สุธารัตน์ กิจติเวชกุล หรือที่ลูกหลานเรียกกันว่า ‘อาม่า’ และสื่อโซเชียลหลายสำนักเรียกเธอว่า ‘อาม่าซูเปอร์แอ็กทีฟ’ ในบทบาทเชฟสอนทำอาหารออนไลน์และใช้ชีวิตอย่างมีพลังบวก อาม่าเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในพื้นที่เยาวราช ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ที่นี่มาตลอด 75 ปี
อาม่าเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่าง ทั้งในทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชน สิ่งหนึ่งที่อาม่ารู้จักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เริ่มต้นจากความสนใจ ความอยากรู้ และค้นหาความรู้หรือหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง ก็คือ การทำ ‘อาหารจีน’ โดยเฉพาะอาหารไหว้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน แต่ปัจจุบันองค์ความรู้ที่สั่งสมกันมานี้ค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลาเพราะขาดผู้สืบทอด
การเรียนรู้ตลอดชีวิตของอาม่า มิใช่เพียงเพื่อตนเอง และยังเป็นเรื่องส่งต่อความรู้และวัฒนธรรมดั้งเดิมให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน รวมไปถึงบ้านใกล้เรือนเคียง ให้สามารถรักษาเอกลักษณ์และวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนเยาวราชไว้ต่อไป
วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอาม่าในประเด็นต่างๆ ทั้งด้านสังคม ประเพณี รวมไปถึงวัฒนธรรมทางอาหาร และที่สำคัญก็คือ สูตรลับและกลเม็ดเด็ดๆ ในการทำอาหารสูตรอาม่า
บอกได้เลยว่า นี่คือบทสัมภาษณ์ที่เต็มอิ่มไปด้วยความอบอุ่น จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมอาม่าต้องเรียนรู้อะไรมากมายขนาดนี้ และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ อาม่ายิ้มกว้างพร้อมตอบว่า “ก็ม่าแอ็กทีฟไง” (หัวเราะ)
ทัศนคติของอาม่า คือจุดแข็งที่ทำให้อาม่ายังคงพร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แม้จะอยู่ในวัย 75 แล้วก็ตาม
อาม่ามักจะพูดถึงคำว่า ‘อาหารเชิงวัฒนธรรม’ ความหมายคืออะไร
ก็อย่างเช่น ตรุษจีน คนจีนก็ต้องไหว้ แต่ว่าจีนนั้นมีหลายจีน จีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง จีนไหหลำ จีนแคะ (ฮากกา) ซึ่งพวกเขามีพิธีไม่เหมือนกัน ความเชื่อไม่เหมือนกัน
ตัวอาม่าเป็นจีนแต้จิ๋วจากซัวเถาติดทะเล ฉะนั้นเตี่ยจะมีผิวพรรณสีเข้มหน่อย แล้วก็จะถูกปากกับอาหารทะเลมากกว่า อีกอย่างคือซัวเถาขึ้นชื่อเรื่องเป็ด เตี่ยก็เลยขายเป็ดพะโล้ ก็เป็นอาหารเชิงวัฒนธรรมของคนที่นี่
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมทางอาหารในพื้นที่เยาวราชเองมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ตอนนี้อาม่าอายุ 75 แล้ว เห็นการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ แล้วช่วงหลังก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
สมัยก่อน เรามักจะเรียนรู้ผ่านการส่งต่อกันมาจากรุ่นพ่อแม่ แล้วก็ซึมซับเอาความเป็นประเพณี ความเป็นเชื้อชาติ และวัฒนธรรมอาหารการกินผ่านคนในครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้หลายอย่างก็หายไปเยอะ ขาดคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เพราะขั้นตอนมันเยอะ มันจุกจิก ต้องทำหลายอย่าง แต่ก็ยังพอมีเหลืออยู่นะ ในแง่รสชาติก็ค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจากเมื่อก่อน อาหารที่เห็นอยู่ทั่วไปในเยาวราชจะไม่มีได้รสชาติแท้ๆ แบบดั้งเดิมอีกแล้ว เสียดายมากเลย
ทุกวันนี้ก็ยังทำอาหารจีน ทำของไหว้ ด้วยตัวเองอยู่เหรอครับ
ก็เพราะเตี่ยทำขาย เราเลยต้องช่วยทำ ช่วยไปช่วยมา มันก็ต้องเข้าสมองบ้างล่ะ แล้วพอโตขึ้นก็อยากจะซื้อกินเอา เพราะขี้เกียจทำ อยากสบายบ้าง แต่ซื้อมามันก็ไม่อร่อย กินแล้วมันก็หงุดหงิด มันไม่ได้แบบที่เราอยากกิน เขาทำกันง่ายๆ เป็ดพะโล้แค่ให้เป็นสีพะโล้ แต่มันไม่ใช่
เป็ดเนี่ยต้องสด อย่างพวกเป็ดไทย (เป็ดบ้าน) ต้องเอามาแช่ แต่ไม่ใช่แช่เป็นเดือนเป็นปี เนื้อมันจะกระด้างไม่อร่อย แต่ถ้ามันสด มันก็จะไม่คาว ฉะนั้น รสชาติมันอยู่ที่วัตถุดิบ ถ้าเป็ดไม่ดี ใส่อะไรลงไปก็ไม่อร่อย อาหารทุกอย่างอยู่ที่วัตถุดิบ อย่างหมี่ผัดอาม่า ไม่ต้องใส่อะไรเลย คนกินเขาติดใจ เขากินอร่อย เราก็มีความสุข
เคล็ดลับทำอาหารให้อร่อยและมีความสุขคืออะไร
เราต้องตั้งใจทำ เราต้องวางแผน ต้องคิดก่อนว่าจะทำอะไร จะได้ซื้อวัตถุดิบมาเตรียมล่วงหน้าเพื่อเอามาหมัก ให้ความเค็มมันซึมเข้าไป อย่างพะโล้ก็ต้องต้มก่อน แล้วใส่เครื่องสมุนไพรต่างๆ ให้มันเข้าเนื้อ เวลาต้มก็ต้องใส่ใจ ต้มแล้วต้องอยู่กับมัน ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เคี่ยวด้วยไฟที่พอดี ไม่ร้อนไป ไม่ช้าไปหรือเร็วไป
เวลาเจอปัญหาหรืออุปสรรค อาม่ารับมืออย่างไร เพื่อจะรักษามาตรฐานเดิมไว้ให้ได้
บางทีมันก็ไม่ได้มาตรฐานเดิมเป๊ะ มันคงทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ใช่โรงงาน แต่เราใส่ใจ อาศัยชั่วโมงบิน ประสบการณ์ พยายามทำให้เต็มที่ที่สุด
ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้เรื่องการทำอาหารอยู่ไหม
เราก็อาศัยครูพักลักจำ สังเกตเอา เพราะอาม่าไม่ได้เรียนทางด้านโภชนาการ อย่างเวลาเห็นร้านไหนคนเยอะ เราก็อยากจะรู้ ก็ไปลองกินดู แต่พอกินแล้วก็หงุดหงิดทุกครั้ง (หัวเราะ) ไม่ใช่ของเขาไม่อร่อยนะ แต่มันไม่ถูกปากเรา เราไม่ได้อยากกินรสชาติแบบนั้น
ในเยาวราชมีร้านที่ถูกใจอาม่าบ้างไหม เอาตามรสนิยมลิ้นอาม่าเลย
ถ้าลิ้นอาม่านะ กินไม่ได้เลย เสียใจมากเลย (หัวเราะ) เราติดรสชาติบ้านเราเอง ไม่ใช่ว่าร้านเขาไม่อร่อยนะ เขาก็ทำอร่อย ไม่งั้นเขาคงขายไม่ได้หรอก ลูกค้าเขาก็เยอะแยะ แต่เราเป็นแบบนี้ นี่เลยเป็นเหตุผลให้เราต้องทำของเราเอง
แล้วพอทำเอง เราก็ชอบเอาไปแบ่งคนอื่น ให้เขาเอาไปชิมดู พอเขาได้ชิม เขาก็ไปหาซื้อ แต่ก็หาที่ไหนไม่ได้ เขาอยากกินของอาม่า ปากต่อปาก เริ่มเยอะขึ้น เขาเลยบอกให้ทำขาย เพราะเขาอยากได้เยอะๆ เอาไปฝากเขา เขาไม่พอกิน
เพราะอะไรลูกค้าถึงติดใจรสมืออาม่า
เอาจริงๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เราก็ใช้ของเหมือนคนอื่นเขา ใช้มือทำเหมือนกัน แต่เดาว่าอาจเป็นเพราะความใส่ใจ เราทำสด และทำใหม่เรื่อยๆ ทำจานต่อจาน ไม่ได้ทำเก็บไว้เยอะๆ
อย่างเช่น บ๊ะจ่าง ก็ถือเป็นวัฒนธรรมทางอาหารนะ เดี๋ยวนี้ชาวต่างชาติเขาก็กินกัน หาซื้อได้ทั่วไปด้วย สมัยก่อนบ๊ะจ่างจะใส่เครื่องน้อย แล้วก็มัน แฉะ เรื่องอนามัยยิ่งไม่ต้องพูดถึง เราก็เลยไม่กิน หลายสิบปีมาก็ไม่เคยซื้อกิน เราก็ทำกินเองเลยดีกว่า แต่พอทำกินเองตอนแรกก็ยังไม่ถูกใจนะ ต้องค่อยๆ ปรับ เราไม่ชอบแฉะ ไม่ชอบมัน ไม่ชอบเค็ม ใส่เครื่องพอประมาณ ไม่เยอะเป็นเกาเหลา จนเราเจอสูตรที่เราถูกใจ
ใช้เวลานานไหมกว่าจะถูกใจ
บ๊ะจ่างเนี่ย ไหว้ปีละครั้ง เราก็ต้องค่อยๆ ปรับทีละนิดในแต่ละปี พอเราถูกใจแล้วก็อยากเอาไปแบ่งปันคนอื่น แล้วคนอื่นเขาก็คอยทุกปี เราก็เอาไปฝาก เขาเลยบอกให้เราทำขายเลย จากหลักสิบ เดี๋ยวนี้อาม่าทำเป็นพัน ปีหนึ่งถึง 2,000 ลูก นี่เฉพาะแค่บ๊ะจ่าง ยังมีอย่างอื่นอีกนะ
ที่คนเขาติดใจ เพราะเขารู้ว่าบ้านเราไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใส่สารเคมี ผงชูรสไม่มีเลย ไหนจะพวกกานาฉ่าย อันนี้ทำยาก กวนกันที 8 ชั่วโมง เคยมีเชฟมากิน เขาก็ชมเรา โอ้โห ประณีตทุกขั้นตอน กว่าจะได้แต่ละขั้นตอน ใช้เวลาเตรียมวัตถุดิบ 2 วัน ทำวันเดียว
ในความเห็นอาม่าคิดว่า เพราะอะไรคนรุ่นใหม่ถึงไม่ค่อยสนใจอาหารไหว้จีนแล้ว
