ผลวิจัยบอกกับเราว่า นักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีผลการเรียนรู้ช้ากว่านักเรียนในเขตเมืองถึง 2 ปีการศึกษา ด้วยสาเหตุสำคัญคือความขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพ โดยผลสำรวจนักเรียน 2,444,512 คน ใน 29 จังหวัด พบว่ามีจำนวนถึง 271,792 คน หรือคิดเป็น 11.12% ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครื่องมือดิจิทัลทุกชนิด ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สูญเสียโอกาสทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
ขณะที่ข้อมูลโดย สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ที่สำรวจเรื่องการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ระบุว่า จังหวัดเชียงรายมีโรงเรียนจำนวนมากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดอยสูง ทุรกันดารห่างไกล มีนักเรียนจากครอบครัวซึ่งมีรายได้ใต้เส้นความจน มากเป็นอันดับ 3 ของพื้นที่ภาคเหนือ ข้อมูลได้ลึกลงไปกว่านั้นอีก ชี้เป้าไปที่ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง พบว่ามีจำนวนนักเรียนยากจนด้อยโอกาสมากที่สุด คิดเป็น 32.57% ต่อความหนาแน่นของพื้นที่
แม้รากลึกของปัญหาดังกล่าวจะมาจากทั้งความห่างไกล หรือความยากลำบากของการเดินทางบนพื้นที่ดอยสูง รวมไปถึงประเด็นเชิงโครงสร้างของนโยบายการจัดสรรงบประมาณรายหัว ซึ่งทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับทรัพยากรที่ครอบคลุมต่อการจัดการเรียนรู้และพัฒนาโรงเรียนอย่างเหมาะสม หากด้วยปัญหาที่ไม่อาจรอได้อีกต่อไป กสศ. และ มูลนิธิกระจกเงา จึงร่วมกันจัดกิจกรรม ‘ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน’ ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ โดยนัดหมาย ณ โรงเรียนบ้านเทอดไทย ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ผ่านการระดมสิ่งของเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อนำไปส่งต่อและเติมเต็มให้กับโรงเรียนที่ต้องการเร่งด่วน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยมูลนิธิกระจกเงาได้นำคอมพิวเตอร์บริจาคจากองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการปรับปรุงและทดสอบแล้วว่าใช้งานได้ดี ไปส่งมอบให้กับโรงเรียนพื้นที่สูง 21 แห่ง
กำหนดเปิดกิจกรรมถนนครูเดินคือสิบนาฬิกาตรง แต่ยังไม่เก้าโมงดี คุณครูมากกว่า 200 คนจากหลายสิบโรงเรียนบนเขตพื้นที่สูงทั้งในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียง ก็เข้ามาออกันเต็มพื้นที่ลานเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านเทอดไทย ท่ามกลางฝนที่พรำลงมา สายตาคุณครูจับจ้องข้าวของเรียงรายที่ขนมาเต็มสองคันรถหกล้อ ใจจับจองสิ่งที่หมายตา รอเวลาเลือกช้อป
…จนทีมงานจากมูลนิธิกระจกเงาให้สัญญาณ กิจกรรมจึงเริ่มขึ้น
และ ณ บัดนี้ กสศ. ขอชวน ‘เปิดถุงช็อป’ ไปด้วยกัน ว่าถนนครูเดินที่รวบรวมไว้ด้วยสิ่งจำเป็นหลากหลายสำหรับการจัดการเรียนรู้และการดำรงชีวิต ตั้งแต่ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน รองเท้า หนังสือ อุปกรณ์กีฬา สื่อการสอน ถ้วยชามจานช้อน แฟ้มเอกสาร คลิปหนีบกระดาษ ดินสอสี สีน้ำ ชอล์ก พู่กัน จานสี เครื่องดนตรี ฯลฯ ไปจนถึงของเล่นเสริมพัฒนาการต่าง ๆ คุณครูโรงเรียนพื้นที่สูงจะเลือกหยิบอะไรกลับไปให้เด็ก ๆ พร้อมร่วมกันรับฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่ต้นทาง ว่าสารพันความห่างไกล ขาดแคลน หรือความไม่พร้อมที่โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารเผชิญอยู่นั้น
