“ถ้าเราเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีต และนําสิ่งเหล่านี้มาเป็นบทเรียน เราจะรู้เส้นทางการเดินว่าต่อไปเราจะขยับอย่างไร เพื่อไปถึงการที่กลายเป็นนโยบายการศึกษาของประเทศ”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงการนำโมเดล ‘R2R2R’ (Routine to Research to Routine) มาใช้ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) ของโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP (Teacher and School Quality Program) ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เชิงพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และกําแพงเพชร ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566
หลายคนอาจพอรู้จัก R2R หรือ Routine to Research Project (การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย) มาบ้างแล้ว แต่หากต้องการให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจจะต้องเขยิบขึ้นมาเป็น R2R2R (Routine to Research to Routine) คือจากงานประจํา ใช้กระบวนการวิจัย เพื่อกลับไปพัฒนางานประจํา
“หลักการของ R2R2R คือเมื่อคนที่อยู่หน้างานเห็นปัญหาแล้วอยากแก้ ก็นำไปปรึกษากับนักวิชาการ ซึ่งหน้าที่ของนักวิชาการไม่ใช่บอกว่าให้ผู้ถามทําอะไร แต่หน้าที่คือ การยิงคําถามคืน ซึ่งคําถามที่คุยไปคุยมา สุดท้ายแล้วผู้ถามก็จะหาคําตอบได้ด้วยตนเองจากผ่านการตั้งคำถามนั้น”
โมเดล ‘R2R2R’ เกิดขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช โดยถูกขยายผลจนได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข และผลักดันออกมาเป็น R2R2R ของประเทศไทย ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ มองว่าการเกิดขึ้นของ R2R2R กับการเกิดขึ้นของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (ABE) มีความคล้ายคลึงกัน
“เรื่องการศึกษาเชิงพื้นที่คล้ายๆ กันกับ R2R2R คือเริ่มจากการที่ผู้บริหารไม่เห็นปัญหาหมด แต่คนหน้างานเห็นปัญหา เราจึงจัดเวทีให้คนเห็นปัญหากับผู้กําหนดนโยบายได้มีโอกาสมาเจอกัน และเอาวิชาการเข้ามาช่วย วิชาการก็จะมาเติมเต็มทําให้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ R2R2R ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ได้เช่นกัน เพราะเป็นการนำปัญหามาวิเคราะห์ จับกับความรู้เชิงวิชาการ จากนั้นจึงสื่อสารพูดคุยจนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่ขั้นสุดท้ายคือได้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสื่อสารนี้ จะทำให้เกิดองค์ความรู้มากมายระหว่างทาง รู้จักวิธีการรับมือ และหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต้นกำเนิด R2R2R โมเดลจากโรงพยาบาล ส่งผ่านสู่ระดับประเทศ
จุดเริ่มต้นของโมเดล R2R2R มาจากการที่โรงพยาบาลศิริราชพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลจำนวนมากและเกิดความติดขัดมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งระดับผู้บริหารก็มองไม่เห็นปัญหายิบย่อยเท่าผู้ปฏิบัติการหน้างานจึงเกิด R2R2R ขึ้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการหน้างานที่อยากแก้ปัญหา สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง ผ่านการปรึกษาและบูรณาการร่วมกันกับนักวิชาการ
“ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นกับผู้รับบริการที่ศิริราช และบุคลากรทุกระดับ เพราะคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เราจึงมาเริ่มต้นนั่งคุยกันแล้วนํามาเสนอกับฝ่ายบริหาร เพราะปัญหาจะถูกแก้เต็มที่ไม่ได้ หากระดับนโยบายไม่เข้ามาร่วม แต่ครั้งนั้นเป็นเรื่องปัญหาคนไข้ ส่วน ณ วันนี้คือปัญหาการศึกษาของประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ซึ่งผมคิดว่าคล้ายๆ กัน”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เล่าว่าศิริราชได้ดึงนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือร่วมด้วย เพราะมองว่าการจะแก้ปัญหาต่างๆ จําเป็นต้องบูรณาการกันระหว่าง ‘นักวิชาการ’ ที่รู้ลึกด้านวิชาการ กับ ‘นักบริหารจัดการ’ ที่สามารถเอาวิชาการเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทและเวลา แล้วนำไปทำงานกับผู้ให้บริการหน้างาน เพื่อแก้และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“R2R2R ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นของศิริราช แต่เป็นของประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว เพราะหลังจากที่ศิริราชเอาเรื่อง R2R2R เข้าไปพูดตามงาน โรงพยาบาลต่างๆ ก็มาดูงานที่ศิริราช และกลับไปก็ไปตั้งหน่วยงาน R2R2R ที่ โรงพยาบาลเขาเอง”
ประยุกต์ R2R2R กับการศึกษา เพราะไม่ว่าใครก็ ‘วิจัย’ ได้
ภายใต้หลักคิดดังกล่าว โมเดล R2R2R สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยได้ เพราะ ณ วันนี้บทบาทของครูไม่ใช่เป็นผู้ที่ให้ความรู้อย่างเดียว แต่ที่สําคัญคือครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้
“เราตามสอนนักเรียนของเราไปตลอดชีวิตเขาไม่ได้หรอก เนื่องจากความรู้ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่นักเรียนของเราต้องสามารถมี ‘ฉันทะ’ ที่อยากจะเรียนรู้ รู้วิธีการเรียนรู้ แล้วก็ไปหาความรู้ใหม่ๆ ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกันกับครู ก็ต้องหาความรู้ใหม่ๆ ควบคู่ไปเช่นเดียวกัน”
สำหรับบางปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อนนั้นจําเป็นต้องอาศัยกระบวนการวิจัย โดยนายแพทย์ประสิทธิ์เล่าว่า แต่ก่อนเมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘วิจัย’ ก็ทำเอาทุกคนกลัวกันหมด เพราะมองว่า ‘วิจัย’ เป็นเรื่องของอาจารย์ ซึ่งความจริงแล้ว ‘วิจัยเป็นเรื่องของคนทุกคน’ เพราะหลักการวิจัยสามารถนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ในทุกมิติ ไม่จําเป็นต้องเป็นเชิงลึก หรือมีขั้นตอนซับซ้อน แต่เป็นวิจัยเพื่อไปพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเมื่อประสบความสําเร็จ และได้คําตอบ ก็จะเข้าสู่กระบวนการแบ่งปันความรู้กับผู้อื่น
“ในเคสของศิริราช เราหลีกเลี่ยงคําว่า ‘วิจัย’ เพราะพูดไปเขาไม่กล้าทํา กลัวว่าจะผิดระเบียบวิจัย แต่จะพูดเพียงแค่ว่า “ที่คิดมาน่าจะใช่นะ ลองไปทําสิ เราจะรู้ว่าจะแก้หรือไม่ได้” และเมื่อได้วิธีแก้ปัญหาจึงนำมาทำซ้ำ หากได้ผลเหมือนเดิมจึงขยายวงความรู้ออกไปนอกศิริราช มีการ Sharing and Learning ระหว่างเครือข่ายด้วยกันในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะนําไปสู่การปรับเปลี่ยนการศึกษาของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง
เพราะฉะนั้นทักษะในอนาคตที่คนไทยจะต้องมี ต้องเริ่มต้นที่ครู เพราะครูจะช่วยปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้นักเรียน และนักเรียนเหล่านี้ก็จะโตไปเป็นอนาคตประเทศไทย”

ผสานความรู้เชิงวิชาการกับการสื่อสาร สู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
นายแพทย์ประสิทธิ์ ยกคำกล่าวของ JÜRGEN HERRE นักการศึกษา จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ที่กล่าวว่า ในโลกเรามีความรู้อยู่สามแบบ
ความรู้แบบแรกเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สามารถพิสูจน์ได้ในห้องทดลอง ที่เปรียบเทียบได้กับ ‘กระบอกลึก’ ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งลึกลงแต่แคบ โดยกระบอกนี้กว้างขึ้นก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีพัฒนา
ส่วนความรู้อีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า Communication Knowledge หรือ Practical Knowledge เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ ไม่มีห้องแล็บ แต่เป็นความรู้เกิดขึ้นหลังจากที่สื่อสารกัน แล้วลองไปปฏิบัติก็เกิดผลจริง
แต่ความรู้รูปแบบสุดท้ายที่คาดหวังให้เด็กไทยในอนาคตมี คือ ‘ความรู้จริง’ คือ รู้กว้างและรู้ลึก เป็นความรู้ที่เกิดจากต้องอาศัยความรู้สองแบบแรกมารวมกัน
“การศึกษาประเทศไทยในอนาคต ต้องสอนให้นักเรียนทําทั้งคู่ อย่าไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว อย่าไปเฉพาะเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เราชอบพูดคําว่า ความรู้ในอดีตต่างๆ แต่มันเป็นความรู้จริง ถ้าสามารถมาบูรณาการมาผสมผสานกัน ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้เหมาะสมกับเวลา และจะเกิดความรู้ใหม่
และหลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง Connecting The Dot ที่บอกว่า วิธีหนึ่งที่เราจะจัดการกับปัญหาที่ยังมองไม่เห็นในอนาคตได้ คือการเตรียมความพร้อมกับเรื่องที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยการเรียนรู้จากอดีต หรือใช้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน แต่ต้องเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ในเชิงวิเคราะห์ หาความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในอดีตทั้งหลาย”
Connecting The Dot เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้จำเป็นที่ควรจะสอนนักเรียน เพราะเป็นศาสตร์การบริหารจัดการ ว่าหากเกิดปัญหาให้ลองมองย้อนหลังดูอดีต วิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทําให้เกิดแล้ว Connecting The Dot ซึ่ง ‘Dot’ หรือ ‘จุด’ นั้นจะเป็นบุคคล เหตุการณ์ หรือกิจกรรมก็ได้ โดยนำแต่ละจุดมาเชื่อมโยงกันแล้ววิเคราะห์ออกมากลายเป็นผลลัพธ์
นายแพทย์ประสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันนี้โลกของเราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง หากเราไม่สอนนักเรียน ไม่สอนคนไทยในอนาคตให้รู้วิธีการจัดการกับสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ไม่เตรียมการตั้งแต่วันนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เข้ามาอีก ก็จะเกิดความเสียหายมากขึ้น
“การเตรียมอนาคตให้กับประเทศไทย คือสร้างคนไทยที่สามารถมองเห็นปัญหาที่ยังไม่เกิด แต่อาจจะเกิดและมองหาวิธีการแก้ไขหรือป้องกันสิ่งเหล่านั้น ดำเนินการทันทีที่มีปัญหามา เราก็จะลดความเสียหายในประเทศและเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในอนาคต”
ที่มา : เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และกําแพงเพชร