัวเขาเอง แล้วก็ขยายความคิดนี้ไปหาครูอื่นๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเขา ผอ.โรงเรียนก็จะเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าครูคนนี้น่ะเอาจริง งบประมาณยิ่งเติมเข้าไปก็ยิ่งได้ประโยชน์ เราคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นไอเดียหนึ่งที่จะทําให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นเดินเข้าไปอย่างมั่นใจมากขึ้น
ถึงแม้จะมีตัวช่วยเหล่านี้ มันก็อาจจะยังมีอุปสรรคเกิดขึ้นได้บ้าง คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นอาจจะต้องเตรียมรับมือไว้บ้างในระยะเวลา 6 ปีนี้
คงจะเป็นเรื่องความคาดหวัง ทั้งความคาดหวังที่โรงเรียนมีต่อครู และที่ครูมีต่อโรงเรียน บางโรงเรียนพอครูรัก(ษ์)ถิ่นไปถึงก็มองว่าครูเป็นซูเปอร์แมนเลย ต้องทำทุกอย่างได้ พอเด็กไม่ได้ตามที่ต้องการก็อาจบอกว่า ครูไม่เห็นได้เรื่องเลย แล้วก็พูดตรงๆ ไปแบบนี้ ซึ่งครูไม่ใช่ซูเปอร์แมนมาจากไหน มันก็ต้องใช้เวลากันบ้าง
ความคาดหวังที่ครูมีให้โรงเรียนก็เหมือนกัน ยิ่งโรงเรียนขนาดเล็กบางทีมันก็จะมีภาระงานที่เพิ่มเข้ามาบ้าง ถ้าเราไม่ทำเลย ในขณะที่คนอื่นๆ เขาทำกัน มันก็อาจจะทำให้ตัวครูเองไม่สามารถปรับตัวไปกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนได้นะ สมมุติว่าในชุมชนที่ครูไปสอนมีงานในชุมชน ถ้าครูทุกคนไป แต่ครูใหม่ไม่ไปอยู่คนเดียว แล้วเราจะไปเชื่อมโยงกับชุมชนได้อย่างไร นี่จึงอาจจะเป็นอะไรที่ต้องมีการปรับจูนซึ่งกันและกัน
ถ้าไม่ใช่ซูเปอร์แมน อาจารย์ศุภโชคเปรียบครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นอะไร
เราว่าน่าจะเป็นน้ำซึมบ่อทราย ซึมอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา มันไม่เคยเหือดหาย มันไม่เคยเหือดแห้ง แต่มันไม่ไหลหรือซัดออกมาเป็นคลื่นลูกใหญ่ๆ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
ครูต้องค่อยๆ สร้างการยอมรับ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าตัวเขามุ่งมั่น ในสัก 2-3 ปีแรกอาจจะมองไม่เห็นว่าเขาโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร ปีต่อๆ ไปเราก็จะเห็นเขาได้ชัดเจนมากขึ้น ภาพที่เรามองว่าเป็นครูนักพัฒนาชุมชนอาจจะปรากฏขึ้น เผลอๆ ตอนเขาทํางานได้สัก 3-4 ปีด้วยซ้ำ ฉะนั้นอย่าไปเร่ง อย่าไปคิดว่าเป็นซูเปอร์แมนที่ต้องทำทุกอย่างสำเร็จภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า
ด้วยความที่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมีสัดส่วนที่ค่อนข้างเล็กในเชิงปริมาณเมื่อเทียบกับจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในภาพรวม แต่มันเป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คำถามสำคัญคือระบบการศึกษาไทยจะได้อะไรบ้าง
เราอยากให้โครงการนี้เป็นเหมือนห้องแล็บ เป็นห้องทดลองให้เกิดบทเรียน แล้วก็ผลักบทเรียนเหล่านี้ไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตอนนี้เรารู้แล้วว่าวิธีการเอาคนมาเป็นครูต้องคัดยังไง ก็ถอดบทเรียนนี้ไปให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าผลิตนักศึกษาแบบนี้แล้วมันต่างจากผลิตอย่างปกติที่ผ่านมาอย่างไร อันนี้ก็จะเป็น ผลลัพธ์ต่อเนื่องไปเรื่องกระบวนการผลิตครู ทําให้สถาบันผลิตครูทั้งหลายได้รู้ว่ากระบวนการใหม่ๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้
กรณีเดียวกันกับการที่เราเข้าไปปรับปรุงโรงเรียนปลายทางต่างๆ ซึ่งก็มีองค์ความรู้ที่เราตั้งใจจะส่งให้กับระบบปกติ ทำให้เขาเห็นว่าการทําให้โรงเรียนเล็กในพื้นที่ห่างไกลพัฒนาตนเองได้ จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากเลย ก็แค่เข้าไปเพิ่มความเข้มข้นให้กับปัจจัยเดิมที่แต่ละโรงเรียนมีอยู่แล้ว เราหวังว่าองค์ความรู้ชุดนี้จะถูกป้อนไปหาเขตพื้นที่ต่างๆ แล้วท้ายที่สุดโรงเรียนก็จะนำไปพัฒนาตัวเองได้
สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงครูรัก(ษ์)ถิ่นบ้าง
ฝากไปถึงน้องๆ ที่อยากเป็นครูด้วยจิตใจเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ และตั้งใจที่จะไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง เราอยากให้เขาคงความคิดนี้ไปตลอดชีวิต เขาอาจจะเผชิญอุปสรรคไปบ้าง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันย่อมส่งผลตั้งแต่ ครู ผอ. และระบบการศึกษา ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันปรับ อยากให้ใช้ใจนำและรักษาความตั้งใจของตัวเองไว้
แล้วก็ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เพราะน้องๆ ไม่ได้โดดเดี่ยว กสศ. มีทีมเป็นเพื่อนช่วยคิด ช่วยทำงาน แล้วก็ยังมีคนทำงานอีกหลายคนที่คอยห่วงใยและดูแลการทำงานอยู่ เราว่านี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ครูมีความมั่นคงในอาชีพไม่เปลี่ยนแปลง