จับทิศทางการศึกษาโลก ขับเคลื่อนการศึกษาไทย : ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

จับทิศทางการศึกษาโลก ขับเคลื่อนการศึกษาไทย : ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

ทิศทางการศึกษาโลกมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาและแน่นอนว่าย่อมมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแนวทางการจัดการศึกษาของไทย เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางการจัดการศึกษาในโลกปัจจุบัน และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดภูเก็ต” ในเวทีมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่  ครั้งที่ 3 “กลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดภูเก็ต สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยเน้นให้เห็นว่า ทิศทางการศึกษาโลกนั้นมีอยู่แล้วที่เมืองพหุวัฒนธรรมอย่างภูเก็ต และเมื่อครูเข้าใจทิศทางเหล่านี้แล้วจะทำให้เกิดพลังที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้จริง

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ได้สรุป 8 ทิศทางการจัดการศึกษาโลกในปัจจุบัน ได้แก่ ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง, เป้าหมายมีความซับซ้อน, การคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของนักเรียน, การเรียนรู้เชิงลึกและห้องเรียนสมรรถนะสูง, การเรียนกับการประเมินเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน, ครูเรียนรู้ไปด้วยกันกับศิษย์, ครูมีพันธมิตรร่วมพัฒนาห้องเรียนสมรรถนะสูง และโรงเรียนต้องมีหุ้นส่วนร่วมทำงานใหญ่

1. ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ศ.นพ.วิจารณ์เห็นว่าหัวใจสำคัญของทิศทางการศึกษา​ ณ​ ขณะนี้​คือ​ การจัดระบบให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง​ และหากพิจารณาคำแนะนำองค์การสหประชาชาติ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้เมื่อเรายอมรับว่าการศึกษากำลังเป็นเรื่องวิกฤต การเปลี่ยนแปลงควรจะเปลี่ยนที่เป้าหมายของการศึกษาและสาระเนื้อหาการเรียนรู้​ รวมไปถึงเปลี่ยน “ระบบ” การศึกษา​ด้วย

เป้าหมายของผลลัพธ์การศึกษาที่ควรกำหนด ได้แก่ การเรียนเพื่อเรียนรู้เป็น (Learn to Learn) อยู่กับคนอื่นเป็น (Learn to Live Together) ทำเป็น (Learn to Do) ดำรงตนเป็น (Learn to Be) และเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง (Learn to Transform) ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายจะไม่มีการเรียนรู้เพื่อที่จะรู้​ (Learn How to​ Know) อีกต่อไป​ แต่เป็นการเรียนเพื่อทำให้ได้​ ส่วนการเปลี่ยนระบบการศึกษาทำได้โดยการเปลี่ยนระบบนิเวศการเรียนรู้ ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนจึงสำคัญ

“ครูต้องมีวิธีการ​ทำให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วม​ โดยเฉพาะเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ” ศ.นพ.วิจารณ์เน้นย้ำให้ครูเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วครูจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้

2. เป้าหมายมีความซับซ้อน

เรื่องสำคัญลำดับต่อไปคือ ​ครูต้องรู้ว่าเป้าหมายในการเรียนรู้นั้นซับซ้อน​ ศ.นพ.วิจารณ์ เห็นว่าผู้เรียนต้อง​เปลี่ยนตัวเองเป็นด้วย

“ในเรื่องของการศึกษา​ไม่ได้เป็นเส้นตรงจาก​ ก.​ ไป​ ข. แต่ต้องวนเป็นวงจรแล้วยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ​ แต่ละคนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลาจากประสบการณ์ที่ตัวเองประสบ”  

นอกจากนี้เรื่องของทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) ยังเป็นสิ่งที่ต้องฝึกเด็ก เพราะโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและรุนแรงมาก การเรียนต้องฝึกให้เด็กเอาเจตคติ ค่านิยม ทักษะ ความรู้ (Value Attitude Skill Knowledge – VASK) ไปใช้ในอนาคตให้ได้ ทั้งนี้ระบบการศึกษาก็ต้องฝึกเด็กให้เกิดการเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองด้วย​ (Transformative Learning) และอีกมุมหนึ่ง เด็กก็ควรจะมีทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นอาวุธติดตัว​ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการที่ใครมาบอก แต่ผ่านการทำด้วยตัวเอง​

“เมื่อคิดหลักการหรือทฤษฎีขึ้นมาได้จากการปฏิบัติแล้ว จงเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง เพื่อที่จะไปต่อ เอาไปหลอม เอาคอนเซ็ปต์ที่เราตกผลึกเองไปลอง เอาไปใช้ในสถานการณ์เดิมว่าดีขึ้นมั้ย ถ้าใช้ได้ก็แสดงว่าหลักการที่เราคิดก็น่าจะพอใช้ได้ อย่าลืมว่าวงจรนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิต” ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายทักษะการตกผลึกในเชิงนามธรรม (Abstract Conceptualisation) ที่จะช่วยให้เด็กรู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองได้

ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ในข้อนี้ คือ เกิดการพัฒนาตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการเป็นคนแบบไหน ต้องการมีชีวิตแบบไหน ตัวเองมีจุดแข็งและจุดอ่อนตรงไหน หรือรู้จักอัตลักษณ์ของตนเอง “รากฐานของที่บ้านเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะฉะนั้นแต่ละคนเติบโตมาบนความแตกต่างของประสบการณ์ที่คนรอบข้างมอบให้ เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา เราจะต้องสร้างระบบที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้รู้จักศักยภาพของตนเอง”

3. การคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของนักเรียน

การคำนึงถึงเรื่อง “ความแตกต่าง” จะนำไปสู่การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อนักเรียนทุกคน ด้วยลักษณะของนักเรียนที่แตกต่างกัน การช่วยให้นักเรียนทุกคนบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการจึงไม่มีสูตรตายตัว สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการสนับสนุนให้นักเรียนค้นพบอัตลักษณ์และมีความมั่นใจในตัวเอง การเอาใจใส่นักเรียนจึงช่วยได้ เช่น ถ้านักเรียนชอบเตะฟุตบอล ครูก็สามารถทำให้นักเรียนมั่นใจในฝีมือการเตะฟุตบอลของตนเองก่อนจะโยงเข้าสู่เรื่องการเรียน

4. การเรียนรู้เชิงลึกและห้องเรียนสมรรถนะสูง

การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เป็นการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ให้น้อย และให้เด็กได้เรียนรู้เองจากการปฏิบัติให้มากแล้วสะท้อนคิดให้ได้ หรือให้เกิด “ห้องเรียนสมรรถนะสูง” ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง การเรียนในห้องเพียงอย่างเดียว แต่สถานที่รอบตัวด้านนอกก็สามารถกลายเป็นห้องเรียนให้เด็กๆ ได้ และ “ห้องเรียน” ก็ควรเป็นห้องเรียนที่นักเรียนมีเป้าหมายร่วมกันด้วย

“ห้องเรียนแบบ High Functioning (ห้องเรียนพลังสูง) ต้องให้นักเรียนร่วมกันตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ ไม่ใช่ครูเป็นเจ้าของเป้าหมาย เพราะฉะนั้นครูต้องมีกุศโลบายในการให้นักเรียนร่วมกันกำหนดเป้าหมาย จะเริ่มตั้งแต่วันแรกๆ ของปีการศึกษาแล้วค่อยๆ ย้ำ มีการเขียนเป้าหมายติดไว้เป็นป้ายไว้คอยเตือนสติ” ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายเพิ่มว่าครูควรจะทำให้ห้องเรียนมีทั้งความสนุกสนานและความจริงจัง ไม่ใช่สนุกอย่างเดียว เพราะนักเรียนจะได้ประสบการณ์จากการเอาชนะ การท้าทาย หรือจากความเครียด ซึ่งหากนักเรียนทำสำเร็จภายใต้สภาวะเช่นนั้นได้ก็จะเกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

“หัวใจของ Active Learning ไม่ใช่แค่ทำกิจกรรมเท่านั้น การจะสร้างสมรรถนะใส่ตัวต้องทำกิจกรรมแล้วตามด้วยการสะท้อนคิด Reflective Learning”

5. การเรียนกับการประเมินเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน

การเรียนรู้และการประเมินเป็นเรื่องเดียวกัน การประเมินมีสามแบบ ได้แก่ การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) เป็นการประเมินท่าทางและคำตอบของนักเรียนเพื่อสะท้อนกลับเชิงบวกไปยังนักเรียน การประเมินการเรียนรู้ของตนเอง (Assessment as Learning) นักเรียนต้องประเมินตัวเองได้ และเปิดโอกาสให้เพื่อนประเมินซึ่งกันและกันและสะท้อนกลับให้กัน และการประเมินการเรียนรู้ (Assessment of Learning) เป็นการประมินโดยคนอื่นหรือส่วนกลาง 

“การประเมินหลังจากที่นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จ เขาจะได้รู้ตัวเองว่า ในหนึ่งคาบเขาได้รับองค์ความรู้ เกิดการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด ซึ่งตรงนี้เป็นผลดีกับตัวนักเรียนเอง เขาจะได้รู้ตัวว่าเขาจะต้องพยายาม ปรับปรุง และพัฒนาตัวเองตรงไหน รวมถึงครูผู้สอนที่เป็นผู้ประเมินก็จะต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายในการประเมินนักเรียน เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือและซัพพอร์ตนักเรียนให้ดีที่สุด แล้วก็เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน”

6. ครูเรียนรู้ไปด้วยกันกับศิษย์

ศ.นพ.วิจารณ์เห็นว่า ครูสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับเด็กได้ ครูต้องเก็บเกี่ยวสิ่งที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในชั้นเรียนไปทบทวน หรือทำ AAR (After Action Review) ครูยังสามารถช่วยกันสังเกตชั้นเรียนของกันและกัน หรืออาจจะใช้วิธีการถ่ายวิดีโอ เพื่อที่จะดูพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน ศ.นพ.วิจารณ์ย้ำว่า การทำเช่นนี้เป็นการช่วยเพื่อนครูสังเกตนักเรียน ไม่ใช่เป็นการสังเกตครูด้วยกัน 

ตัวอย่างของการสังเกต เช่น ระหว่างการเรียน นักเรียนแสดงพฤติกรรมอย่างไร ครูจะจัดการการชั้นเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง โดยครูสามารถใช้การประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation – DE) และการทำวิจัยชั้นเรียน (Routine to Research – R2R) เข้ามาช่วยเพื่อให้ครูในแต่ละชั้นเกิดการสะท้อนคิด เกิดความเข้าใจในทฤษฎีที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจากหนังสือเรื่อง Schools as Learning Communities ได้บอกไว้ด้วยว่าการที่โรงเรียนจะเป็นชุมชนการเรียนรู้ได้ต้องเรียนรู้โดยการฟังซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ครูกับครู นักเรียนกับครู และโรงเรียนกับชุมชน 

7. ครูมีพันธมิตรร่วมพัฒนาห้องเรียนสมรรถนะสูง

ครูควรมีกัลยาณมิตรร่วมพัฒนาห้องเรียนไปด้วยกัน ศ.นพ.วิจารณ์ ยกตัวอย่างครูที่ภูเก็ตที่มีทีมโค้ชมาทำกระบวนการ TSQP (Teacher and School Quality Program) และ Online PLC Coaching เพื่อเพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมไปถึงการทำ DE ก็มีทีมจากมูลนิธิสยามกัมมาจลมาช่วยแลกเปลี่ยน เป็นการให้คำแนะนำ ชี้แนะแนวทาง อำนวยความสะดวกให้กับครูเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมไปถึงช่วยดึงศักยภาพของครูออกมา 

“เรามีการสอนแบบเปิด การมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้ามาทำให้รู้สึกว่าการเป็นครูมันไม่ใช่แค่มีหน้าที่สอนอย่างเดียว มันเปลี่ยนหลายๆ อย่าง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิถีแนวคิดเราในการที่จะมองนักเรียน ในการที่จะมองอาชีพ การที่มีอาจารย์เข้ามาไม่ได้เปลี่ยนแค่เรา (ครู) แต่เปลี่ยนนักเรียน เปลี่ยนวิถีเพื่อนรอบๆ ตัวเราด้วย” 

8. โรงเรียนต้องมีหุ้นส่วนร่วมทำงานใหญ่

เมื่อโรงเรียนมีหุ้นส่วนร่วมทำงานขนาดใหญ่จะช่วยกันผลักดันการเรียนการสอนของครูไม่ให้โดดเดี่ยว หุ้นส่วนอาจรวมถึงนักเรียน ผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ หรือชุมชนก็ได้

“จะเห็นได้ว่า ทิศทางการศึกษาโลกเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องร่วมทำไปด้วยกัน และจากเรื่องเล่าของครูที่ภูเก็ต คำกล่าวสรุปงานที่ว่า “ทิศทางการศึกษาโลกเกิดขึ้นแล้วที่ภูเก็ต” คงไม่ได้เกินจริงไป จากนี้การขับเคลื่อนภูเก็ตให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาต้องคิดต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึงและยกระดับขึ้นไปได้

ในการดำเนินงานต่อไปก็จะสร้างเรื่องราวของความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น สร้างการเรียนรู้เพิ่มขึ้นได้มากมาย สร้างนักเรียนที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลังสูงได้มากมาย โดยทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้ของทุกคนในภูเก็ต” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่  ครั้งที่ 3 “กลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดภูเก็ต