…พวกเขาอยู่ห่างไกล (จากโอกาส) เพียงใด หรือยังต้องการทรัพยากรเติมเต็มอีกแค่ไหน ถึงจะช่วยบรรเทาความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ทุเลาลงได้ ก่อนที่กิจกรรม ‘ธนาคารโอกาส’ และ ‘ถนนครูเดิน’ จะจัดขึ้นอีก 3 ครั้งใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ในโอกาสต่อไป
“ได้เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้านักเรียนกลับไปเยอะที่สุด เพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่บ้าง”
คุณครูนฤพร ทามัน จากโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน แง้มลังกระดาษให้เห็นข้างในที่อัดด้วยชุดนักเรียนจนเต็ม ก่อนพยายามวาดภาพให้เห็น ว่าโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีเด็กราว 130 คนนั้นโดดเดี่ยวจาก ‘ความศิวิไลซ์’ สักแค่ไหน
“โรงเรียนเรามองไปทางไหนก็มีแต่วิวภูเขา ใกล้ ๆ มีร้านของชำหนึ่งร้าน ไฟฟ้าดับเกือบทุกวัน บางทีดับติดต่อกัน 2-3 วัน ดังนั้นถ้าคำถามคือยังขาดอะไร ก็ต้องบอกว่าเกือบทุกอย่าง ที่อยู่กันตอนนี้ครูยังต้องใช้เงินส่วนตัวเติมของทุกเดือน กระทั่งของจำเป็นต้องใช้ทุกวันอย่างชอล์ก เรายังต้องซื้อเอง”
ครูนฤพรกล่าวชื่นชมกิจกรรมถนนครูเดิน ว่านอกจากนำทรัพยากรจำเป็นมาให้เลือกช็อปแล้ว กิจกรรมนี้ยังเหมือนเป็นการเติมกำลังใจให้รู้ว่ายังมีคนที่เห็นความสำคัญของเด็กและครูที่อยู่ในโรงเรียนห่างไกล อย่างไรก็ตาม คุณครูยังมองว่าการส่งต่อสิ่งของจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว ‘ไม่ว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่มีทางพอ’
“การเป็นครูพื้นที่สูงบอกเราว่า ถ้าจะเพิ่มโอกาสให้เด็ก ๆ ควรมีการจัดสรรทุน ทรัพยากร และการดูแลที่ครอบคลุมเพียงพอมากกว่าที่เป็นอยู่ เรามองว่าเครื่องมือสื่อสารสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เด็กเห็นว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร ซึ่งมันอาจทำให้เขามีเป้าหมายชีวิตมากขึ้น แต่ยังไงก็ตาม ก่อนจะไปถึงเรื่องคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างแรกเลยคือต้องแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับให้ได้ก่อน” ครูนฤพรระบุ
“ตั้งใจมาเลือกสีชนิดต่าง ๆ และพวกอุปกรณ์ทำงานฝีมือ เพื่อไปจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการรายวิชา”
คุณครูกรกฎ โรจนนิล จากโรงเรียนบ้านพญาไพร กล่าวว่า “ของที่เอามามีให้เลือกเยอะ แล้วเป็นของที่มีคุณภาพด้วย รู้สึกดีใจแทนเด็ก ๆ ที่จะได้ใช้อุปกรณ์ดี ๆ”
โดยสำหรับโรงเรียนที่อยู่สูงขึ้นไปบนดอยแม่สลอง เด็กนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด การจัดการเรียนรู้จึงเน้นทำผ่านกิจกรรมที่บูรณาการรายวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยพยายามดึงเอาวิถีชีวิตใกล้ตัวและฉากวัฒนธรรมพื้นถิ่นมาสร้างเป็นบทเรียน
“ฉะนั้นคอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ตถึงสำคัญมากจริง ๆ เพราะตรงจุดที่อยู่เด็กบางคนไม่เคยลงไปเหยียบพื้นราบ ส่วนครูก็ต้องการเข้าถึงแหล่งความรู้ ต้องการตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ที่ออกแบบได้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่งั้นเด็กจะไม่เห็นเป้าหมายการศึกษาเลย วันนี้จึงรู้สึกมีความหวังที่ยังมีคนเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยีมามอบให้กับโรงเรียนเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากร และเชื่อว่ากิจกรรมเล็ก ๆ ครั้งนี้ อาจเป็นแรงกระเพื่อมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ในที่สุด”
“เน้นหนังสือ แฟ้มเอกสาร และกระดานเล็ก ๆ ไว้สำหรับจัดการสอนรายกลุ่ม”
คุณครูศศิกานต์ ดาชิต จากโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา ระบุสถานการณ์ว่า เด็กที่โรงเรียนมีหลายกลุ่ม แตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ และด้วยภาษาวัฒนธรรม เบื้องต้นของการจัดการเรียนรู้เลยต้องทำแยกเป็นกลุ่ม ๆ เริ่มจากสอนพื้นฐานภาษาไทย เมื่อพร้อมแล้วค่อยพาเข้าสู่บทเรียน ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องมีทั้งเครื่องมือที่เหมาะกับการเรียนแบบกลุ่มเย่อย และมีเทคนิควิธีที่ต่างกันไปสำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคน
“นอกจากอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ คิดว่าสิ่งที่ขาดจริง ๆ คือเทคนิคการจัดการเรียนรู้หรือสื่อการสอนสมัยใหม่ คืออย่าว่าแต่เด็กที่ไม่ได้รู้ได้เห็น เราเองเป็นครูบางอย่างยังได้รับรู้แค่ผ่านทางออนไลน์ ว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนข้างล่างเขาจัดการเรียนการสอนกันยังไง ตรงจุดนี้คิดว่าถ้ามีสื่อมาช่วยมากกว่านี้ ครูจะมีทางเลือกที่หลากหลาย และช่วยยกระดับพัฒนาการเด็กได้ดีขึ้น
“กับสถานการณ์ตอนนี้ เรามีเครื่องมือแต่ไม่พอ เด็ก 2-3 คนยังต้องแชร์คอมพิวเตอร์เครื่องเดียว แล้วสภาพของที่มีก็ไม่ได้ 100% ทั้งหมด ดังนั้นถ้ามีการสนับสนุนให้โรงเรียนห่างไกลมีเครื่องมือพร้อม มีทรัพยากรเติมเต็มมากขึ้น เราเชื่อว่ามาตรฐานของโรงเรียนจะต่างกันน้อยลง”
“มาจัดของตามรายการของครูประจำวิชา เพราะแต่ละคนรู้ดีที่สุดว่าเด็กยังขาดอะไร”
คุณครูปรียาลักษณ์ ใจการ จากโรงเรียนบ้านห้วยอื้น บอกว่า ก่อนมางานนี้จะมีโจทย์ให้ครูประจำวิชาช่วยกันกำหนดรายการสิ่งของจำเป็นต้องใช้ หรือตรงหน้างานหากครูคนไหนเห็นว่าอะไรยังขาด อะไรน่าสนใจก็ช่วยกันหยิบมารวมกัน ซึ่งของที่แต่ละคนเหมือนจะเน้นเป็นพิเศษคือเสื้อผ้าและรองเท้านักเรียน
“การจัดงานลักษณะนี้สำคัญมากกับทั้งตัวเด็ก และยังเผื่อแผ่ไปถึงครูด้วย เพราะเด็กโรงเรียนบนดอยเขาไม่มีอะไรเลยกระทั่งของใช้ส่วนตัวพื้นฐาน งานนี้ทำให้ครูดีใจว่าจะมีเสื้อผ้า มีของเล่น มีอุปกรณ์การเรียนที่จะไปเติมให้เขาได้ อย่างเรามีเด็ก ป.1 ที่ต้องใส่รองเท้าคู่เก่าของพี่ชายชั้น ป.5 เดินมาเรียนทุกวัน มันก็ลำบากเพราะขนาดใหญ่กว่าเท้าเขามาก หรือแฟ้มใส่เอกสารที่โรงเรียนมีอยู่ เราใช้มานานแล้ว มันก็หมดสภาพปริขาดหมด ขณะที่ใบงานผลงานหรือผลการเรียนของเด็กเพิ่มขึ้นทุกปี ที่เก็บก็เริ่มไม่พอ
“สำหรับโรงเรียนเล็ก ๆ งบประมาณที่ลงมามันไม่ได้ครอบคลุมรองรับได้ทั้งหมด แต่ละปี ๆ โรงเรียนยังต้องหาแรงสนับสนุนจากภายนอกกันเอง ดังนั้นพอมีงานอย่างนี้ที่เอาทรัพยากรจากที่หนึ่งมาให้อีกที่หนึ่ง มันก็ช่วยอุดช่องโหว่ของการเรียนการสอนที่ไม่สมบูรณ์ได้”
…เวลางวดเข้า เมื่อฝนที่พรำลงบนดอยแม่สลองตั้งแต่เช้า เริ่มหนาเม็ดขึ้นในยามสาย ขณะที่มือของครูปรียาลักษณ์ยังระวิงกับการแพ็กลังกระดาษและถุงกระสอบ สายตามองหาเหลี่ยมมุม เพื่อยัดใส่สิ่งของไปบนพื้นที่รถกระบะที่เตรียมมาให้ได้มากที่สุด ไม่ไกลออกไป ตรงพื้นที่ถนนครูเดิน จำนวนของคุณครูที่ง่วนกับการช็อปยังไม่ลดความหนาแน่นลง
ก่อนครูกลับไปเลือกของอีกรอบ เรามีอีกหนึ่งคำถาม ว่านานาสิ่งของที่อัดแน่นเต็มหลายสิบคันรถเหล่านี้ หากถึงมือผู้รับแล้วจะมีความหมายต่อเด็ก ๆ เพียงใด
…ครูปรียาลักษณ์ครุ่นคิด ตอบคำถามโดยพยายามเลือกเผยมุมที่ชี้ให้เห็นความห่างไกลของตำแหน่งแห่งที่ ว่าเด็ก ๆ จากโรงเรียนบนดอยเหล่านั้น อยู่กันบนพื้นที่สูงและห่างไกลจากโอกาสสักแค่ไหน ว่า
“ถามถึงความหมายของสิ่งของเหล่านี้กับตัวเด็ก ๆ ก็ต้องบอกว่าของทุกชิ้นที่ส่งมา ถึงจะเก่ามาจากที่อื่น แต่กับพวกเขาแล้วการได้ใส่เสื้อผ้าสีขาวที่เป็นสีขาวจริง ๆ ไม่มีรอยปะรอยขาด หรือสักครั้งที่จะได้มีรองเท้าที่ใส่พอดีกับเท้า นี่คือเรื่องที่ทำให้มีความสุขมาก ๆ แล้ว”