Enrichment Program หลักสูตรเสริมไม่ ‘สำเร็จรูป’ ที่เข้ามาช่วย ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’
ให้อ่อนโยนจากข้างนอกแต่มั่นคงภายใน เมื่อไปสอนที่โรงเรียนปลายทาง

Enrichment Program หลักสูตรเสริมไม่ ‘สำเร็จรูป’ ที่เข้ามาช่วย ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’

V A S K หลักการด้านการศึกษาสมัยใหม่ที่มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ 4 ด้าน ประกอบไปด้วย คุณค่า V (Value) ทัศนคติ A (Attitude) ทักษะ  S (Skills) และความรู้  K (knowledge)

ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มองว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ขาดไปสำหรับสถานการณ์ครูไทยในปัจจุบันคือ K และ S โดยยังขาดทัศนคติ (A) และคุณค่า (V) ความเป็น ‘ครูที่แท้จริง’ 

ที่วิเคราะห์ได้แบบนั้นเพราะ อ.พิศมัย เป็นครูและอยู่ในแวดวงการศึกษามามากกว่า 20 ปี ก่อนจะผันตัวเข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“เราอยู่กับระบบการศึกษามานาน มองว่าหลักสูตรบริหารการศึกษาที่ใช้กัน เป็นหลักสูตรเดียวกับบริหารธุรกิจ มันไม่มีศาสตร์ความเป็นครูอยู่ในนั้น ทำให้ครูเป็นผู้บริหาร เน้นไปทางด้านเศรษฐศาสตร์ มองทรัพยากร ไม่ได้มองความเป็นมนุษย์ที่ครูพึงจะมอง”

เด็กนักเรียนระหว่างช่วงพักกลางวัน

ระบบการศึกษาที่ไม่ได้เน้นคุณค่าหรือทัศนคติของครู ย่อมส่งผลต่อระบบการศึกษาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่ครูต้องใช้ทั้งแรงใจและแรงกายมากกว่าปกติ 

อ.พิศมัยจึงถือโอกาสนี้เข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตครูที่ถูกใช้มายาวนาน ผ่านโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยการตั้งกระบวนผลิตครูใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกหานักเรียนที่อยากเป็นครูจริงๆ ผ่านกระบวนการติดตั้งความรู้และทักษะที่จำเป็น เพื่อปลายทางเขาจะได้กลับไปเป็นครูที่เหมาะสมตามบริบทโรงเรียนปลายทาง และเป็นครูที่พ่วงด้วย ‘นักพัฒนาชุมชน’ อีกตำแหน่ง ผ่านหลักสูตร Enrichment Program ที่ควบคู่ไปกับการเรียนหลักสูตรคุรุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ปกติ

แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นกับจำนวนครู 1,500 คนของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่อ.พิศมัยยืนยันว่า อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นและลงมือทำ

ปักหมุดหลักสูตร Enrichment Program ตัวช่วยของครูที่เข้าใจครู

หลักสูตร Enrichment Programโปรแกรมเสริมศักยภาพนักศึกษา ซึ่งอ.พิศมัยบอกชัดว่านี่คือความแตกต่างระหว่างครูรัก(ษ์)ถิ่น และครูหลักสูตรอื่นๆ 

“สิ่งที่ขาดหายไปและอีกหลายส่วนจากระบบผลิตครู เรามาเติมในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ผ่าน Enrichment Program มหา’ลัยที่อยู่กับเรานานๆ ทำ Enrichment Program จนกระทั่งเข้าใจว่า เออ มันได้ผล เราก็จะชวนเขามองร่วมกันต่อว่า Enrichment Program ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อมีงบถึงจะทำได้ อาจารย์ควรเอาสิ่งที่อยู่ในโปรแกรมไปใส่เพิ่มในหลักสูตร เพราะการเป็นหลักสูตรมันจะยั่งยืนกว่า อาจารย์จะเปลี่ยนไปกี่คน ถ้าหลักสูตรยังอยู่ ยังมีรายวิชาแบบนี้อยู่ อาจารย์ก็ต้องสอน”

