Hard Skills กับ Soft Skills เป็นคำที่มักจะถูกใช้คู่กันเพื่ออธิบายถึงทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในตลาดแรงงาน จริงอยู่ที่สองคำนี้เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องมี แต่สัดส่วนความสำคัญของทักษะทั้งสองแบบนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่ทำด้วย งานที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะสาขาอาชีพสูง เกี่ยวข้องกับคนน้อย Hard Skills ย่อมมีความสำคัญ หากเป็นงานบริการที่ต้องรับมือกับคนเป็นหลัก Soft Skills จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญกว่า
ส่วนหนึ่งของโครงการ Career Readiness Survey ความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพของนักเรียน ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ดำเนินการร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยพยายามจะตอบคำถามว่า สำหรับเยาวชนที่จบการศึกษาระดับ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกไปทำงานนั้น Hard Skills กับ Soft Skills ทักษะไหนมีความสำคัญกว่าครับ
การหาคำตอบในเรื่องนี้ จะมีการวิเคราะห์ความเห็นของผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางเศรษฐมิติ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณมาตอบคำถามดังกล่าว
ในการดำเนินการ ทางคณะผู้วิจัยได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยผู้ประกอบการและการสัมภาษณ์เชิงลึกรวมแล้วจำนวน 116 รายในกรุงเทพและปริมณฑล โดยมุ่งไปที่ผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คนในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจในภาคบริการอื่น และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงกลึง ร้านซ่อมรถ เป็นต้น
จากการสัมภาษณ์พบว่า ผู้ประกอบการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า Soft Skills มีความสำคัญกว่า Hard Skills เนื่องจากลักษณะงานที่ผู้จบ ม.3 ทำนั้น เป็นงานที่สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นาน แต่ด้วยลักษณะการทำงาน และด้วยวุฒิภาวะของผู้ทำงานที่เริ่มต้นทำงานตอนอายุ 15-16 ปี มักจะประสบปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับโลกของงาน เนื่องจากขาด Soft Skills ที่จำเป็น จนส่งผลต่อทัศนคติที่มีต่องานและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามที่นายจ้างคาดหวัง เปลี่ยนงานบ่อย ทนความกดดันในการทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ประสบความยากลำบากในการสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงอาจกล่าวได้ว่า Soft Skills คือ ปัจจัยสำคัญในการกำหนดระดับความพร้อมในการเข้าสู่โลกของงานของเยาวชนในช่วงอายุนี้
แล้วที่ว่าสำคัญนั้น ที่จริงแล้ว Soft Skills สำคัญแค่ไหน?
เพื่อให้สามารถตอบคำถามนี้ด้วยค่าที่เป็นตัวเลขได้ จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบการวิจัยและการวิเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ
นายจ้างทั้ง 116 คนที่เข้าร่วมให้ข้อมูล จะถูกร้องขอให้เลือกลูกจ้าง 1 คนที่จบ ม.3 และมีอายุไม่เกิน 18 ปี มีอายุงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ให้มาร่วมให้ข้อมูลและแสดงความเห็นในการประชุมกลุ่มย่อยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง โดยคณะผู้วิจัยได้ขอให้นายจ้างแต่ละคนให้ข้อมูลพื้นฐานของลูกจ้างที่พามาด้วย เช่น อายุงาน เพศ รายได้ต่อวัน จากนั้นคณะผู้วิจัยจึงทำการชี้แจงรายละเอียดให้แก่นายจ้างว่า Soft Skills แต่ละด้านหมายถึงอะไรแล้วจึงขอให้นายจ้างประเมินระดับ Soft Skills ในแต่ละด้านของลูกจ้างด้วยคะแนน 1-10 (คะแนน = 1 หมายถึง มี Soft Skills ด้านนั้นต่ำสุด และ 10 หมายถึง สูงสุด) พร้อมกับให้นายจ้างระบุว่า ผลการทำงานของลูกจ้างคนนั้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับที่นายจ้างคาดหวังไว้ (ได้ต่ำกว่าที่คาดหวัง หรือ ได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าที่คาดหวัง)
จากนั้นคณะผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางเศรษฐมิติที่เรียกว่า Oaxaca-Blinder Decomposition เทคนิคนี้จะใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มว่า ความแตกต่างดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ในกรณีของการศึกษานี้ เทคนิคดังกล่าวจะใช้อธิบายความแตกต่างของค่าแรงต่อวันของแรงงานที่จบ ม.3 สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ผลการทำงานต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้าง และกลุ่มที่ผลการทำงานใกล้เคียงหรือดีกว่าที่คาดหวังของนายแจ้ง โดยใช้คะแนน Soft Skills ที่ประเมินทั้ง 7 ด้านมาเป็นตัวแปรต้นในการอธิบาย
จากการวิเคราะห์พบว่า Soft Skills มีอิทธิพลถึง 99% ต่อความแตกต่างของค่าแรงของลูกจ้างทั้ง 2 กลุ่มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Soft Skills ที่มีต่อความสำเร็จในโลกของงานของเยาวชนที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกไปทำงาน
ด้วยเหตุนี้ การทราบถึงระดับ Soft Skills ของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ได้มีโอกาสเรียนต่อหลังจากจบ ม.3 แล้ว จึงมีความสำคัญต่อการวางแผนเตรียมความพร้อมให้นักเรียนกลุ่มนี้มีระดับ Soft Skills ที่เพียงพอต่อการประสบความสำเร็จในตลาดแรงงาน และยังช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนเหล่านี้สามารถพัฒนาตนเองเพื่อให้มีระดับทักษะและการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเยาวชนและครอบครัวของเยาวชนเหล่านี้ให้สามารถยกระดับรายได้สูงพอจะหลุดพ้นจากวังวนของความยากจนได้ในอนาคต