เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
ประสานพลังสร้างเครือข่ายเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง-กลุ่มเปราะบาง ยับยั้งเหตุไม่คาดฝันทันท่วงที

ประสานพลังสร้างเครือข่ายเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง-กลุ่มเปราะบาง ยับยั้งเหตุไม่คาดฝันทันท่วงที

งานดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง เป็นงานที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนทั้งในเชิงความหลากหลายของบริบทปัญหา รวมถึงยังมีความต่างทางพื้นที่ ภูมิศาสตร์ และวิถีชีวิต นำมาซึ่งความต้องการทรัพยากรและบุคลากรเฉพาะทางที่เหมาะสมและเข้าใจปัญหา ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนหรือสังคมสามารถดูแลและโอบอุ้มนักเรียนกลุ่มเสี่ยงได้ทันเวลา จึงเป็นการประสานพลังสร้าง ‘เครือข่ายความร่วมมือ’ ที่ประกอบไปด้วยภาคส่วนต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ครู โรงเรียน ผู้บริหาร เขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงพลังหนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยเล็ก ๆ อย่างคนในพื้นที่ ที่จะเป็นตาช่วยดู เป็นหูช่วยรับฟัง และเป็นปากช่วยบอกเล่า เพื่อให้ปัญหาเร่งด่วนของเด็ก ๆ และครอบครัวส่งไปถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างทันท่วงที 

หากทุกชุมชนมีโครงข่าย ‘ระบบดูแลช่วยเหลือ’ ที่ประสานการทำงานกันอย่างรอบคอบรัดกุม จะสามารถเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยกันยับยั้งเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดฝันได้ …ก่อนสายเกินไป

ตั้งกลุ่มทำงานเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่

ทรงวุฒิ พันธุ์ชัย นักจิตวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 2 ระบุว่า งานดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ซึ่งได้ปฏิบัติอยู่ คือการพยายามสร้างเครือข่าย สร้างความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมในพื้นที่ชุมชน โดยก่อตั้ง ‘กลุ่มทำงานเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่’ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปสู่ภาครัฐ โดยมีคณะทำงานจากจังหวัดเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือเด็กภาวะเปราะบางรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรณีวิกฤต

“บางครั้งการรายงานปัญหาเข้าไปในระบบก็มีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ จึงมีการพยายามแนะนำว่าหากโรงเรียนพบปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องพฤติกรรม เรื่องความรุนแรง ความเสี่ยงทางด้านจิตเวช หรือต้องการความช่วยเหลือใด ๆ ที่โรงเรียนไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ให้รายงานมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเข้าใจปัญหาต่าง ๆ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว เขตพื้นที่การศึกษาจะประสานกับหน่วยงานในท้องที่ ซึ่งมีข้อมูลสำหรับปฏิบัติงาน รู้จักที่ตั้งหรือตำแหน่งของบ้านเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ หน่วยงานเหล่านั้นก็จะลงพื้นที่เพื่อเข้าไปดูแลปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสม

“ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนแจ้งมาที่เขตว่า มีนักเรียนคนหนึ่งหนีเรียน ไม่มาเรียนติดต่อกันหลายวัน เมื่อไปตามที่บ้านก็ไม่พบตัวเด็ก จึงได้ประสานกับตำรวจท้องที่ โดยมีตัวแทนจากโรงเรียน ผู้ปกครอง อบต. กำนัน ประชุมร่วมกันเพื่อรับทราบว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แล้วเริ่มวางแผนจัดการร่วมกันจากที่โรงเรียน ก่อนแยกย้ายกันออกตามหาว่าเด็กน่าจะไปอยู่ที่ไหนของชุมชน จนกระทั่งตามเจอตัวเด็ก จากนั้นประสานให้เด็กได้พูดคุยกับนักจิตวิทยา ให้เด็กสะท้อนปัญหาที่เผชิญ โดยมีผู้ปกครองและผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมรับทราบปัญหา ก่อนทำข้อตกลงในการดูแลเด็กร่วมกัน พร้อมซักถามกับผู้ปกครองว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก” 

ทรงวุฒิ กล่าวว่า หากพบว่าปัญหาเกิดจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการไปโรงเรียน กลุ่มเครือข่ายจะพิจารณาว่าทางโรงเรียนจะให้การช่วยเหลือได้แค่ไหน ชุมชนสามารถเติมเต็มส่วนที่ขาดในส่วนใดได้บ้าง หากมีอะไรที่ช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน หรือหากพบว่าปัญหาเกิดจากความไม่พร้อมของที่อยู่อาศัย ก็จะประสานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ให้ช่วยจัดหางบประมาณมาดูแลซ่อมแซมบ้าน

ทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า การสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลเด็กกลุ่มเปราะบาง และเครือข่ายในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก เป็นมาตรการที่ช่วยให้การประสานการช่วยเหลือสามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาสำคัญคือ เครือข่ายจะเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงได้แค่ไหน เพราะที่ผ่านมาพบว่า หลายโรงเรียนกรอกข้อมูลโดยหลีกเลี่ยงที่จะระบุถึงประเด็นความเสี่ยงหรือเปราะบางของเด็ก เพื่อจะได้ไม่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพื้นที่หรือโรงเรียนที่มีเด็กภาวะเสี่ยงสูงจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น กรณีนี้ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการดูแลปัญหานี้ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการสร้างความเข้าใจกับครูและผู้บริหารในทุกโรงเรียนว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องสำคัญต่อการดูแลเด็กอย่างไร

ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง จำเป็นต้องตระหนักร่วมกัน

สารภี อ่อนรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านม้างอน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า มาตรการที่ใช้ดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางที่โรงเรียนบ้านม้างอน ใช้กลไกการดูแลของ ‘คลินิกเสมารักษ์โรงเรียน’ มาช่วยส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน ในการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ และคุ้มครองสิทธิของนักเรียน พร้อมประสานกับผู้ปกครองเพื่อติดตาม จัดทำกรณีศึกษา และบริการให้คำปรึกษากับทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างแนวทางในการดูแลที่ช่วยให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูเห็นความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และให้การสนับสนุนการดำเนินงานหรือร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งครูและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือ มีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน และมีความสุขกับการพัฒนานักเรียนในทุกด้าน

“หากพบว่าครอบครัวไหนประสบปัญหาหรือขาดแคลนรายได้ โรงเรียนจะช่วยหามาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น อาทิ ช่วยให้เด็กหารายได้เสริมผ่านกิจกรรมส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น จัดทำผ้าบาติก หรือหากนักเรียนมัธยมต้นคนไหนที่ต้องการเรียนรู้หลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นช่วงปิดภาคเรียน โรงเรียนจะประสานกับทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาในท้องถิ่น เพื่อจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมและตอบโจทย์การเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ หรือเมื่อพบว่าฐานะทางบ้านของเด็กคนไหนค่อนข้างลำบาก ก็จะจัดสรรแบ่งปันอาหารกลางวันที่เลี้ยงเด็กในโรงเรียนแต่ละวัน ใส่ถุงให้เด็กนำกลับบ้าน”

กิจกรรม ‘ผู้ปกครองกำลังเสริม’

แวอาซีซะห์ หวังแอ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เล่าว่า มาตรการดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางของโรงเรียน ได้ใช้กิจกรรม ‘พ่อแม่บุญธรรม’ มาช่วยดูแลควบคู่กับผู้ปกครองตัวจริงของเด็ก ผ่านการสื่อสารที่มีรูปแบบเฉพาะ รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือที่ส่งไปถึงผู้ครองโดยตรง เพราะปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางที่พบในโรงเรียนยังเป็นปัญหาที่ไม่ซับซ้อนเกินรับมือ

“ตอนนี้โรงเรียนยังไม่มีเด็กกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาซับซ้อนเกินกว่าจะรับมือได้ แต่โรงเรียนก็ยังต้องการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีข้อมูลที่เข้าถึงตัวเด็ก มีแนวทางในการดูแล หรือกระทั่งมีแนวคิดใหม่ ๆ ในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเป็นกลไกที่ทำงานใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ อปท. ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีความพยายามที่จะสำรวจ ติดตาม และเข้าถึงเด็กเปราะบาง อย่างเข้าใจปัญหาและมีมาตรการช่วยเหลือที่เท่าทันสถานการณ์”

ใช้ข้อมูลนำทาง

วรรณาวดี ภักดีณรงค์ ครูโรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า โรงเรียนได้ใช้ระบบสารสนเทศของสถานศึกษา ซึ่งมีข้อมูลและสารสนเทศที่สำคัญเกี่ยวกับโรงเรียน เช่น ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลความต้องการของชุมชน สภาพการบริหาร การจัดการตามโครงสร้างและภารกิจ ปฏิทินปฏิบัติงานของโรงเรียน กิจกรรมประจำวัน โดยข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้ตรงตามศักยภาพแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางได้อีกด้วย

“ครูจะกรอกข้อมูลเด็กทุกคนและประเมินออกมา หากพบเด็กกลุ่มเสี่ยงก็จะดำเนินการให้ครูประจำชั้นพูดคุยกับเด็ก เพื่อสร้างความไว้ใจ ความมั่นใจ ให้เด็กกล้าสะท้อนปัญหาออกมา หากพบว่าปัญหามีความซับซ้อนก็จะเรียกผู้ปกครองของเด็กมาคุย เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหาที่ครอบครัวกำลังเผชิญอยู่ แล้วช่วยกันหาทางออก เช่น หาทุนการศึกษามาดูแลช่วยเหลือ หรือถ้าพบว่าเป็นปัญหาใหญ่ ก็จะใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีขั้นตอน พร้อมด้วยวิธีการและเครื่องมือการทำงานที่ชัดเจน โดยมีครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินการ ร่วมด้วยบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา ตั้งแต่คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา และครูทุกคนในโรงเรียนที่จะมีส่วนร่วมช่วยเหลือด้วยกันทั้งหมด”

รวมพลังทุกสัปดาห์ ผ่าน ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’

วสันต์ แสนตา ครูโรงเรียนแม่พริกวิทยา อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง กล่าวว่า การจัดการปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางจะทำโดยครูทุกคนในโรงเรียน มีการประชุมเพื่อหาทางออกผ่านกระบวนการ Professional Learning Community (PLC) หรือ ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’ ในทุกสัปดาห์ เพื่อรวมตัว รวมใจ รวมพลังสร้างกระบวนการ บนความร่วมมือของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา ซึ่งผลที่ได้รับกลับมาจากกระบวนการ PLC คือ ไม่เพียงช่วยเหลือดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางเท่านั้น หากยังสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กทุกคนในโรงเรียนได้อีกด้วย

“เราเริ่มจากมาตรการให้ครูเยี่ยมบ้านเด็กรายคน ซึ่งจะช่วยให้ทราบปัญหาและหาทางช่วยเหลือได้ตรงจุดที่สุด แต่หากเป็นปัญหาที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ครูจะนำเรื่องราวรายละเอียดของปัญหากลับมาคุยกันจนตกผลึก จนได้วิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา แต่หากไม่ได้ผลก็จะใช้วิธีอื่น เช่น หากพบว่าเด็กประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียน นอกจากการขอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว โรงเรียนยังใช้วิธีระดมทุนจากภาคเอกชนและศิษย์เก่า เพื่อนำมาจัดสรรให้เด็กอย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และนำทุนมาจัดทำโครงการกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เปิดพื้นที่พักนอนในโรงเรียนให้กับเด็กกลุ่มบ้านไกล หรือจัดตั้งกิจกรรมสร้างรายได้ระหว่างเรียน อย่างการเพาะพันธุ์ไม้สวยงาม ซึ่งเป็นทั้งการฝึกอบรมอาชีพ และช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษากลางทาง”