แนวทางและมาตรการเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

แนวทางและมาตรการเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

“เส้นทางการศึกษาต้องไม่ยากลำบาก” บทสรุปสำคัญจากเสียงของเยาวชน ในเวที “Social Innovation Hackathon: ระดมความคิด ประชันไอเดีย สานฝันให้น้องสู่รั้วอุดมศึกษา” จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. และคณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ทุกเสียงของเยาวชนมีความหมาย ร่วมออกแบบมาตรการและข้อเสนอเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อสร้างโลกที่เสมอภาคสำหรับทุกคน

ข้อเสนอที่เยาวชนช่วยกันระดมสมองออกแบบ

ความช่วยเหลือในระดับมัธยมศึกษา

1. ข้อมูลด้านการศึกษาและการแนะแนว

– โรงเรียนควรจัดให้มีครูแนะแนวตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาหรือมัธมยมศึกษาตอนต้นเพื่อให้มองเห็นเส้นทางการวางแผนการเรียนในอนาคตได้อย่างสอดคล้องกับความถนัดและความสนใจ
– โรงเรียนควรจัดให้มีครูแนะแนวที่เพียงพอในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในการวางแผนเส้นทางการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้อย่างชัดเจน
– สถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนในการแนะแนวให้กับนักเรียนในโรงเรียนอย่างทั่วถึงโดยควรแนะแนวให้ข้อมูลทั้งด้านหลักสูตร แผนการเรียน ค่าใช้จ่ายในการเรียน การดำรงชีวิต และสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็น และการหารายได้เสริมระหว่างเรียน
– ควรมีเครื่องมือหรือช่องทางการแนะแนวเสริมผ่านระบบออนไลน์ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเอง เช่น ของเอกชนที่นอกเหนือจากการแนะแนวผ่านระบบของสถานศึกษา
– คุณภาพครูแนะแนว ครูที่ปรึกษาม.ปลายควรมีการผ่านอบรมหรือหลักสูตรในการแนะแนว ควรมีข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่รอบด้านเกี่ยวกับช่องทางระบบการศึกษาต่อและการเลือกอาชีพที่หลากหลายทันความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน

2. หลักสูตรและรูปแบบการเรียน

– ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายควรมีหลักสูตรที่หลากหลายสอดคล้องและเพียงพอกับความสนใจของนักเรียน
– รูปแบบการเรียนควรมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักเรียนที่บางคนต้องทำงานหรือดูแลครอบครัวไปด้วย การเรียนควรเน้นกิจกรรมที่เน้นให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะและหารายได้เสริมระหว่างเรียนได้
– ควรเน้นการเรียนที่ให้นักเรียนได้เก็บหน่วยกิต หรือทำแฟ้มสะสมผลงานหรือ นำประสบการณ์ตรงมาใช้เทียบเคียงในการสำเร็จตามหลักสูตร
– ควรมีการติวเสริมพิเศษให้กับนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนได้เต็มเวลาเนื่องจากต้องทำงานหรือดูแลครอบครัว หรือนักเรียนที่หลุดจากระบบไปแล้ว หรือเรียนกศน. แต่ต้องการศึกษาต่อให้สามารถมีความรู้ที่เพียงพอในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้การติวเสริมอาจเป็นระบบออนไลน์ที่ให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองหรือมีโค้ช เช่น เพื่อนหรือรุ่นพี่ มากกว่าการสอนเสริมในระบบของโรงเรียนเนื่องจากนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อาจต้องใช้เวลาในการทำงานหารายได้เสริม
– เส้นทางการเรียนควรมีความเชื่อมโยงหลากหลายและสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้อย่างยืดหยุ่น เช่นสายสามัญ สายอาชีพ สกร. เป็นต้น
– ควรมีระบบข้อมูลที่วิเคราะห์ความสามารถของนักเรียนกับเส้นทางอาชีพในอนาคต
– มีรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่น เช่นการเรียนแบบเก็บหน่วยกิตให้ครบตามหลักสูตร มากกว่าการเรียนตามรายวิชาที่กำหนดซึ่งไม่ยืดหยุ่นกับความต้องการหรือความสนใจของนักเรียน 
– สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ง่าย

3. การสร้าง growth mindset

– สังคมควรนำเสนอเรื่องราวชีวิตที่สร้างแรงบัลดาลใจให้เด็กเห็นตัวแบบที่ดี เช่นหนัง หรือสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
– ครูควรสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่กล่าวโทษ ติเตียน หรือใช้ถ้อยคำที่ลดค่าในตัวนักเรียน แต่ใช้คำพูดเชิงบวกเสริมให้กำลังใจ คอยติดตามดูแลเอาใจใส่ เป็นที่พึ่งพูดคุยแบบเป็นกันเองกับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนอยากเข้าหามากกว่าการคอยตามให้ส่งงานเพียงอย่างเดียว ให้ข้อเสนอแนะกับนักเรียนเพื่อการพัฒนาให้เติบโตได้อย่างมั่นใจ
– โรงเรียนควรสร้างวัฒนธรรมและพื้นที่การเรียนรู้การเรียนรู้ที่ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ไม่ต้องกลัวการถูกตำหนิ สร้างความเชื่อร่วมกันในการให้เด็กทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เพิกเฉยเมื่อมีกรณีนักเรียนถูก Bully ในโรงเรียน
– โรงเรียนควรจัดกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจได้จริงเพื่อให้นักเรียนที่ประพฤติตัวดี ดูแลครอบครัว รับผิดชอบพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลืองานโรงเรียน เป็นต้น ไม่ใช่แค่เรียนเก่งหรือแข่งขันได้รางวัลเท่านั้น โดยอาจให้สมาคมศิษย์เก่า หรือสภานักเรียนจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจจากศิษย์เก่าที่เข้าถึงได้จริง

4. ระบบสวัสดิการ

– ควรมีสวัสดิการให้นักเรียนที่ครอบคลุมด้านการเดินทาง อาหาร วัสดุอุปกรณ์การเรียน อินเทอร์เน็ต การเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ อย่างเพียงพอและทั่วถึง และควรมีสวัสดิการที่พักให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกลได้เรียนมัธยมศึกษาได้ เช่นเป็นโรงเรียนพักนอน โดยควรเป็นสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์ได้โดยตรงของนักเรียน
– ควรมีช่องทางการหารายได้พิเศษระหว่างเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยอาจเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่กับสถานประกอบการเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถมีรายได้ระหว่างเรียนและสามารถฝึกทักษะอาชีพที่ช่วยให้นักเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ประสบการณ์และความรู้สู่การวางแผนการเรียนต่อในอนาคตได้
– ควรมีระบบสวัสดิการช่วยเหลือครอบครัวนักเรียนที่มีภาระพึ่งพิงโดยมีระบบเครือข่ายชุมชนหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาให้การช่วยเหลือดูแล เพื่อให้นักเรียนสามารถมาเรียนได้อย่างปกติ

ความช่วยเหลือในระดับมหาวิทยาลัย

1. ทุนและสวัสดิการที่ครอบคลุมและเพียงพอ

1.1 ทุนการศึกษา
– ควรมีที่นั่งสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ควรมีทุนหรือโควตาพิเศษให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เข้าเรียนในแผนการเรียนพิเศษตามความสามารถ
– ควรมีโควต้าการรับเข้าให้กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนในบางสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาเชิงพื้นที่
– ควรมีทุนการศึกษาต่อเนื่องมัธยม อาชีวะหรือกศน.ให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่เรียนต่อเนื่องถึงระดับอุดมศึกษาในสาขาที่กลับมาพัฒนาท้องถิ่น
– ควรมีทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่สอบติดแล้ว แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนนักศึกษาเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ค่าใช้จ่ายสูง
– สถานประกอบการหรือมหาวิทยาลัยควรให้ทุนการศึกษา หรือลดหย่อนค่าหน่วยกิตสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีพฤติกรรมดี เป็นเด็กกิจกรรมช่วยเหลืองานอาจารย์ สถาบัน หรือมีจิตอาสาช่วยสังคม

1.2 สวัสดิการช่วยเหลือพิเศษ
– ควรมีการจัดสวัสดิการให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือยากจนพิเศษในการเดินทางมาสอบ หรือการจัดที่พัก อาหารให้กับผู้ที่เดินทางมาสอบ
– ควรมีบัตรสวัสดิการนักศึกษาสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการเดินทาง อาหาร ที่พัก วัสดุอุปกรณ์การเรียนระหว่างเรียน อินเทอร์เน็ต
– ควรมีระบบติวเสริมความรู้สำหรับนักศึกษาที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยเพื่อให้สามารถเรียนได้อย่างประสบความสำเร็จตามหลักสูตร
– ควรมีศูนย์ให้คำปรึกษาพิเศษในการปรับตัวด้านการเรียนหรือการดำรงชีวิตหรือเมื่อเผชิญกับวิกฤติในชีวิต
– ควรมีการยกเว้นหรือลดค่าสมัครสอบในวิชาต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีสิทธิสอบ

2. หลักสูตรและรูปแบบการเรียน และการส่งเสริมรายได้ระหว่างเรียน

– ควรมีการให้คำแนะนำช่องทางการหารายได้พิเศษระหว่างเรียน
– ควรมีเครือข่ายกับสถานประกอบการหรือภาครัฐและเอกชนในการให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำงานฝึกประสบการณ์พร้อมมีรายได้พิเศษ
– ควรการันตีการมีงานทำหรือให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถมีงานทำทันทีหลังสำเร็จการศึกษา
– รูปแบบการเรียนควรมีความยืดหยุ่น เช่น เรียนแบบเก็บหน่วยกิตหรือเทียบโอนประสบการณ์ผ่านการทำกิจกรรมแล้วนำมาเทียบเป็นคะแนนหรือหน่วยกิตได้
– หลักสูตรและระบบการรับเข้าศึกษาต่อควรเชื่อมโยงกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่หลากหลายโดยสามารถรับนักเรียนจากทุกระบบการศึกษาทั้งสายสามัญ สกร.และอาชีวะ  
– หลักสูตรควรเชื่อมโยงกับผู้จ้างงานในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ Soft Skills and Hard Skills เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำในอนาคต
– การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเอื้อให้กับการเรียนทางไกล