เมื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขได้ในคราวเดียว การลดไซซ์ระบบงานให้เล็กลง เริ่มจากพื้นที่ระดับจังหวัด เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ กสศ. เพิ่มแนวร่วมในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในนั้น คือเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือ Area-based Education จังหวัดลำปาง ซึ่งถูกยอมรับว่าเป็นต้นแบบในการทำงานได้อย่างเข้มแข็ง
กสศ. ชวนอ่านเรื่องเล่าจากในพื้นที่ ผ่านเวที ‘ผสานเครือข่ายเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง’ ซึ่งเกิดจากความมือของสมัชชาการศึกษาจังหวัดลำปาง ที่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ ในจังหวัด ช่วยกันจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ด้วยหวังให้เด็กเยาวชนทุกช่วงวัยได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่เสมอภาคไปด้วยกัน
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มที่ https://www.eef.or.th/news-240123/
“ถ้าจังหวัดจัดการตนเองได้ การตามหาเด็กและออกแบบกระบวนการดูแลช่วยเหลือจะทำได้ดียิ่งว่าระบบคัดกรองใด ๆ ซึ่งในหลายพื้นที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การทำงานโดยบูรณาการหน่วยงานในจังหวัด สามารถช่วยให้เด็กรอดจากการหลุดจากระบบการศึกษาได้ถึง 80%”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวช่วงหนึ่ง
“การจัดการศึกษาให้เสมอภาคถึงเด็กทุกคน คือทำระบบให้เล็กลงในระดับจังหวัด หรือเล็กลงไปอีกถึงในระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้มองเห็นเด็กเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น เพราะคนที่รู้ เข้าใจ สัมผัสความรู้สึกร่วมไปด้วยกับเด็กเยาวชนเหล่านั้น ก็คือคนในพื้นที่”
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. เน้นย้ำ
“การทำงานบูรณาการเรียนรู้สู่ ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ที่ลำปาง คือการประกอบการทำงานจากหน่วยงานเล็ก ๆ จนเป็นระบบดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาสขนาดใหญ่ ซึ่งจะจุดประกายให้เกิดความร่วมมือที่กว้างออกไป ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตของคนทั้งจังหวัด”
ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณะบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง บอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจ