“เราดึงแนวคิดของนักเรียนผ่านชุดคำถาม เพื่อต่อยอดสู่โครงงาน ไม่ใช่การยัดเยียดโครงงานให้เขา แต่เปิดโอกาสให้เขาคิดเองว่าเขาอยากทำอะไรต่อ”
ครูทิพย์- สุวรรณี ปล้องไหม่ คุณครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการเรียนการสอน ในเวทีเสวนา ‘ปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน’ มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 จังหวัดภูเก็ต โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล
สำหรับกิจกรรมตัวอย่างในวิชาวิทยาศาสตร์ของครูทิพย์คือ หัวข้อ ‘การสกัดสีจากธรรมชาติ’ โดยใช้ ‘ชุดคําถามที่ริเริ่มกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ของการจัดการเรียนรู้โครงงานเป็นฐาน’ มาเป็นเครื่องมือในห้องเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5
จุดประสงค์ของกิจกรรมคือต้องการดึงแนวคิดของนักเรียนผ่านชุดคำถาม และนำแนวคิดนั้นไปต่อยอดสู่โครงงาน กระตุ้นให้นักเรียนต้องการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเอง รู้จักสังเกต กล้าคิด กล้าตอบคำถาม พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักการทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น โดยครูวางบทบาทตัวเองเป็นเพียงโค้ช ที่คอยตั้งคำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิดและหาคำตอบด้วยตนเอง
ห้องเรียนฝึกสังเกต เรียนรู้จากการตั้งคำถาม ก้าวข้ามสู่โครงงาน
กระบวนการจัดการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ของครูทิพย์นั้น จะเริ่มต้นโดยแบ่งกลุ่มนักเรียน กลุ่มละ 4 คน และครูจะเปิดวิดีโอสื่อการเรียนรู้ให้นักเรียนดู จากนั้นให้นักเรียนช่วยกันสังเกต และเขียนสิ่งที่อยู่ในวิดีโออย่างน้อย 5 อย่างหลังจากดูจบ
วิดีโอจะเล่าเรื่องราวของผ้ามัดย้อมไทยที่ถูกนำไปใช้เป็นลายเสื้อของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ โดยมีจุดเริ่มต้นคือ ทีมดีไซน์เนอร์ของคิงพาวเวอร์เกิดความสนใจ ‘ผ้ามัดย้อมคีรีวง’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ลงพื้นที่ไปเรียนรู้กระบวนการผลิตและองค์ประกอบต่างๆ ในการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ แล้วนำมาออกแบบเป็นลายเสื้อของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้
หลังจากนักเรียนเขียนเสร็จก็จะนำมาติดบนกระดาน เป็นคำต่างๆ เช่น ใบหูกวาง ใบมังคุด สะตอ หมู่บ้านคีรีวง นักฟุตบอล เป็นต้น จากนั้นครูจึงโยนคำถามโดยเชื่อมโยงจากคำที่นักเรียนเขียน
ตัวอย่างคำถาม
– ผ้ามัดย้อมทํามาจากอะไร
– ลักษณะเด่นของผ้ามัดย้อมคืออะไร
– พืชชนิดไหนบ้างที่ให้สีธรรมชาติ
– นักฟุตบอลเกี่ยวข้องกับผ้ามัดย้อมอย่างไร
เมื่อนักเรียนตอบและเชื่อมโยงได้ กิจกรรมถัดไปคือครูจะให้นักเรียนสังเกตจากภาพและตั้งประเด็นคำถามที่สนใจ กลุ่มละ 1 คำถาม โดยนักเรียนก็จะตั้งคำถามต่างๆ เช่น “ทำไมใบไม้ถึงออกมาเป็นสีได้” “เขามีวิธีอย่างไรถึงออกมาเป็นสีธรรมชาติได้” เป็นต้น
ครูจะเตรียมพืชต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอไว้หน้าชั้นเรียน เช่น ใบหูกวาง ขมิ้นชัน ดอกอัญชัน เป็นต้น แล้วให้นักเรียนแต่กลุ่มลองออกมาเลือกพืชที่คิดว่าน่าจะทำให้เกิดสีน้ำเงินและสีเหลือง นำไปแปะบนกระดาษ พร้อมเขียนเหตุผลว่าทำไมถึงคิดว่าพืชชนิดนี้น่าจะให้สีน้ำเงิน และสีเหลือง จากนั้นให้ออกมานำเสนอหน้าห้องเรียน ซึ่งผลลัพธ์คือ บางกลุ่มใช้วิธีสังเกตลักษณะภายนอกของพืช ฟังจากวิดีโอที่เปิดก่อนหน้า หรือบางกลุ่มก็ใช้วิธีขยี้พืชลงบนกระดาษเพื่อให้ออกสี
หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การออกแบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยครูจะให้นักเรียนออกแบบการทดลองการสกัดสีธรรมชาติจากพืชด้วยตนเอง ว่าสิ่งที่นักเรียนคาดการณ์เป็นไปตามสมมติฐานหรือไม่ พร้อมเขียนผลการทดสอบ โดยครูจะเตรียมพืชชนิดต่างๆ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ให้ เช่น บีกเกอร์ ตะเกียงแอลกอฮอล์ แท่งแก้วคนสาร เทอร์โมมิเตอร์ กรวยแก้ว และแว่นขยาย เป็นต้น ซึ่งนักเรียนพิจารณาเองว่าจะเลือกใช้อุปกรณ์ชิ้นไหนไปออกแบบการทดลองบ้าง จากนั้นจึงให้แต่กลุ่มออกมานำเสนอการออกแบบการทดลองนั้นให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งหลังจากนำเสนอก็จะให้เพื่อนๆ ลองเสนอวิธีอื่นๆ เพื่อให้ผู้นำเสนอลองนำไปปรับใช้กับการทดลองของตนเอง รวมถึงนำไปพัฒนาเป็นโครงงานต่อไป
ผลลัพธ์จากชุดคำถาม พัฒนาสมรรถนะนักเรียน
จากการทำกิจกรรมในห้องเรียนตัวอย่างที่มีจุดประสงค์ในการดึงแนวคิดของนักเรียนผ่านชุดคำถามต่อยอดสู่โครงงาน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือ การกระตุ้นให้นักเรียนต้องการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเองนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคือ นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการตั้งคำถามของครู ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าปัญหาคืออะไร สิ่งที่ต้องหาเพิ่มเติมคืออะไร นำมาเสริมกับสิ่งที่ตนเองออกแบบไว้ เพื่อนำไปทดลองจริง
นอกจากนี้นักเรียนยังรู้จักตั้งคำถามได้ด้วยตนเอง รู้จักระดมความคิดเพื่อหาคำตอบ โดยการตั้งสมมติฐานและทดลอง เช่น เมื่อนักเรียนต้องการรู้ว่าพืชชนิดไหน ให้สีธรรมชาติอะไร แต่ละคนก็จะหาคำตอบด้วยตนเองด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น การนำพืชมาขยี้กับกระดาษ นำไปต้ม หรือ สังเกตสีภายนอกของพืช เป็นต้น นับว่าเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำโครงงาน
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนคือ เนื่องจากเป็นการค่อยๆ กระตุ้นให้นักเรียนคิด ในหัวข้อที่แปลกใหม่และเรียนรู้เป็นครั้งแรก จึงจำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการค่อยๆ โยนคำถามให้นักเรียนหาคำตอบด้วยตนเอง
ในตอนท้ายของการจัดห้องเรียนตัวอย่างได้มีการเปิดโอกาสให้ครูท่านอื่นๆ มีส่วนร่วมในการเติมเต็มและแสดงความคิดเห็น ครูท่านหนึ่งบอกว่าบรรยากาศในชั้นเรียนไหลลื่นไปด้วยดี และกิจกรรมนี้ทำให้เด็กได้มีความรู้รอบตัวมากขึ้น รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งสิ่งที่ให้เด็กทำ ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ยังเห็นความตั้งใจของนักเรียนการทํากิจกรรมต่างๆ ได้ช่วยกันคิดร่วมกัน และทำให้เกิดสมรรถนะต่างๆ เช่น สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม และสมรรถนะการสื่อสาร เป็นต้น
พร้อมกันนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนลองตั้งสมมติฐานเพิ่มขึ้นจากการตั้งคำถามของครู เช่น หากใบไม้ไม่ได้เป็นสีแดง จะสามารถสกัดออกมาเป็นสีแดงได้หรือไม่ จะทำให้นักเรียนเกิดความสนใจและความสนุกในชั้นเรียนมากขึ้น รวมถึงอยากให้ลองนำประเด็นถกเถียงของเด็กระหว่างการจัดกิจกรรมมาพูดถึงด้วย
จุดเด่นของกิจกรรมนอกเหนือจากการตั้งคำถาม คือ ‘การบันทึกร่องรอยคำตอบของนักเรียนบนกระดาน’ ซึ่งการเก็บร่องรอยคําตอบของนักเรียนนั้นจะสมบูรณ์แบบมากขึ้น ก็ต่อเมื่อเราเห็นคําตอบของนักเรียนที่ปรากฏอยู่บนกระดาน ว่าแต่ละคนตอบเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงใช้คําถามนํา ให้นักเรียนขยายความหรือแสดงเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่เหมือนหรือต่างกันนั้น และควรปลูกฝังให้ใช้ประโยชน์ของกระดานในการบันทึกคําตอบของนักเรียน ตั้งแต่ต้น กลาง และสุดท้าย เพื่อที่จะใช้คําตอบนั้นในการเชื่อมโยงและสรุปองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรียนรู้ไป
“เวลาเราเรียนวิทยาศาสตร์ การออกแบบการทดสอบหรือการทดลอง ครูก็จะไกด์นักเรียนก่อน ถ้าเราให้เขาดีไซน์การทดลองเองโดยที่ไม่เคยทำก็อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราฝึกเขาบ่อยๆ พยายามปล่อยเขาให้ออกแบบการทดลองเอง ก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนได้ โดยหน้าที่ครูคือคอยตะล่อมหรือใช้คําถามเพื่อนําเขาไปสู่การออกแบบการทดลองที่ถูกต้อง” อาจารย์ภัสราภรณ์ สหะกิจ ผู้ดำเนินรายการกล่าวสรุป