หลักสูตร Enrichment Program หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาครูขาด A (Attitude) ทัศนคติ และ S (Skills) ทักษะ โดยเน้นพัฒนาทักษะชีวิต และพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับพื้นที่ ชุมชน และโรงเรียนปลายทางแต่ละแห่ง 

“เน้นสอนเจตคติแห่งความเป็นครูเยอะ รวมถึงเป็นวิชาที่สอนในเชิงความเป็นมนุษย์ โปรแกรมจะมีทั้งระดับหลักสูตรและหอพัก หอพักไม่ใช่แค่พื้นที่การนอนหลับพักผ่อน แต่เป็นหอพักแห่งการเรียนรู้ เช่น เด็กจะมีสุขภาวะยังไง ทำอาหารกลางวันเป็นไหม มีส่วนร่วมการเป็นผู้นำ การอยู่ร่วมกับคนอื่น ผ่านกิจกรรมหอพัก”

คุณครูกำลังดูแลเด็กและทำหน้าที่แคชเชียร์ระหว่างช่วงพักเที่ยง

อ.พิศมัย ยกตัวอย่างทักษะที่เข้ามาเติมเต็มในหลักสูตร Enrichment Program เช่นการตัดผม โดยอธิบายว่าราคาค่าตัดผมหลักสิบหลักร้อย สำหรับผู้ปกครองบางครอบครัวอาจจะเป็นรายจ่ายสิ้นเปลือง หรือไม่มีแม้แต่เวลาจะพาเด็กไปตัด ดังนั้นครูจึงต้องมีทักษะนี้ติดตัว หรือแม้แต่การซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ในโรงเรียนได้ เป็นต้น

“ถ้าเป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นราบเยอะๆ อย่างภาคเหนือ อีสาน หรือกลาง Enrichment Program ตัวที่โดดเด่นจะเป็นทักษะอาชีพเกษตรกรรม สอนให้เด็กรู้จักการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวดินเค็ม ทำอาหารจากวัตถุดิบที่มี ส่วนภาคใต้ Enrichment Program ที่ต้องเติม คือ ต้องว่ายน้ำเป็น อาชีพที่มาจากประมง แปรรูปปลาทะเลให้ได้”

เป้าหมายสำคัญคือครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องไม่ใช่ครูในหลักสูตรสำเร็จรูป ดังนั้นแล้วมหาวิทยาลัยในเครือข่ายผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงต้องสร้าง  Enrichment Program เฉพาะแต่ละที่ออกมา โดยที่มาของหลักสูตร Enrichment Program แต่ละมหาวิทยาลัย ล้วนมาจากปัญหาของโรงเรียนปลายทางที่ถูกขมวดเป็นหลักสูตรกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ที่คณะอาจารย์ ต้องลงพื้นที่สำรวจ และพัฒนาการเรียนรู้เพื่อต่อยอดให้กับนักศึกษามากที่สุด

หนักเบาเราซ่อมได้ ครูจากมรภ.หมู่บ้านจอมบึงที่พร้อมซ่วยซ่อมทุกอย่างของโรงเรียน

ครูรัก(ษ์)ถิ่นที่จบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงต้องมีความอดทน อาจารย์น้อย นิตยา เรืองมาก ครูพี่เลี้ยง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ แห่งมรภ.หมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี บอกเหตุผลว่าเพราะด้วยสภาพพื้นที่ของโรงเรียนปลายทางแถวจังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่มี บางโรงเรียนต้องใช้เครื่องสํารองไฟ ใช้โซล่าเซลล์ ทำให้ครูต้องเป็นทุกอย่างของโรงเรียน 

“หลักสูตรที่มรภ.หมู่บ้านจอมบึง เน้นเรื่องทักษะอาชีพ เรามีบ้านไร่รัก(ษ์)ถิ่น แนวคิดเดิมมาจากอาจารย์ที่เกษียณไปแล้วเนื่องจากอาจารย์มีประสบการณ์ในการพัฒนาครูชายแดน ที่เป็นการเรียนรู้จากครูตชด.ที่ไม่มีวุฒิครู เราก็ใช้ข้อมูลตรงนี้มาปรับใช้และออกแบบหลักสูตร Enrichment Program ของเรา” 

อ.น้อยเพิ่มเติมว่า ที่นี่สอนเพิ่มด้านการเกษตรและพวกอาชีพต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างไฟ ช่างเหล็ก แนวคิดมาจากการลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนปลายทางแต่ละที่พบว่า หลายๆ โรงเรียนไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร เพราะฉะนั้นในฐานะที่ครูจะลงไปบรรจุหรืออยู่ที่โรงเรียนนั้นๆ ถ้าสมมติโรงเรียนเกิดพัดลมเสีย สวิตช์ไฟเสีย หลอดไฟเสีย นักศึกษาต้องทําเหล่านี้ได้ หรือแม้แต่เกิดเก้าอี้พัง ขาหัก นักศึกษาต้องซ่อมเป็น 

เด็กระดับชั้นอนุบาลกำลังยกมือตอบคำถามกับคุณครู

แนวคิดหลักสูตร Enrichment Program ของมรภ.หมู่บ้านจอมบึง จึงประกอบไปด้วย 5 ด้าน คือ 1.พัฒนาชุมชน 2.วิจัย 3.ทักษะวิชาการ  4.ประสบการณ์จากโรงเรียนปลายทาง 5.ทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ 

ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่าเป้าหมายของ Enrichment Program คือครูต้องเป็นได้ตั้งแต่ ผู้อำนวยการยันภารโรง ถ้าน้ำไม่ไหลไฟดับ ครูจะต้องมีวิชาชีพพื้นฐานที่สามารถซ่อมได้ 

และไม่ใช่แค่ซ่อมเป็น แต่ยังต้องเพิ่มเติมความไฮเทคเข้าไปด้วย 

“ไฮเทคคือมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี เด็กของเราไม่มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น facility ต่างๆ เราก็พยายามเอาเครื่องมือต่างๆ เข้ามา เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เพื่อวันหนึ่งเขาไปบรรจุที่ชายขอบ แม้ไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเลย เขาต้องอยู่ได้ หรือถ้ามี เขาจะไม่งงเป็นไก่ตาแตก”

ด้านวิชาการ จากเดิมที่วางไว้ว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นจะสอนปฐมวัยเป็นหลัก แต่หลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลต้องสอนชั้นอนุบาลควบประถมเพราะมีครูไม่ครบชั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการติดตามการฝึกสอนจริงที่โรงเรียนปลายทาง 

“พอไปปุ๊บเด็กเกิดความเครียดที่ลงไปสอนเด็กโต เราก็เพิ่มหลักสูตรประถมศึกษาควบคู่กับปฐมวัย”

มรภ.เชียงใหม่ สร้างเด็กให้เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แค่เติมน้ำก็พร้อมทาน

“สร้างครูให้ตรงจุด จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว” สำหรับโรงเรียนปลายทางทางภาคเหนือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพย์เกสร กำปนาท ผู้ประสานงานและดำเนินโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สรุปสั้นๆ ถึงหลักสูตร Enrichment Program ของมรภ.เชียงใหม่ว่า “ที่นี่สร้างครูให้เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เติมน้ำร้อนก็พร้อมทาน” 

ที่ต้องเป็นแบบนั้น เพราะปัญหาหลักๆ ของโรงเรียนปลายทางของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นมรภ.เชียงใหม่ คือระยะทางของแต่ละโรงเรียนที่ไกลจากตัวเมือง และส่วนใหญ่อยู่ตามชุมชนบนดอย ที่ต้องใช้เวลาเดินทางนานแม้ว่าจำนวนกิโลเมตรจะมีแค่หลักสิบ

“ปัญหาสภาพพื้นที่ของเด็กครูรัก(ษ์)ถิ่นที่นี่คือระยะทางการเดินทางที่ไกล แม้จะแค่ 5 กม. แต่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางนาน บางพื้นที่ใช้เวลาเป็นวัน อีกอย่างคือเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่ปัญหาหลักเท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือการเดินทางที่ไกล คดเคี้ยว และลำบากไม่นับช่วงฤดูฝนที่เดินทางยากๆ”

ที่มรภ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นกว่า 155 คน ซึ่งคณะอาจารย์ที่ดูแลโครงการฯ ล้วนต้องลงพื้นที่ดูสภาพโรงเรียนปลายทางจริงๆ มาแล้วทั้งสิ้น เพื่อมาปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตร Enrichment Program เพิ่มเติมให้นักศึกษา

“จากการลงพื้นที่เราเห็นแล้วว่าครูควรเน้นปรับให้สอดคล้อง เรียกว่าเป็นการบูรณาการคือไม่ได้แบ่งศาสตร์ แต่จะเน้นวิชาการ วิชาครู วิชาคน วิชาการคือตัววิชาการต่างๆ วิชาครูก็คือวิชาชีพครูทั้งหลาย เรื่องของการสอนเรื่องศาสตร์เฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ต่างๆ ของครู ส่วนวิชาคนคือทั้งเรื่องของจิต เรื่องของกาย เรื่องของการปรับตัว เรื่องของการอยู่ในสังคม การมีจิตอาสา สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวิชาคน”

ป้ายแสดงรายการอาหารกลางวัน

หลักสูตร Enrichment Program ที่มรภ.เชียงใหม่ จะถูกจัดไม่ให้กระทบกับการเรียนหลักสูตรปกติ โดยจะใช้เวลาว่างช่วงวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดของนักศึกษา 

“ลักษณะของกิจกรรมมีหลากหลายทั้งให้ปฏิบัติ และอบรม แต่ลักษณะการจัดอบรมก็เป็นเชิงปฏิบัติการ เช่นเรื่องของวิจัยชุมชน รวมถึงมีการร่วมมือกับหน่วยงานข้างนอกเข้ามาอบรมแก่นักศึกษา มีการเรียนตัดผม ในคอร์สตัดผมก็ต่อยอดความรู้โดยการให้นักศึกษาออกไปตัดผมที่บ้านพักคนชรา เพราะถ้านักศึกษาไปเป็นครูเขาก็จะมีความรู้ไปตัดผมให้นักเรียน”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหอพักชื่อว่า ‘หลักสูตรเกษตรครูน้อย’ โดยตอนเย็นนักศึกษาจะไปปฏิบัติกิจกรรมการเกษตร มีทั้งเรื่องการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ การเพาะเห็ด เป็นการจัดสรรพื้นที่ในสวนเกษตรที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้เมื่อลงไปประจำการในโรงเรียนปลายทาง

“เพราะว่าโรงเรียนปลายทางบางแห่งจะมีปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวัน ครูก็ต้องเรียนรู้ที่จะบูรณาการสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาโรงเรียน” 

อ.ทิพย์เกสร เพิ่มเติมว่าคนที่จะไปเป็นครูจริงๆ ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

“เราพยายามปลูกฝังเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครู และการเป็นครูของชุมชน ซึ่งมันเป็นมิติที่ทับซ้อนว่าการที่เราจะอดทนต่อเด็กสักคนหนึ่งหรือการไปทำงานรับใช้สังคมต้องมีความศรัทธาก่อน ดังนั้นจึงต้องปลูกฝังผ่านกระบวนการต่างๆ ผ่านกิจกรรมอย่างหนัก”

เด็กนักเรียนกำลังเล่นของเล่น ซึ่งเป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่ง

ถ้าถามถึงจุดแข็งของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นของ มรภ.เชียงใหม่ อ.ทิพย์เกสรไม่สามารถตอบเป็นข้อๆ ได้ สรุปเพียงใจความสำคัญได้ว่าคือนักศึกษาสามารถเรียนรู้งานที่รองรับการเป็นครูที่โรงเรียนปลายทางได้เต็มประสิทธิภาพ

“เราไม่ได้เน้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ศิลปะวัฒนธรรมเราก็สอน ฟ้อนรําเราก็ทํา อาหารเราก็สอน เกษตรเราก็ทํา ทุกอย่างถูกเชื่อมโยงบูรณาการกัน ฉะนั้นคําว่าจุดแข็ง เราแทบจะไม่สามารถบอกได้ชัดว่ามันคืออะไร แต่เด็กทุกคนต้องมีทักษะทางวิชาการวิชาชีพครู กับทักษะของความเป็นคนที่จะอยู่ในสังคมแล้วนำไปพัฒนาชุมชน โจทย์ที่เราตั้งไว้คือขอให้เขาจบไปแล้วเป็นเหมือนบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปนั่นคือไปอยู่ที่ไหน เติมน้ําร้อนแล้วก็ใช้ได้เลย ไม่ว่าจะฝนตกแดดออกอยู่บริบทพื้นที่ไหนก็ทํางานได้”

นักจัดการเรียนรู้ในบริบทโรงเรียนห่างไกล และครูนักพัฒนาบนปรัชญาของเศรษฐกิพอเพียง คือการสร้างครูให้ตอบโจทย์ตามแบบครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“หลักสูตร Enrichment Program ของกลุ่มครูรัก(ษ์)ถิ่น ภาคอีสาน แต่ละสถาบันจะมีความแตกต่างกันตามอัตลักษณ์ของแต่ละที่ แต่จุดที่มีร่วมกันคือการออกแบบกิจกรรมที่อยู่บนฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรม พื้นที่ของโรงเรียนปลายทาง ที่ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานทักษะเกษตรกรรม และมีความต้องการพัฒนาผู้เรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก”

ผศ.ดร.อนุชา พิมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้รับผิดชอบโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวถึงหลักสูตร Enrichment Program โดยรวมของภาคอีสาน สำหรับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่ อ.อนุชาดูแลเป็นหลักนั้นครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องมี 2 อย่างหลักๆ ด้วยกัน คือ ครูนักจัดการเรียนรู้ในบริบทโรงเรียนห่างไกล และครูนักพัฒนาบนปรัชญาเศรษฐกิพอเพียง

“เราออกแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะสำคัญ 2 อย่างคือ 1.สมรรถนะครูนักจัดการเรียนรู้ในบริบทโรงเรียนห่างไกล ซึ่งจะเน้นเรื่องการพัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของครูที่สามารถไปปฏิบัติงานในโรงเรียนขนาดเล็ก”

คุณสมบัติจำพวกการสอนคละชั้น คละระดับ สอนแบบเรียนรวม มีทักษะงานช่างพื้นฐาน ทั้งช่างไฟ ช่างประปา งานครู 4 ฝ่าย คือด้านการสอนวิชาการ งานด้านบริหาร งานด้านการจัดการบุคคล และงานบริหารทั่วไป จำเป็นต้องมี อ.อนุชาเพิ่มเติมว่าสิ่งเหล่านี้เตรียมพร้อมเพื่อให้นักศึกษาพร้อมจะเป็นครูที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่ต้องเจอในอนาคต 

“สมรรถนะที่เพิ่มเติมไปอีกข้อคือครูนักพัฒนาบนปรัชญาของเศรษฐกิพอเพียง ที่เน้นให้เขารู้ เข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะชุมชนและโรงเรียนของเขาส่วนใหญ่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และทำการเกษตร เราจึงเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้านทักษะเกษตรที่สอดคล้องกับพื้นที่เข้าไปด้วย ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในโรงเรียนหรือชุมชน” 

ครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีการเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติจริง เรียนรู้และแก้ปัญหาจริง เพราะปัญหาเชิงพื้นที่ส่วนใหญ่พบว่ามีระบบนิเวศการเรียนรู้ไม่เอื้ออำนวย โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ครูขาดแคลนและย้ายบ่อย งบประมาณไม่เพียงพอ หรือแม้แต่ปัญหาผู้เรียนที่มีความขาดแคลน ทั้งด้านครอบครัวที่แหว่งกลาง (พ่อแม่ไปทำงานในเมือง ให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย) แตกแยก ฐานะยากจน และเมื่อผู้เรียนมีความขาดแคลน การเรียนรู้ของเขาก็ยากขึ้นตามไปด้วย
“การพัฒนาครูจึงต้องตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาทั้งสองข้อ” อ.อนุชาทิ้งท้าย