‘ชุมชนแออัดในเมืองหลวง’ อีกหนึ่งปมปัญหามหากาพย์ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมายาวนาน เมื่อความขาดแคลนด้อยโอกาสที่ห้อมล้อมเด็กเยาวชน ได้พาพวกเขาไปสู่วงจรยาเสพติด อาชญากรรม ค้าประเวณี ฯลฯ
ในโค้งสุดท้ายของการชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และ PPTVHD36 ชวนผู้สมัครร่วมประชันวิสัยทัศน์ปัญหาคนกรุง กับแนวทางนโยบายต่อสู้กับวิกฤตความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจเป็นทางออกของปัญหา และจะส่งผลต่อการกำหนดอนาคตของกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ไปจนถึงอีกหลายปีข้างหน้า
‘ครูแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง และครูอาสาผู้คลุกคลีกับปัญหาเด็กเยาวชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยมาเกือบ 10 ปี เผยว่า ปัญหาของเด็กเยาวชนในชุมชนมีความซับซ้อนและซ้อนทับด้วยหลายประเด็น จากจุดตั้งต้นที่ความยากจนขาดแคลนโอกาส ส่วนสำหรับทางออก ตนมองว่าทางเดียวที่จะทำให้เด็กเยาวชนหลุดพ้นไปได้ คือทำให้ทุกคนเข้าถึง ‘การศึกษา’ แต่ที่ผ่านมากลับกลายเป็นว่า ‘ระบบการศึกษา’ ได้เข้ามาซ้ำเติมน้อง ๆ จนเป็น ‘ปัญหาใหม่’ ที่กดทับลงมาอีก
“เราพยายามนำการศึกษารูปแบบที่ต่างไปจากในโรงเรียนมาให้เด็ก ๆ มุ่งสร้างแรงบันดาลใจ ความฝัน เปิดโลกทัศน์ให้เขามองออกไปไกลกว่าแค่ชีวิตในชุมชน อยากมีชีวิตในวันข้างหน้าที่ดีขึ้น แต่อย่าลืมว่ากว่าที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นไปเป็นคนหนึ่งคนที่มีคุณภาพได้ พร้อมฝันวัยเยาว์ที่เคยมี ว่าอยากประกอบอาชีพดี ๆ สักอย่าง ระหว่างทางนั้นเขาแทบไม่เคยเห็นสังคมปกติภายนอก ไม่เคยมีใครบอกให้พูดสวัสดี ขอบคุณ หรือสอนเรื่องการแบ่งปัน ทั้งยังต้องเจอนานาอุปสรรคมาบั่นทอน ตั้งแต่ความลำบากของครอบครัว พ่อแม่ไม่มีงานทำ คนรอบตัววนเวียนในวงจรยาเสพติด ได้พบเห็น รับรู้ ซึมซับว่าอาชญากรรมเป็นเรื่องธรรมดาใกล้ตัว และค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันก็ยากที่เราจะหวังให้เขาเติบโตขึ้นมามีคุณภาพได้”
“ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นเด็กตัวเล็ก ๆ เล่นบทบาทสมมติกัน โดยจำลองสถานการณ์การขายยา ขายตัว สวมบทเป็นแม่เล้า เป็นโสเภณี หรือเป็นคนซื้อบริการ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แล้ววงจรเหล่านี้ พอใครสักคนหลงเข้าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหลุดพ้นออกมา ชีวิตจะเบนไปในมาตรฐานสังคมอีกแบบหนึ่ง ยากจะปรับตัวอยู่กับคนหมู่มากได้”
ครูแอ๋มฝากถึงผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. บนเวทีดีเบตครั้งนี้ว่า “เราต้องลงทุนกับมนุษย์คนหนึ่งมากกว่านี้ เพื่อให้เขาได้มีชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่มีอาหารกิน หรือแค่มีชีวิตรอด แต่ต้องพัฒนาไปถึงจุดที่เป็นคนมีคุณภาพ และมีศักยภาพเต็มกำลังที่จะช่วยพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป”
สำหรับตนเองในฐานะครูที่ทำงานกับเด็ก ๆ ในชุมชน อยากเสนอว่าในการทำงานที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ กทม. ด้วยติดปัญหาเรื่องขั้นตอนกฎระเบียบที่ซับซ้อน เช่นการจัดตั้งงบประมาณที่ไม่ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ หรือข้อกำหนดระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เห็นว่าระบบระเบียบเหล่านี้ทำให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ทำได้ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในบรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่กำลังจะมาถึง ครูแอ๋มกล่าวว่า “ปีนี้เรามีความหวัง หลังได้เห็นผู้สมัครหลายคนที่อยากเข้ามาเปลี่ยนแปลง คนทำงานก็รู้สึกมีกำลังใจขึ้น นอกจากนี้เรายังเห็นการตื่นตัวทางการเมือง เห็นคนรุ่นใหม่ที่คิดไกลไปถึงภาพสังคมโดยรวม หรือเด็กหลายคนในคลองเตยเองที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย
“วันนี้ประเทศของเรากำลังอยู่ในกระแสทางสังคมการเมืองที่ดีขึ้น เราจะทำยังไงให้กระแสนี้มันถูกพัฒนาในเชิงลึก และมีคุณภาพจริง ๆ ใช่เพียงพัดวูบมาแล้วหายไป ให้คนที่ด้อยโอกาสได้มีความหวังที่จะหลุดพ้นจากชีวิตที่เป็นอยู่ ด้วยอาชีพ สวัสดิการ นโยบายการช่วยเหลือดูแลที่ทำให้ทุกคนในสังคมมีชีวิตที่ดีกว่านี้”
…จากนี้ขอเชิญร่วมติดตามว่า ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. แต่ละท่าน จะมีวิสัยทัศน์ต่อประเด็นปัญหาเด็กเยาวชนในชุมชนอย่างไร?
สร้างชุมชนแนวตั้ง ชวนคนเข้าใจปัญหาร่วมกำหนดนโยบาย
ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 กล่าวว่า กทม. สามารถเอางานเป็นตัวตั้ง แล้วบูรณาการกระบวนการร่วมกับคนที่เขาขลุกอยู่กับปัญหาเป็นเวลาสิบปี หรือบ้างยาวนานกว่านั้น เพราะคนเหล่านี้เองที่เขารู้ปัญหา ทำได้ทันที แล้วยังช่วยคิด ช่วยชี้ทางได้ว่าจะใช้เงินทุกบาทอย่างไรให้เกิดผลคุ้มค่าที่สุด
“แก่นปัญหาเรื่องนี้คือเด็กส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่ในระบบการค้ายาเสพติดไปแล้ว มีเด็กส่งยาอายุ 7-8 ขวบที่ทำงานแลกกับขนมราคาไม่กี่บาท ตำรวจจับไปก็สาวไม่ถึงต้นตอ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะมันคือวิถีชีวิตของชาวบ้าน คนลุกมาต่อต้านบางทีต้องกลายเป็นแกะดำของชุมชน ไม่มีใครคุยด้วย แล้วเด็กไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิด คนค้ายามีทองใส่ กินหรูอยู่สบาย ชีวิตสนุกสนานได้ทุกวัน เรื่องพวกนี้เด็กเห็นจนชินตาอยู่แล้ว ตรงนี้จึงต้องเข้าไปแก้ไขที่ทัศนคติให้ได้”
“ผมมองว่าการแก้ปัญหาของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาเหมือนกรรไกรที่คมด้านเดียวคือด้านบน แต่จากนี้ไปผมจะจะลับให้คมจากด้านล่าง ด้วยการจัดตั้งคอมมิวนิตี้สำหรับคนในชุมชน ให้เขามีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ร่วมกำหนดงบประมาณ สามารถแนะนำ เสนอแนะ มีส่วนร่วมในการเลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการได้”
“แล้วเมื่อก่อนคำว่าชุมชนคือเป็นแค่แนวระนาบเดียว คือคนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราสามารถทำชุมชนแนวตั้ง หรือชุมชนออนไลน์ได้ ด้วยการรวมคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ กทม. ต้องไม่คิดเบ็ดเสร็จคนเดียว ชวนชาวบ้านมาช่วยคิดช่วยทำ ชวนคนที่สนใจเรื่องการศึกษา เข้าใจปัญหายาเสพติด คนที่เขารู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร แล้วคนเหล่านี้จะกำหนดงบประมาณให้ผู้ว่าฯ ช่วยคิดว่าจะแก้ปัญหานั้น ๆ อย่างไร”
เปลี่ยนระบบจัดสรรงบประมาณใหม่ / เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 กล่าวว่า สิ่งที่ กทม. ยุคใหม่ทำได้คือ ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมช่วยรัฐอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาช่วยมาตลอดอยู่แล้ว ทั้งที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุน
“ในเรื่องงบประมาณ ถ้าลดการทุจริตลงได้จะมีทรัพยากรเหลือเยอะมาก อย่างโรงเรียน 437 โรงเรียนใน กทม. เราใช้เงินแค่ 700 ล้านบาทในการดูแล แต่งบกำจัดขยะตกปีละ 7 พันล้านบาท ทั้งที่ขยะสามารถแปรรูปกลับมาให้เป็นทรัพย์สินได้ ฉะนั้นขอเสนอว่า 1.เปลี่ยนระบบจัดสรรงบประมาณใหม่ 2.เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลย ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่คนหน้างานเขารู้ นี่คือมือมากมายที่เขาพร้อมเข้ามาช่วยช้อนเด็ก ๆ พร้อมดูแลแก้ปัญหา แต่ละเคสสามารถลงไปดูได้ในรายละเอียด อาศัยคนที่ทำงานกับเด็ก ๆ อยู่แล้วให้มีส่วนร่วมจริงจัง แล้วข้อดีอีกอย่างคือเขาไม่ติดกรอบการทำงานเหมือนราชการ”
“นอกจากนี้ดิฉันขอเสนอนโยบายกระจายงบประมาณเขตละ 50 ล้านบาท เพื่อจัดทำงบประมาณแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ทดลองกระจายงบ ให้ ผอ.เขต เอาไปลงเรื่องการศึกษา ส่งเสริมกิจกรรมสำหรับเด็กในชุมชน โดยเฉพาะช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ 120 วัน ให้เขาได้มีพื้นที่ มีโอกาสเติมประสบการณ์ดี ๆ เพื่อถอยห่างจากเส้นทางอบายมุข แล้วต้องสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมทั้งหมดเข้ามามีส่วนช่วย”
ปลดล็อคข้อบัญญัติ เพื่อกระจายเงินลงไปทุกภาคส่วน
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 เสนอว่า ปัญหาเด็กเยาวชนในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต้องแก้ที่ระบบ การถมเงินไปอย่างเดียวแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ สุดท้ายจะวนลูปเดิม
“สิ่งที่ภาครัฐจะให้ได้คือเงินตั้งต้น แล้วติดอาวุธทางความรู้ให้ผู้ปกครองในการประกอบอาชีพ หาสถานที่ทำมาหากินให้ ส่วนปัญหาการทำงานของภาคประชาสังคม ผมเข้าใจ เพราะระบบราชการมีความอุ้ยอ้าย เราต้องปรับ ผู้ว่าฯ ต้องวางโครงสร้างการแก้ปัญหาไว้ตั้งแต่แรก ดูเรื่องจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมความเป็นไปได้ทั้งหมด เบิกจ่ายได้สะดวกไม่ซับซ้อน”
“ปัญหาอีกประการคือเงิน กทม. ยังไม่สามารถลงในพื้นที่สาธารณะได้ ด้วย กทม. ไม่อยากรับภาระเยอะ ลำพังพื้นที่สาธารณะเงินก็ลงไม่พออยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ ต้องหาเงินนอกกรอบมาเติม แล้วใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ไม่มีอีกแล้วโครงการสองสามพันล้านที่ได้ประโยชน์ไม่คุ้ม แต่เงินต้องกระจายไปทั่วทุกภาคส่วน ปลดล็อคแก้ข้อบัญญัติที่ปิดไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องเด็ก แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ถ้าปลดได้ เงินจะลงไปถึงเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้หมด ผมว่า กทม. ได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะแม้แต่กระทรวงพัฒนาสังคม ฯ ที่รับผิดชอบโดยตรง ยังไม่มีเซลล์ที่ละเอียดเหมือนภาคประชาสังคมในแต่ละเขต แล้วงบ พม. ปีละไม่เท่าไหร่ ช่วยคลองเตยยังไม่ถึงครึ่งชุมชนก็หมดแล้ว ที่ต้องทำคือเพิ่มเงินลงไป ผู้ว่าฯ ต้องหาเงินให้ได้ แล้วต้องพยายามให้โอกาสคนในการประกอบอาชีพ ให้คนมีความรู้ติดตัว ต้องแก้ตรงนั้น”
สร้างวิถีการเรียนรู้นอกระบบ ส่งเสริมการทำมาหากินสร้างรายได้
โฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 24 กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการศึกษา การเรียนในระบบอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเปลี่ยนสู่วิถีใหม่ให้เป็น ‘การเรียนรู้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง’ ให้เด็กเข้าใจการเรียนรู้จากนอกระบบด้วย เพื่อให้เด็กเยาวชนมีทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ถูกต้อง ทุกโรงเรียนต้องสอนเรื่องนี้ได้หมด
“วิถีใหม่คือการปลูกฝังเรื่องทำมาหากินแต่เด็ก เป็นเถ้าแก่อายุน้อย ขายของเป็น มีรายได้ สำคัญคือบูรณาการ ผมเคยเป็นประธานบูรณาการเครือข่ายภาค กระทรวงยุติธรรม เจอเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานจริงจำนวนมาก กทม. ต้องดึงมาร่วมงาน พวกเครือข่ายประชาสังคมและเอกชนที่อยากทำ CSR เขาพร้อมทำ แต่ต้องมีเจ้าภาพที่ดี รวมได้ วางเป้าหมายชัด แล้วถ้าเขาเห็นชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขายินดีช่วยอยู่แล้ว”
“อีกอย่างคือเราไม่ได้ใช้พลังชุมชนเลย อุตส่าห์มีเลือกตั้งกรรมการชุมชน แต่มันจะเข้มแข็งได้ยังไงถ้าเขามีงบประมาณไม่พอ กรรมการชุมชนไม่เกินสามร้อยครัวเรือนได้เดือนละ 5 พันบาท ปีละ 6 หมื่นบาท ตกหลังคาเรือนละ 2 ร้อยบาท ทั้งปี มันจะพัฒนายังไง ทำไมไม่เพิ่มงบตรงนี้ให้เขา ที่ผ่านมากรรมการชุมชนจะทำโครงการ ทำกิจกรรมแต่ละที ต้องสำรองจ่ายแทน จ่ายก่อนเบิกทีหลัง บางอย่างเบิกไม่ได้ ควักเนื้อ ทำไปทำมาเครือข่ายชุมชนหมดไฟ หมดแรง”
“ผมอยากชี้ให้เห็นว่าเราต้องแบ่งเป็นมิติ หนึ่งเรื่องวิถีเรียนรู้ใหม่ ทำให้เด็กมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ มีรายได้ ให้เขารู้ว่าทำอย่างนี้ดีกว่าเสี่ยงไปค้ายา มิติที่สองคือชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมพัฒนากรรมการชุมชน มีสวัสดิการ ร่วมบูรณาการกับภาคีเครือข่าย มิติที่สามคือทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการให้ประชาชนทั่วไปช่วยชี้ช่องยึดทรัพย์ รับรางวัลนำจับ 1-2% ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อตัดวงจรยาเสพติดที่ต้นตอ และให้ทุกคนมีส่วนร่วมขจัดปัญหายาเสพติดไปด้วยกัน”
การกระจายอำนาจที่ดีที่สุดคือการกระจายงบประมาณ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 กล่าวว่า ประการแรกผู้ว่าฯ กทม. สามารถดึงงบกลางมาใช้แก้ปัญหาได้ทันที ประการที่สอง กทม. ต้องตัดงบผูกพันมากมายจากการแปะโครงการก่อสร้างมูลค่าหลายล้านบาทซึ่งเป็นเบี้ยหัวแตก
“กทม. มีงบผูกพันปี 65 คือ 1 หมื่น 5 พันล้าน ปี 66 อีก 2 หมื่น 7 พันล้าน ผมคิดว่ากลไกนี้ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโควิด พอจะเอางบกลางมาใช้ก็ไม่สามารถทำได้”
“แล้วรัฐมีวิธีคิดที่ผลักภาระให้กับครอบครัว จะเห็นว่าการปิดโรงเรียนไม่ได้เป็นไปเพื่อเร่งฉีดวัคซีน หรือเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข แต่นี่คือปิดเพราะถ้าเด็กติดโควิด ก็ถือว่าอยู่นอกความรับผิดชอบของโรงเรียน ทั้งที่ถ้าว่ากันเรื่องความเสี่ยงจริง ๆ เด็กอยู่โรงเรียนมีครูดูแล กับอยู่ในชุมชน ง่ายมากที่จะมองว่าอย่างไหนเสี่ยงกว่ากัน แต่วิธีคิดของ กทม. คือจะผลักภาระอย่างเดียว ล็อคโรงเรียนไว้ นี่คือปัญหา”
“วันนี้ผมว่าประชาชนเข้าใจแล้วว่า ทำไมเราถึงต้องสร้างรัฐสวัสดิการให้ได้ เพราะเงิน Top Up ที่กระจายไปถึงคนเพิ่มขึ้น จะทำให้คนตัวเล็กทุเลาลง ตัวเบาขึ้นจากการแบกรับความกดดันในชีวิต ส่วนที่ภาคประชาสังคมไม่เคยทำงานได้เต็มที่ เป็นเพราะว่ารัฐไม่เคยกระจายอำนาจ ซึ่งการกระจายอำนาจที่ดีที่สุดคือกระจายงบประมาณ ผมจึงมีนโยบายจะกระจายงบที่กระจุกอยู่ตรงกลางทั้งหมด ดึงเงินออกมา 4 พันล้าน เอาไปลงที่ชุมชน ชุมชนละ 5 แสนถึง 1 ล้านบาท พื้นที่ที่ไม่ใช่ชุมชนอีก 2 พัน 4 ร้อยล้าน ใน 50 เขต ทีนี้พอภาคีเครือข่ายมีงบ มีความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชน เราก็สามารถผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และตรงโจทย์ความต้องการของประชาชนจริง ๆ”
คนรุ่นลูกต้องมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ด้วยการเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตนเอง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ดีที่สุดคือ ‘การศึกษา’ นิยามง่ายที่สุดคือคนรุ่นลูกต้องมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ด้วยการเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตนเอง เรามีตัวอย่างของเด็กที่เติบโตในพื้นที่ชุมชน 70 ไร่ คลองเตย แต่สามารถใช้การศึกษาพาตัวเองไปจนจบปริญญาเอก ได้งานในบริษัทปูนซีเมนต์ ยกระดับครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นี่คือผลของการศึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญให้คนหลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตัดวงจรความยากจนไม่ให้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น
“สำคัญคือทำให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานทัดเทียมกัน และจำเป็นต้องมุ่งทำศูนย์ก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อเริ่มพัฒนาเด็กตั้งแต่วัย 0-6 ปี เพราะถ้ารอถึง ป.1 ก็สายไปแล้ว พอถึงโรงเรียนระดับประถม ต้องมีโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน มีการสอน 3 ภาษา มีคอมพิวเตอร์แลป ต้องลดภาระครู คืนครูให้นักเรียน ช่วยเรื่องการขยับวิทยฐานะ เอาเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องการเรียนการสอน”
“ข้อเสนอหนึ่งคืออยากให้มีการเปิดโรงเรียนช่วงวันเสาร์อาทิตย์สำหรับในพื้นที่ชุมชน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้นอกเหนือจากวิชาปกติ จัดให้มีกิจกรรมดนตรี กีฬา สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีอินเทอร์เน็ตฟรีให้เด็กใช้ มีสาธารณูปโภคครบครัน ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนช่วยดูแลเด็ก ๆ ไปด้วยกัน พร้อมชักชวนครูอาสาในชุมชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือภาคเอกชนที่มีใจอยากร่วมพัฒนาหลักสูตรนอกเวลาให้กับเด็ก ๆ มาช่วยกัน สถานที่เช่นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ เนื่องจากเด็ก ๆ จะได้เจอกับคนที่มีความรู้ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นต้นแบบของอาชีพที่หลากหลาย แล้วอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล”
โครงการ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ พาน้องห่างไกลยาเสพติด
อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 พ่วงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน กล่าวว่า “เด็กจากชุมชนแออัดเหล่านี้เขาเหมือนม้าที่อยู่ในซอง ระยะสายตาจำกัด มองอะไรไม่เห็น ครอบครัวก็ไม่มีเงิน ผมจึงทำโครงการ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เอาเด็กหลังห้อง ผลการเรียนกลาง ๆ มาทำกิจกรรมรุ่นละ 20 คน เสาร์อาทิตย์พาไปเที่ยว เช่นไปทะเลบางแสน ซึ่งบางคนไม่เคยเห็นไม่เคยไปเลย พาไปสนามบินดอนเมือง ดูเครื่องบิน ผมทำอยู่ 15 สัปดาห์ เกือบ 4 เดือน สัปดาห์สุดท้ายเราบอกเขาว่าจะพาไปขึ้นเครื่องบิน เด็กดีใจกันใหญ่
“พอรุ่นสองเราพาไปเคปแลนด์ สิงคโปร์ รุ่นสามไปเมลเบิร์น 5 วัน รุ่นสุดท้ายไปดัลลัส เท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา 12 วัน ทั้งหมดไม่ใช้งบราชการเลย สิ่งที่เห็นคือพอเด็กกลับมาปั๊บ ทั้งหมด 80 คน 4 รุ่น ทุกคนเรียนต่อ ม.1 หมด ครอบครัวอบอุ่นขึ้น เพราะในกิจกรรมต่าง ๆ เราให้การศึกษาสอดแทรกเข้าไป สอนให้เขาห่างไกลยาเสพติด การพนัน คือเรื่องอย่างนี้ต้องค่อย ๆ แทรกไปในความสนุกสนาน ในการเรียนรู้ทักษะชีวิต แล้วเราเสริมสร้างบุคลิกภาพ สร้างลานกีฬา แนะนำให้เขาเล่นกีฬา มันก็ทำให้เขามีทางไปที่ดีในชีวิตได้”