กสศ. จับมือ คาเฟ่อเมซอน ซีเจมอร์ รร.อนันตรักษ์การบริบาล แนะแนวเส้นทางอาชีพเด็กเยาวชนนอกระบบ จ.ราชบุรี มุ่งเป้าลดเหลื่อมล้ำการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

กสศ. จับมือ คาเฟ่อเมซอน ซีเจมอร์ รร.อนันตรักษ์การบริบาล แนะแนวเส้นทางอาชีพเด็กเยาวชนนอกระบบ จ.ราชบุรี มุ่งเป้าลดเหลื่อมล้ำการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาในจังหวัดราชบุรี และภาคเอกชน ได้แก่ Café Amazon (คาเฟ่ อเมซอน), บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด (CJ MORE) และโรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล จัดกิจกรรม “เปิดเส้นทางสร้างโอกาสทางอาชีพและการศึกษา เพื่อเด็กและเยาวชนทางเลือก” ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1กิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Innovation Finance) เพื่อส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และแนะแนวเส้นทางการประกอบอาชีพให้กับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุนี ตามนโยบาย Thailand Zero Dropout

เด็กและเยาวชนกว่า 60 คน จากศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 ในจังหวัดราชบุรี ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้แนวทางอาชีพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และฝึกทักษะจริงร่วมกับผู้ประกอบการชั้นนำ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การมีอาชีพที่สร้างรายได้ระหว่างเรียน และยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต

นายกฤชฐา ดอนกระโทก รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าวว่า กิจกรรมเปิดเส้นทางสร้างโอกาสทางอาชีพและการศึกษา เพื่อเด็กและเยาวชนทางเลือก ถือเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการเข้ามามีบทบาทสนับสนุนด้านอาชีพให้แก่เยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการมอบทุนการศึกษา การสนับสนุนทางการเงินแก่สถานศึกษาและนักเรียน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมและฝึกงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

โดยกิจกรรมนี้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับมาเรียนรู้ ผ่านรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทชีวิตของแต่ละคน โดยการมีโอกาสในการประกอบอาชีพถือเป็นกลไกสำคัญในการดึงเด็กกลับคืนสู่ระบบ

รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สพฐ. มีแนวทางจัดการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนเสมอไป โดยครูสามารถนำการศึกษาไปหาเด็กถึงบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่มีภาระหรือข้อจำกัดในการมาเรียน ยังสามารถเข้าถึงการศึกษาและค้นพบศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถดูแลตนเองรวมถึงครอบครัวได้

“สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ให้ความสำคัญกับนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนให้มากที่สุด ที่ผ่านมาพบว่า นโยบายนี้ทำให้เด็กที่เคยหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วจากสาเหตุสถานะทางครอบครัวที่ไม่พร้อมเรียนต่อ กล้ากลับเข้ามาเรียนมากขึ้น เพราะเห็นว่ารุ่นพี่ที่หลุดไปจากระบบการศึกษาแล้วกลับมาเรียนในระบบนี้ ประสบความสำเร็จสามารถเรียนจบได้ และพบว่าการตัดสินใจกลับมาอยู่ในระบบการศึกษา คือการสร้างโอกาสที่จะปูทางไปสู่อาชีพในอนาคต”

นางสาวศิรี จงดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่าโจทย์ของกิจกรรมนี้ คือการจับมือกับภาคเอกชนเพื่อดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ด้วยการเพิ่มทักษะ เพิ่มความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเทียบโอนผลการเรียนจากโอกาสที่ได้เข้าไปฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงานกับเอกชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ยังสามารถก่อให้เกิดรายได้ ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ มีเงินสำหรับจุนเจือครอบครัว และเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาในอนาคต

“เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เอกชนหลายแห่งให้ความสำคัญกับการศึกษาและมองเห็นตรงกันว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ จึงร่วมสนับสนุนต้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องสนับสนุนทุน สนับสนุนกิจกรรมตามศักยภาพที่มี ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งในยุคที่ตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงสูง การสร้างความร่วมมือในเรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

“นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมออกแบบหลักสูตร ออกแบบการเรียนการสอน ปรับปรุงหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของผู้จ้างงาน รวมทั้งสนับสนุนด้านทรัพยากร อุปกรณ์การเรียนรู้ หรือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สถานศึกษาและนักเรียนที่ขาดแคลน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกงานภายในสถานที่จริงเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง หรือจัดอบรมพิเศษ สำหรับทักษะที่จำเป็นในงาน เช่น Digital Marketing, Soft Skills ทักษะทางสังคมและอารมณ์หรือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อีกด้วย โดย กสศ. เป็นหน่วยงานที่เหนี่ยวนำความร่วมมือและชี้เป้าเยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่เอกชนมีความสนใจหรือตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยเหลือ” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.กล่าว

อยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสริมในการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้น้อง ๆ เพื่อเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ผลิดอกออกผลในอนาคต

นายก่อพงศ์ เดชทวีประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่มีความผูกพันแล้วก็สนับสนุนชุมชนอยู่แล้ว จึงอยากพัฒนาด้านการศึกษาให้กับเยาวชนในชุมชนที่ตั้งใจหรือสนใจอยากจะศึกษาเพิ่มเติมในธุรกิจที่เราดำเนินการอยู่ และมีโอกาสมาร่วมงานกับซีเจ

“ธุรกิจจะต้องขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ พวกเขาเป็นแรงขับเคลื่อนให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเยาวชนในวันนี้ จะเติบโตไปในเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะฉะนั้นการส่งเสริมน้อง ๆ ให้มีศักยภาพ ให้สามารถทำงานได้ ให้รู้ว่าการศึกษาเป็นอย่างไร ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่เอกชนควรจะร่วมในการพัฒนา

“บริษัทของเราเชื่อมั่นว่า กสศ. เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาเยาวชนกลุ่มที่ขาดโอกาส ให้ได้เข้าถึงการศึกษาที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา บริษัทของเรามีความเชื่อมั่นว่าหากเยาวชนกลุ่มที่เป็นเป้าหมายการทำงานของ กสศ. มีการศึกษา จะสามารถลดปัญหาสังคมหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด ปัญหาครอบครัว หากรายได้ครอบครัวดีขึ้น สังคมโดยรวมก็จะดีขึ้น พอสังคมโดยรวมดีขึ้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

“อยากจะบอกทุกภาคส่วนนะครับว่าน้อง ๆ ในวันนี้ จะเป็นกำลังสำคัญให้กับทุก ๆ คนในอนาคตเพราะฉะนั้นการส่งเสริมน้อง ๆ สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราได้ตอบแทนมาก็จะเห็นผลในอนาคตเหมือนการปลูกต้นไม้เพาะพันธุ์เมล็ดนะครับ ก็อยากจะให้ทุกคนช่วยส่งเสริมในการเพาะพันธุ์เมล็ดน้อง ๆ เพื่อเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่แล้วก็ผลิดอกออกผลในอนาคตครับ” ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด กล่าว

เด็กกลุ่มเปราะบางมีศักยภาพ พวกเขาเหมือนนางฟ้าที่ปีกหัก พวกเขาจะเกิดปีกใหม่เมื่อเขารู้ว่าข้างหน้ามีโอกาสอะไรรออยู่

ดร.พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์ ผู้บริหารโรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล กล่าวว่า โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาลก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เปิดสอนหลักสูตรการดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และได้ขยายหลักสูตรให้ครอบคลุมเรื่องดูแลสุขภาพ ผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา คุณแม่วัยใส เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีทางเลือกในอาชีพ พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมงให้กับเยาวชนไปแล้วจำนวนมาก

“โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาลเป็น Social Enterprise หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม เป้าประสงค์คือต้องการทำงานกับกลุ่มน้อง ๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะเรามีอุดมการณ์ความเชื่อว่า ถ้าน้อง ๆ ได้รับการศึกษา น้องก็จะมีศักยภาพในการที่จะไปประกอบอาชีพได้ เรามุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพให้กับท้องถิ่น เพื่อที่น้อง ๆ เรียนจบ ก็จะทำงานได้ทันที เพราะอาชีพการดูแลผู้สูงอายุเป็นอาชีพที่กำลังขาดแคลนมาก หากเรียนจบแล้วการทำงานด้านนี้ ได้อย่างน้อยเดือนละ 15,000 บาท ถือเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ สามารถพาพวกเขาหลุดจากความยากจนได้เลยทันที

“ต้องขอขอบคุณทาง กสศ. ที่เชิญโรงเรียนของเรา มาแนะนำอาชีพใหม่ให้น้อง เพราะเด็กหลายคนมีศักยภาพในการทำงานแต่พวกเขาไม่รู้ว่ามีอาชีพอะไรที่กำลังรอศักยภาพจากพวกเขาอยู่ เด็กกลุ่มเปราะบางที่มีศักยภาพ พวกเขาเหมือนนางฟ้าที่ปีกหัก แต่ว่าพวกเขาจะเกิดปีกใหม่เมื่อเขารู้ว่าข้างหน้ามีโอกาสอะไรรออยู่

“เรียนด้วยกัน 5-6เดือน พ่อแม่บางคนก็บอกว่ามาเรียนที่นี่เสร็จทำไมลูกเปลี่ยนไปเยอะมาก เพราะจริง ๆ แล้วเด็กแต่ละคนมีของอยู่แล้วกับตัว แต่เรายังไม่ได้เอ็มพาวเวอร์เขา เราต้องเอ็มพาวเวอร์ ให้เขามีพลังในการเรียนรู้ พอเขาเติบโตทางความคิด ก็สบายใจได้เลย ประเทศชาตินี้ ไม่ต้องห่วง พวกเขาจะไปต่อได้ ถ้าเราจะฝากชีวิตไว้กับคนรุ่นต่อไป เราก็ต้องเชื่อใจพวกเขา” ดร.พรระวีกล่าว

การศึกษาอยู่รอบตัวเรา เราสามารถศึกษาได้ทุกรูปแบบ

นายอัชฌา ระตินัย ตัวแทนผู้ประกอบการบาริสต้า ร้าน CoolKaff และ Café Amazon ซึ่งมี Café Amazon เป็นสปอนเซอร์ด้านวัตถุดิบเล่าว่า อยากเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กับเด็ก ๆ ที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพราะตัวเองมีแรงจูงใจสำคัญ คือ เริ่มทำกาแฟจากเป็นคนที่ไม่มีความรู้เลย เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากคนที่ไม่เคยชงกาแฟเลย

“ชุดความรู้เรื่องต่างๆ ในการชงกาแฟเพื่อก้าวเข้ามาเป็นมืออาชีพ สามารถหาได้จากในสื่อโซเชียลจากรอบตัวเราได้ง่ายมาก ๆ ผมก็เลยรู้สึกว่าอยากจะเป็นหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ เพราะว่าการทำร้านกาแฟทุกวันนี้หรือการขายกาแฟเองไม่ได้ยากอย่างที่คิด การทำกาแฟให้ดีก็ไม่ยาก ซึ่งเหมาะกับการนำมาเป็นความรู้ มาส่งต่อให้เด็ก ๆ ติดตัว ไปเพื่อไปสร้างอาชีพได้

“ทุกวันนี้ แทบทุกอำเภอมีต้นกาแฟ มีสวนกาแฟ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เราสามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการจัดการได้ด้วยตัวเองได้ในส่วนนี้ เราสามารถพาเด็ก ๆ ไปดูได้ ถ้ามีโอกาสที่จะไปที่สวน แล้วแนะนำเขาว่ากาแฟไม่ได้ทำยากขนาดนั้น ทำง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย เพียงเราไปศึกษาแล้วก็เริ่มจากมีกาแฟก่อนเลยอันดับแรก มีกาแฟมีอุปกรณ์แค่บางอย่างเราจะทำง่าย ๆ ก็ได้ เริ่มจากการมีครกมาตำแทนเครื่องบดก็ได้ เริ่มจากเครื่องบดราคาถูกก็ได้ หรือเราจะเริ่มจากแบบไม่ต้องใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์เท่าที่เรามีก็ได้ครับ ซึ่งสามารถแนะนำได้หมดเลย

“นอกจากนี้ ด้านความเข้าใจในการทำกาแฟ เราอาจจะมองว่ากาแฟเป็นธุรกิจที่ดูไกลตัวของหลาย ๆ คนไปหน่อย แต่จริง ๆ แล้วอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ แค่เราอาจจะไม่เห็นจุดนั้น ผมก็จะเอาจุดนี้ มาเป็นจุดที่นำเสนอให้เด็กได้เห็นว่าจริงกาแฟมันทำง่ายมาก ๆ และช่วยทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่าการศึกษาอาจจะไม่จำเป็นต้องในห้องเรียนเสมอไป เราจะเป็นตัวอย่างให้น้องได้ว่าการศึกษาอยู่รอบตัวเรา เราสามารถศึกษาได้ทุกรูปแบบเพื่อให้เด็ก ๆ ได้นำไปต่อยอดกับชีวิตตัวเองได้” อัชฌากล่าว