“ถ้ามองเพียงภาพรวม โรงเรียนจำนวนมากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
จากการสำรวจและติดตามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลของ ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. บนเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือ All for Education – Education for All การกระจายทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อความเสมอภาคในงานธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน ครั้งที่ 1 ณ บ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และครั้งที่ 2 ณ โรงเรียนวัดศรีสุวรรณ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี จัดโดยกองทุนเพื่อความภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ALTV ไทยพีบีเอส และภาคีในพื้นที่ นำมาสู่ข้อค้นพบและข้อเสนอการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาดังนี้
ความยากจน มิติแรกความเหลื่อมล้ำ
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปีการศึกษา 2566 ในมิติด้านความยากจนภาพรวมประเทศไทย ตีความจากครัวเรือนมีรายได้รวมเฉลี่ย ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน พบว่าไทยมีเด็กยากจนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อ.1-ม.3) 1,222,998 คน คิดเป็น 14.51% จากนักเรียน อ.1-ม.3 ทั้งสิ้น 8,430733 คน
เจาะลึกไปที่จังหวัดเชียงราย โรงเรียนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดอยสูง ทุรกันดารห่างไกล ติดอันดับ 20 โดยมีนักเรียนยากจน 25,314 คน จากจำนวนนักเรียนภาคบังคับทั้งหมด 106,204 คน อยู่อันดับ 3 ของภาคเหนือรองจากจังหวัดเชียงใหม่และตาก ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีนักเรียนยากจน 9,654 คน จากจำนวนนักเรียน 162,360 คน คิดเป็น 5.95% หากมองระดับความยากจนภาพรวมในประเทศ สุราษฎร์ธานีอยู่ในระดับปานกลาง ติดอันดับ 8 จาก 14 จังหวัดภาคใต้
ลงลึกระดับอำเภอ ภาพรวมความหนาแน่นของนักเรียนยากจนคิดเป็น 13.01% สูงกว่าค่าความหนาแน่นระดับประเทศ โดย 5 อำเภอในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีจำนวนนักเรียนยากจนสูงที่สุดคือ อ.พระแสง 1,294 คน อ.กาญจนดิษฐ์ 847 คน อ.พุนพิน 733 คน อ.เวียงสระ 749 คน และ อ.เคียนซา 724 คน
ดร.อารี ชวนดูความน่าสนใจของข้อมูลนี้ หากมองข้อมูลเพียงภาพรวมอาจเห็นว่าสุราษฎร์ธานี ไม่ได้มีเด็กยากจนในจำนวนที่น่าตกใจ แต่ที่เราเห็นเป็นเพียงค่าเฉลี่ยทั้งจังหวัด หากแต่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ โรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ เพราะเมื่อลงลึกไปในระดับโรงเรียน ยกตัวอย่างโรงเรียนทีปราษฎร์วิทยา ที่ อ.เกาะสมุย ซึ่งมีจำนวนนักเรียนยากจนสูงที่สุดในจังหวัด คือ 276 คน นั่นเท่ากับว่า โรงเรียนทีปราษฎร์แห่งเดียวนั้นได้รวบรวมนักเรียนยากจนไว้ครึ่งหนึ่งของเกาะสมุย ดังนั้นความเป็นไปได้ของการนำข้อมูลมาออกแบบแผนงานการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงควรตั้งต้นที่เป้าหมายเชิงพื้นที่ เพื่อปักหมุดจุดความเหลื่อมล้ำได้ตรงตามบริบทอย่างแท้จริง
มองลึกถึงพื้นที่ กระจายงบประมาณแบบเสมอภาค
เราไม่อาจใช้ ‘เปอร์เซ็นต์’ หรือ ‘จำนวน’ บ่งชี้ความรุนแรงของสถานการณ์ได้ทั้งหมด ถ้าดูที่โรงเรียนวัดชลธารในเขต อ.เมือง ที่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจน 47 คน จากนักเรียนทั้งโรงเรียน 53 คน คิดเป็น 88.68% ซึ่งเท่ากับว่าในจำนวนเด็กที่เราพบ 10 คน ยากจนไปแล้ว 8-9 คน หรือโรงเรียนวัดแหลมทอง ที่อยู่ใน อ.เมืองเช่นกัน มีนักเรียนยากจน 21 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน 42 คน คิดเป็น 50% เท่ากับครึ่งหนึ่งของเด็กในโรงเรียน ยังขาดความพร้อมและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งในด้านคุณภาพชีวิต และการคงอยู่ในระบบการศึกษา
“จะเห็นว่าโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสุราษฎร์ธานี การประเมินสถานการณ์จากค่าเฉลี่ยของจังหวัดหรืออำเภอโดยคนภายนอกหรือผู้บริหารระดับประเทศนั้นไม่อาจทำได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยการทำงานของคนในพื้นที่ผ่านข้อมูลเชิงลึก เพื่อทราบว่าโจทย์คืออะไร หรือต้องแก้ปัญหาตรงจุดไหน ยิ่งคำนึงว่าสุราษฎร์ ฯ ยังมีโรงเรียนที่มีความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่ตั้ง หรือลักษณะโรงเรียนพื้นที่พิเศษ โดยนับเฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 มีทั้งหมด 3 แห่ง คือโรงเรียนบ้านเกาะนกเภา โรงเรียนบ้านเกาะเต่า และโรงเรียนบ้านเกาะพลวย ซึ่งข้อมูลระบุว่านอกจากบนเกาะเต่าแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะอีกสองแห่งจัดการเรียนการสอนสูงสุดที่ชั้น ป.6 จึงแน่นอนว่าด้วยปัญหาเรื่องอุปสรรคการเดินทาง จะมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถก้าวข้ามช่วงชั้นไปถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้”
ดร.อารี ยังระบุถึง ‘ข้อค้นพบการกระจายทรัพยากรทางการศึกษา’ การจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางตามจำนวนนักเรียนรายหัว ทำให้โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อย ได้รับงบประมาณสนับสนุนน้อยตามไปด้วย ยกตัวอย่างการจัดสรรงบประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 สำหรับ สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 ที่มีโรงเรียนทั้งหมด 178 แห่ง รวมงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 79,525,107 บาท ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนบ้านคลองสงค์ซึ่งมีนักเรียน 736 คน และได้รับงบประมาณมากที่สุด กับโรงเรียนบ้านอ่างทองที่ได้รับงงบประมาณน้อยที่สุด จากจำนวนนักเรียน 27 คน มีช่องห่างของงบประมาณที่ลงมาถึงโรงเรียนนับพันเท่า คือ 2,354,004 บาท กับ 70,217 บาท โจทย์ของผู้บริหารโรงเรียนแต่ละแห่งจึงจำเป็นต้องมีความเฉพาะตัว และอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่มาช่วยกัน
“แม้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กเยาวชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน เนื่องจากไม่มีอำเภอใดที่ไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่จัดการเรียนการสอนสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 42 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นอาชีวศึกษา 9 แห่ง รวมถึงมีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา 5 สถาบันกับ 1 วิทยาเขต ส่วนเมื่อวิเคราะห์ที่ความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพการศึกษาเมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศ จากค่าเฉลี่ยของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 29,394 แห่ง ที่จะมีครูและบุคลากรทางการศึกษา 480,929 คน กับห้องเรียน 342,877 ห้อง คิดเป็นสัดส่วนครูต่อ 1 ห้องเรียนที่ 1.40 คน กับสุราษฎร์ธานีซึ่งมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. 496 แห่ง มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 8,295 คน กับห้องเรียน 5,875 ห้อง เท่ากับมีสัดส่วนครูต่อ 1 ห้องเรียนอยู่ที่ 1.41 คน อย่างไรก็ตามการพิจารณาข้อมูลเป็นรายตำบล กลับพบว่าหลายพื้นที่ต้องเผชิญสถานการณ์ครูไม่ครบชั้น เช่นที่ ต.บางไทร และ ต.คลองมาก อ.เมือง มีอัตราครูต่อห้องเรียนอยู่ที่ 0.83 และ 0.94 หรือที่ ต.เกาะเต่า และ ต.บ้านใต้ อ.เกาะพงัน มีอัตราครูต่อห้องเรียนที่ 0.87 และ 0.93 โดยตัวเลขของครูที่น้อยกว่า 1 คนต่อ 1 ห้องเรียน แสดงถึงการที่ครู 1 คนจะต้องรับผิดชอบชั้นเรียนมากกว่า 1 คนต่อ 1 ห้องเรียนอยู่ตลอดเวลา
“นอกจากนี้เมื่อมองไปที่ข้อมูลความเหลื่อมล้ำในมิติของเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบการศึกษา แม้สุราษฎร์ธานีจะไม่อยู่ใน Top 10 ของประเทศ ทว่าจำนวนเด็ก 17,003 คน หรือคิดเป็น 1.66% ที่ไม่มีรายชื่อในระบบ ก็ถือว่ามีจำนวนไม่น้อย ซึ่งข้อมูลได้ชี้ให้เห็นว่าที่ อ.เมือง สุราษฎร์ธานี และ อ.กาญจนดิษฐ์ เป็นพื้นที่ที่มีนักเรียนยากจนและเด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษามากที่สุด และเป็นการสะท้อนถึงปัญหาด้านการกระจายทรัพยากรในจังหวัดอย่างมีนัยยะสำคัญ”
ออกแบบความร่วมมือเชิงพื้นที่ คือความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรการศึกษาทั้งในและนอกระบบ
ดร.อารี กล่าวสรุปว่า ข้อมูลที่แสดงถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมีปัจจัยจากความห่างไกลทุรกันดารของพื้นที่ ทั้งฐานรายได้ประชากรก็ถือเป็นชนวนสำคัญของการเข้าไม่ถึงโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ รวมถึงโอกาสในการศึกษาต่อในระดับสูง ที่จะช่วยพัฒนาเด็กเยาวชนให้มีรายได้พ้นจากเส้นความยากจน
การศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงนำมาสู่จุดเริ่มต้นของการทำงานของ กสศ. มูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV ไทยพีบีเอส เพื่อระดมและกระจายทรัพยากรการศึกษาไปยังโรงเรียนที่มีความต้องการผ่านธนาคารโอกาส โดยจากการ ‘ปักหมุดจุดเหลื่อมล้ำโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล’ ที่เริ่มต้นจากโรงเรียนพื้นที่สูง จ.เชียงราย จนถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้สะท้อนว่าโจทย์และการทำงานของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน การตั้งเป้าทำงานที่ตั้งต้นจากฐานข้อมูลระดับพื้นที่ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวเลขของเด็กยากจนและหลุดจากระบบการศึกษาลดลงได้
“พ้นจากการจัดทำข้อมูลและงานวิจัย กสศ. ได้ร่วมกับภาคีทุกระดับในการจัดกิจกรรม ‘ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน’ ใน 4 ภูมิภาค โดยจัดแล้วสองครั้งที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย และ ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเตรียมเดินหน้าจัดต่อเนื่องในครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก จังหวัดตราด และครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ตามลำดับ เพื่อมุ่งระดมความร่วมมือทั้งภายในและจากภายนอกพื้นที่ เพื่อทำงานเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่สนับสนุนให้นักเรียนในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีความประสงค์จะเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และกลับมาบรรจุเป็นครูนักพัฒนาในท้องถิ่นของตนเอง โดยในเดือนตุลาคมนี้
บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ทั้งหมด 327 คนที่ได้รับการเตรียมพร้อมด้วยหลักสูตรการทำงานในพื้นที่เฉพาะ จะกระจายไปในพื้นที่ 285 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เติมเต็มความขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กได้ราว 10% ถือเป็นการแก้ไขปัญหาตามบริบทพื้นที่ ทั้งในปีการศึกษาถัดไปจะมีบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 และรุ่นต่อ ๆ ไป ทยอยจบการศึกษาออกมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กำหนดระยะเวลาการทำงานโครงการ 15 ปี”