ได้เวลาเริ่มนับ 1 ไปสู่เส้นชัย : ชวนไปดูครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 เตรียมแผนการสอนอะไรสำหรับเทอมนี้บ้าง

ได้เวลาเริ่มนับ 1 ไปสู่เส้นชัย : ชวนไปดูครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 เตรียมแผนการสอนอะไรสำหรับเทอมนี้บ้าง

เปิดเทอมใหม่ หัวใจว้าวุ่น…นี่ไม่ใช่ชื่อภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่กำลังจะเข้าโรงหนัง แต่เป็นหนึ่งความในใจของครูหน้าใหม่ที่ต้องรับมือกับเด็กๆ ในโรงเรียนช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ที่ได้รับทุนปีการศึกษา 2563 จำนวน 327 คน ซึ่งเตรียมได้รับบรรจุเป็นข้าราชการครูเต็มตัวเดือนตุลาคมนี้ตามโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ 285 แห่ง ดังนี้

บนภูเขา : นศ.ทุน 69 คน > 60 รร. 

เสี่ยงภัย : นศ.ทุน 20 คน >17 รร. 

ชายแดน : นศ.ทุน 17 คน > 16 รร. 

ทุรกันดาร: นศ.ทุน 14 คน > 12 รร. 

บนเกาะ : นศ.ทุน 12 คน > 11 รร.

ชนกลุ่มน้อย : นศ.ทุน 8 คน > 7 รร.

โรงเรียนพระราชดำริ : นศ.ทุน 5 คน > 5 รร.

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ : 35 คน > 34 รร.

พื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลัง : 19 คน > 18 รร.

โรงเรียนร่วมพัฒนา : 1 คน > 1 รร.

โรงเรียนไม่ทุรกันดารแต่ขาดแคลนครู : 127 คน > 104 รร.

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีแนวคิดในการออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตและพัฒนาครูให้ตรงกับความต้องการของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ผลิตครูที่มีทักษะครูยุคใหม่ รักถิ่นฐาน และเป็นนักพัฒนาชุมชน ด้วยการสร้างคนในชุมชนนั้น ๆ ผ่านการให้ทุนการศึกษาวิชาชีพครู สู่การเป็นครูของชุมชน จนกลายเป็น ‘ครูคนใหม่ที่คุ้นเคย’ ของเด็ก ๆ และพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน

‘คุณครูคนใหม่’ เหล่านี้ กำลังจะเข้าไปช่วยพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่มีเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่พวกเขาจะไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย เพราะเรามีทีมหนุนเสริมเข้าไปดูแลให้คำปรึกษา

ถึงเวลาเริ่มนับ 1 ไปสู่เส้นชัย ซีรีส์ Welcome Teacher สวัสดีครูรัก(ษ์)ถิ่น ชวนตามติดว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 พร้อมแค่ไหนและเตรียมแผนการสอนสำหรับการเทอมนี้อย่างไรกันบ้าง

ประวัติศาสตร์ และพระพุทธศาสนา สำหรับเด็กๆ ‘กระเหรี่ยงแดง’

“เด็กๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ หรือว่าวันสำคัญต่างๆ”

‘โอเว่น’ ศุภสิทธิ์ จิตอารีย์ ครูรัก(ษ์)ถิ่น สาขาประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมด้วยสื่อการสอนคือสไลด์การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ และพระพุทธศาสนา 

“หลักๆ คือต้องทำแผนการสอนตามมาตรฐานเเละตัวชี้วัดในหลักสูตรการเรียนการสอน เลยมาลงตัวที่วิชาประวัติศาสตร์ที่เตรียมเสร็จก่อน”

โรงเรียนปลายทางที่โอเว่นต้องไปประจำการคือโรงเรียนบ้านห้วยโป่งอ่อน ซึ่งนับเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก เขาสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 แต่โอเว่นบอกว่าตอนที่เขาไปฝึกสอนนั้นไม่มีการสอนชั้น ป.4 เพราะไม่มีนักเรียนชั้นนั้นเลยต้องยุบ 

“ที่นี่มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘กระเหรี่ยงแดง’ แต่เด็กไม่ค่อยเข้าใจในความเป็นรากเหง้าชาติพันธุ์ของตัวเอง แล้วก็ไม่มีความรู้เรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่นทุกวันศุกร์ โรงเรียนจะมีการแต่งชุดตามชาติพันธุ์ ซึ่งเขาแต่งแบบไทใหญ่มา ไม่ได้แต่งแบบกระเหรี่ยงแดง”

โอเว่นตัดสินใจทำนวัตกรรมเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่มาของชาวกระเหรี่ยงแดง พร้อมกับประยุกต์ให้สอดคล้องกับ 8 วิชาหลัก ดังนั้นเมื่อถึงเวลากลับไปเป็นครูเต็มตัว โอเว่นจึงต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้พัฒนาไปในวิชาอื่นๆ เช่น การสอนเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นต้น โดยมีทั้งวิดีโอความเป็นมา คำถามชวนคิด และกิจกรรมสวดมนต์ที่ให้เด็กๆ จับคู่ฝึกปฏิบัติ

“เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่ตนเองนับถือ อีกทั้งการไหว้เเละการสวดมนต์ สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วยการนำไปสวดมนต์ก่อนนอน เเละตอนเข้าเเถวเคารพธงชาติได้”

นอกจากนี้ โอเว่นบอกว่ากำลังเตรียมสื่อติดห้องเรียนในสาระวิชาต่างๆ เป็นความรู้ตามมุมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรู้ตามสาระ เเละความรู้รอบตัวที่มีทั้งเนื้อหาในหนังสือเเละเป็นความรู้ที่ควรรู้ เช่น มุมสังคมศึกษา ประวัติบุคคลสำคัญ อารยธรรมที่สำคัญในโลก เป็นต้น

ชุมชนของเรา ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก อ.1
บ้านหัวนา เชียงใหม่

โรงเรียนบ้านหัวนา ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คือโรงเรียนปลายทางที่ ‘แคท’ จิตสุภา สมบูรณ์ สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำลังจะไปบรรจุเป็นครูคนใหม่หน้าคุ้นของเด็กๆ 

โรงเรียนบ้านหัวนาเป็นโรงเรียนบนดอย เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ดาราอัง’(บางทีเรียกดาราอั้ง) และไทใหญ่

“ชั้นเรียนที่รับผิดชอบคือชั้นอนุบาล 1 ก็เตรียมแผนการสอน พร้อมกิจกรรมไปให้เด็กทำไม่ให้น่าเบื่อ”

แผนการสอนของแคทคร่าวๆ คือ ‘ชุมชุนของเรา’ ซึ่งเป็นสาระที่เด็กควรเรียนรู้ตามตัวชี้วัดในหลักสูตรการเรียนการสอน 

“แผนนี้เป็นสาระที่เด็กควรเรียนรู้ในภาคเรียนที่ 1 จึงนํามาเขียนแผนการเรียนรู้ที่เด็กจะได้พัฒนาการ ทั้ง 4 ด้าน ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา รวมถึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ร่วมด้วย” แคทบอกที่มาของแผนการสอนคร่าวๆ 

แผนการสอนเรื่อง ‘ชุมชนของเรา’ แคทอธิบายว่าจะมีสิ่งที่เด็กรู้อยู่แล้วเช่น สถานที่สำคัญในชุมชน โดยส่วนนี้จะให้เด็กๆ ระดมความคิดในชั้นเรียน ต่อมาจะเสริมในส่วนที่เด็กๆ ควรรู้ คือความหมายและชื่อที่ตั้งชุมชน บุคคลสำคัญ และการปฏิบัติตนที่ดีในชุมชน 

พร้อมเพิ่มเติมคำขวัญอำเภอฝางเข้าไปด้วยคือ “เมืองพระเจ้าฝาง ดอยอ่างขางสูงซ้อน น้ำพุร้อน-เย็นลือเลื่อง เมืองเกษตรกรรม แหล่งวัฒนธรรมล้านนา ล้ำเลอค่าน้ำมันดิบ”

“แผนนี้คือแผนชุมชน ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้ชุมชนของตนเองว่ามีลักษณะอย่างไร มีประเพณีวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง ทําให้เด็กไม่ลืมประเพณีของชุมชนเรา เมื่อโตขึ้น แรงจูงใจมันมากยิ่งขึ้น อาจทําให้เด็กรุ่นใหม่ลืมวัฒนธรรมหรือรากเหง้าของตนเอง แผนนี้จะทําให้เขาตระหนักถึงชุมชนของตนเอง และแลกเปลี่ยนความแตกต่างของเด็กแต่ละชนเผ่าได้ เนื่องจากชุมชนมีหลากหลายชนเผ่า เด็กก็จะเห็นความหลากหลายแต่ได้เรียนรู้ร่วมด้วย”

แคทอธิบายว่าแผนของหลักสูตรการสอน มีทั้งหมด 36 หน่วยต่อปีการศึกษา 
“หนูจะเตรียมแผนไว้เลย ส่วนด้านสื่อการสอนก็เตรียมไว้ในแต่ละหน่วยเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ อาจจะทําเพิ่มด้วย เนื่องจากสมัยนี้มีอะไรที่หลากหลาย พยายามนําเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน และนอกจากเตรียมสื่อการสอนแล้ว ยังต้องเตรียมตัวเองในด้านการสอน เทคนิคการสอนที่เข้ากับเด็กชนเผ่า จะศึกษาผ่านหนังสือ อินเทอร์เน็ต เพื่อฝึกฝนตัวเองเพิ่มขึ้น” 

ภาพ  3 : สื่อสดใส ใช้ลูกยางมาดึงความสนใจเด็กๆ

“ปัญหาหลักๆ คือโรงเรียนโดยเฉพาะชั้นอนุบาล 3 ที่ไปฝึกสอนไม่มีสื่อการสอนหรือมีน้อย เด็กๆ มีเกมให้เล่นเท่าที่มี หรือเขียนกระดาษเป็นหลัก”

เปิดเทอมนี้ ‘เบียร์’ อัมรินทร์ สุวรรณมงคล ครูรัก(ษ์)ถิ่น สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  ต้องไปประจำที่โรงเรียนบ้านห้วยตาเปอะ อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสบนหุบเขา 

เบียร์เล่าว่าโรงเรียนปลายทางที่ไปบรรจุเป็นครูเต็มตัวมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมต้น จำนวนราว 200 คนเศษ 

ก่อนหน้านี้ในฐานะครูฝึกสอน เบียร์ทำนวัตกรรมสื่อการสอนจากลูกยางพารา โดยเป็นการใช้ของดีจากในชุมชนมาสร้างสื่อการสอนให้เด็กๆ รวมถึงสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประจำบ้านห้วยตาเปอะได้ในอนาคต 

“เอานวัตกรรมเรื่องลูกยางมาทำเป็นตัวเต่าทองนับเลขให้เด็กๆ อนุบาลนับ”

สำหรับการเป็นครูเต็มตัว เบียร์ได้ทำแผนการสอน โดยเน้นสื่อการสอนคร่าวๆ ไว้จำนวนหนึ่งบ้างแล้ว จากการได้เห็นปัญหาตั้งแต่ช่วงการฝึกสอนว่าเด็กๆ ระดับอนุบาลขาดแคลนสื่อการสอนที่น่าสนใจ เช่น หน่วยการเรียนรู้ข้าว บอร์ดสีสันสดใสชวนเรียนรู้เรื่องข้าว กระดานหน่วยเรียนรู้สัตว์น้อย และบอร์ดแปะคำแยกระหว่างของเล่นและของใช้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ลูกยางพาราที่เคยทำก็ยังถูกเอามาใช้เป็นสื่อการสอนเช่นกัน 

“ป้ายนิเทศที่ใช้ในการสอนแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ใช้ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ของเด็กอนุบาล โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบป้ายนิเทศ ที่เป็นภาพติดแปะ ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตอบคำถาม และ ร่วมทำกิจกรรม และแบบกล่องนิเทศ โดยกล่องนิเทศมีความพิเศษ คือ มีโมเดลจำลองหน่วยความรู้เรื่องนั้นให้เด็กได้ ดู สังเกต สัมผัส และตอบคำถาม ยกตัวอย่าง กล่องนิเทศหน่วยกลางวันกลางคืนที่ในกล่องนิเทศจะมีกล่องจำลอง กลางวันกลางคืนโดยใช้ไฟฉายส่องลงไปในกล่อง เพื่อจำลองให้เด็กได้ดู ได้สังเกต” 

เบียร์เพิ่มเติมว่านอกจากนี้ยังมีเกมการศึกษาในรูปแบบกระดานรูปภาพให้เด็กเล่นโดยการติดแปะภาพ สามารถเล่นในรูปแบบกลุ่มโดยให้เด็กๆ ช่วยกันติดแปะรูปภาพให้ถูกต้อง 

“ความคาดหวังในกิจกรรมคือการมีสื่อชิ้นใหม่ๆ หรือรูปแบบใหม่ๆ และหลากหลาย เพื่อสร้างความสนใจให้เด็กได้เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน สื่อชิ้นอื่นๆ ที่สนใจจะจัดทำตอนนี้ คืออยากเน้นทำสื่อการเรียนรู้ที่ทำจาก ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ วัสดุเหลือใช้ต่างๆ ในชุมชน เพื่อสร้างคุณค่า และนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมากที่สุด”