ต้นทุนที่มากกว่าของเด็กบนพื้นที่ห่างไกล และความเสียเปรียบของ รร.ขนาดเล็ก​​

ต้นทุนที่มากกว่าของเด็กบนพื้นที่ห่างไกล และความเสียเปรียบของ รร.ขนาดเล็ก​​

ถ้าเรามองว่าการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ข้อมูลชุดนี้ทุกคนต้องหันมามอง และเอาไปใช้เพื่อตัดสินใจและใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) สะท้อนสภาพปัญหาในปัจจุบันว่าประเทศไทยลงทุนไปกับการศึกษาไปไม่น้อย และมากกว่าประเทศในกลุ่ม OECD แต่ผลลัพธ์ที่ผ่านมากลับไม่สะท้อนถึงความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ลงไป นำมาสู่การปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มองว่าเป็นต้อตอของความเหลื่อมล้ำคือ การจัดสรรแบบจ่ายรายหัวในปัจจุบัน ที่เด็กทุกคนจะได้รับการอุดหนุนเท่ากันทั้งประเทศ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะอยู่ในพื้นที่ในเมือง หรือชนบทห่างไกล ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน ไปจนถึงสูตรคำนวณสนับสนุนโรงเรียนจากจำนวนนักเรียนยิ่งโรงเรียนมีเด็กมากยิ่งได้มาก เด็กน้อยยิ่งได้น้อย ที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบยากจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร มองว่า NEA ทำให้มองเห็นภาพการจัดงบประมาณด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม จากแต่ก่อนที่จะมี NEA เราเคยคุยกันว่าวิธีการจัดงบแบบหารยาว สมมติมีเด็ก 100 คนแล้วเอา 100 มาหารเท่าทุกคนไม่เหมาะสม ไม่ใช่ความเท่าเทียม แต่ก็เป็นการพูดลอยๆ ปราศจากข้อมูลซัพพอร์ตในการตัดสินใจเชิงนโยบาย แต่เมื่อมี NEA ทำให้มีข้อมูลชัดเจนว่าตัวเลขเป็นอย่างไรเอาไปใช้ที่ไหนบ้าง

“​ต้องขอขอบคุณทีมงานที่ทำระบบ​ NEA นี้ขึ้นมา เพราะเมื่อพูดถึงนโยบายก็จะตัดสินใจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมาชี้แจงต่อสังคมว่าทำไมเราให้เงินตรงนั้นมากกว่าตรงนี้ เพราะคนที่ไม่เคยเข้าใจข้อมูล เขาก็จะเข้าใจว่าเขามีสิทธิ หรือความเท่าเทียมกันควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐเหมือนกัน คำว่าเท่ากันอาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์แบบนี้  

ดังนั้นถ้าเราไม่มีตัวเลข ข้อมูลตรงนี้ก็จะทำให้ความเข้าใจสังคมคลาดเคลื่อน เมื่อเราโชว์ตัวเลขให้ปรากฏมีข้อมูลชัดเจนก็จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่าย”

 

ความเสมอภาคไม่ได้หมายถึงได้เท่ากันทุกคน
แต่ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ในคุณภาพที่เท่ากัน

ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย

สำหรับข้อเสนอที่จะให้ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษานั้น ผอ.ศุภโชค เห็นด้วยว่า เป็นแนวคิดที่มาถูกทางเพราะ​มาตรการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเรียนฟรี 15 ปี ในปัจจุบันที่ให้เหมือนกันหมดทั้งพื้นที่ในเมืองหรือพื้นที่ห่างไกลอาจไม่ใช่แนวคิดที่เหมาะสม เพราะเด็กในเมืองอาจมีความพร้อมด้านเครื่องแต่งกายอุปกรณ์แล้วแต่รัฐก็ยังสนับสนุน ขณะที่เด็กยากจน ห่างไกลถิ่นทุรกันดารมีความจำเป็นสูงกว่านั้นแต่ก็ได้เท่ากัน ดังนั้น ควรจะมาหาข้อสรุปเพื่อความเหมาะสม

“ถ้าเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาคในที่นี้ไม่ได้หมายความทุกคนได้เท่ากัน แต่ความเสมอภาคคือทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ในคุณภาพที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เด็กให้มีคุณภาพในการเรียนรู้ ไม่ขาดเรียน เด็กบางคนจำเป็นต้องให้เขามีอาหารกลางวันกินมากกว่าเด็กในเมือง เพื่อที่เขาจะได้มาเรียนรู้เท่ากับที่อยู่ในเมือง ​เพราะบางเรื่องคนที่มีฐานะดีก็สามารถซัพพอร์ตตัวเองได้ น่าจะไปช่วยเด็กที่ด้อยโอกาสกว่า มุมมองของการจัดงบประมาณแบบเท่ากัน ผมว่าควรจะมีการทบทวนใหม่”​

 

ต้นทุนที่มากกว่าของเด็กบนพื้นที่ห่างไกล
และความเสียเปรียบของ รร.ขนาดเล็ก​​

ที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร ยกตัวอย่างว่า ด้วยเงินอุดหนุนซื้อเสื้อผ้าอุปกรณ์การเรียนที่เท่ากัน เด็กนักเรียนคนหนี่งมาบ่นว่าแค่ค่ารถก็หมดแล้วเพราะเขาต้องเดินทางจากดอยลงมาซื้อที่ร้านในเมือง แต่เด็กที่อยู่ในเมืองเขาก็ไม่มีต้นทุนเรื่องเดินทางแค่นี้ก็ต่างกัน หรือการปรับปรุงโรงเรียนพื้นที่ราบซื้อทรายคิวละ 400 บาท แต่บนดอย จะสูงถึง 1,500 บาทเพราะมีค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมาที่เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณ

อีกประเด็นคือการจัดสรรเงินรายหัวตามจำนวนเด็กนักเรียน ครูที่โรงเรียนเพิ่งได้ไปบรรจุเป็นผอ.โรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง มีเด็ก 27 คน คูณรายหัวแล้วได้เงินทั้งปี 4-5 หมื่นบาท แต่มีค่าใช้จ่ายอย่างค่าไฟก็สูงถึง 2 หมื่นบาทแล้ว เหลือเงินไปพัฒนาโรงเรียนอีกแค่ไม่กี่บาท ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมสำหรับบางโรงเรียนที่มีเด็กน้อย หรือในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณแบบเท่ากันหมดจะยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำห่างไกลไปกว่าเดิม

 

​คิดสูตรอุดหนุนการศึกษาใหม่
พิจารณา​ปัจจัยตามบริบทรายพื้นที่

ทางออกของปัญหานี้ ผอ.ศุภโชค เสอนว่า  รัฐต้องคิดสูตรใหม่ในการช่วยเหลือโรงเรียนโดยอาจแบ่งเป็นส่วนๆ  ส่วนแรกเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคค่าน้ำค่าไฟที่เดิมส่วนกลางเคยสนับสนุนแต่ตอนหลังเปลี่ยนมาให้โรงเรียนรับผิดชอบเองเพราะรัฐปรารถนาดีอยากให้ช่วยรัดเข็มขัด ซึ่งเราอาจใช้วิธีให้งบค่าสาธารณูปโภคโดยคำนวณจาก ค่าใช้จ่าย 2-3 ปี ที่ผ่านมา เพื่อลดภาระส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สองความยากลำบากหรือเศรษฐกิจฐานะชุมชน ความยากจนของผู้ปกครอง อาจดูสัดส่วนได้จากพื้นที่มีกี่คนที่ได้รับงบยากจนพิเศษ และมาคำนวณว่าพื้นที่ที่ยากจนมากต้องได้รับการสนับสนุนมาก หรืองบอาหารกลางวันที่อาจขยายจาก ป.6 ในบางพื้นที่ เพื่อช่วยให้เด็กในบางพื้นที่ที่มีฐานะยากจนมาก ไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

“เราอาจแบ่งงบเป็นก้อนๆ ​ที่เราต้องปรับวิธีคิดใหม่ ส่วนที่ต้องได้เป็นเบสไลน์ ก็วางเป็นพื้นฐานไว้ ส่วนที่ต้องท็อปอัพถมให้เต็ม ก็ต้องทำให้เขา เพื่อให้เขายืนในพื้นที่เสมอกันก่อน โดยเอาสูตรใหม่มาดูและให้นักเศรษฐศาสตร์ช่วยเข้ามาคำนวณ​หรือการคำนวณตามราย โรงเรียนที่เด็กน้อยกว่า 120 คนอาจมีตัวเลขขั้นต่ำให้เขาอยู่ได้”

 

ทุกคนต้องหันมามองและเอาข้อมูล NEA ไปใช้
เพื่อการจัดงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ 

ผอ.ศุภโชค สรุปว่า ข้อมูลจาก NEA เป็นข้อมูลที่หน่วยงานหลักทั้ง โรงเรียนรัฐก็ต้องใช้ข้อมูลชุดนี้ สพฐ.ที่ดูแลโรงเรียนสามหมื่นแห่งก็น่าจะมาพิจารณาข้อมูลเพื่อพัฒนาการจัดสรรงบประมาณในการจัดสรรเงินอุดหนุน 15 ปี ที่ หากใช้สูตรเดิมก็ยังไม่ตอบโจทย์ แต่หากเขาไม่เปลี่ยนแต่เมื่อสังคมเห็นข้อมูลนี้ก็จะสามารถไปสื่อสารหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งที่ผ่านมามักติดระเบียบเรื่องการตีความความเสมอภาค เท่าเทียมซึ่งเป็นการกลัว คิดไว้ก่อนแล้วไม่ได้ทำ  หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นซึ่งติดกับดักกฎหมายบางข้อ ทั้งที่กฎหมายอาจไม่ได้บังคับอย่างนั้นแต่กลัวแล้วตีความอย่างนั้น

“ถ้าเรามองว่าการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ข้อมูลชุดนี้ทุกคนต้องหันมามอง และเอาไปใช้เพื่อตัดสินใจและใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ” ที่ปรึกษาชมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร กล่าวทิ้งท้าย