ค้นหาจุดแข็งและศักยภาพของชุมชน สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

ค้นหาจุดแข็งและศักยภาพของชุมชน สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

นักเรียนยากจนพิเศษเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะหลังจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยการจะแก้ไขปัญหาไม่เพียงแต่การเข้าไปช่วยเหลือที่ตัวเด็ก แต่ยังรวมไปถึงการช่วยให้ผู้ปกครองมีทักษะอาชีพมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการค้นหาจุดแข็งของตัวเองและชุมชนเพื่อทำให้การพัฒนายั่งยืนและส่งให้เกิดการก้าวพ้นความจนข้ามช่วงอายุคนได้สำเร็จ   

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์​ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา  กสศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดดิสรัปชันส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ  ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง  โดยผลกระทบของเด็กนอกจากเรื่องการเรียนแล้วยังกระทบเรื่องสภาพจิตใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายไปเรียน ไม่มีหน้ากากอนามัย โรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง  ขณะที่ผลกระทบฝั่งของผู้ปกครอง จากการสำรวจพบว่า 60% รายได้ลดลง รวมทั้งมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแลมากขึ้น และจำนวนมากต้องออกจากงาน  การช่วยเหลือ กสศ. จึงได้เข้าไปช่วยเหลือทั้งนักเรียนและและผู้ปกครอง 

นอกจากนี้ ​ จากการสำรวจผลกระทบพบว่ากลุ่มผู้ปกครองเกือบ 70% จบการศึกษาต่ำกว่าระดับประถม ไม่มีประกันสังคม ในขณะที่กลุ่มซึ่งสามารถปรับตัวได้ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ได้ต้องกลับภูมิลำเนา ​ที่ผ่านมา กสศ.ได้เข้าไปช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้โดยเน้นไปที่การใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่งเสริมให้เขาเป็นผู้ประกอบการ เกิดการรวมกลุ่ม ทำให้เขามีรายได้ที่สูงขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้นจากหลักสูตร แต่เริ่มจากให้เขากลับไปสำรวจ ในหมู่บ้านว่ามีฐานทรัพยากรอะไร เขามีศักยภาพอะไร และค่อยพัฒนาส่งเสริมในสิ่งเหล่านั้นโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน 

“ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ต.หนองสนิท จ.สุรินทร์ ที่ทางอบต.ลงไปเก็บข้อมูล ดูต้นทุนในพื้นที่และยกระดับอาชีพ พบว่าการเกษตรที่ใช้สารเคมีเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เลยชวนเขามาทำเกษตรอินทรีย์  ผ่านไป 6 เดือนเขาสามารถขายในท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต  แม้ในช่วงโควิดได้รับผลกระทบก็ขยับไปทำดีลิเวอรี่เสริม ด้านหนึ่งก็ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเอง 1,800 บาท อีกด้านก็ช่วยเพิ่มรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน  ทั้งหมดไม่ได้ใช้หลักสูตรเป็นตัวตั้ง แต่เริ่มจากการดูทรัพยากรและความต้องการของพื้นที่” 

 

สร้างโมเดลการช่วยเหลือเด็กที่มีคุณภาพ
ด้วยฐานข้อมูลเด็กยากจนพิเศษทั่วประเทศ

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่หนองสนิท 100 คน เป็นเพ่อแม่ของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ 30 คน โดยการที่พ่อแม่เด็กมีรายสูงขึ้น ช่วยทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย จากเดิมที่ครอบครัวยากลำบากทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น  การช่วยเหลือจึงต้องช่วยทั้งสองด้านทั้งช่วยพ่อแม่ และช่วยเด็กๆ โดยขณะนี้ทางกสศ.กำลังจะพัฒนาโมเดลช่วยเหลือเด็กออกจากความยากจนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายต่อไป  เพื่อให้รัฐบาลสามารถลงทุนกลับประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งทางกสศ.มีฐานข้อมูลเด็กยากจนพิเศษอยู่ประมาณ 9 แสนคน แต่​กสศ. ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้ง 9 แสนคน จึงพยายามคิดโมเดลการช่วยเหลือให้รัฐบาลนำไปลงทุนช่วยเหลือได้ต่อเพราะกสศ.มีฐานข้อมูลชี้เป้ากลุ่มครัวเรือนที่ยากลำบากที่สุดในประเทศอยู่ที่ไหนบ้าง 

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์​ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา  กสศ.

“โครงการนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่สอง มีการอัพสกิล รีสกิล ​แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดแต่ที่ผ่านมาอาจเห็นแค่การเน้นไปที่การพัฒนาแรงงานในระบบ กสศ. จึงพยายามมาให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบที่ไม่ใช่เน้นหลักสูตรเป็นตัวตั้งต้น ​​แต่ให้ไปดูที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งมีการศึกษาไม่สูงมาก โดยไปดูว่าเขามีต้นทุนอะไร  เอาจุดแข็งเป็นตัวตั้ง ​และพัฒนาโดยใช้ฐานของชุมชนซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เริ่มจากหลักสูตรที่อบรมแล้วจบไป สิ่งที่ท้าทายคือทำให้หน่วยพัฒนาอาชีพ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและ​ออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพอีก ทั้งการพัฒนาทักษะอาชีพไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่ยังมีเรื่องการสื่อสาร การบริหารหนี้สินเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน ที่ต้องทำทั้งสามเรื่องไปพร้อมกันที่จะนำไปสู่การยกระดับความยากจนได้สำเร็จ” 

 

4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ช่วยแรงงานกลุ่มเปราะบางในครัวเรือนยากจนพิเศษ

ผอ.สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแรงงานกลุ่มเปราะบางในครัวเรือนยากจนพิเศษ คือ  1. การประเมินชุดทักษะปัจจุบัน  ของแรงงานกลุ่มเป้าหมาย ​ แล้วออกแบบระบบการยกระดับทักษะให้สูงขึ้น  หรือสร้างทักษะใหม่ ​ที่สอดคล้องกับโอกาสของงานในอนาคต 2. การออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับแรงงาน นำข้อมูลจากการวิเคราะห์ชุดทักษะปัจจุบันเพื่อมาออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับแรงงาน  โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมที่แรงงานนั้นมีความสามารถจะหางานได้ในอนาคตอันใกล้  

3. การจัดเงินอุดหนุนค่าครองชีพให้กับแรงงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะ  โดยพิจารณาจากเศรษฐานะและปัจจัยแวดล้อมอื่น  ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1) Universal Basic Income Supplement ซึ่งเป็นรายได้ฐานที่จะได้รับตามขนาดของครัวเรือนและระดับเศรษฐานะ  และ 2) Income Contingent Supplement ที่เป็นรายได้ส่วนเพิ่ม  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานที่ตกงานยอมเข้ามาพัฒนาทักษะ  และจะมีการจ่ายคืนในอนาคตเมื่อได้มีรายได้สูงขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว  โดยอาจจะให้แรงงานจ่ายเองทั้งหมด หรือให้นายจ้างที่รับแรงงานเข้าไปทำงานร่วมจ่ายด้วยก็ได้ 

และ 4. การพัฒนาธนาคารเครดิต (Credit Bank) เพื่อให้แรงงานมีบันทึกการสะสมทักษะ  และใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม  ให้คำแนะนำ  และจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมให้ทันท่วงที  ตรงกับความถนัดของแรงงานแต่ละคน (Individualized Skill Portfolio Development) เพื่อให้แรงงานมีทักษะเพียงพอกับการหางานหรือสร้างอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทในโลกของงานที่เปลี่ยนไปได้

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค