“เราอยากสร้าง ‘พื้นที่โอกาสสำหรับคนทุกคน’ ด้วยการจ้างงานบนฐานของความหลากหลาย แต่กลายเป็นว่าโจทย์ที่ HR ต้องคิดมากที่สุดคือ เราไม่รู้เลยว่าจะไปหาเพื่อนร่วมงานได้จากที่ไหน?”
อรรถพล บัวเผื่อน ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท สยามมิชลิน จำกัด สาขาแหลมฉบัง ตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เข้าร่วมในโครงการทุนนวัตกรรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. กล่าวถึงการดำเนินนโยบาย ‘Diversity and Inclusion’ ของบริษัท โดยไม่จำกัดคุณสมบัติการรับคนเข้าทำงานด้วยเรื่องวัย เพศสภาพ ความพิการ หรือความแตกต่างใด ๆ ทว่าเมื่อนโยบายเริ่มเดินหน้า กว่าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource: HR) จะค้นพบแนวทางที่เป็นไปได้ในการการสนับสนุนโอกาสสำหรับคนทำงานที่มีความแตกต่างหลากหลาย จนได้เจอกับ ‘พนักงานที่มีศักยภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสม’ ก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน
“หลายบริษัทต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ เราต่างอยากร่วมงานกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะผู้พิการ ยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิต ณ ปัจจุบันที่ระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามามีบทบาทสำคัญ เรายิ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถทำงานและประสบความสำเร็จได้อย่างทัดเทียมกัน ขอเพียงมีศักยภาพและตั้งใจจริง แต่เมื่อเราเปิดรับ กลับกลายเป็นเรื่องยากที่เราจะหากันจนเจอ
“…ประเด็นสำคัญคือการค้นพบบุคลากรกลุ่มนี้ เราจะตั้งรับรอให้เขาเข้ามาหาเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้”

‘คีย์ลัดคือเชื่อมไปให้ถึงสถาบันผลิต’
ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ทีม HR สยามมิชลิน แหลมฉบัง เปลี่ยนแนวทางสู่ ‘การค้นหาเชิงรุก’ โดยร่วมมือกับสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี จนเชื่อมโยงถึงวิทยาลัยเทคนิคบางแสน และวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา ที่เป็นเครือข่ายทำงาน ‘โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ’ ที่ กสศ. สอศ. คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ดำเนินโครงการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมเยาวชนผู้พิการที่มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาส ให้ได้ศึกษาต่อในระดับ ปวส. โดยมุ่งขยายโอกาสการมีงานทำ ผ่านการ ‘สร้างความร่วมมือ’ ระหว่างสถาบันการศึกษาสายอาชีพ และ ภาคธุรกิจเอกชน ในฐานะ Social partners

“การเจอกับสถาบันอาชีวศึกษา ทำให้เรามองเห็นความเป็นได้ของความร่วมมือระยะยาว โดยหลังจากทีม HR ไปเจอน้อง ๆ ที่สถาบัน ก็พบว่ามีนักศึกษาทุนฯ จำนวนหนึ่งที่พร้อมเข้ามาฝึกงานและเริ่มทำงานได้ทันที ถึงตรงนั้นเราปิ๊งไอเดียเลยว่ามาถูกที่และถูกทางแล้ว จึงได้ปรึกษากับผู้อำนวยการสถานศึกษาว่าอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ เพื่อวางแนวทางการผลิตและพัฒนานักศึกษาทุนร่วมกัน”
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดบรรจบแรกของการ ‘ร่างเส้นทาง’ พัฒนาทักษะเพื่อการประกอบอาชีพที่เป็นระบบของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีสถาบันการศึกษาสายอาชีพเป็นฝ่ายเดินหน้าค้นหาเชิงรุก ก่อนคัดกรองและคัดเลือกเยาวชนผู้พิการที่มีความมุ่งมั่น เข้ามาสู่กระบวนการบ่มเพาะองค์ความรู้และทักษะการทำงาน รวมถึงขัดเกลาหล่อหลอมให้เกิดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ทั้งทักษะด้านสังคมและการพึ่งพาตนเองในมิติต่าง ๆ ขณะที่สถานประกอบการจะมีบทบาทเป็น ‘ห่วงโซ่ข้อสุดท้าย’ ของสายพานการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสมบูรณ์ เพื่อก้าวเดินไปบนเส้นทางอาชีพที่ทอดยาว
“เมื่อระบบค่อย ๆ ลงตัว เราจึงสามารถย้อนกลับไปแก้โจทย์ตั้งต้นได้ในที่สุด ว่าจะหาเพื่อนร่วมงานจากตรงไหน และต้องทำอย่างไร ‘เขา’ กับ ‘เรา’ ถึงจะมาเจอกันได้ และหลังจากเจอกันแล้ว ‘เรา’ ซึ่งหมายถึงสถานประกอบการและสถาบันอาชีวศึกษา จะช่วยกันสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจร่วมกันอย่างไร เพื่อทำงานไปด้วยกันให้สำเร็จลุล่วง จนตัวระบบสามารถปักหลักเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรผู้พิการได้ แม้วันหนึ่งที่โครงการ ฯ สิ้นสุดลงแล้ว”

‘อยู่ร่วมเป็นเนื้อเดียวกัน’
จากปีแรก (ปีการศึกษา 2565) ที่ สยามมิชลิน สาขาแหลมฉบัง รับนักศึกษาทุน ฯ เข้าทำงานทั้งหมด 6 คน ถึงวันนี้น้อง ๆ ได้เรียนจบและบรรจุเป็นพนักงานเต็มตัวแล้ว ปีการศึกษา 2566 สยามมิชลินจึงเตรียมรับนักศึกษาทุน ฯ รุ่นใหม่อีก 11 คน พร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์ผลลัพธ์โครงการสู่การรับรู้ในวงกว้าง เพื่อขยายโอกาสการร่วมงานกับกลุ่มผู้พิการ โดยไม่จำกัดเพียงนักศึกษาทุนในโครงการ ฯ เท่านั้น
ในแผนพัฒนาระบบผลิตบุคลากรระยะยาว ผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทสยามมิชลินฯ กล่าวว่า หลักสำคัญของการทำงานบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย ประการแรกคือ “เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน” ส่วนประการที่สอง คือ ‘ไม่ใช่เจอแล้วรับเข้ามาเท่านั้น แต่สถานประกอบการต้องปรับเปลี่ยน ช่วยเตรียมพร้อมและหลอมรวมบุคลากรทุกหน่วยให้เป็นเนื้อเดียว’ เพื่อให้การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันงอกเงยขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
“ความปลอดภัยคือสิ่งที่เราคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ก่อนรับนักศึกษาทุนฯ เข้ามา จึงมีการวิเคราะห์พื้นที่ภายในโรงงานร่วมกันหลายฝ่าย โดยเฉพาะความเห็นจากผู้บริหารสถานศึกษาและตัวนักศึกษาเอง จนนำสู่ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนจากสิ่งเล็ก ๆ เช่นการติดตั้งไฟ Blacklight ในเขตปฏิบัติงาน จนถึงสิ่งที่ใหญ่ขึ้นอย่างการฝึกอบรมพนักงานที่เป็นงานอยู่แล้วให้มีทักษะ co-worker ที่จะคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลนักศึกษาทุนฯ ในช่วงเรียนรู้งาน ส่วนเรื่องขั้นตอนการเข้าทำงาน ทุกคนต้องผ่านการปฐมนิเทศ มีช่วงทดลองงาน ผ่านกระบวนการที่เหมือนกับคนทั่วไปทุกอย่าง ไม่มีอะไรต่างกัน
“การร่วมงานที่ผ่านมาทำให้เราพบว่า จะพัฒนาระบบจ้างงานผู้พิการนั้นไม่ยาก ถ้าให้ความสำคัญเรื่อง Inclusive หรือการ ‘อยู่ร่วมเป็นเนื้อเดียวกัน’ เพราะไม่ว่าคนปกติ คนพิการ ผู้สูงอายุหรือใครก็ตาม ทุกคนจำเป็นต้องผ่านการละลายพฤติกรรม ปรับจูนทักษะทางสังคม และได้รับการดูแลเท่า ๆ กัน
“หลายที่มาดูงานกับเรา ผมบอกเลยว่าไม่ต้องกังวล ถ้าคุณเปิดใจ ไม่มองแต่เรื่องข้อจำกัด แล้วจะรู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์เราสามารถปรับตัวเข้าหากันได้เสมอ เพราะถ้าคุณดูที่โรงงานของเรา ตอนนี้กลายเป็นว่าหัวหน้างาน พนักงาน รวมถึงร้านค้าในโรงงาน เกือบทุกคนใช้ภาษามือได้โดยไม่ต้องมีกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มเติมอะไรเลย ซึ่งคนสอนเขาก็คือน้อง ๆ กลุ่มผู้พิการที่มาฝึกงานทำงานกับเรา เรื่องแบบนี้มันเป็นไปเอง แค่คุณต้องให้เวลาพวกเขาปรับตัวเข้าหากัน”

‘เพราะเชื่อว่าความแตกต่างคือพลัง’
ณ ปีการศึกษา 2566 บริษัท สยามมิชลิน จำกัด สาขาแหลมฉบัง ไม่เพียงเป็นพื้นที่ปลายทางรองรับนักศึกษาทุนฯ แต่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘ออกแบบหลักสูตร’ ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาเต็มตัว เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาทุนฯ ได้เก็บหน่วยกิตจากการฝึกงาน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาสถานที่บริเวณโรงงานให้มีที่พักและอาคารเรียนร่วมด้วย
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทสยามมิชลินฯ เผยว่า เรื่องน่ายินดีสำหรับสถานประกอบการในการร่วมงานกับสถาบันต้นทาง คือทำให้ได้พบน้อง ๆ ตั้งแต่ช่วงยังเรียนอยู่ โดยถือเป็นจังหวะเหมาะสมของการเติบโตพัฒนา ที่นักศึกษาทุนฯ แต่ละคนจะได้ค้นพบทักษะ ได้ขัดเกลาทัศนคติ รวมถึงหาทางรับมือกับข้อจำกัด ผ่าน ‘ชีวิตจริงของการทำงาน’ ซึ่งจะช่วยเบิกทางและกล่อมเกลาคุณลักษณะต่าง ๆ จนพร้อมที่สุด สำหรับการปฏิบัติงานทันทีเมื่อจบการศึกษา
“เพราะ Diversity and Inclusion คือความต้องการของเรา ที่จะชวนผู้คนหลากหลายมาทำงานร่วมกัน บนฐานความเชื่อว่า ‘ความแตกต่างคือพลัง’ …วันนี้เรามีน้อง ๆ บนวิลแชร์ปฏิบัติงานในหน่วยซ่อมบำรุงเครื่องจักร มีผู้บกพร่องทางการได้ยินในสายการผลิต มีผู้บกพร่องทางร่างกายที่เชี่ยวชาญการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ในตำแหน่ง QS: Quantity Surveyor คอยประเมินราคาของโครงการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยืนยันว่า เราพร้อมจะร่วมงานกับทั้งผู้พิการหรือใครก็ตามที่ต้องการโอกาส โดยไม่ยอมให้ความแตกต่างหลากหลายมาเป็นอุปสรรคอีกต่อไป”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง – กสศ. ขับเคลื่อนการศึกษาสายอาชีพสู่การมีงานทำ ส่งเสริมสังคมเสมอภาคด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