สังคมสูงวัยกำลังต้องการผู้ช่วยพยาบาล รศ.ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์
กับภารกิจหยุดจนข้ามรุ่นและพาเด็กไปถึงฝั่งด้วยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

สังคมสูงวัยกำลังต้องการผู้ช่วยพยาบาล รศ.ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์

“อาจารย์ชุบชีวิตหนู” 

คือคำพูดที่จำติดใจของ อ.น้อย รศ.ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เล่าให้ฟังในวันมอบประกาศนียบัตรหรือวันจบการศึกษาของนักศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา  

คำว่า ‘ชุบชีวิต’ ไม่ไกลเกินจริงเลยสำหรับนักศึกษาหลักสูตรนี้ที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าแก่เยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และหนึ่งในนั้นคือ ผู้ช่วยพยาบาล ที่ใช้เวลาศึกษาเพียง 1 ปีก็ออกมาทำงานได้ 

คนนราธิวาสโดยกำเนิดอย่างอ.น้อยที่จะเกษียณในปีนี้ บอกว่าความเป็นจังหวัดยากจนที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทำให้เด็กและเยาวชนหลายคนต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว หลายคนจบม.3, ม.6 แล้วไปทำงานมาเลเซียหรือไม่ก็กรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่อยากเรียนต่อ 

นักศึกษาผู้ช่วยพยาบาลที่อาจารย์ดูแลก็คงจะเดินตามเส้นทางนั้น ถ้าไม่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

และอ.น้อย คือ ตัวตั้งตัวตีคนสำคัญที่ผลักดันให้หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลเข้าไปเป็นหนึ่งในทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง นั่นเพราะในอดีตอาจารย์คือเด็กทุนคนหนึ่งเหมือนกัน เลยเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าโอกาสทางการศึกษานั้นสำคัญแค่ไหน 

ยืนยันจากสถิติการมีงานทำของนักศึกษาที่ได้รับทุนในปี 2565 ทั้งหมด 30 คน มีงานทำแล้ว 28 คน ศึกษาต่อ 2 คน 

และบทสนทนาต่อจากนี้ไป คือ การตอบคำถามว่าทำไม ‘ทุนมนุษย์’ ถึงเป็นหนึ่งในทุนที่สำคัญที่สุด และ ทุนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลคือการไปติดอาวุธให้มีความรู้ไปช่วยชีวิตคนได้อีกหลายร้อยหลายพันชีวิต

ทราบมาว่า อาจารย์เกิดและโตที่นราธิวาส และเป็นเด็กทุนเหมือนกัน 

เกิดที่นี่และเรียนที่นี่ หลังจากนั้นไปศึกษาระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยพยาบาลสงขลาด้วยทุนอาจารย์พยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะเราชอบสอน ชอบถ่ายทอดมากกว่าไปอยู่โรงพยาบาล 

โดยพื้นฐาน ตัวเองเป็นเด็กกำพร้า พ่อเสียชีวิตตอนแปดขวบ แม่มีลูกหกคน ตัวเองเป็นคนสุดท้อง พยายามแบ่งเบาภาระแม่มาตลอด พออยู่มัธยม เราได้ทุนเด็กกำพร้าเรียนดีภาคใต้ทุกปี ปีละ1,200บาท  จนเข้าเรียนพยาบาลก็ตั้งใจเรียนเพราะอยากเรียนปริญญาโท 

เลยกลายเป็นว่าถ้าเห็นเด็กขยันตั้งใจ เราจะชอบเด็กเหล่านั้น โดยเฉพาะเด็กที่ลำบากแล้วขวนขวายหาเงิน แล้วพอมาเจอทุน กสศ. ใจก็สะท้อนว่าทุนมันมีค่านะ เรายังเคยได้แล้วก็สร้างชีวิตตอนแรก มหา’ลัยก็ถามว่า อาจารย์ศิริพันธุ์สนใจมั้ย เราก็ตาลุกวาว เออ มันเป็นยังไง ก็เริ่มโทรไปหาคนนู้นคนนี้

พออยากได้หรืออยากรู้อะไร ตัวเองจะกัดไม่ปล่อย เลยให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาสที่เคยได้ทุนนี้ก่อน มาเป็นพี่เลี้ยงให้ 

ทุนนี้แตกต่างจากทุนอื่นยังไง

ตามระบบ TCAS เราแทบจะไม่ค่อยได้ไปหาเด็ก มีแต่เด็กมาหาเรา ปีหนึ่งๆ สมัครสองพันกว่าคนแล้ว โดยที่เราไม่ต้องไปดูเลยว่า เขาอยู่อย่างไร เราแค่นั่งสัมภาษณ์อย่างเดียว เด็กส่วนใหญ่ก็พร้อม ทั้งค่าใช้จ่าย ทั้งสติปัญญา พูดตรงๆ ว่าเรามีตัวเลือกเยอะ แต่พอมาทุนผู้ช่วยพยาบาล เราต้องไปคัดกรองเด็กยากจนเอง แต่จะยากจนขนาดไหนเนี่ยตอนแรกเราไม่รู้เลย เราเองก็เป็นคนจน แต่จนแบบลูกข้าราชการ แม่เป็นครู ก็ยังดูดี แต่จนของเด็กคือจนในแบบที่เราจินตนาการไม่ได้เลย 

ตอนลงพื้นที่ไปคัดกรองนะ เราก็ “ยังไม่ถึงอีกหรือ  เข้าป่ายาง(ยางพารา)แล้วก็เดินอีก เข้าไปในสวนก็ยังไม่เห็นบ้านเขา ต้องเลาะแนวป่าถึงเจอบ้าน แล้วในทีมอาจารย์ต้องเอาคนมุสลิมไปด้วย เพราะว่าบางทีพ่อแม่พูดไทยไม่ได้ แต่เราต้องไปให้ถึงบ้านเพื่อให้เห็นความตั้งใจและความอยากเรียนของเขา 

จนในแบบที่จินตนาการไม่ได้ของอาจารย์เป็นอย่างไร 

บางวันไม่มีข้าวกิน กินแต่น้ำ  แบ่งข้าวสารเพื่อจะกินให้ได้ทั้งห้าวัน ห้องน้ำไม่มี ห้องน้ำก็คือเข้าป่า บางที่ห้องน้ำแค่เอาผ้ายางกั้น แล้วเป็นเด็กสาว มันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง คือไม่มีส้วม เขาเองก็ไม่เคยเห็นว่าห้องส้วมจริงๆ เป็นยังไง ส่วนสภาพบ้าน ถ้าเดินไม่ดี พังนะ เขาจะให้เราเดินตามแนวตะปู เพราะตรงนั้นมันจะแข็งแรง 

ไปอยู่บ้านนึง ถามว่า “หนูนอนตรงไหน” เขาก็ชี้ไปที่ห้องไม้ปุๆ แล้วก็บอกว่า  “แต่ว่ามันไม่แน่นะอาจารย์ เพราะว่า ถ้าตรงนั้น ฝนตก มันรั่ว หนูต้องย้ายจากตรงนั้น ไปอีกจุดนึง เพราะหลังคามันรั่ว เพราะฉะนั้นบ้านหลังนี้  หนูนอนทั้งหลังเพื่อที่จะหนีฝน”

วัฒนธรรมที่นี่เองมีผลต่อค่านิยมการเรียนต่อมากแค่ไหน โดยเฉพาะผู้หญิง 

ปัจจุบันดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ สมัยก่อนเด็กผู้หญิงที่นี่ไม่ได้เรียนเยอะ ส่งผลถึงรายได้ครอบครัวที่ไม่พอ

ด้านหนึ่ง มันทำให้เด็กบางคนพอได้ไปเรียนหนังสือ เขาใฝ่เรียน อยากเรียนต่อ ในขณะที่ทางบ้านไม่มีเงิน แต่ก็ฝ่ามาได้ไม่เยอะ ครอบครัวนึงได้มาคนนึง คนที่เหลือก็ออกไปทำงานกับพ่อ ทำงานก็ได้เงินไม่เยอะ เพราะจบแค่ป.6 ม.3 พอไม่มีเงิน ก็มีแนวโน้มก่ออาชญากรรม มันเป็นวงจรลูกโซ่

แสดงว่าถ้าลูกบ้านไหนได้ทุนผู้ช่วยพยาบาล อาจารย์ก็ต้องไปคุยกับพ่อแม่ให้ด้วย 

ผู้หญิงง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากหลักสูตรนี้ผู้ชายมีไม่เยอะ เราไปกันเป็นทีม 4-5 คน คนนึงซักประวัติ  คนนึงถ่ายรูปบ้าน อาจารย์น้อยมีหน้าที่โน้มน้าวพ่อแม่ พี่ป้าน้าอาที่มานั่งฟังด้วย ถามเด็กว่าชอบมั้ย อยากเรียนมั้ย แต่ส่วนใหญ่จะไม่เจอปัญหาไม่ได้เรียนนะ เพราะว่าพอมันมีทุนแล้วก็เรียนฟรี แต่ต้องปรับความเข้าใจว่าเงินที่เด็กได้คือ ทุนในการเรียน ไม่ใช่เงินสำหรับส่งให้ที่บ้าน และ บังคับให้เด็กทุกคนเก็บออกไว้ทุกเดือนเดือนละ 10% อาจารย์จะเช็คตลอด 

เรียนหนังสือมันก็มีค่าชีท ค่าโน่นนี่ อย่าให้มันเป็นอุปสรรคการเรียน คุยกับพ่อแม่ว่าอันนี้เราต้องเข้าใจตรงกัน  ไม่อย่างนั้นเด็กอาจจะเรียนไม่จบนะ อันนี้คือข้อตกลง เป๊าะ(พ่อ) เข้าใจใช่มั้ย เม๊าะ(แม่)เข้าใจใช่มั้ย แล้วเราก็จะบอกเด็กว่า ทุนนี้มีเพื่อให้เรียนอย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลอะไร

รศ.ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์

หลักสูตรการเรียน 1 ปี เหมาะกับเขาอย่างไร 

ที่นี่ก็มีค่านิยมว่าเรียนพยาบาล หรือเรียนผู้ช่วยก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล ช่วงรายอ(วันฮารีรายอ)เขาก็จะอวดลูกกัน เรียนคณะพยาบาลมันก็เป็นเกียรติเป็นศรี ได้ใส่ชุดขาว มีเครื่องแบบ มันก็การันตีความเป็นคนเก่งในหมู่บ้าน เป็นที่เชิดหน้าชูตาของครอบครัว 

ที่สำคัญมันใช้เวลาเรียนไม่นานก็ออกมาทำงานได้แล้ว ที่ผ่านมาเราเปิดแต่หลักสูตร 4 ปี แต่ละคณะพอจบไปแล้วเด็กไม่มีงานทำ เรียนศิลปศาสตร์ เรียนวิทยาศาสตร์ แล้วไปอยู่เซเว่น ไปอยู่ร้านโทรศัพท์มือถือ ไปอยู่บริษัทรถยนต์ มันไม่ตอบโจทย์เพราะคุณผลิตคนไม่ตรงสาย แต่ขณะที่หลักสูตรระยะสั้นของเรา มันเป็นเชิงวิชาชีพ 

แล้วที่นราธิวาส ประชากรเยอะ เศรษฐกิจไม่ดี ครอบครัวมีลูกเยอะ  จำเป็นต้องใช้เงินเลี้ยงปากท้อง แล้วผู้ช่วยพยาบาลก็เป็นหลักสูตรที่ไม่ใช่ช่วยแต่ตัวเอง ช่วยครอบครัว ช่วยคนในชุมชน  ชาวบ้านเขารู้ว่าใส่ชุดขาวคือทำได้ทุกอย่าง เจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นความหวังของหมู่บ้านนี้ แล้วการที่เขาทำงานสถานพยาบาลของรัฐมันก็จะเชื่อมโยงให้ชาวบ้านมาใช้บริการของรัฐได้ง่ายขึ้น 

เรียนผู้ช่วยแบบนี้มีทางไปต่อ ทำงานเก็บเงินแล้วไปเรียนพยาบาลศาสตร์ 4 ปีอีกก็ได้ และของเราเป็นหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและสภาการพยาบาลด้วย เชื่อถือได้แน่นอน

ของที่นี่ ระบุว่าเป็นหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ใหม่อย่างไรบ้าง

เราเคยเปิดหลักสูตรนี้เมื่อปี 2550 เมื่อก่อนสสจ.(สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ส่งคนมาเรียนและมีทุนให้เด็ก พอเรียนจบก็ไปทำงานได้เลย  เราเลยถือว่ามันเป็นหลักสูตรแรก พอเรามาเปิดปี 2563 เราเลยใช้คำว่าหลักสูตรใหม่ ซึ่งมีกำหนด 5 ปีและจะหมดปีนี้  ปีหน้าเราจะปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เชิญสถานประกอบการมาช่วยทำหลักสูตร  หรือเด็กอาจมองว่าเรียนทฤษฎีค่อนข้างแน่นเกินไป อยากจะให้เอาภาคปฏิบัติมาคั่นบ้าง  

ใน 1 ปีเด็กๆ เรียนอะไรบ้าง

พอเปิดเทอมเด็กจะเรียน 5 เดือน ทฤษฎี 11 รายวิชา อาทิ จิตวิทยา การทำงานเป็นทีม ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ช่วยพยาบาล  การดูแลช่วยเหลือบุคคลขั้นพื้นฐาน เช่น เช็ดตัว วัดไข้ วัดความดัน การดูแลผู้ป่วยบนตึก การดูแลคนไข้ในชุมชนที่จะต้องฝึกแล็บ 45 ชั่วโมง พอเรียนเสร็จแล้ว เขาจะเริ่มฝึกวิชาละ 3 อาทิตย์ เราจะส่งไปตามโรงพยาบาล ตั้งแต่ยะลา ปัตตานี สายบุรี รามัน โดยมีครูพี่เลี้ยงดูแล 

แล้วก็ฝึกลงในชุมชน  เราเน้นให้เขาทำนวัตกรรมทางด้านสุขภาพที่เป็นการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ อาจารย์น้อยก็ส่งประกวด มีงบประมาณสนับสนุน เพื่อจะได้ certificate (ใบประกาศ) ไปสมัครงาน 

นอกจากนี้ เราฝึกให้เขาเก่งภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ เพราะหลายโรงพยาบาลในกทม. รับลูกค้าตะวันออกกลาง 

เราสอนจนถึงการเขียน resume เราให้เขียนตั้งแต่เทอม 1 เลย คนที่ไม่มีอะไรเขียน ก็จะพยายามหาอะไรมาใส่ตั้งแต่ปีหนึ่ง ทั้งการประกวด การแข่งกีฬามหาวิทยาลัย ที่นี่ไม่แบ่งว่าใครเรียนปริญญาตรี 4 ปีหรือใครเรียน 1 ปี แข่งด้วยกันหมด ถ้ามหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมอะไร  ก็จะเอาเด็กผู้ช่วยฯ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เราไม่ทิ้งเขา เพียงเพราะเขาเป็นเด็กเรียนปีเดียว เขามีหัวใจ เขาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

จุดแข็งและจุดขายของนักศึกษาที่นี่คืออะไร 

นักศึกษาที่นี่จะเป็นมุสลิม  100 เปอร์เซ็นต์และมีฐานะยากจน เด็กที่นี่เรียนรู้ภาษาอาหรับ พูดได้ สื่อสารได้ เข้าใจวิถีวัฒนธรรม ถ้าในประเทศไทยที่นี่เลยเป็นจุดแข็ง ทำให้รพ.บำรุงราษฎร หรือโรงพยาบาลเอกชนที่กรุงเทพฯ ต้องการ เพราะสื่อสารกับผู้ป่วยตะวันออกกลางได้ และรู้เวลาละหมาด วัฒนธรรม และการปฏิบัติตัวต่อกันต่างๆ ตามวิถีมุสลิม 

โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง พอเค้าได้โอกาส เค้าก็ทำเต็มที่ ช่วยจิตอาสาเต็มที่ เรียนรู้เต็มที่ เราจะได้ยินคำชื่นชมจากสถานประกอบการ อย่างโรงพยาบาลตากใบมีพรีออเดอร์ผู้ช่วยพยาบาลจากที่นี่เลย บอกว่าผลิตอีก เค้าจะรับ (ยิ้ม) 

ผู้ช่วยพยาบาลสำคัญอย่างไรในวงการสาธารณสุข 

ที่ผ่านมาวิชาชีพพยาบาลเราเคยผลิตผู้ช่วยพยาบาลอยู่ช่วงนึง แต่เป็นหลักสูตร 2 ปี ต่อมาให้พัฒนาเป็นหลักสูตร 4 ปีให้หมดเพราะอยากให้มีแต่พยาบาลวิชาชีพ ไม่เอาผู้ช่วยพยาบาลแล้ว แต่พอตอนนี้พยาบาลวิชาชีพไม่พอ สภาการพยาบาลก็ให้เปิดผู้ช่วยพยาบาลเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ 

พยาบาลวิชาชีพจะมีสภาการพยาบาลดูแล แต่พยาบาลไม่สามารถทำงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวนการดูแลเชิงระบบสุขภาพได้ ก็จะมีผู้ช่วยพยาบาลอยู่ในกำกับการดูแลของพยาบาลที่จะนิเทศอีกที ผู้ช่วยพยาบาลก็จะสามารถเป็นผู้ช่วยสำหรับพยาบาลในการปฏิบัติหัตถการที่ไม่ซับซ้อนเบื้องต้น

เพราะบางทักษะของการดูแลที่ไม่ซับซ้อน ผู้ช่วยพยาบาลเข้าไปดูแลได้ เช่นไปเฝ้าผู้สูงอายุที่ไม่มีสายระโยงระยาง ไปนั่งเป็นเพื่อน ไปพูดคุย ดูแลวัดไข้ เช็ดตัว พาไปหาหมอ เอายา เดินเอกสาร ที่สำคัญพอผู้สูงอายุเยอะขึ้น ลูกๆ ไม่ค่อยมีเวลา จ้างพยาบาลวิชาชีพครั้งละ 1,500 แต่ผู้ช่วยพยาบาล เรทจะต่ำกว่านั้น เลยเป็นความต้องการของตลาด 

ลงทุน(เวลา)น้อย ได้เงินเร็ว ถูกใจตลาด ใช้งานได้เร็ว แล้วเด็กบางคนก็มีความสามารถถึงพยาบาลวิชาชีพนะ ผู้ช่วยบางคนเก่ง เขาเพียงแต่ไม่มีเงินเรียนหลักสูตร 4 ปี ไม่มีเงินเรียนหมอ แต่มีผู้ช่วยบางคนไปเรียนต่อพยาบาล เรียนต่อแพทย์ เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้มีอนาคต

สุดท้าย ทำไมอาจารย์ถึงผลักดันและเต็มที่กับงานนี้ 

เด็กตาดำ ๆ ไง ฟังเมื่อเช้า(เด็กพูดแสดงความรู้สึกวันรับประกาศนียบัตร) เราก็จะร้องนะ เพราะเราเข้าใจเขา เราหนื่อย แต่เราเข้าใจ ถ้ามหา’ลัย ไม่ช่วยดูแล มาเชื่อมต่อเป็นสะพานถึง กสศ. แล้วใครจะทำ อย่างน้อยพอเขาพูด มันก็เหมือนมีน้ำชะโลมใจ มีเด็กเขามากราบแล้วก็บอกว่า “อาจารย์ชุบชีวิตหนู” แค่นี้มันก็อิ่มแล้ว เงินมันซื้อไม่ได้

การที่เราสามารถให้เด็กหนึ่งได้มีโอกาสเรียน มันเหมือนเป็นทุนมนุษย์ ที่เราไปติดอาวุธให้ ทำให้เขามีประสบการณ์ มีความรู้ไปช่วยชีวิตคนได้อีกหลายร้อยหลายพันชีวิต ไปช่วยชีวิตคนในครอบครัว แล้วเขาก็บอกต่อ ๆ กันว่ามันเป็นโครงการที่ดี เดี๋ยวปีหน้าจะพาน้องๆ มาสมัครทุนนี้อีกเพราะหลายคนรอโอกาสนี้อยู่ 

หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ถ้าเรารับเด็กมาแล้วเราทำเต็มที่ รับแล้วไม่ทิ้งระหว่างทาง เพราะทั้งเด็กและเราผ่านตั้งหลายกระบวนการกว่าจะได้ทุนนี้มา (ยิ้ม)