จาก ‘ผู้รับ’ สู่ ‘ผู้ให้’ : ถึงเวลาส่งมอบความรู้และความตั้งใจ เด็กๆ ชอบครูแบบไหน ครูรักษ์ถิ่นก็จะเป็นครูแบบนั้นให้พวกเขา

จาก ‘ผู้รับ’ สู่ ‘ผู้ให้’ : ถึงเวลาส่งมอบความรู้และความตั้งใจ เด็กๆ ชอบครูแบบไหน ครูรักษ์ถิ่นก็จะเป็นครูแบบนั้นให้พวกเขา

“ตั้งแต่ได้ทุนมา แม่สบายใจขึ้นมาก ในบรรดาพี่น้อง 4 คน คนที่เขาไม่ห่วงเลยคือหนู ทั้งๆ ที่หนูมีพี่ชายอีกคนที่อายุมากกว่า เป็นเสาหลักที่คอยทำงานส่งเสียให้หนูเรียน แต่เขาไม่มีโอกาสได้กลับมาเรียนแล้ว อนาคตเขาก็ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ”

ครอบครัวของ นุช–ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ เป็นกะเหรี่ยงที่มีอาชีพหลักเป็นการทำไร่บนภูเขา นุชเรียนจบมัธยมปลายมาได้เพราะพี่ชายช่วยส่งเสีย ความตั้งใจของนุชคือการได้เรียนต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย แต่หลังจบ ม.6 ความตั้งใจนั้นอาจไปไม่ถึง เพราะค่าใช้จ่ายของการเป็นนักศึกษาสูงสวนทางกับรายได้ของครอบครัวนุช ตอนนี้นุชเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ซึ่งถ้าไม่ได้ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น การเรียนมหาวิทยาลัยของนุชคงไม่เกิดขึ้นจริง

“ครูรัก(ษ์)ถิ่นซัปพอร์ตเราแทบทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพระหว่างที่โรงเรียนแต่ละวัน เรามีเงินเดือนค่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไม่ต้องลำบากเอาเงินเดือนตัวเองไปซื้อกับข้าวกินเอง แล้วก็มีเรียกพวกหนูไปอบรม ได้ทักษะ ได้ความรู้ ช่วยเหลือเราเสมอต้นเสมอปลาย”

นักศึกษาได้ทุนเรียนต่อ ครอบครัวก็ได้รับการแบ่งเบาภาระ แต่เงื่อนไขคือต้องบรรจุที่โรงเรียนปลายทางที่ใกล้บ้านเกิดของตัวเองอย่างน้อย 6 ปี ซึ่ง รร.ของนุชคือ โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ละแวกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กลางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อำเภอทองผาภูมิ บริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี

นุชเล่าว่าหลักสูตรที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนต้องเรียนมีทั้งหลักสูตรนักศึกษาครูจากมหาวิทยาลัย และ Enrichment Program หลักสูตรพิเศษสำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เน้นพัฒนาพวกเขาไปเป็นนักพัฒนาชุมชน 

“เปรียบเทียบกับเพื่อนในหลักสูตรปกติ สมมติพวกเขาทำงาน 4 ชิ้น แต่พวกหนูอาจจะมี 12 ชิ้น มันทวีคูณไปอีก ซึ่งมันเยอะกว่ามากๆ แต่ว่าทั้งหมดนี้มันให้ประโยชน์กับตัวพวกหนูเองทั้งหมด”

“วันที่สมัครทุน หนูยังไม่เข้าใจวิชาชีพความเป็นครู แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าการเป็นครูที่นี่ไม่ได้มีแค่การให้ความรู้ แต่มันรวมถึงการดูแลเด็กๆ ให้เหมือนเป็นคนในครอบครัว สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เหมือนกับอยู่บ้าน และที่สำคัญคือการเป็นคนที่จะเข้าใจคนในชุมชนที่สุด

ในวันที่นุชกำลังจะได้บรรจุที่โรงเรียนปลายทาง ผ่านการเรียนหลักสูตรที่เข้มข้น ถูกปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู รวมถึงประทับใจในการอยู่ร่วมกับชุมชน วันนี้นุชตอบคำถามอย่างมั่นใจได้แล้วว่า ‘ครูแบบไหนที่นุชอยากเป็น’

“เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก จดจำว่าครูคนนี้เคยสอนให้เขาทำตัวดี ไม่สร้างความเดือดร้อน เป็นครูที่สอนให้เขาโตไปแล้วเอาตัวรอดได้”

“ผมมีความใฝ่ฝันสูงสุดว่าอยากเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน” 

เส้นทางการเป็นครูคือความฝันของ ทัช–วรรณกร บวรวัชรเดชา มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะทัชเป็นเด็กที่ชอบการเรียน และได้คลุกคลีกับครูที่ปรึกษามาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้หลงใหลวิถีชีวิตของการเป็นครู และเคยลองสอนจริงมาก่อน

“เวลาอยู่บ้านผมชอบเกณฑ์เด็กมาสอน เหมือนเราเป็นครู เราก็สอนที่เพิงเล็กๆ หลังบ้าน สอนการบ้านของเด็ก พอการบ้านเขาเสร็จ เราก็จะสอนให้เขาอ่านออกเขียนได้ เด็ก ป.1-6 ก็จะมาเรียนวิชาคณิตศาสตร์กับเรา ก็เลยชอบการเป็นครูมาตั้งแต่ตอนนั้น”

ทัชและครอบครัวเป็นคนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านสมใจนึก ศูนย์อพยพพม่า ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยพ่อของทัชคือคนพม่าที่ทำงานพ่อบ้านในกรุงเทพฯ และแม่คือคนมอญที่เปิดร้านขายอาหารพม่าหน้าบ้าน

น่าเสียดายว่าความฝันของทัชไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่บ้าน เพราะรายได้ของครอบครัวมีไม่มากพอสำหรับการส่งเสียทัชเรียนต่อมหาวิทยาลัย และอยากให้เขาออกมาทำงานกับพ่อหลังเรียนจบ ม.6 แต่โชคดีที่ทัชคือคนที่ได้รับทุนจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก และทำให้ทัชได้เรียนครูอย่างที่ฝันจริงๆ

“ถ้าไม่ได้ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นตอนนั้น มีชอยส์ให้เลือกสองอย่าง หนึ่งไปหางานทำในโรงงานที่กรุงเทพฯ ด้วยกันกับพ่อ และอีกทางหนึ่งคือผมสอบติดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่คงไปเรียนไม่ได้อยู่ดีเพราะไม่มีเงิน แต่โชคดีที่เป็นช่วงที่โครงการนี้ประกาศผลพอดี เลยได้เรียนครู”

ทัชที่เติบโตมาเป็นลูกครึ่งชาติพันธุ์ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับโอกาสจากทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้กลายมาเป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กชาติพันธุ์คนอื่นๆ ได้เห็นว่า พวกเขาสามารถเติบโตไปเป็นคนแบบไหนได้บ้าง 

“มันส่งผลอย่างแรกเลย เค้าเป็นตัวอย่างที่ดีที่บอกว่าเด็กชาติพันธุ์ก็เป็นครูได้ เพราะนักเรียนเห็นว่าครูก็เหมือนเรานะ” เกศฤทัย คําษร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันเดย์ โรงเรียนปลายทางของทัช บอกข้อดีอันดับแรกของครูจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

กว่าจะมาเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกเขาต้องเป็นทั้งครูใน รร.พื้นที่ห่างไกล พร้อมกับเป็นนักพัฒนาชุมชนโดยรอบ แต่ภาระที่มากมายก็ไม่ได้ทำให้ความฝันของทัชจางลงแม้แต่น้อย มีแต่จะชัดเจนขึ้นและได้รับความรักอย่างท่วมท้นจากเด็กในโรงเรียน ตลอดเส้นทางการเป็นครูของทัชจึงตั้งใจไว้

“ครูที่เป็นตัวกลางเชื่อมความเข้าใจระหว่างเด็กชาติพันธุ์และคนอื่นๆ แต่ก่อนพวกเขาไม่ค่อยกล้าพูดกับใคร แต่กล้าพูดกับเรามากขึ้นเพราะเราพูดภาษาเขา เด็กที่พูดไทยไม่ได้หรือพูดไม่ชัด ขอพูดภาษาพม่าแทน เราก็จะบอกว่าได้ แล้วจะช่วยแปลให้ครูคนอื่นฟังว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร”

“ครูที่หาความรู้เก่ง ถ้าเราไม่เก่งตรงไหน เราสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเราเก่งตรงนั้นแล้วเราอยู่แค่ตรงนั้น มันก็จะเก่งแค่นั้น แต่ถ้าเราหาความรู้เก่ง เราพยายามหามันเพิ่มขึ้น เราก็จะเก่งไปอีก”“ครูที่เคยสอนหนูตอนอนุบาล เขาดูแลดีมาก เอาใจใส่เด็กทุกคนในห้อง จำได้ว่าเขาให้ออกมาเล่าเรื่องหน้าชั้นทุกวันเลย ถึงแม้ตอนนั้นจะมีเพื่อนคนหนึ่งที่พูดไม่ชัด เพื่อนทุกคนก็จะขำเวลาเขาแนะนำชื่อ แต่ครูจะบอกว่าไม่เป็นไรนะ แล้วเขาก็ให้ออกมาพูดทุกวันๆ เวลาอยู่กับเขาแล้วมันรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ทำให้หนูอยากเป็นแบบเขา”

นั่นทำให้ภาพอาชีพในฝันของ ขวัญ–ขวัญมณี พูลทวี ชัดมาตั้งแต่เด็กว่าเธออยากเป็นครูไม่ต่างกันกับทัช แต่การเรียนครูในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับขวัญ เพราะจำนวนค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วเป็นอุปสรรคใหญ่

เนื่องจากพ่อแม่ของขวัญแยกทางกันตั้งแต่เล็กๆ และคุณย่าเป็นคนเลี้ยงดูขวัญมาตั้งแต่เกิด รายได้หลักๆ จึงมาจากการช่วยคุณย่าขายขนมไทยในท้องตลาด และได้เงินช่วยเหลือจากคุณอา ทำให้มีพอใช้สำหรับการกินอยู่ และพอจ่ายค่าเทอมในโรงเรียน แต่ก็ไม่มากพอสำหรับค่าเทอมมหาวิทยาลัย

ความฝันของขวัญเกือบจะไม่เป็นจริง หากไม่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะชอยส์ที่ขวัญเลือกได้มีเพียงการกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งกังวลเรื่องต้องทำงานใช้หนี้หลังเรียนจบ หรือตัดใจแล้วกลับไปช่วยงานรับจ้างทำไร่กับที่บ้าน

ก่อนจะผ่านการคัดเลือกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจำนวนทุนมีจำกัด แต่คนที่สมัครมีจำนวนมาก เกณฑ์การคัดเลือกจึงมีความเข้มข้น นอกจากจะต้องเป็นคนในพื้นที่ห่างไกล ขาดโอกาส คือต้องเป็นคนที่มีทักษะและคุณสมบัติเพรียบพร้อมกับการเป็นครูนักพัฒนาชุมชนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีทั้งการคัดเลือกรอบสัมภาษณ์ และเข้าค่าย ก่อนจะเข้ารอบมาเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นตัวจริง

“ตอนเข้าค่ายคัดเลือก มีอาจารย์คนหนึ่งเดินมาบอกหนูว่า เขายังไม่เห็นหนูเลยนะ เหมือนหนูกลืนไปกับทุกคน เขายังไม่เห็นว่าหนูโดดเด่นและเห็นตัวตนของหนู”

“หนูเสียใจมาก แล้วก็คิดว่าทำไมหนูถึงไม่กล้า ไม่แสดงออกให้ใครเห็น ตอนนั้นหนูรู้สึกกลัว กลัวว่าถ้าพูดหรือทำออกไปจะผิด หรือมันจะไม่ตรงใจใครหลายๆ คน หนูก็เลยเลือกที่จะไม่แสดงออกไป แต่จากเหตุการณ์นี้หนูเลยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าถ้าหนูไม่ผิดเลย ถ้าหนูมัวแต่กลัว หนูก็จะอยู่แค่ตรงนี้ หนูก็เลยพยายามกดความกลัวนั้นเอาไว้ แล้วก็เริ่มที่จะกล้าพูด เริ่มแสดงออก ตอนที่หนูพูดอะไรไปแล้วทุกคนยอมรับ ก็ทำให้หนูมีกำลังใจที่จะพยายามกล้า แล้วก็ลดความกลัวของตัวเองลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ค่ายนั้นมา”

บทเรียนที่ขวัญได้มาจากการเข้าค่ายในวันนั้น กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการเป็นครูแบบที่ขวัญอยากเป็นในวันนี้ เพราะสำหรับเธอ ครูไม่ใช่แค่คนที่พร่ำสอนหรือคอยเตือน แต่คือคนที่สามารถเป็นต้นแบบให้เด็ก ซึ่งทำให้พวกเขาเห็นภาพและเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ครูพยายามจะสื่อสารได้มากกว่าสำหรับขวัญ

“ตอนนี้ที่หนูคิดว่าพอจะเป็นต้นแบบให้เด็กได้ คือเรื่องของการเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ทุกวันนี้มันอาจยังไม่ได้ดีมากพอ แต่ว่ามันก็ดีกว่าจุดนั้นเยอะขึ้นมากแล้ว”

ตั้งแต่ก่อนได้ทุน มาจนถึงวันนี้ที่ขวัญเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี และกำลังเตรียมบรรจุที่ โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน ขวัญพัฒนาตัวเองมาตลอด และไม่มีวันไหนที่จะหยุดเรียนรู้ นั่นกลายมาเป็นครูในอุดมคติอย่างที่ขวัญอยากเป็น

“ปกติชอบเป็นคนติวให้เพื่อนตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมต้น กลับบ้านไปก็สอนการบ้านให้หลาน พอพวกเขาเข้าใจ เราก็รู้สึกดี”

บ่อเกิดความรู้สึกดีจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ กลายมาเป็นเป้าหมายของ แคท–จิตสุภา สมบูรณ์ ในวันนี้ ที่กำลังจะกลายเป็นจริง นั่นคือการเป็น ‘ครู’ 

สิ่งที่กระตุ้นให้แคทได้ทบทวนตัวเอง คือการได้เห็น ‘ต้นแบบ’ จากครูสมัยมัธยมปลาย ซึ่งเป็นทั้งครูประจำชั้นและครูที่ปรึกษาของแคท เมื่อได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเสมือนลูกคนหนึ่ง คอยซัปพอร์ตการเติบโตทุกย่างก้าว รวมถึงความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นจากการได้สอนให้คนอื่นเข้าใจ ทำให้เป้าหมายของแคทยิ่งชัดขึ้นตอน ม.6

การเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสาขาครู เป็นเป้าหมายเดียวของแคทหลังเรียนจบมัธยมปลาย แรงจูงใจและความพยายามได้พาแคทผ่านการคัดเลือกเป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในรอบยื่นผลงาน แต่อุปสรรคเพียงอย่างเดียวของแคท คือ ต้นทุนในการสานต่อความฝันนี้

เนื่องจากครอบครัวของแคทไม่ได้มีฐานะที่มั่นคง รายได้จากการทำงานรับจ้างทั่วไปของพ่อแม่ไม่ได้มีมากพอสำหรับการจ่ายค่าเทอมมหาวิทยาลัย และพี่ทั้งสองคนของแคทที่เรียนถึงชั้น ม.6 ก็ไม่สามารถช่วยสนับสนุนได้มากนัก แคทซึ่งเป็นคนสุดท้องจึงเหลือเพียงทางออกเดียวนั่นคือ ยื่นขอทุนจาก กยศ. ซึ่งเธอคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาเงินมาคืนทุนหลังเรียนจบ โดยเฉพาะช่วงแรกที่เพิ่งเริ่มทำงาน

โชคดีที่แคทผ่านการคัดเลือกโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ได้เข้าเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามที่เล็งไว้ แต่ย้ายไปอยู่สาขาปฐมวัย โอกาสครั้งนี้ทำให้ปัญหาเรื่องเงินหายไปจากสมการ อีกทั้งแคทยังได้ทำอาชีพในฝันที่อยู่ใกล้บ้านตัวเอง

แต่เส้นทางการเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความท้าทายที่แคทต้องฝ่าฟันไม่ใช่แค่ตัวหลักสูตร ที่ต้องจบออกมาเป็นครูนักพัฒนาชุมชน แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับชุมชนใน โรงเรียนบ้านหัวนา ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ดาราอั้ง (หรือที่ชาวไทใหญ่เรียกกันว่าปะหล่อง) ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง แตกต่างจากชุมชนรอบบ้านของแคทซึ่งเป็นคนพื้นเมืองล้านนาที่พูดภาษาไทย

ดังนั้นปัญหาใหญ่ที่สุด คือ การสื่อสารคนละภาษา ซึ่งยิ่งท้าทายในการสอนระดับชั้นปฐมวัย ที่ต้องฝึกการอ่านและเขียนภาษาไทยตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากต้องปรับวิธีการสอนให้มีความสนุก น่าสนใจ แคทจึงต้องปรับมายเซ็ตในการสอน

“ตอนแรกเด็กแปลกใจ เพราะเป็นครูใหม่ ก็ให้ผู้ปกครองมาช่วยพัฒนาด้านภาษาด้วย ดึงชุมชนเข้ามา พยายามใช้การเล่นมากกว่าสอนแบบเครียด อย่างเช่นสอนภาษาไทยก็จะให้เด็กนั่งล้อม มีลูกบอลหนึ่งลูก ตั้งกฎว่าถ้าลูกบอลอยู่ที่ใครต้องแปลภาษาไทยให้ครูแคทพูด ครูพูดภาษาดาราอั้ง เด็กพูดไทย”

“หนูเป็นครูที่ไม่ได้เข้าใจภาษาเด็กเลย แล้วเด็กก็ไม่ได้เข้าใจภาษาไทย ดังนั้นครูต้องไม่ยัดเยียดให้เด็กอย่างเดียว แต่เราก็ต้องเรียนรู้ภาษาเขาด้วยเหมือนกัน

จากประสบการณ์ที่ลงพื้นที่โรงเรียนในช่วงสังเกตการณ์และฝึกสอน นั่นยิ่งทำให้ภาพครูในฝันของแคทในวันที่กำลังจะได้บรรจุชัดขึ้นว่า ครูในฝันที่แคทอยากเป็นคือแบบไหน

“หนูอยากเป็นครูที่ไม่ได้เป็นผู้ให้ความรู้เด็กฝ่ายเดียว แต่อยากให้เด็กเห็นว่าหนูเป็นนักเรียนของพวกเขาเหมือนกัน เหมือนแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างครูกับเด็ก” แคททิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม