“ย้อนหลังกลับไปสมัยก่อนตอนที่เราเป็นเด็ก เราจะถูกระบบการศึกษาหล่อหลอมมาในลักษณะ Assessment of Learning หรือการประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นไปที่ Test แบบทดสอบแล้วเก็บรวบรวมคะแนนจากรายจุดประสงค์ต่างๆ จนได้คะแนนก้อนหนึ่ง แล้วเอาคะแนนก้อนนั้นมาจัดระดับเป็นเกรด แต่เรากลับหลงลืมการประเมินผลในอีกสองประเด็นสำคัญ”
ความเห็นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเพชร นาสารีย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาหลักสูตร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) ที่กล่าวบนเวที ‘ปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน’ ในงานมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 จังหวัดภูเก็ต โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนถึงปัญหาการกำกับติดตามเพื่อประเมินพัฒนาการของนักเรียนในปัจจุบันซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรมุ่งเน้นน้อยที่สุด
สำหรับการกำกับติดตามและประเมินผลนักเรียนในปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเพชร กล่าวว่าครูจะต้องเข้าใจวิธีการสร้างสมดุลในการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ พร้อมปรับกระบวนทัศน์ใหม่ว่าสิ่งที่ควรมุ่งเน้นมากที่สุดคือเรื่อง การประเมินขณะเรียนรู้ (Assessment as Learning) การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) และการประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ (Assessment of Learning) ตามลำดับ
“การแบ่งสัดส่วนของการประเมินในวันนี้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่เปลี่ยน ลูกศิษย์เราก็จะไม่เปลี่ยน
โดยเฉพาะเรื่อง Assessment as Learning ต้องยอมรับว่าสมัยก่อนเราใช้วิธีการนี้กันน้อยมาก ซึ่งเป็นการประเมินขณะที่เรียนรู้ เน้นให้ผู้เรียนกำกับตนเอง ประเมินตนเองว่าเขากำลังเรียนรู้อะไรและไม่รู้อะไร เมื่อหมดคลาสนี้ไปแล้วเขาบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ โดยที่ไม่ได้ใช้ Test ของครูเป็นตัวชี้วัด แต่ให้เขากำกับตัวเอง
จากนั้นก็ขยับเข้าสู่ Assesment for Learning หรือการประเมินเพื่อการเรียนรู้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากที่คุณครูต้องแสดงบทบาทสำคัญในห้องเรียน โดยไม่มุ่งที่จะจรดปากกาหรือพิมพ์ตัวเลขลงไปให้ลูกศิษย์ แต่จะมุ่งเก็บรวบรวมจากการประสบการณ์ของครูที่สั่งสมไว้ ผ่านการสังเกตผู้เรียน แล้วทำการ feedback หรือให้ข้อมูลย้อนกลับไปยังผู้เรียนทันทีในห้อง รวมถึงการให้โอกาสในการปรับปรุงชิ้นงานมากกว่าหนึ่งครั้ง แล้วลำดับสุดท้ายคือ Assessment of Learning คือคุณครูจึงจะจรดปากกาลงไปเพื่อให้คะแนน”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ ผศ.ดร.น้ำเพชร แสดงทัศนะไว้ในปาฐกถาหัวข้อ ‘ทิศทางการติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ภูเก็ต’ คือเรื่อง Transversal Competencies หรือสมรรถนะข้ามพิสัยที่จะช่วยพัฒนานักเรียนไปสู่ตลาดแรงงานอย่างมีศักยภาพ
“องค์การยูเนสโกให้คำนิยามของสมรรถนะข้ามพิสัยว่าจะต้องมีองค์ประกอบทั้งหมด 6 ตัว แต่ในการออกแบบกิจกรรมแต่ละครั้งไม่จำเป็นว่าเราต้องออกแบบกิจกรรมนั้นๆ ให้ครบทั้ง 6 สมรรถนะ ซึ่งได้แก่ 1.การจัดการตัวเองอย่างมีสุขภาวะ 2.การคิดขั้นสูง 3.การสื่อสารด้วยภาษา 4.การทำงานเป็นทีม 5.การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ 6.การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน
เมืองภูเก็ตเป็นเมืองที่โดดเด่นของประเทศไทย เพราะฉะนั้นในส่วนของสมรรถนะที่ 6 การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน เราเป็นเมืองท่องเที่ยว ปัญหาที่เป็นผลมาจากการท่องเที่ยว เราจะทำยังไงให้ทรัพยากรอยู่อย่างยั่งยืน เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่เราจะต้องปลูกฝังเขาตั้งแต่ในวัยอนุบาลแล้วช่วยกันส่งต่อเหมือนวิ่งผลัดสู่ประถมศึกษาแล้วไปที่มัธยม”
อย่างไรก็ตามในการออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะและวัดประเมินผลนักเรียน ผศ.ดร.น้ำเพชร แนะนำว่าสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือครูจะต้องมีความเป็นกัลยาณมิตรกับนักเรียนมากขึ้น
“เราต้องกลับมาดูตัวเราว่าภาษากายและภาษาพูดของเราทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนที่มีความสุข เป็นห้องเรียนที่ปลอดภัยไหม เพราะทุกอย่างต้องกลับมาที่ตัวเราก่อนที่จะไปพัฒนาผู้เรียน
อย่างถ้าเราจะตรวจสอบความสามารถของผู้เรียน สิ่งที่ครูจะต้องมีคือครูต้องเป็นผู้ฟัง แล้วพยายามช้อนคำถาม พยายาม ‘เอ๊ะ’ (สังเกต ฉุกคิด) ขอเรียกว่าเป็นทักษะการเอ๊ะ ซึ่งเป็นอาการที่ครูดูแลใส่ใจผู้เรียน เช่น ทำไมเด็กคนนั้นถึงมีคีย์เวิร์ดแบบนี้ แล้วเราก็ถามต่อยอดออกไป สิ่งเหล่านี้แหละที่เราจะโน้ตและทำความเข้าใจกับผู้เรียน จากนั้นก็จดบันทึกข้อมูลการเรียนรู้ข้อสังเกตของเด็กเป็นรายบุคคลในมิติต่างๆ แล้วส่งมอบให้คุณครูในชั้นถัดไป ถ้าเราทำได้จนเป็นนิสัยจนเป็นเรื่องปกติของโรงเรียน เชื่อว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน”