โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ปีละ 300 คน เพื่อส่งไปประจำการยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลประมาณ 1,500 แห่งทั่วประเทศยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 จะเป็นปีที่นักศึกษาทุนรุ่นแรกจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูและพร้อมเข้าปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จริงหรือโรงเรียนปลายทาง ด้วยความหวังว่า โครงการนี้จะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล และช่วยยกระดับคุณภาพของโรงเรียนปลายทางได้
ด้านล่างนี้คือเรื่องราวจาก 2 พื้นที่ตัวแทน ซึ่งช่วยสะท้อนความฝันและความปรารถนาของว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น รวมถึงความหวังของชุมชนท้องถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาได้อย่างแจ่มชัด
1) ก้าวต่อไปของว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น ผู้มาจากพื้นที่ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะตัว
ชญาดา เจริญวิวัฒน์กุล คือ นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้กำลังจะได้กลับไปฝึกสอนที่โรงเรียนปลายทางอย่าง โรงเรียนบ้านขุนแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ตลอดช่วงที่ได้รับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เธอได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ จากการพยายามฝึกทักษะสำคัญด้านการสอน ทั้งจากที่เรียนในหลักสูตร และจากกิจกรรม ต่างๆ ที่กสศ.จัดขึ้น เพื่อเสริมทักษะให้กับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงมีแนวคิด ที่จะใช้ความรู้ ที่ได้รับแต่ละด้าน กลับไป ใช้งานจริง ในการสอนนักเรียนในพื้นที่ โรงเรียนปลายทาง และพร้อมที่จะนำสิ่งที่ เรียนรู้กลับไปพัฒนาท้องถิ่น
จนตอนนี้ชญาดา คิดว่าเธอพร้อมแล้วกับก้าวต่อไป
ออกแบบการเรียนด้วยภาษาถิ่น
ความตั้งใจหนึ่งของชญาดา คือ อยากออกแบบการเรียนการสอนด้วยภาษาถิ่น
“เมื่อได้กลับไปที่โรงเรียนปลายทาง ตั้งใจที่จะนำความรู้และนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนที่ได้เรียนรู้มา ไปใช้กับเด็กๆ ในโรงเรียน โดยเฉพาะนวัตกรรมการสอนโดยใช้ภาษาแม่ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น ซึ่งในท้องถิ่นที่กำลังจะกลับไปสอน นั้นใช้ภาษาและวัฒนธรรม ปกาเกอะญอ ในการดำเนินชีวิต และด้วยพื้นฐานที่เป็นชนเผ่านี้มาตั้งแต่กำเนิด ทำให้เชื่อมั่นว่า จะใช้นวัตกรรมนี้มาสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคนิคการสอนที่ได้เรียนรู้มามีหลายด้าน เช่น สอนแบบชักชวนให้นักเรียนตอบสนองด้วยท่าทาง หรือที่เรียกว่า TPR (Total Physical Response Technique ) หรือการสอนโดยการใช้การปฏิบัติ ซึ่งเทคนิคนี้ ซึ่งได้เรียนรู้มาจากโรงเรียนต้นแบบ ได้แสดงให้เห็นว่า สามารถสอนนักเรียน โดยใช้แผนภูมิภาพ ที่นักเรียนช่วยกันสร้างขึ้น โดยเติมความรู้ ที่ได้จากที่มีอยู่จริงในท้องถิ่น จากประสบการณ์ และการสำรวจ ด้วยตัวเอง เช่นเรื่องพิธีแต่งงาน ซึ่งแต่ละท้องที่มีรายละเอียดหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกัน นักเรียนก็จะช่วยกัน ค้นคว้ารายละเอียด ว่างานแต่งงานในท้องถิ่น ที่แต่ละคนเคยพบเห็นหรือได้เคยไปร่วมงานมา ประกอบด้วยอะไรบ้าง ก่อนนำสิ่งที่สำรวจได้มาบอกเล่าด้วยตัวนักเรียนเอง”
ด้วยหัวใจที่พร้อมรับสภาพความยากลำบาก
ชญาดา เล่าว่า ทราบดีว่าโรงเรียนปลายทางที่กำลังจะไปฝึกสอนในภาคเรียนหน้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ด้วยความเป็นคนท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับสภาพของพื้นที่เป็นอย่างดี ประกอบกับความเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งที่ได้จากการเป็นนักเรียนที่เคยขาดโอกาสทางการศึกษาและการได้ก้าวมาเป็นนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น จะสามารถเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยดูแลด้านการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ ให้ได้รับการเรียนรู้อย่างเหมาะสม และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เด็กๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ
บทบาทใหม่และความท้าทายจากสถานที่จริง
กัญญาภัค เฮงพลอย ครูโรงเรียนบ้านขุนแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนปลายทางที่ ชญาดา กำลังจะมาฝึกสอนและเป็นครูประจำหลังเรียนจบหลักสูตรครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากเด็กในท้องถิ่น จะสามารถนำความรู้ ที่เรียนมาประยุกต์เข้ากับบริบทของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
“จากประสบการณ์ที่เป็นครูที่นี่มาหลายปี พบว่า ปัญหาสำคัญสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านขุนแปะ คือเรื่องของการใช้ภาษา เพราะเด็ก ๆ ทั้งหมดของที่นี่ สื่อสารกันด้วยภาษาปกาเกอะญอ หากสอนพวกเขาด้วยภาษากลาง ก็จะส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าในคำศัพท์บางคำ หรือบางสิ่งที่สอนตามไปด้วย
หากมีนักศึกษาซึ่งเป็นคนพื้นถิ่น ที่กำลังจะเรียนจบและมาประจำที่นี่ มาเติมเต็มในส่วนนี้ก็จะหมดปัญหาที่จะเกิดจากการสื่อสารได้ และเชื่อว่า นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น จะสามารถสื่อสาร ทั้งเนื้อหาที่จะเรียน และวิธีการประยุกต์การสอน โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่น มาเป็น แบบเรียน เป็นทรัพยากรในการเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วน”
ความคาดหวังและอุปสรรคสำคัญที่ต้องประสบ
ครูโรงเรียนบ้านขุนแปะ บอกว่า สิ่งที่อยากให้ ครูรัก(ษ์)ถิ่น มาช่วยกันดูแล ก็คือเรื่องของพัฒนาการของเด็ก และช่วยให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กกลุ่มพิเศษ ซึ่งมีความบกพร่องด้านการได้ยิน จนส่งผลให้เรียนรู้ช้ากว่าเด็กคนอื่น จึงต้องการการดูแลที่เข้าใจข้อจำกัดในการเรียน และการปรับตัวของเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งแม้จะมีไม่มาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาของพวกเขาอย่างเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ
“นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จะมาประจำที่นี่ แม้จะเป็นคนในท้องถิ่น แต่สิ่งที่จะต้องเตรียมใจไว้สำหรับอุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องของความขาดแคลนด้านความพร้อมของสื่อการเรียน และปัญหาที่ตั้งของโรงเรียน โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยังประสบปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางครั้งหากพบกับสภาพอากาศแปรปรวน หรือมีฝนตกหนัก ก็อาจจะส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ดับ รวมถึงสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ขาดหายไปจากพื้นที่ ติดต่อกัน 2-3 วัน จนอาจจะส่งผลให้ การเรียน การสอน ที่ต้องใช้สื่อออนไลน์ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย”
2) เรื่องราวจากยะลา: คำมั่นของว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นผู้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน
เดิมที ที่โรงเรียนบ้านเยาะ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา จะมีครูย้ายออกทุกปี จนทำให้ครูในโรงเรียนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า
“เราจะพัฒนาเด็กต่อเนื่องได้อย่างไร ถ้าครูยังทยอยย้ายออกทุกปี”
“เดือนมกราคมเรามีครูย้ายออกสองอัตรา ผ่านไปไม่นานมีครูขอย้ายอีกสามอัตรา เดือนนี้กันยายน นอกจากไม่มีอัตราครูทดแทนกลับมา ยังมีครูทำเรื่องขอย้ายพร้อมกันอีกห้าตำแหน่ง โรงเรียนจึงอยู่ในภาวะขาดแคลนครูอย่างหนัก” อรทัย แซ่จง ครูจากโรงเรียนบ้านเยาะ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในฐานะครูพี่เลี้ยงนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เล่าสถานการณ์ที่โรงเรียนเผชิญ ก่อนอธิบายต่อว่า นับแต่บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านเยาะมาสิบปีเต็ม วงจรการโยกย้ายของครูเมื่อครบเกณฑ์บรรจุ 2 ปี ยังวนเวียนเกิดขึ้นตลอด
“ปัญหาครูไม่ตรงเอกเรายังช่วยกันจัดการได้ระดับหนึ่ง แต่แนวโน้มจำนวนครูที่ลดลงทุกปี ทำให้จัดการเรียนการสอนยากขึ้น แล้วผลที่ตามมาคือพัฒนาการเด็กไม่ต่อเนื่อง ตัวอย่างที่ชัดคือเด็ก ป.3 รุ่นปีการศึกษานี้ที่มีสองห้อง ห้องแรกตอนอยู่อนุบาลมีครูปฐมวัยย้ายออก โรงเรียนเลยใช้วิธีจัดครูเวียนสอนแบบไม่ประจำ จนขึ้น ป.1 เจอโควิด แน่นอนว่าบริบทของโรงเรียนเราไม่เอื้อกับการเรียนออนไลน์ พัฒนาการก็ยิ่งขาดช่วง จนเด็กห้องนี้ขึ้น ป.2 ก็มาเจอครูประจำชั้นย้ายออกไปอีก กลายเป็นว่าพอปีนี้เด็กขึ้น ป.3 ผลที่สะท้อนกลับมามันเปรียบกันได้เลย ว่าเด็กห้องที่เจอวิกฤตครูย้ายมีปัญหามากเรื่องการอ่าน ต้องปูพื้นทักษะตั้งแต่อนุบาลกันยกห้อง”
ครูอรทัยระบุว่า ด้วยบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล จะหวังให้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยดูแลพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมเป็นเรื่องยาก เพราะลำพังแค่ต่อสู้ดิ้นรนเรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องค่อนข้างสาหัสแล้ว
ส่วนเรื่องการโยกย้ายของครูก็เข้าใจได้ เพราะเกือบ 100% ของครูทั้งโรงเรียนมาจากต่างถิ่น ซึ่งต่างคนก็ต้องแบกรับความรับผิดชอบด้านอื่น ๆ ของชีวิตเอาไว้
“เราเองถึงเป็นคนอำเภอธารโต แต่บ้านที่อยู่ก็ห่างจากโรงเรียนไปร้อยกิโล เคยคิดหลายครั้งเหมือนกันว่าจะทำเรื่องขอย้าย แต่พอนึกถึงเด็กก็ได้แต่ชะลอไว้ก่อน ส่วนคนที่ย้ายไปก็เข้าใจเหตุผล เพราะเพื่อนครูบางคนมาจากต่างจังหวัด เขาต้องออกแบบการทำงานที่สอดคล้องกับชีวิต มีทั้งภาระครอบครัวต้องเติมเต็ม ไหนจะเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพอีก
“แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอมีครูย้ายออกคราวละ 4-5 คน หรือมากที่สุดคือในเวลาไล่เลี่ยกันมีครูทำเรื่องย้ายออก 8 คน พอเป็นอย่างนี้เด็กก็รู้สึกเคว้ง แล้วมันส่งผลต่อกำลังใจของครูที่ยังอยู่ด้วย ก็อดห่วงไม่ได้ว่าถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป เราจะดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างไร”
วาบความหวัง กับเมล็ดพันธุ์ที่กำลังเติบโต
กับบทบาทครูพี่เลี้ยงนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ครูอรทัยเป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะ ‘ครูรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นเด็ก ๆ ของชุมชน เติบโตขึ้นในชุมชน และกำลังจะกลับมาเป็นครูของชุมชนในปีการศึกษาหน้าที่จะมาถึง คุณครูบอกว่า การผลิตนักศึกษาครูจากเยาวชนในพื้นที่แล้วบรรจุกลับมาเป็นครู สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างนี้ เชื่อว่าจะตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนครู และจะช่วยลดโอกาสการโยกย้ายได้
“ในโรงเรียนห่างไกล ถ้าไม่ได้ครูที่เป็นคนในรัศมีโรงเรียนจริง ๆ การจะวางแผนจัดการเรียนรู้ระยะยาวเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นการที่เราได้รับโอกาสเป็นครูพี่เลี้ยงของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ที่ปีนี้กลับมาฝึกสอนแล้ว และเตรียมจะบรรจุในปีหน้า จึงรู้สึกมีความหวัง เหมือนว่าเมล็ดพันธุ์ที่โครงการ ฯ หว่านเพาะไว้ กำลังค่อย ๆ เติบโต รอวันผลิบานอย่างเต็มที่ ถือเป็นกำลังใจให้กับเด็ก ๆ และครูทุกคนในโรงเรียนด้วย”
ครูอรทัยสะท้อนมุมมองส่วนตัวว่า ถ้าจะพัฒนาคุณภาพมาตรฐานโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ก็จำเป็นต้องมีการผลิตครูในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น โดยอาจเพิ่มโครงการที่ลดข้อจำกัดเรื่องการวัดสถานะครัวเรือนลง เนื่องจากยังมีเยาวชนในพื้นที่ที่มีความสามารถและมีความตั้งใจที่จะเป็นครู แต่ติดข้อแม้ในเรื่องการขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ไม่ตรงกับเกณฑ์กำหนด
“เราเสียดายเด็กเก่ง ๆ ที่อยากเป็นครูจริง ๆ แต่เขาจบมาแล้วต้องไปบรรจุที่อื่นเพราะไม่มีอัตรารองรับ คือถ้าพูดจากใจครูโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลคนหนึ่ง ทุกปีที่เราส่งลูกศิษย์จบไป เราแอบหวังเสมอว่าต้นกล้าที่เพาะไว้ จะกลับมาเบ่งบานออกดอกผลที่โรงเรียนของเรา
“จึงอยากให้การผลิตครูมุ่งไปที่คุณสมบัติสำคัญสองอย่างในเบื้องต้น หนึ่งคือมีใจรักจะเป็นครู และสองคือเป็นคนในพื้นที่ เพราะคิดว่าจำเป็นเหมือนกัน ที่เด็ก ๆ เหล่านี้ควรได้ต่อยอดทักษะแล้วได้กลับมาทำงานในท้องถิ่นของเขา เชื่อว่าเราจะมีครูที่มีศักยภาพพร้อมเพิ่มขึ้นมาอีกหลายคนต่อปีเลยทีเดียว”
‘ไม่ใช่แค่ใกล้ชิด แต่คือหนึ่งเดียวกับชุมชน’
“ข้อได้เปรียบหนึ่งของผม คือใช้เวลาปรับตัวไม่นาน การเป็นคนที่เติบโตมาในชุมชนนี้ ทำให้ผู้ปกครองรู้จัก เชื่อใจ และเปิดใจ อย่างพอเห็นว่าเด็กคนไหนกำลังจะมีปัญหา ผมก็เข้าไปคุยกับผู้ปกครองได้ทันที ซึ่งเขาก็พร้อมรับฟังและเต็มใจหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน”
อานัส นิหลง นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา ชั้นปี 4 เปิดประสบการณ์ในหนึ่งเทอมแรก กับฐานะ ‘ครูฝึกสอน’ ที่โรงเรียนบ้านเยาะ อันเป็นภูมิลำเนาของเขา
“สิ่งที่คิดไว้กับหน้างานจริงมีต่างกันบ้างครับ อย่างผมเรียนเอกประถมศึกษา ได้สอนตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 ก็เห็นว่าเด็กเดี๋ยวนี้มีความต่างเรื่องช่วงวัยอยู่มาก เหมือนชั้นประถมปลายจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วขึ้น แต่ในการเรียนตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3 เราได้รับการเตรียมพร้อมพอสมควร ด้วยหลักสูตรที่เน้นเรื่องความยืดหยุ่น แล้วยังมีอบรมด้านจิตวิทยาเด็กด้วย พอเจอของจริงก็ปรับใช้ได้ครับ” อานัสเล่า
ก่อนเป็นนักศึกษาทุน อานัสเคยมีตำแหน่งเป็น ‘หัวหน้าเยาวชน’ ของชุมชน จึงมีโอกาสนำประสบการณ์ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนมาใช้ เช่นจัดแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน รวมถึงยังมีการเตรียมแผนที่จะประยุกต์การจัดการเรียนการสอน โดยดึงเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
“การเป็นคนในพื้นที่ ผมคิดว่านอกจากการสอน ยังมีแผนงานอีกมากมายที่ต้องทำควบคู่กันไป เช่นการแก้ปัญหาเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ เสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งผมมีโอกาสสอนวิชาภาษาไทย ก็จะหาแนวทางใหม่มาช่วยพัฒนาน้อง ๆ หรือเรื่องการสื่อสารแนะแนวทางให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น เพราะหลายบ้านเด็กจบ ป.6 ก็ออกไปทำงานแล้ว ไม่มีใครส่งให้เรียนต่อ ดังนั้นต้องชี้ให้เห็นว่าปลายทางของการศึกษาอยู่ตรงไหน หรือโลกข้างนอกหมู่บ้านเป็นอย่างไร
“ส่วนการจัดการเรียนการสอน ผมมองว่าชุมชนเรามีวัตถุดิบอยู่มาก แค่ต้องดึงออกมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ ทั้งแหล่งเรียนรู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และบางอาชีพของผู้ปกครองที่น่าสนใจ เหล่านี้เราสามารถพาเด็กไปศึกษาเรียนรู้ หรือดึงเอาผู้ปกครองมาช่วยสอนได้ อย่างที่ผ่านมาลองเชิญชาวบ้านมาสอนเด็กทำขนม หรือทำแคร่ไม้ไผ่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน พอเด็กได้เข้ามามีส่วนร่วม เขาก็เห็นว่าบ้านเรามีทรัพยากรอะไรที่แปรรูปได้ เป็นแหล่งหารายได้ได้ ซึ่งผมจะพยายามเอาสิ่งที่มีอยู่นี้มาใช้ เพื่อการเรียนรู้ที่สนุก ต่อยอดได้ และยังช่วยทำให้ชุมชนของเราใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย”
เมื่อถามว่าปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่มองเห็นคือเรื่องใด อานัสบอกว่าคือเรื่องยาเสพติด ที่ทุกวันนี้เด็กเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการสร้างความใกล้ชิดในชุมชน ครอบครัว และโรงเรียน จึงต้องเป็นแนวทางหลักที่จะช่วยดูแล ให้ความรู้ และชี้ให้เด็ก ๆ เห็นโทษ โดยไม่เผลอถลำเข้าไป
“ผมเชื่อว่าทุกปัญหาจะคลี่คลายและดีขึ้นได้ครับ ถ้าบ้าน โรงเรียน และชุมชนช่วยดูแลกัน ซึ่งผมหวังว่าพอได้เป็นครูเต็มตัวแล้ว จะพยายามเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนของเราดีขึ้น” ว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นให้คำมั่น