วันแรกที่ อุดม กูลดี มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ก็มีครูคนหนึ่งที่เดินมาบอกเขาว่า กำลังจะย้ายไปโรงเรียนอื่น เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องปกติของโรงเรียน ที่ครูมักจะบรรจุที่โรงเรียนอยู่ประมาณ 1-2 ปี ก่อนจะขอย้ายไปที่อื่น
สำหรับเขานี่ถือเป็นโจทย์รับน้องที่เขาต้องหาทางแก้ไขในฐานะผู้นำโรงเรียน ผอ.อุดมมองว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่เลือกได้ว่า อยากทำงานที่ไหน การออกมาทำงานไกลบ้าน อยู่บนเกาะที่ห่างไกลแผ่นดินใหญ่ ย่อมไม่ได้สะดวกสบาย โดยเฉพาะการเดินทาง
“ผมว่าทุกคนอยากกลับบ้าน ต่อให้อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้าน เขาอยากกลับไปอยู่กับครอบครัว อยากกลับไปอยู่ที่ที่เคยอยู่ เขามาอยู่บนเกาะจะกลับบ้านที่ลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ไม่สะดวกสบาย ต้องนั่งเรือไปรักษา เวลาเกิดคลื่นลมมีความเสี่ยงอันตรายในชีวิต เขาก็คิดว่ากลับบ้านดีกว่า เหมือนเราที่มีความตั้งใจว่าอยากกลับบ้าน ก็ไม่ได้ห้ามใครจะกลับบ้าน เข้าใจวิถีชีวิตเขา ผมเชื่อว่าถ้ากลับไปอยู่กับครอบครัว เขาก็มีความสุขกับการทำงาน”

งานแรกของอุดมในฐานะผอ.โรงเรียน คือ การแก้ปัญหาครูโยกย้าย เขาเริ่มจากการทำนโยบาย ‘ชวนน้องกลับบ้าน’ ชวนครูที่เป็นคนเกาะยาวใหญ่ ที่ไปสอนพื้นที่อื่น ให้ขอย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียน จนขยับมาเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็กขาดโอกาสได้เรียนครูตามความฝัน และแก้ปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องจบออกมาบรรจุในโรงเรียนใกล้บ้านอย่างน้อย 6 ปีหลังเรียนจบ
เพราะเกาะยาวใหญ่เป็นบ้านเกิดของ ผอ.อุดม และความรักในการทำงานอยู่ในระบบการศึกษา จึงเป็นความตั้งใจของเขาที่อยากกลับมาอยู่บ้านเกิด พัฒนาระบบการศึกษาและชุมชน ซึ่ง ผอ.อุดมไม่ได้มีเป้าหมายนี้เพียงคนเดียว คนอื่นๆ บนเกาะต่างมีเป้าหมายนี้เช่นกัน กลายเป็นการรวมพลังภายใต้โจทย์ที่ว่าต้องพัฒนาเกาะยาวใหญ่ให้ดีขึ้น การเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของโรงเรียนอ่าวกะพ้อกลายเป็นผลพลอยได้หนึ่ง มันช่วยแก้ปัญหาที่โรงเรียนมีมาตลอด ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาชุมชน

เด็กไม่ออกมาทำงานก็ย้ายไปเรียนต่อที่อื่น การเสพยาเสพติด สารพัดปัญหาบนเกาะยาวใหญ่ที่แก้ผ่านความเชื่อของ ‘ศาสนาอิสลาม’
“เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในใจผม ตอนที่ผมเป็นวัยรุ่นเพื่อนติดยาเสพติดเยอะ มีอาการหลายๆ อย่าง เช่น ลงแดง เสียชีวิตไปก็หลายคน ผมก็ต้องไปช่วยทำศพให้เขา มันเป็นอะไรที่เศร้าใจมาก ก็คิดว่าสังคมบ้านเราต้องอยู่แบบนี้เหรอ แล้วลูกหลานเราต่อไปจะอยู่อย่างไร”
การใช้ชีวิตบนเกาะที่ยาวนานจนเข้าทำเนียบคนเก่าคนแก่ ก็ทำให้สมบูรณ์ อาษาราษฏร์ วิทยากรอิสลามศึกษา ประจำโรงเรียนอ่าวกะพ้อ ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างปัญหาการเสพยาของวัยรุ่นบนเกาะ ก็มีต้นตอส่วนหนึ่งมาจากที่ต้องออกจากการเรียนกลางคัน ไม่ว่าด้วยฐานะเศรษฐกิจครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย หรือถูกส่งไปเรียนข้างนอกแล้วเรียนไม่จบ ต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน ชีวิตของเด็กหลายคนจึงไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ หรือไม่มีโอกาสเติบโต

เป็นความตั้งใจที่สมบูรณ์อยากพัฒนาเกาะยาวใหญ่ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะที่ชุมชนในตำบลพรุในที่เขาอาศัยอยู่ ‘ศาสนาอิสลาม’ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สมบูรณ์มองว่า จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ผู้ที่นับถือจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจหลักคำสอนอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เข้าถึงวิถีชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนา เด็กๆ ถูกส่งไปเรียนศาสนาตั้งแต่ยังเล็กๆ สถานที่เรียนถ้าไม่ใช่ที่มัสยิดที่จะมี ‘โต๊ะครู’ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามสอน ก็จะเป็นที่ ‘ปอเนาะ’ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้น
น่าเสียดายที่สภาพแวดล้อมบนเกาะยาวใหญ่ไม่สามารถดึงดูดใจผู้ปกครองให้ส่งลูกมาเรียนได้ พวกเขาตัดสินใจส่งลูกไปเรียนที่อื่นตามแต่กำลังทรัพย์ที่มี ยะลา ภูเก็ต ตรัง ฯลฯ คือจุดหมายที่ครอบครัวนิยมส่งไป ความห่างเหินเลยเกิดขึ้นภายในครอบครัว และมีผลต่อประสิทธิภาพในการเรียน
“เมื่อเด็กเรียนไม่จบ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เรื่องเงิน ส่งไปเรียนได้ถึงม.5 ไม่มีทุนส่งต่อ ก็ต้องย้ายกลับมา หรือความห่างเหิน พ่อแม่ไม่ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ส่งไปอย่างเดียว ไม่รู้ว่าลูกฝั่งโน้นเรียนหรือเปล่า ถ้าลูกคุณตั้งใจเรียนก็โอเค แต่ถ้าไม่ตั้งใจเรียนก็มีโอกาสที่จะเรียนไม่จบ ไม่สนใจเรียน แต่พ่อแม่บางคนไม่เห็น เหมือนปิดหูปิดตา อยู่ห่างไกลด้วย บางทีไปหวังกับครูให้ดูแล เขาเองก็มีเด็กที่ต้องดูแลเป็นร้อยคน เรามีลูกคนเดียวต้องซัปพอร์ตให้ถูกต้อง”

เป็นเรื่องที่ผอ.อุดมเห็นตรงกัน เกิดการผลักดันให้โรงเรียนอ่าวกะพ้อใช้ ‘หลักสูตรอิสลามศึกษา’ คือ จัดให้มีการสอนศาสนาอิสลามควบคู่ไปกับวิชาอื่นๆ นี่ก็เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง เปิดโอกาสให้โรงเรียนในพื้นที่ที่ประชากรนับถืออิสลามเป็นส่วนใหญ่ สามารถออกแบบจัดการเรียนการสอนศาสนาได้
หลักสูตรนี้เปิดให้จ้างวิทยากรอิสลามศึกษา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามเข้ามาสอนได้ สมบูรณ์ก็เลยได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมผ่านตำแหน่งวิทยากรอิสลามศึกษา สอนศาสนานักเรียนอ่าวกะพ้อทุกชั้น
ความเข้มข้นของการสอนศาสนาบนเกาะยาวใหญ่ช่วยลดอัตราการส่งเด็กๆ ออกไปเรียนข้างนอก รวมถึงลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
“เราเป็นโรงเรียนรัฐบาล จะได้เปรียบกว่าโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ที่เขาเปิดสอนศาสนาโดยเฉพาะ เด็กเรามีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากกว่า เพราะเราสอนวิชาสามัญด้วย” ผอ.อุดมขยายเพิ่มเติม

จากชวนครูกลับบ้าน สู่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
ประชากรบนเกาะยาวใหญ่นับถือศาสนาอิสลามเกือบ 90% ศาสนาเลยเป็นหนึ่งในสิ่งที่เชื่อมคนทั้งเกาะไว้ด้วยกัน ภาพที่เห็นชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และมัสยิด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม โรงเรียนเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น การเลือกตั้ง ประชุมหมู่บ้าน และกิจกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถจัดที่มัสยิดได้อย่างจัดสอบคุรุสัมพันธ์ การสอบสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
บ่อยครั้งที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อมักส่งนักเรียนและบุคลากรครูไปช่วยงานมัสยิดและชุมชน ขณะเดียวกันมัสยิดและชุมชนเองก็พร้อมจะส่งคนมาช่วยงานโรงเรียนเช่นเดียวกัน
“ที่เกาะยาวใหญ่เรารู้จักทั้งเกาะ มีความสนิทสนมจนกลายเป็นความผูกพันอย่างพี่น้อง เราถือว่าเด็กทุกคนเป็นเด็กของชุมชน เพราะฉะนั้นมีกิจกรรมอะไรที่ช่วยได้จะส่งเด็กไป เช่น จะไปช่วย ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น พิธีต้อนรับเด็กแรกเกิด ขึ้นบ้านใหม่ คนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในพิธีต่างๆ ละหมาดให้คนตาย (ละหมาดญะนาซะห์) ส่งเด็กๆ ไปช่วย ส่วนครูผู้หญิงก็จะไปช่วยทำครัวทำอาหาร บางทีโรงเรียนก็ซื้อข้าวสาร 1 กระสอบช่วยเขา ทำให้โรงเรียนกับชุมชนจะผูกพันกันมาก”

สำหรับผอ.อุดม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูในโรงเรียนควรเป็นคนในพื้นที่ เพราะพวกเขารู้จักพื้นที่ดี และสามารถใช้ชีวิตในความสัมพันธ์นี้ ที่สำคัญมันช่วยลดจำนวนการย้ายของครูที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในโรงเรียนยาวนาน
“ผมว่าทุกคนอยากกลับบ้าน ต่อให้อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้าน เขาอยากกลับไปอยู่กับครอบครัว อยากกลับไปอยู่ที่ที่เคยอยู่ เขามาอยู่บนเกาะจะกลับบ้านทีลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ไม่สะดวกสบาย ต้องนั่งเรือไปรักษา เวลาเกิดคลื่นลมมีความเสี่ยงอันตรายในชีวิต เขาก็คิดว่ากลับบ้านดีกว่า เหมือนเราที่มีความตั้งใจว่าอยากกลับบ้าน ก็ไม่ได้ห้ามใครจะกลับบ้าน เข้าใจวิถีชีวิตเขา ผมเชื่อว่าถ้ากลับไปอยู่กับครอบครัว เขาก็มีความสุขกับการทำงาน”
ก่อนจะเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ผอ.อุดมมีความตั้งใจทำนโยบาย ‘ชวนน้องกลับบ้าน’ คือ ชวนครูๆ ย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียน แต่นโยบายนี้มีความยากตรงที่ว่า ครูที่จะย้ายมาและโรงเรียนปลายทางต้องระบุคำขอให้ตรงกัน การย้ายจึงจะสมบูรณ์
แต่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นแตกต่างออกไป คือ เป็นการคัดเลือกเด็กในพื้นที่ไปเรียนครู เพื่อกลับมาบรรจุที่บ้านเกิด ทำให้คนในโรงเรียนและชุมชนเองได้เห็นพัฒนาการเด็ก เกิดความใกล้ชิด
วิฑูรย์ บุญสพ กำนันตำบลพรุใน เล่าให้ฟังว่า ความใกล้ชิดระหว่างครูกับผู้ปกครองเป็นสายใยที่เกิดขึ้นมานาน ผู้ปกครองไม่ได้พูดคุยกับครูแค่เรื่องผลการเรียน หรือต้องการแค่ใบเกรด แต่อยากสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา รวมไปถึงทำให้บรรดาคุณครูที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองได้อบอุ่นใจเหมือนยังอยู่บ้านตัวเอง
“มันเป็นแนวทางของโรงเรียนอ่าวกะพ้อดั้งเดิม สมัยผมเด็กๆ ครูจะมาจากจังหวัดไหนก็ตาม ถ้ามาบรรจุที่โรงเรียนนี้จะได้รับการต้อนรับจากคนในชุมชนอย่างดี เขาจะไม่ยอมให้ครูต้องหุงข้าวกินเอง ต้องไปกินกับคนในชุมชน อยู่แล้วมันเกิดความผูกพันมีความสุข โครงการนี้ทำให้เราได้ความสัมพันธ์นี้กลับมา”

ทุกๆ เช้า ผู้ปกครองจะไปทักทายครูเมื่อส่งลูกๆ พอถึงมื้ออาหารเย็นก็ชวนครูมากินข้าวที่บ้าน กำนันบอกว่า ถือเป็นการแข่งขันเล็กๆ ด้วยซ้ำ ถ้าบ้านหลังไหนได้ตัวครูไปกินข้าวด้วย ก็จะมีบ้านอื่นๆ ต่อคิวรอชวนครูไปกินข้าวต่อ
แต่น่าเสียดายที่ความสัมพันธ์นี้ค่อยๆ เบาบางลง เลยเป็นโอกาสดีที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์นี้ให้กลับมา
เมื่อครูรัก(ษ์)ถิ่น พร้อมเป็นนักพัฒนาชุมชนไปด้วย
ปัจจุบันครูรัก(ษ์)ถิ่นดำเนินมาถึงรุ่นที่ 5 และเร็วๆ นี้ครูรุ่นที่ 1 กำลังจะจบการศึกษา กลับไปบรรจุที่โรงเรียนในบ้านเกิด ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว หรือมู เป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกของอ่าวกะพ้อ ตอนนี้ทั้งโรงเรียนและชุมชนเลยต่างเฝ้ารอคอยการกลับมาของมู

ที่ใช้คำว่า ‘กลับ’ เพราะการเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น นักศึกษาครูต้องกลับไปสังเกตการณ์สอนที่โรงเรียนที่ตัวเองจะไปบรรจุทุกปีการศึกษา และการเรียนปีสุดท้ายจะต้องไปฝึกสอนที่นั่น คนในโรงเรียนและชุมชนจึงคุ้นเคยกับมูเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสมบูรณ์ที่รับบทที่ปรึกษาให้มูตอนทำผลงานจบ คือ ออกแบบนวัตกรรมการศึกษา สิ่งที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องทำ มูเลือกทำเป็นนิทานพิธีฮัจญ์ (Hajj) หนึ่งในพิธีสำคัญของคนมุสลิม การปฏิบัติศาสนกิจสำคัญของชาวมุสลิมตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ซึ่งจะต้องทำพิธีที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย พิธีจะทำในวันที่ 8 – 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือนที่ 12 ในปฏิทินอิสลาม) ของทุกปี
การเดินทางไปซาอุดีอาระเบียถือเป็นเรื่องใหญ่ของบางคน ทั้งเรืองค่าใช้จ่ายและความยากในการเดินทาง พิธีฮัจญ์เลยเป็นเพียงความฝันสำหรับบางคน นิทานของมูเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีและนำนิทานนั้นมาจำลองเป็นพิธีกรรมในโรงเรียน เพื่อให้คนที่ไม่เคยไปได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ ส่วนคนที่วางแผนว่าจะไป จะได้เรียนรู้ข้อมูลก่อนเพื่อเตรียมตัว

ซึ่งการทำโปรเจกต์นี้ไม่ได้มีแค่สมบูรณ์ ยังมีคนอื่นๆ ในเกาะยาวใหญ่พร้อมมาช่วย เพราะพวกเขารู้สึกว่า โอกาสไปถึงพิธีอาจยาก เช่นนั้น การมาร่วมพิธีจำลอง ได้สัมผัส รับรู้ข้อมูลสำคัญ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี และได้ช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยกัน
“จำลองพิธีขึ้นมา จัดเป็นจุดๆ ให้คนเดินไป มีใช้สนามฟุตบอลโรงเรียน ใต้ถุนอาคารเรียน มัสยิด แต่ละจุดก็อธิบายว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง จัดให้สมจริงที่สุด เด็กๆ เราเอาแค่ชั้นมัธยมเพราะคุยง่ายกว่า ได้ความรู้จากตรงนี้ด้วย” สมบูรณ์ย้อนความหลังให้ฟัง ถึงวันที่จำลองพิธีฮัจญ์บนเกาะยาวใหญ่
เด็กกิจกรรม ตั้งใจเรียน อัธยาศัยดี ช่วยเหลือครอบครัว สิ่งที่คนเกาะยาวใหญ่รับรู้ได้จากตัวของมู เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น การเป็นคนในพื้นที่และเข้าไปช่วยเหลือทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้วิฑูรย์รู้สึกว่า เมื่อมูกลับมาเขาจะไม่ได้เป็นแค่ครูในโรงเรียน พัฒนานักเรียน แก้ปัญหาที่ผ่านๆ มา แต่เขาสามารถเป็น ‘นักพัฒนาชุมชน’ ได้ด้วย

“ผมสนิทกับมูเพราะได้สังเกตเขามาตั้งแต่แรกๆ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็จะรายงานเป็นระยะว่า ตอนนี้เขาพัฒนามูไปถึงไหนแล้ว เราก็ได้รู้ได้ติดตามข่าวการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ไป ซึ่งผมว่าดีมาก แล้วสุดท้ายที่ผมเห็นผลงานจบของมู ผมกลับมาคิดว่า เราไม่ได้แค่ครู แต่เราได้นักพัฒนาชุมชนด้วย
“ตอนนี้ชีวิตมูกลายเป็นตัวอย่าง เสริมความมุ่งมั่นของเด็กๆ ความมานะอุตสาหะ มูเป็นต้นแบบ เขาไม่เที่ยว บุหรี่ไม่สูบ ตั้งใจเรียน กลับมาพัฒนาชุมชน” กำนันเสริม
สำหรับผอ.อุดม เขาไม่มีลิสต์ความคาดหวังว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกต้องเป็นอย่างไร นอกจากกำลังใจในฐานะคนที่มีเป้าหมายเหมือนกัน เพราะการได้อยู่ใกล้ชิดตั้งแต่คัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการ ได้เห็นความกระบวนการพัฒนาจากนักเรียนเป็นนักศึกษาครู และวันนี้กำลังจะกลายเป็นครูเต็มตัว ทั้งหมดทำให้ผอ.อุดมไม่มีคำถาม หรือความกังวลใดๆ
“ผมตั้งใจทำโครงการชวนน้องกลับบ้านอยู่แล้ว พอมาเห็นโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มันตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาในชุมชนจริงๆ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่แบบนี้ เป็นเกาะห่างไกล ยิ่งเราได้เด็กที่มาจากชุมชนเราเอง ไปผ่านกระบวนการพัฒนาที่มหาลัย ซึ่งเขาทำดีมาก จากที่เราได้ไปเห็น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมมั่นใจว่าวันที่เขาเดินทางกลับมาที่นี่ เขาจะมาเป็นครูที่ดีในโรงเรียน สามารถทอดถ่ายความรู้ให้เด็กและอยู่ร่วมกับชุมชนได้” ผอ.อุดมทิ้งท้าย