วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทวีความรุนแรงขึ้น เด็กและเยาวชนในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลื่อนชั้นเรียนระดับต่างๆ แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองมากเพียงใดก็ตาม
“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือกสศ. จะเป็นหนึ่งในทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวและยังเป็นต้นแบบการลงทุนสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มีศักยภาพได้ศึกษาต่อในระดับสูงให้ผลตอบแทนกลับสู่ประเทศไทยอย่างคุ้มค่า
ความสำคัญของการสนับสนุนเด็กช้างเผือก ได้เรียนต่อเต็มศักยภาพ
ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Student) หรือเด็กที่มีฐานะยากจนในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ แต่มีความรู้ความสามารถในระดับเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนดีในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุดประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มยากจนหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,111 คน จากการศึกษา OECD สำรวจเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีความคาดหวังต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
แต่จากข้อเท็จจริง เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มต่ำสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศมีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 5เท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศซึ่งมีโอกาสศึกษาต่ออยู่ที่ร้อยละ 32 หรือมีช่องว่างทางการศึกษา แตกต่างกันถึง 6 เท่า
ผลจากการวิจัยพบว่าการลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับสูง เป็นการสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพและจะช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 10 และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคลต่อสถานประกอบการ และต่อสังคม และการลงทุนในลักษณะเช่นนี้ได้มีการทำในหลายๆ ประเทศ ที่เน้นการส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย คนยากจน คนชายขอบ ผู้ที่ไม่มีใครในครอบครัวเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเลื่อนยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ (Generations)
แต่ระบบการศึกษาที่สนับสนุนสายอาชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง (ปริญญาตรี โทและเอก) มีน้อยกว่าสายสามัญ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา.(สอศ.) ระบุว่า การศึกษาต่อในระดับสูงของนักศึกษาสายอาชีพ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ นักศึกษาที่จบระดับ ปวช. มีจำนวน 656,981 คน จบปวส.จำนวน 362,161 คน และจบปริญญาตรี 9,819 คน ในขณะข้อมูลปี 2562 มีนักศึกษาสายอาชีพออกกลางคันถึง 80,000 คน ต่อปี
ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ กสศ. ต้นแบบทุนสร้างโอกาสให้เด็กช้างเผือก
กสศ. ริเริ่มทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ซึ่งเป็นทุนแรกของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เยาวชนช้างเผือกที่มีศักยภาพสูงและขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ระดับปวช.และปวส. ได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ประเทศไทย 4.0 โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนหากเรียนจนจบการศึกษา นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับระบบหนุนเสริมนักศึกษารายบุคคล (Individual Development) ทั้งทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills) อีกด้วย ถือเป็นการพัฒนาต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง ทำนองเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อทุน “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับทุนศึกษาอีกด้วย
นักศึกษาเหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นแบบบุคลากรสายอาชีพชั้นนำของประเทศ เป็นผู้นำที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ ยกระดับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพ ที่สามารถเติบโตเป็น นักวิจัย ผู้ประกอบการ มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้น
เผยศักยภาพนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ มีผลการเรียนระดับดีมาก สร้างนวัตกรรมชนะเลิศและรองชนะเลิศ ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ
ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ดำเนินงานเป็นปีที่ 3 ศักยภาพของนักศึกษาทุนที่ผ่านมานั้น ทุกคนมีเกรดเฉลี่ยสะสมดีมาก GPAX ตั้งแต่3.00 – 3.99 และยังได้คิดค้นโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ โดยได้เข้าร่วมและมีผลงานการประกวดนวัตกรรมอาชีวศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ อาทิ การประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ประเภทสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ผลงาน “เครื่องดูดรังนกด้วยระบบสุญญากาศ”, การแข่งขันทำโครงงานระดับชาติ ผลงาน “เครื่องแลกเหรียญ 2 ระบบอัตโนมัติ”, การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรระดับภาค ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ผลงาน “ผลิตภัณฑ์อาหารชาใบขลู่เสริมสมุนไพร”, การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรของคนรุ่นใหม่ระดับภาค ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ผลงาน “ทรีทเมนต์บำรุงผมรังไหม”
สำหรับแผนอนาคตนั้น พวกเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะศึกษาต่อในระดับสูงกว่าระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพเป็น นักวิจัย นักวิชาการ ครู/อาจารย์ (เช่น ด้านดิจิทัล ประมง เกษตร) เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (เช่น วิศวกร โปรแกรมเมอร์) และเป็นเจ้าของกิจการ
นอกจากนี้ในระหว่างเรียนนักศึกษาทุกคนยังมุมานะทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เนื่องจากหนึ่งในสี่ของครอบครัวนักศึกษานั้นขาดเสาหลักของครอบครัวอย่างพ่อหรือแม่ โดยร้อยละ 36 ของครอบครัวนักศึกษาอยู่ในสถานะหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ชั่วคราว ขณะที่พ่อแม่ของนักศึกษาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาเป็นเกษตรกร ค้าขาย และลูกจ้างในโรงงานหรือสถานประกอบการ และหลายคนว่างงานหรือถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)
เมื่อนักศึกษากลุ่มนี้เรียนจบจะมีการศึกษาสูงกว่าพ่อและแม่ โดยพ่อแม่ของนักศึกษาทุนโดยส่วนมากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. หรือต่ำกว่า ร้อยละ 92 ข้อมูลทุกมิติที่กล่าวมานี้ ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ของ กสศ. จะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาที่จะนำไปสู่การยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจไม่เฉพาะส่วนบุคคลเท่านั้นแต่ยังจะส่งผลถึงครอบครัวในการออกจากความยากจน
ปฏิรูปเส้นทางการจัดการศึกษาที่เสมอภาค สร้างแรงงานทักษะสูง นำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง
การที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี ได้นั้นจำเป็นต้องมีแรงงานทักษะสูง (High Skilled Labor Force) มากกว่าร้อยละ 50และลดสัดส่วนกำลังแรงงานที่ไร้ทักษะ (Unskilled Labor) ซึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้นการจัดการศึกษาที่เสมอภาคให้แก่เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพจึงมีความสำคัญอย่างมาก
นอกเหนือจาก ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ กสศ.ยังร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ได้พัฒนาต้นแบบการทำงานในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การป้องกันความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาให้กับนักเรียนจากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ “ทุนเสมอภาค ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนโอกาส เข้าถึงการศึกษาในระดับ ปวช.และปวส. ให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส
กสศ.เปิดรับสมัครทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพรุ่นที่ 3 การกลับมาอีกครั้งของโอกาส ความฝัน ความหวัง
ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ของกสศ. อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครรอบที่ 1ระหว่างวันที่ 15 – 30 เมษายน 2564 โดยผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่กำลังจบการศึกษาระดับ ปวช./ปวส.หรืออนุปริญญา มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และกำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและได้รับการคัดเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน 2 – 3 ปี ภาคปกติ ชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2564 ในสาขาที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) หรือสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science, Technology, Engineering, Mathematics: STEM) และเทคโนโลยีดิจิทัล กรณีที่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 3 ปี ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.00 ลูกจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัตินี้สามารถสมัครขอรับทุนได้เช่นกัน
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ www.eef.or.th/ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