การศึกษาที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเข้าใจในข้อจำกัดและความจำเป็นในชีวิต ไม่เพียงแต่สามารถอ้าแขนรับเด็กคนหนึ่งที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนและผันตัวไปเป็นหัวหน้าแก๊งเด็กวัยรุ่นในละแวกบ้าน ให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้เท่านั้น หากแต่การศึกษารูปแบบนี้ ยังมีพลังดึงดูดเพื่อนร่วมแก๊งคนอื่น ๆ ที่เคยเดินออกจากรั้วโรงเรียน กลายเป็นเด็กนอกระบบการศึกษา ให้กลับมามีความเชื่อมั่นในการเรียนรู้ กลับมาหาความรู้ ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยพวกเขาเปลี่ยนเส้นทางเดินของตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย
บ้านของ “ธัน” สุรชัย โตยิ่ง อยู่ใกล้โรงงานแปรรูปน้ำตาล อาชีพหลักของคนในครอบครัว คือ รับจ้างตัดอ้อยในไร่อ้อยของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลำเลียงกลับมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานน้ำตาล แต่อาชีพนี้ก็มีรายได้ไม่แน่นอน สมาชิกในครอบครัว รวมถึงตัวธันเอง จึงเปลี่ยนไปเป็นรับจ้างตัดเหล็กตามไซต์งานต่าง ๆ อาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอนนี้เอง ส่งผลให้โอกาสในการไปโรงเรียนของ ธัน กลายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนตามไปด้วย เพราะตัวเขากลายเป็นอีกหนึ่งแรงงานของบ้าน หลายครั้งที่เขาต้องขาดเรียนไปช่วยพ่อทำงานรับจ้างในต่างจังหวัด ทั้งตัดอ้อยและตัดเหล็ก
หลังจากตัดสินใจไม่เรียนต่อ ธัน ก็เริ่มมีแก๊งเป็นของตัวเอง โดยมีสมาชิกเป็นกลุ่มเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน และเด็กรุ่นน้องจำนวนหนึ่ง ก๊วนของธันมักจะมารวมตัวกันโดยใช้เพิงขายของเล็ก ๆ ในชุมชนเป็นแหล่งนัดพบ เป็นพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า “ซุ้ม”
“เมื่อก่อน ผมเคยเป็นเด็กที่เกเรมาก ๆ ทำให้พ่อแม่ต้องร้องไห้เพราะผมมาหลายครั้ง ผมออกจากโรงเรียน ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบชั้นมัธยมต้น ไม่จบ ม. 3 ก็ต้องออกมาทำงานรับจ้างทั่วไป ตระเวนไปตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหาเงินช่วยที่บ้าน หาเงินส่งน้องเรียน ดูแลแม่และคุณตา
“ไม่มีใครเชื่อว่า ผมจะกลับมาเรียนหนังสือได้อีก และตัวผมเองก็เคยรู้สึกกลัวการเรียนมาก ๆ ตอนที่ได้รับการติดต่อให้มาเรียนครั้งแรก ผมค่อนข้างที่จะไม่เชื่อใจ เพราะความรู้สึกกลัวโรงเรียนนั้นยังมีอยู่ ตอนที่ได้กลับมาเรียนครั้งแรก ก็รู้สึกอยากจะกลับบ้านในทันที ต้องใช้เวลาคิดอยู่หลายวันว่า การตัดสินใจมาเรียนนี้ คิดถูกแล้วหรือยัง ผมถามตัวเองว่า ห้องเรียนใหม่จะไม่ค่อยมีอะไรที่น่าสนใจเหมือนที่เคยเจอมามั้ยนะ แล้วก็บอกตัวเองว่า ลองมาดูสักวันไหม ไม่เสียหายหรอกแค่วันเดียว พอมาเรียนในวันต่อ ๆ ก็รู้สึกว่าไม่เหมือนเดิม สิ่งที่เจอในห้องเรียนใหม่ ทำให้ผมมองเห็นสิ่งใหม่ ๆ อยู่ ผ่านไปเดือนนึงก็เริ่มพบว่า ห้องเรียนใหม่ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ”
ธันตัดสินใจกลับมาเรียน เพราะเชื่อมั่นใน ‘โรงเรียน 4 ตารางวา’ ซึ่งมี “ครูติ๊ก” ชัชวาลย์ บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม เป็นผู้ดูแล โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่าย ในการสร้างกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเชื่อมต่อสู่แนวทางการขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout อันเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเป้านำเด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา กลับสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก และตอบโจทย์ชีวิต พร้อมวางแนวทางพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สร้างหลักประกันโอกาส ให้เด็กกลับคืนสู่ระบบการศึกษา
“ผมพบว่า เพื่อนและครู เป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ดึงผมให้กลับมาอยู่ในห้องเรียนได้ ห้องเรียนใหม่ของผมไม่มีการบังคับ บางวัน หากมีธุระต้องไปทำงานก็แจ้งกับครูได้ ซึ่งสำหรับผมก็น่าแปลก ที่เมื่อโรงเรียนไม่บังคับให้ผมต้องมาเรียนทุกวัน ผมกลับรู้สึกอยากมาเรียนทุกวัน ไม่อยากขาดเรียนเลยแม้แต่วันเดียว ไม่น่าเชื่อว่า การเรียนกลายเป็นสิ่งที่ผมรัก กลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับผม
“ระหว่างที่พยายามกลับมาเรียน มีคนสบประมาทผมว่าจะมาเรียนทำไม เคยไปเรียนแล้วเรียนไม่จบไม่ใช่เหรอ จะไปเรียนทำไมอีก เรียนแล้วจะมีวุฒิการศึกษามั้ย คำสบประมาทนั้น ทำให้ผมรู้สึกอยากเอาชนะ และคิดว่าต้องกลับมาเรียนให้จบให้ได้ แล้วเอาวุฒิการศึกษาที่ได้ ไปให้เขาดูให้ได้
“ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ได้เรียนในสิ่งที่ผมรู้สึกว่านำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ โรงเรียนแห่งใหม่ของผม เปิดโอกาสให้ผมเรียนไปด้วยปฏิบัติไปด้วย และเรียนในเรื่องที่อยากรู้ ผมอยากเรียนสายอาชีพ อยากเรียนช่างยนต์ อยากมีความรู้เรื่องช่างให้มากที่สุด เพื่อที่จะทำงานได้หลาย ๆ อย่าง ห้องเรียนใหม่ของผม มีบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความรู้ ผมเอาความรู้เรื่องช่างยนต์ มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนซึ่งมีความรู้เรื่องไฟฟ้า ผมสอนเขาเรื่องเครื่องยนต์ เขาก็สอนผมเรื่องไฟฟ้า ผมกล้าบอกได้ว่า เพื่อนและครู ซึ่งกลายเป็นสังคมใหม่ของผมที่มีส่วนช่วยให้ผมสามารถเลิกยาเสพติดได้” ธันเล่าด้วยน้ำเสียงแจ่มใส
จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด ยืนยันตรงกันว่า หลังจากที่ตัดสินใจกลับมาเรียน พฤติกรรมของธันก็ก้าวกระโดดไปในทางที่ดีขึ้น อาจจะเพราะพื้นฐานด้านอุปนิสัยเดิมของเขา ซึ่งเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและคนอื่น ๆ มีน้ำใจช่วยเหลือทุกคน ตามกำลังที่มี จนสมาชิกในแก๊ง ยกให้เขาเป็น “หัวหน้าแก๊ง”
สมาชิกรุ่นน้องในแก๊ง พยายามที่จะเดินตามรอยธันแทบทุกเรื่อง เมื่อเขาตัดสินใจกลับมาเรียน คนอื่น ๆ ซึ่งเคยหันหลังให้โรงเรียน ก็เริ่มกลับมาทบทวนเรื่องนี้
ธันเล่าว่า ความสำเร็จเล็ก ๆ จากการตัดสินใจกลับมาเรียน ไม่เพียงแต่ส่งผลด้านบวกกับตัวเขา แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงคนอื่น ๆ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งไปถึงเพื่อนร่วมก๊วน ซึ่งเคยตัดสินใจออกจากโรงเรียน กลับมาเรียนหนังสือตามเขาอีกด้วย
“ตอนที่ออกไปทำงาน ผมรู้เลยว่า ถ้าไม่เรียนหนังสือ โอกาสที่จะขยับไปทำงานดี ๆ นั้นมีอยู่น้อยมาก ผมต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ และหลังจากกลับมาเรียนแล้วรู้สึกว่าห้องเรียนใหม่ต่างไปจากเดิม เป็นห้องเรียนที่ผมน่าจะไปต่อได้ ผมก็เริ่มชักชวนคนอื่น ๆ ที่เคยออกจากโรงเรียน เรียนไม่จบ ให้กลับมาเรียนเหมือนผมบ้าง ตอนนี้ผมสามารถชักชวนคนอื่น ๆ ให้กลับมาเรียนได้แล้วถึง 4 คน ผมอยากฝากไปถึงเพื่อน ๆ ทุกคน ที่เคยออกจากโรงเรียนกลางคันเหมือนผม อยากให้เขาหันกลับไปมองตัวเอง หันหลังกลับไปดูว่าเคยทำให้พ่อแม่เสียใจมั้ย ถ้ามีเวลานั่งคิด ก็ลองคิดว่า จะสามารถย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งที่เคยทำผิดพลาดได้ไหม หันกลับไปคิดทบทวนว่า สิ่งที่ทำมานั้น เป็นเรื่องที่ดีแล้วหรือยัง คิดถึงปัจจุบันว่าเราควรมีอะไรที่จะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้า ช่วยให้มีความรู้ มีอาชีพ หรือมีอะไรที่สามารถนำมาดูแลตัวเองและครอบครัวได้” ธันกล่าวทิ้งท้าย