มันจุกจิก การทำอาหารมันจุกจิกมากเลย มันไม่ใช่จะหยิบจับใส่ผัดแล้วจบ แต่ละอย่างมันมีขั้นตอนเยอะ บางอย่างทำวันนี้ไม่ได้กิน ต้องวางแผนหลายวันล่วงหน้า อย่างเห็ดหอมอาม่าสั่งวันนี้ แต่ไม่ได้กินวันนี้นะ ต้องแช่ไว้ครึ่งวัน แล้วต้องเอามาทอด ทอดเสร็จก็มาบุง (จีนแต้จิ๋ว: บุง, จีนกลาง: เหวิน) คือ เอามาใส่น้ำแล้วต้มจนแห้ง มันใช้เวลาค่อนข้างมาก เขาก็เลยไปซื้อกินเอาง่ายกว่า แต่มันก็ยังพอมีคนทำสืบทอดอยู่บ้างนะ
อาม่าส่งต่อความรู้อย่างไรบ้าง หรือมีใครมาต่อยอดบ้างไหม
โชคดีมากที่อาม่ามีลูกชายที่สนใจ แล้วเขาทำบางอย่างอร่อยกว่าที่อาม่าทำอีก แต่จะใช้คำว่าต่อยอดก็ไม่เชิง มันน่าจะเป็นการขึ้นคนละหน่อ เพราะเขามองว่า ที่เราทำมันเหนื่อย มันจุกจิก แล้วก็อาจไม่ได้กำไรมาก
ของเขาจะเด่นไปอีกแบบ เช่น ตุ๋นกระดูกหมูเต้าเจี้ยว ซึ่งอาม่าทำไม่เป็น เขาทำแล้วก็เอามาให้เราชิม หรือจำพวกอบหมูแดง อบหมูกรอบ เอาไปทำพวกสปาเกตตีอะไรต่างๆ มันก็เลยเป็นความรู้คนละหน่อ แต่ก็ยังดี เพราะเขาก็ไม่ได้ทิ้งความรู้ของเราไปเสียทุกอย่าง
จากการทำอาหารมาตลอดชีวิต อาม่าคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่คนทั่วไปควรได้เรียนรู้เป็นทักษะติดตัวไว้
ถ้าคนเรารู้จักเก็บอาหารที่เหลือมาทำให้เกิดประโยชน์ อย่างข้าวเราเหลือ เราก็เอามาทำเป็นข้าวผัด ข้าวทอด หรือทำเป็นข้าวต้ม ข้าวต้มเหลือก็เอาไปทำโจ๊ก ของก็จะไม่มีเหลือทิ้ง ไม่เสีย แถมยังเป็นเมนูแตกต่าง ไม่ซ้ำ คนกินก็ไม่เบื่อ มันทำได้หลากหลายมาก
ปกติอาม่าจะซื้อของจากร้านที่ไว้ใจได้ (ในแง่สุขอนามัย) แล้วก็จะพยายามล้างให้สะอาดที่สุด และเราก็ต้องเรียนรู้ว่า คนในบ้านเราชอบกินแบบไหน เพราะแต่ละบ้านมีรสนิยมการกินไม่เหมือนกัน เวลาเราทำอาหารไม่ใช่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องตามใจปากคนกินด้วย แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ชุมชนอย่างหนึ่ง
อย่างเวลาลูกค้ามาสั่งบ๊ะจ่าง อาม่าจะรู้เลย บ้านนี้อย่าใส่พริกไทยเยอะ อีกบ้านหนึ่งไม่กินเผือก เราต้องใส่ใจ
กังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เยาวราชไหม ทั้งในแง่วัฒนธรรมอาหาร วัฒนธรรมชุมชน
ก็ต้องถามว่า กังวลแล้วมันได้อะไร อาม่าก็ทำใจนะ ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนตามเวลา ไม่มีใครจะมาทำเหมือนเดิมไปได้ตลอด ปู่ย่าตายายเขาสร้างร้านไว้ขายของ 4-5 ห้อง ลูกหลานเขาก็เห็นว่ามันยุ่ง มันเหนื่อย เขาได้เรียนสูง เขาก็ไปทำอย่างอื่น หรือถ้าเขาสืบทอดต่อ เขาก็ไม่เอาแนวนี้แล้ว เขาไปตั้งเป็นโรงงานเลยดีกว่า ไม่มาเหนื่อยแบบนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดแน่นอน
หลังๆ นี่เปลี่ยนไปมากเลย แถวบ้านอาม่าเนี่ย ร้านกาแฟเยอะมาก ถามว่าคนชุมชนชอบไหม คนชุมชนไม่ชอบ คนที่มาทำเป็นคนที่อื่นทั้งนั้น ถึงเขาจะไม่ได้มาทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมนะ เขาไม่ได้เอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาทดแทน แต่คนในชุมชนส่วนหนึ่งก็ย้ายไปออกไปเยอะ คนที่เข้ามาใหม่เขาก็พยายามต่อหางต่อปีก (เมืองเยาวราช) ให้เป็นตัวการ์ตูนขึ้นมาใหม่ เลยกลายเป็น ‘เมืองตุ๊กตา’
เมื่อก่อนมันไม่ใช่เมืองตุ๊กตาแบบนี้ พอตกเย็นบ้านนั้นบ้านนี้ก็มานั่งคุยกันเจี๊ยวจ๊าว แต่เดี๋ยวนี้คนที่เจี๊ยวจ๊าวคือคนที่เดินทางมาเที่ยว มาร้านกาแฟ มาถ่ายรูป
ขยายความคำว่า เมืองตุ๊กตา หน่อย
ตุ๊กตาก็คือจับวาง อยากเอาส่วนไหนก็ตั้งลงไปให้มันสวย เขาเอามาวางไว้ มันไม่ใช่ของเก่าแก่ของเราจริง มันตกแต่งได้ จะเอาตัวอะไร ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ก็วางเข้าไปเพื่อให้คนถ่ายรูป คนในชุมชนเขาก็รำคาญ เขาก็ปิดประตูอยู่แต่ในบ้าน ลองสังเกตดู คนที่อยู่จริงๆ อยู่ในบ้านกันหมด ก็ไม่รู้นะว่าคนชุมชนเขาได้ประโยชน์อะไรไหมในเรื่องนี้ ได้ชื่อเสียงเหรอ การท่องเที่ยว หรือพาณิชย์เหรอ ก็บอกไม่ได้เหมือนกัน
อย่างประเพณีวันตรุษจีนในเยาวราชเปลี่ยนไปบ้างไหม
เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เขาก็มองเป็นแค่วันหยุดวันหนึ่ง แต่บางบริษัทเขาก็ไม่ได้ให้หยุดกัน เขาต้องไปทำงาน ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่วันนี้ลูกหลานทุกคนต้องหยุดกัน มาเยี่ยมคนในบ้านกัน ผู้ใหญ่ก็จะให้แต๊ะเอียกัน ให้อั่งเป่า เพื่อเป็นสิริมงคล ลูกหลานก็จะเอาส้มมาให้กัน เพื่อแสดงความเคารพ อวยพรให้แข็งแรง
เดี๋ยวนี้มันก็ยังพอมี แต่น้อย น้อยลงไปมาก ก็ยังดีนะ ดีกว่าไม่มี ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่อยากมา แต่มันหยุดไม่ได้ เราก็เข้าใจ จะพูดไปจริงๆ วันครอบครัวมันก็เยอะมากนะสมัยนี้ (หัวเราะ) สงกรานต์ก็วันครอบครัวนะ แต่เราเป็นคนจีนน่ะ มันก็ต้องคิด ลูกหลานเราก็คงคิดนะ ว่าเผ่าพันธุ์เรายังอยู่ ยังมีแซ่พ่อแม่อยู่นะ
สำคัญแค่ไหนกับการไม่ลืมพื้นเพตนเอง
มันสำคัญนะ แต่อยู่ที่ความร่วมมือ อย่างพ่อแม่ปู่ย่าตายายเรา แกก็ถือว่าสำคัญนะ เขาสืบทอดมา ส่งต่อลูกหลาน ลูกหลานรับต่อมาก็ตัดออกนิดหนึ่ง มาถึงรุ่นเรา เราก็รับมา ประเพณีทุกอย่างเรารับหมดนะ แต่เราก็ขอตัดไปหน่อยหนึ่ง ถูกไหม (ยิ้ม)
อย่างปู่ย่าตายายเรานะ ปีหนึ่งไหว้สิบกว่าครั้ง ตั้งแต่ตรุษจีนมามีเทศกาลทุกเดือนเลย พอมาถึงรุ่นพ่อแม่ หรือรุ่นเรา เขาก็เข้าใจนะว่า มีภาระหน้าที่การงาน มีเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไหว้เยอะ ไหว้เฉพาะตรุษจีน สารทจีน เชงเม้ง วันครบรอบคนตาย เขาก็ค่อยๆ ปรับ
ธูปเทียนนี่มันก็เป็นเงินนะ สมัยก่อนเผากระดาษกันเยอะมาก จุดประทัดเยอะมาก เดี๋ยวนี้ก็ตัดออก รุ่นอาม่ายิ่งหนักเลย เขาบอกว่าอากาศมันเป็นพิษ ก็ยิ่งต้องตัดใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ลืม แล้วเราก็สอนลูกหลานว่าเรามาจากไหน เรื่องการไหว้ การดำรงชีวิต หลายๆ อย่างเราอาจรักษาไม่ได้ แต่ก็พยายามให้เขารู้ว่า เราคือคนจีนนะ จีนแต้จิ๋วนะ อากงอาม่ามาจากเมืองไหน ต้องไม่ลืมเผ่าพันธุ์เรา
อาม่าไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และยังรับฟังความเห็นใหม่ๆ อยู่เสมอใช่ไหม
จะดีไม่ดีเราอย่าไปต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงบางทีก็มาด้วยเหตุผลที่ดี เหตุผลแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขาก็จำเป็น บางคนเขาก็มีความเชื่อใหม่ เขาก็ไม่ได้หายไปนะ เขาก็มีประเพณี มีวัฒนธรรมของเขา
หน้าที่เราก็คือตั้งใจทำแบบนี้ต่อไป เรียนรู้ต่อไป เราพูดกับลูกหลานว่า เราก็เสียดายนะ อาม่าอยากถ่ายทอด เราก็ทำไปได้ไม่อีกกี่ปีนะ เราอยากส่งต่อ เราไม่ได้มีแค่เป็ดพะโล้ บ๊ะจ่าง ผัดหมี่ กานาฉ่ายนะ เรามีอีกเยอะมาก แต่เราก็รู้ว่าเขารับได้ไม่หมด ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากรับ แต่ด้วยภาระหน้าที่การงานเขา มันไม่เอื้ออำนวย ฉะนั้นเราไม่หวงสูตรอาหารเลย ใครอยากรู้เราบอกเลย แล้วเราก็เอาไปลงในคลิปวิดีโอ
สรุปได้ไหมว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตของอาม่า ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ของตัวเรา แต่ยังรวมไปถึงการส่งต่อให้คนอื่นอีกด้วย และก็ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเลย
ใช่ การส่งต่อก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เรียนรู้วิธีการถ่ายทอด เรียนรู้ว่าคนอื่นเขารับแบบไหน แล้วเขารู้สึกอย่างไร คนรับก็ไม่เหมือนเรา ใจก็อาจไม่ตรงกันนะ
ที่จริงเราก็ไม่มีปัญญาไปต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรอก เห็นเด็กๆ เล่นเน็ต อาม่าก็อยากเรียนรู้จากเน็ตด้วย ไม่เคยไปบอกเขาอย่าเล่นเกม อย่าเล่นเน็ตนะ อาม่าก็อยากรู้ด้วย กดแชร์ยังไง เล่นเกมด้วยก็ได้ เราอยากเรียนรู้เพื่อจะคุยกับเขาได้ เราต่อต้านไม่ได้ เราตามเขาไม่ทัน สมัยนี้มันเร็วมาก แล้วเราก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างพวกมิจฉาชีพออนไลน์ที่มาหลอกลวง ถ้าเราไม่เรียนรู้ เราจะโดนเขาหลอกนะ สั่งซื้อของยังไง เราต้องเรียนรู้
ติดตามผลงานการทำอาหารสูตรอาม่า ได้ที่นี่