“แนะแนวการศึกษาที่ใช่ สร้างโอกาสใหม่ที่ไร้ขีดจำกัด” Equity Opportunity Day ครั้งที่ 4
ระดมนวัตกรสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาจังหวัดระยอง

“แนะแนวการศึกษาที่ใช่ สร้างโอกาสใหม่ที่ไร้ขีดจำกัด” Equity Opportunity Day ครั้งที่ 4 ระดมนวัตกรสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาจังหวัดระยอง

เพราะแต่ละปีมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ห่างไกลจากโอกาส ด้วยเข้าไม่ถึงข้อมูลแหล่งทุน หรือมองไม่เห็นเส้นทางไปต่อในการศึกษาระดับสูง รวมถึงมีคนที่สามารถข้ามผ่านไปถึงระดับอุดมศึกษาได้แล้ว แต่กลับพบว่า ‘ภาพที่คิด’ กับ ‘ความจริงที่สัมผัส’ นั้นไม่ต้องตรงกัน เนื่องจากไม่เคยได้รับการแนะแนวทางอย่างถูกต้อง

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า “ผลลัพธ์ด้านการศึกษาของเยาวชนที่อยู่ห่างไกลจากโอกาสจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหากเราช่วยกันเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนมีทางเลือกในเส้นทางชีวิตที่มากขึ้น” ผ่านโครงการวิจัยเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ตั้งต้นทำงานจากการรวบรวมข้อมูลว่าตลอดเส้นทางการศึกษา มีความท้าทายใดบ้างที่เด็กเยาวชนคนหนึ่งต้องเผชิญ และจะมีแนวทางใดที่จะทำให้เยาวชนเหล่านั้นก้าวไปสู่การเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาได้ ด้วย ‘เส้นทางที่ใช่’ ซึ่งจะช่วยขับศักยภาพภายในให้เปล่งประกาย พร้อมเดินต่อไปได้บนเส้นทางอาชีพอย่างมั่นคง

นี่จึงเป็นที่มาของกิจกรรม Equity Opportunity Day ครั้งที่ 4 ที่ Equity lab และ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (Area Based Education : ABE) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Disrupt Technology Venture จัดกิจกรรมเพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ของเหล่านวัตกรการศึกษาไทย ในธีม ‘การแนะแนวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับ สำหรับนักเรียนในจังหวัดระยอง และรู้จักทางเลือกของเส้นทางชีวิตที่หลากหลาย’ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยชวนเหล่านวัตกร ภายใต้โครงการการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่สมัครเข้าร่วมทั้งหมด 13 ทีม มาระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รับทุนสนับสนุนในการขับเคลื่อนต่อไป 

แม้แต่ละคนจะมีต้นทุนและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ปลายทางของการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีเพียงเป้าหมายตรงกัน คือต้องการให้เด็กเยาวชนไทยทุกคน มีโอกาสได้เข้าถึงการแนะแนวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับ เพื่อเพิ่มทางเลือกของเส้นทางชีวิตที่หลากหลายและเป็นไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่หรือบริบทการเรียนรู้แบบใดก็ตาม

“ผู้เรียนควรได้รับข้อมูล และมีประสบการณ์คุ้นเคยกับสิ่งที่จะเลือกเรียนต่อในระดับสูง”

ปุณยวีร์ รุจิปูริตานันท์ แอดมินเพจบรรเจิดเริ่ดสะแมนแตน เล่าผ่านประสบการณ์การเป็นอาจารย์พิเศษว่า ทุกวันนี้เด็กส่วนหนึ่งเรียนบนความตั้งใจของพ่อแม่ โดยหากเจาะจงที่เด็ก ต้องแยกระหว่างคนที่มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งผู้ปกครองพร้อมซับพอร์ต ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้ถึงยังไม่รู้ว่าตนอยากเรียนอะไร เขาจะค่อยดูตอนจบการศึกษาได้ว่าจะไปทางไหนต่อ บางคนรู้สึกไม่ใช่ก็ไปเรียนใหม่ จะเป็นหลักสูตรระยะสั้นเฉพาะทางอะไรก็ว่าไป หรือบางคนก็มาเรียนให้ได้วุฒิ เหมือนเป็นทางผ่านก่อนกลับไปรับช่วงธุรกิจที่บ้านเท่านั้น

ปุณยวีร์ รุจิปูริตานันท์

ส่วนคนที่ไม่มีกำลังหนุนจากทางบ้าน กลุ่มนี้จะเรียนมหาวิทยาลัยด้วยทัศนคติว่า การเรียนคือเส้นทางสู่เป้าหมายอาชีพที่ตั้งไว้ ตรงนี้น่าสนใจว่าพอเขามาเรียนหรือไปทำงานแล้ว บางทีภาพที่คิดไว้กับเรื่องจริงที่สัมผัสมันไปคนละทาง ถึงตรงนั้นเด็กจะกลับตัวก็ยาก หรือแม้จะกลับได้ก็อาจเสียเวลา เสียทรัพยากรไปไม่น้อย 

“หลายประเทศจะมีการเตรียมเส้นทางการศึกษา เพื่อส่งต่อเด็กผ่านระดับชั้นอย่างเป็นระบบ เช่นการมีหลักสูตรเฉพาะทางตั้งแต่ชั้นมัธยม เพื่อให้เด็กพบก่อนว่าตนถนัดอะไร และต้องเข้าใจประมาณหนึ่งว่าสาขาที่จะเลือกเรียนเป็นแบบไหน หมายถึงบางคนฝันอยากเป็นหมอ แต่พอเข้าไปเรียนแล้วเพิ่งรู้ว่ากลัวเลือด หรือไม่พร้อมกับสังคมการเรียนที่ความกดดันสูง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายถึงโอกาสจะเรียนจบหรือไปทำงานตรงสาขาน้อยมาก บางคนก็อาจเสียศูนย์ไปเลย ฉะนั้นจึงสำคัญมากที่ผู้เรียนควรได้รับข้อมูลความรู้ และมีประสบการณ์คุ้นเคยกับสิ่งที่จะเลือกเรียนต่อในระดับสูง โดยเฉพาะตั้งแต่ในช่วงมัธยมปลาย ซึ่งเราสามารถนำวิธีการนี้มาเริ่มใช้ได้เลยกับทุกโรงเรียนในระดับท้องถิ่น”

“ต้องแนะแนวให้ได้ว่าการเรียนต่อระดับสูงมีช่องทางมากมาย และเป็นโอกาสให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้มากขึ้น”

วิกานดา เกตสอาด อาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี (IRPCT) จังหวัดระยอง บอกว่า ในการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ปัญหาที่พบบ่อยคือเคสของเด็กที่ตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลังจบ ปวช. แต่เขาจะไม่ค่อยรู้เส้นทาง ไม่รู้ว่ามีทุนอะไรรองรับบ้าง ซึ่งพอมาปรึกษาอาจารย์และช่วยวางแผนกันแล้ว กลายเป็นว่าผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจอีกว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร อาจารย์ก็ต้องช่วยสื่อสารไปให้ถึงด้วย หรือเด็กอาชีวะส่วนหนึ่งจะมีความคิดว่าตัวเองสู้เด็กมัธยมไม่ได้ ก็จะมุ่งไปที่การเรียน ปวส. ก่อน ซึ่งสิ่งที่มาคู่กันคือการทำงานไปด้วยระหว่างเรียน ตรงนี้หลายคนพอเริ่มทำงานแล้วจะไม่ค่อยคิดเรื่องเรียน ทางสถาบันก็ต้องแนะแนวให้ได้ว่าการเรียนต่อระดับสูงมีช่องทางมากมาย และจะเป็นโอกาสให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้มากขึ้น

วิกานดา เกตสอาด

“เดี๋ยวนี้การเรียนรู้มันเปิดกว้างเรื่องเวลา เรื่องสถานที่ เราต้องชี้ข้อมูลให้เด็กว่ามีที่ไหนเปิดสอนบ้าง หรือที่ไหนเหมาะกับแผนชีวิต เหมาะกับความตั้งใจของเขา เรื่องสำคัญคือเขาต้องรู้ว่าระหว่างที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย 1-2 ปี จนเรียนจบ ประสบการณ์ที่มีมันคือคุณค่าแล้ว มันเอามาใช้อัพเงินเดือนได้ หรือจะเอาไปใช้คู่กับวุฒิเพื่อศึกษาต่อก็ได้

“ที่วิทยาลัยเราจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนระดับสูง โดยเชิญรุ่นพี่กลับมาเล่าให้น้อง ๆ ฟัง เพราะเชื่อว่าถ้าทุกคนรู้ช่องทาง เขาจะเห็นโอกาสมากมาย ดังนั้นหน้าที่ของเราคือจะเปิดเส้นทางให้เขาเห็นได้อย่างไร ยิ่งถ้าเขาเห็นจากรุ่นพี่ว่าเมื่อจบ ปวส. บวกวุฒิ ป.ตรี สิ่งหนึ่งที่คุณจะมีมากกว่าคนเรียนมหาวิทยาลัยอย่างเดียวตลอดสี่ปี คือประสบการณ์ทำงาน นั่นทำให้โอกาสได้งานยิ่งเปิดกว้าง อย่างเคสรุ่นพี่ที่มาเล่าให้น้องฟังบ่อย ๆ จะฉายให้เห็นเส้นทางว่าถ้าจบ ปวส. ไปทำงานบริษัทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ฐานเงินเดือนจะสตาร์ทที่หมื่นสองหมื่นสาม แต่ถ้ามีวุฒิ ป.ตรี ด้วย ก็สามารถเรียกฐานเงินเดือนเริ่มต้นได้ถึงสามหมื่น นี่คือสิ่งที่เด็กต้องเห็นว่ารุ่นพี่ ๆ ของเขาเดินทางไหน เติบโตยังไง มีงานที่มั่นคงได้อย่างไร

อาจารย์วิกานดา กล่าวว่า อีกฐานข้อมูลหนึ่งที่นำมาใช้แนะแนวลูกศิษย์ คือเว็บไซต์ ส่องทางทุน ของ กสศ. ที่รวบรวมทุนต่าง ๆ ในการศึกษาทุกระดับช่วงชั้นเอาไว้ โดยฐานข้อมูลนี้ได้ทำให้เห็นว่ามีทุนมากมายและโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยเฉพาะทุนที่สนับสนุนอาชีวศึกษา ให้เรียนต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ซึ่งทางสถาบันจะแนะนำกับนักศึกษาเสมอ ว่าถ้าใครได้ทุนนี้ ก็จะเป็นการการันตีว่าจะมีเส้นทางอาชีพที่มั่นคง และยกระดับชีวิตได้แน่นอน

“จะเปลี่ยนงานอดิเรกไปเป็นงานจริง ๆ ได้ เราต้องเพิ่มความถี่ในการลงมือทำ”

พงศภัค คงแจ นักศึกษาปี 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM มหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ หนึ่งเดียวของผู้สนใจร่วมกิจกรรมที่เป็นนักศึกษา เล่าว่าตนเป็นหนึ่งในคนที่เคยเข้าเรียนในสถาบันหนึ่งแล้วพบว่าไม่ใช่ จึงตัดสินใจออกมา แล้วเวลาราว 3-4 เดือนก่อนสอบใหม่ ได้ไปทำงานฟรีแลนซ์ในตำแหน่งเขียนโปรแกรมให้กับบริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ถ้าไม่ได้ลองทำงาน ก็จะไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนอยากทำเลย ไม่ว่าบรรยากาศความกดดัน ความล้มเหลวผิดพลาด หรือการถูกตำหนิ ซึ่งเป็นประสบการณ์ทำให้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

พงศภัค คงแจ

“ผมดีใจที่ได้เจอประสบการณ์เหล่านี้ตั้งแต่ช่วงวัยยี่สิบ แล้วมันทำให้เราจริงจังกับการเลือกเรียนต่อ ซึ่งผมพบว่าตัวเองต้องการเรียนในสถาบันที่สนับสนุนให้ได้ทำงานไปด้วย

“ในมุมมองเรื่องการแนะแนวเกี่ยวกับการศึกษาหรืออาชีพ ผมมองว่าก่อนอะไรสักสิ่งจะกลายเป็นงานอาชีพจริง ๆ สิ่งนั้นควรเป็นงานอดิเรกมาก่อน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการสะสมทักษะ ซึ่งคำถามต่อมาคือ จากงานอดิเรกเราจะทำให้เป็นงานจริง ๆ ยังไง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือความถี่ในการทำ ผมว่าหลายคนที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนหนึ่งจะรู้ว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร ทีนี้ถ้าเข้าไปเรียนในสิ่งที่ชอบแล้วจุดมุ่งหมายคือการมีงานทำ มีรายได้ มันก็ต้องพยายามทำในสิ่งที่ชอบให้ถี่ขึ้น แล้วเป้าหมายต่อไปจึงเป็นการหาทางสร้างรายได้จากสิ่งที่ทำ”

พงศภัคพูดถึงการพาตัวเองไปเจอสิ่งที่ชอบในโลกปัจจุบัน ว่าการพาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มหรือในพื้นที่ที่เอื้อต่อการเติบโตทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ ‘จุดเปลี่ยน’ ในชีวิต ที่แต่ละคนจะต้องพบเจอในลักษณะที่ต่างกันออกไป

“ผมมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่สนใจอะไรคล้ายกัน เราจะช่วยผลักดันและประคองกัน คอยอัพเดทชีวิตกัน หรือลองทำเรื่องใหม่ ๆ และเรียนอะไรใหม่ ๆ แข่งกัน ซึ่งมันช่วยให้เราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด อีกเรื่องหนึ่งคือสำหรับคนรุ่นผม เชื่อว่าจุดเปลี่ยนของคนหลาย ๆ คนคือโควิด-19 ผมเองตอนแรกคือไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียนชัดนัก เพราะรู้ว่าหลังเรียนจบยังไงก็ต้องกลับไปทำกิจการที่บ้าน จนโควิดมาถึง เกมเปลี่ยน ไม่มีกิจการให้กลับไปทำแล้ว ช่วงนั้นเองที่ผมเริ่มคิดเรื่องเรียนจริงจัง พยายามหาความรู้จากคอร์สเรียนฟรีของมหาวิทยาลัยดัง ๆ ในต่างประเทศ จนรู้ว่าตัวเองสนใจอะไร แล้วมันก็ค่อย ๆ พาเราเดินต่อมาได้”นักศึกษาปี 3 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ฝากไว้ว่า “ผมเชื่อว่ากว่าที่ใครสักคนจะพบสิ่งที่ชอบ สิ่งที่พร้อมจะเรียนรู้และทำต่อเนื่องไปได้นาน ๆ มันต้องแลกกับการทำงานหนักก่อน คือถ้าเราไม่ยอมแพ้กับสิ่งที่ทำ พร้อมจะสู้เพื่อไปสู่เป้าหมาย ผมว่านั่นแหละคือคำตอบว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว”