“แนวคิดคือ เราเจอปัญหาอะไร แล้วในชุมชนแล้วมีอะไร และมีอะไรในชุมชนที่ สามารถนำมาเป็นความรู้ได้”
โรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย เป็นโรงเรียนขนาดกลาง ในตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 120 กิโลเมตร เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ตั้งแต่ปี 2561 และเต็มรูปแบบเมื่อปี 2563
นวัตกรรมหลักที่โรงเรียนนำมาใช้คือ ‘นวัตกรรมเพื่อชุมชน’ จัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนลงพื้นที่ไปเรียนรู้กับปราชญ์ชุมชน หรือวิทยากรที่มีความรู้ในศาสตร์เฉพาะด้าน แล้วนำความรู้ที่ได้มาตกผลึกความคิด คิดต่อยอด และสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบของตนเอง ซึ่งพบว่าการนำนวัตกรรมนี้มาประยุกต์กับการเรียนการสอนใช้ได้ผลกับนักเรียนค่อนข้างมาก เพราะคุณครูทุกท่านเห็นตรงกันว่านวัตกรรมสามารถสร้างคุณลักษณะของศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียนได้ดี
ครูสายสุณี อินจันทร์ ครูชำนาญการพิเศษ ของโรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย ยกตัวอย่างการใช้นวัตกรรมเพื่อชุมชน คือการให้เด็กประถมศึกษาตอนปลายเรียนรู้เรื่องการจักสาน ‘ตาแหลว’ หรือ ‘เฉลว’ เครื่องจักสานจากความเชื่อท้องถิ่นชาวล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ เลือกตามความสนใจของตนเอง และนำมาประยุกต์ต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในโครงงานส่งเสริมอาชีพ ในการจัดการเรียนรู้แบบ Project-based learning หรือการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน โดยมีแนวคิดหลักจาก ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งตัวครูเองก็ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพร้อมๆ กันกับนักเรียนด้วย
“บางทีคุณครูก็มีข้อมูลจำกัด แต่ปราชญ์ชาวบ้านที่ชุมชนเขามีความรู้มากกว่านั้น ซึ่งพอเขามีความรู้ ก็จะขยายความให้เด็กเข้าใจมากขึ้น ครูเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน และทำให้เด็กรักชุมชนที่ตนเองอยู่อีกด้วย”
ครูสายสุณี บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงหลังนำนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ว่า เด็กๆ มีความสุขและมีแรงจูงใจในการเรียนเพราะได้ลงมือปฎิบัติ เนื่องจากเด็กได้เรียนรู้จากการนำปัญหามาเชื่อมโยงกับความรู้ในห้องเรียน ทำให้เด็กคิดเป็นทำเป็น ได้ทักษะการคิดและการสื่อสาร นำไปต่อยอดเพื่อให้มีผลงานเชิงประจักษ์ สามารถสร้างรายได้และยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
หลักสูตรท้องถิ่น สู่ ‘นวัตกรรมเพื่อชุมชน’
จุดเริ่มต้นของการศึกษาภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาจากนโยบายของนายเรืองยศ ปันศิริ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ที่ก่อตั้งโครงการ ‘รักถิ่นฐานผูกพันบ้านเกิด’โดยมุ่งเน้นที่ ‘หลักสูตรท้องถิ่น’ เป็นหลัก ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนมาเป็นฐานการเรียนรู้ ให้นักเรียนและคุณครูลงพื้นที่สำรวจชุมชนในแต่ละพื้นที่ว่ามีแหล่งเรียนรู้อะไรในชุมชน และนำมาทำ ‘โครงงานส่งเสริมอาชีพ’ ในแต่ละระดับชั้น โดยหยิบเอาแนวคิดและเครื่องมือจาก ‘นวัตกรรมเพื่อชุมชน’ ในบางขั้นตอน มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในห้องเรียน
โดยทางโรงเรียนจะเป็นคนประสานกับปราชญ์ชุมชนในเทอมแรก และเชิญวิทยากรแต่ละศาสตร์มาเผยแพร่ความรู้ที่โรงเรียนในเทอมที่สอง ที่ลานความรู้ท้องถิ่นของโรงเรียน ซึ่งปราชญ์ชุมชนหรือวิทยากรก็เต็มใจมาเผยแพร่ความรู้ให้ด้วยความยินดี เพราะอยากให้มีคนสืบสานมรดกวัฒนธรรมของชุมชนเช่นเดียวกัน
ครูสุกัญญา เพชรศรี ครูวิทยาศาสตร์ และครูวิชาการช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เล่าว่า ในฝั่งเด็กประถมศึกษาตอนต้น จะมีปราชญ์ชุมชนคือท่านเจ้าอาวาส วัดคลองศิลา ซึ่งเป็นปราชญ์เรื่องของยาสมุนไพร ซึ่งหลังจากให้เด็กไปศึกษาเรื่องสมุนไพรกลับมาแล้ว ก็ชวนเขาวิเคราะห์ว่าตอนนี้เรามีปัญหาอะไรที่สามารถนำมาประยุกต์และทำขึ้นได้บ้างซึ่งได้หัวข้อมาเป็น ‘ครีมกำจัดเหา’
“เราจะใช้ใบหมี่ ใบบอระเพ็ด และใบน้อยหน่า เอาคุณสมบัติทั้ง 3 ชนิดมารวมกัน ทำเป็นครีมหมักกำจัดเหาให้กับน้องๆ นักเรียนชั้นประถม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีทั้งในแง่กระบวนการทำและผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ เพราะจำนวนเหาของเด็กก็ลดลงค่ะ ซึ่งจริงๆ ตัวครูเองก็อาจจะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับใบสมุนไพรมาก แต่เป็นตัวเด็กเองที่ไปเรียน ไปถามกับท่านพระครู แล้วมาแนะนำครูด้วยซ้ำ”
ในฝั่งมัธยมเองก็มีการนำหลักสูตรการเรียนรู้จากท้องถิ่นมาใช้เช่นเดียวกัน โดยจะศึกษาเกี่ยวกับเส้นใยธรรมชาติที่นำมาทำเป็นแผ่นกรองอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กสนใจ โดยทดสอบจากวัสดุ 3 ชนิด คือใบมะพร้าว ใบไผ่ และผักตบชวา ซึ่งตอนนี้ก็กำลังขึ้นโครงร่างและกำลังจะทดสอบ ว่าแผ่นใยชนิดไหนมีประสิทธิภาพการกรองอากาศเป็นอย่างไรบ้าง
‘ตาแหลว’ เชื่อมโยงความรู้จากเครื่องรางท้องถิ่นกลายเป็นสินค้าชุมชน
อีกหนึ่งโครงงานที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือ ‘นวัตกรรมเพื่อชุมชน’ คือการต่อยอดงานเครื่องจักสานที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่าง ‘ตาแหลว’ หรือที่รู้จักกันในภาษากลางว่า ‘เฉลว’ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้
ครูสายสุณี เล่าว่า โดยปกติแล้วตาแหลวจะไม่ใช่สิ่งที่นำมาซื้อขายกัน จะเป็นการสานแล้วแจก โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่มีความเชื่อว่าตาแหลวจะสามารถกันโรคได้ เพราะจะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป แต่หลังจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นำมาต่อยอดกลายเป็นโครงงาน ทำให้มีการประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและสามารถนำไปจำหน่ายได้
“ตอนนั้นตั้งใจว่าจะหาข้อมูลเพื่อสานไม้กวาด หรือก๋วยสลาก ทีนี้พอเขาไปเห็นตาแหลวก็เกิดความสนใจ ซึ่งจริงๆ ก็มีเทรนด์จากเกาหลีที่เรียกว่า ‘ตาข่ายดักฝัน’ เขาก็คิดว่าไอเดียเหมือนกัน และสามารถทำได้จริง โดยเด็กๆ เขาไปเจอสิ่งนี้ที่บ้าน ‘ครูหมื่น’ ปราชญ์ชุมชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจักสาน
พอเด็กได้ไปเห็นกับตาว่าตาแหลวแขวนอยู่ทุกประตูบ้านของครูหมื่น เขาก็เริ่มสนใจว่ามันคืออะไร พอรู้ว่าช่วยกันผีได้ ก็ทัชใจเด็กเลยทันที เพราะธรรมชาติของเด็กเขากลัวผีอยู่แล้ว ก็อยากทำ แต่พอมาคิดต่อยอดว่า ทำอย่างไรให้ตาแหลวที่แขวนอยู่ตามผนังสามารถนำมาสืบสานต่อได้ และถ้ากรณีคนไม่เชื่อเรื่องผี เรื่องวิญญาณ จะทำยังไงให้เขาสนใจ
เด็กๆ เลยคิดประยุกต์เอามาทำเป็นต่างหูบ้าง พวงกุญแจห้อยกระเป๋าบ้าง หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือทำเป็นดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งนี่คือการคิดต่อยอดจากหลักสูตรท้องถิ่นที่เขาไปเรียนรู้มา
แนวคิดคือ เราเจอปัญหาอะไร แล้วในชุมชนมีอะไร และมีอะไรในชุมชนที่ สามารถนำมาเป็นความรู้ได้ ซึ่งบางทีคุณครูก็มีข้อมูลจำกัด แต่ปราชญ์ชาวบ้านที่ชุมชนเขามีความรู้มากกว่านั้น ซึ่งพอเขามีความรู้ ก็จะขยายความให้เด็กเข้าใจมากขึ้น ครูเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน และทำให้เด็กรักชุมชนที่ตนเองอยู่อีกด้วย
ครูกลายเป็นแค่ผู้ประสานงานระหว่างเด็กกับปราชญ์ชุมชนที่เป็นคนสอนให้เด็ก ส่วนที่เหลือเด็กออกแบบออกไอเดียต่อ ซึ่งโครงงานนี้เราก็จะทดลองให้เด็กลองเอาไปขายจริงที่ถนนคนเดิน เพื่อพิสูจน์ความคิดของเขาว่า หากนำมาทำเป็นของที่ระลึกแล้ว สามารถขายได้ไหม
และนอกจากจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเด็กแล้ว และถ้าหากขายได้ดี ขายได้เยอะขึ้นก็อาจจะไม่ใช่แค่รายได้ของเด็กอย่างเดียว แต่จะเป็นรายได้ของปราชญ์ชุมชน หรือคนในชุมชนได้” ครูสายสุณีเล่า
สร้างคุณลักษณะที่ดี ชี้ชวนให้คิดจากการ ‘ถามนำ’
บทบาทของครูขณะทำโครงงานนี้คือคอยเป็นโค้ชให้นักเรียน และโยนคำถามให้นักเรียนคิดก่อนว่า “หนูไปแล้วอยากรู้อะไร” “หนูจะถามอะไรกับวิทยากร” เพื่อที่ครูจะสำรวจและเตรียมความพร้อมกับวิทยากรในการตอบคำถาม หรือตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด
“เราก็ลองโยนคำถามให้เด็กว่า ถ้าคนที่ซื้อไปเขามีบ้านทรงโมเดิร์น ทรงนอร์ดิก เขาคงไม่อยากแขวนตาแหลว เราจะปรับเปลี่ยนรูปแบบยังไงให้เขารู้สึกอยากซื้อ
ก็เกิดคำตอบจากไอเดียของเด็กว่า ถ้าทำเป็นพวงกุญแจ หรือถ้าคนที่รักสวยรักงามก็ทำเป็นต่างหู เป็นความคิดที่ปรับประยุกต์ให้เข้ากับความนิยมของคนสมัยนี้ ซึ่งการที่เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวและที่มาของผลิตภัณฑ์ก็จะทำให้เขาบอกเล่าต่อกับคนอื่นๆ หรือนักท่องเที่ยวได้
จุดมุ่งหมายของการนำนวัตกรรมมาใช้คือ ต้องการให้เด็กเกิดความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีไม่ให้มันสูญหายไป แต่ผลที่ได้รับเพิ่มขึ้นมานอกจากการสืบทอดคือ การได้นวัตกรรมใหม่ๆ และการสืบสานต่อในรูปแบบของเขา
ซึ่งนักเรียนก็ได้ทักษะการสื่อสารจากการทำงานร่วมกัน การรู้จักเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี และที่สำคัญคือทักษะการคิดที่จะต่อยอดนวัตกรรมของเขา นอกจากนี้เด็กยังได้ทักษะการนำเสนอ เพราะทุกครั้งที่ไปเราจะให้เขียนแผนผังความคิดของตัวเองมานำเสนอกับเพื่อนๆ ในห้องเพื่อแลกเปลี่ยนกัน”
ครูสายสุณีมองว่า หลังจากที่เด็กๆ ทำโครงงาน ก็ทำให้เขามีความเปลี่ยนแปลงในด้านคุณลักษณะค่อนข้างมาก เพราะการที่เด็กเข้าไปนั่งเรียนกับวิทยากร ก็ต้องรู้จักทักทาย การตั้งคำถาม มารยาทการวางตัว การเคารพผู้ใหญ่
“เด็กเขาเกิดทักษะการคิด เพราะเวลาเราโยนคำถามให้เด็กว่าเขาอยากรู้อะไร เด็กก็จะรู้จักการตั้งคำถามและการสืบค้นคำตอบ พอได้ความรู้มาก็จะนำมาตกตะกอนและสรุป เล่าให้เพื่อนๆ ฟังค่ะ” ครูสายสุณี บอกผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียน