ความฝันระยะสั้นมีอยู่จริง ถ้ามันเลี้ยงครอบครัวและตัวเองได้
หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่บอกว่ายังมีเด็กหลายคนต้องการความรู้ที่ยืดหยุ่นและทุนการศึกษาที่เข้าใจชีวิต

ความฝันระยะสั้นมีอยู่จริง ถ้ามันเลี้ยงครอบครัวและตัวเองได้ หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่บอกว่ายังมีเด็กหลายคนต้องการความรู้ที่ยืดหยุ่นและทุนการศึกษาที่เข้าใจชีวิต

ความฝันการเรียนจนจบปริญญาตรีอาจเป็นปลายทางของเด็กกลุ่มใหญ่ แต่อาจไม่ใช่เด็กหลายคนในนราธิวาส 

ไม่ใช่ว่าไม่อยากเรียนต่อ หากสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่บวกกับฐานะทางบ้านที่ไม่สู้ดี เด็กจำนวนไม่น้อยจึงต้องการการเรียนฉบับเร่งรัด จบมาแล้วมีงานรองรับ ได้เงินมาช่วยแบ่งเบาครอบครัว 

หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เรียนระยะสั้นเพียง 1 ปี เน้นการฝึกทักษะวิชาชีพและการลงมือทำ จึงเหมาะกับเยาวชนในพื้นที่นี้ ที่สำคัญเป็นสาขาวิชาชีพที่ตลาดต้องการ และต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมสูงวัย  

“พยาบาลวิชาชีพจะมีสภาการพยาบาลดูแล แต่พยาบาลไม่สามารถทำงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวรการดูแลเชิงระบบสุขภาพได้ ก็จะมีผู้ช่วยพยาบาลอยู่ในกำกับการดูแลของพยาบาลที่จะนิเทศอีกที ผู้ช่วยพยาบาลก็จะสามารถเป็นผู้ช่วยสำหรับพยาบาลในการปฏิบัติหัตถการที่ไม่ซับซ้อนเบื้องต้น” รศ.ดร.ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อธิบาย

เสริมทัพด้วยการเข้ามาสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางทางการศึกษา (กสศ.) โดยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทุนให้เปล่าแก่เยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ​​ได้แก่ 1.สาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 2.สาขาที่ขาดแคลนในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่สถาบันการศึกษาตั้งอยู่  และ 3.สาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM)

เด็กๆ หลายคนชีวิตเปลี่ยนและหยุดความจนเพราะได้อาชีพ มีงานรองรับจากทุนนี้ รวมถึงผู้ผลักดันหลักสูตรเองก็อิ่มหัวใจไม่แพ้กัน

“ส่วนใหญ่คิดว่าเรียนอะไรก็ได้ ให้ได้งานทำเร็วๆ”  ประโยคจาก ‘รี’ มูฮัมหมัดซัมรี  อาแซ  นักศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลปีที่แล้ว (2565) ที่ตอนนี้ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่โรงพยาบาลตากใบ 

สำหรับหลายคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลออกไป นี่อาจไม่เรียกว่าความฝัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนี่คือความฝันระยะใกล้ของรีที่คว้ามันมาได้ 

รีไม่ได้บอกหรอกว่าเราไม่ควรดูถูกความฝันใคร เพราะไม่มีทางที่เราจะนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน หากสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เส้นทางที่เหมาะกับชีวิตเรา

“ถ้าความฝันมันไม่เป็นตามที่วางไว้ เราก็อาจจะหาเส้นทางอื่นที่ดีพอ ที่เราจะไปต่อได้” รีบอก 
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ https://www.eef.or.th/article-210624-3/

ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์

“มีเด็กเข้ามากราบแล้วก็บอกว่า “อาจารย์ชุบชีวิตหนู” แค่นี้ก็อิ่มแล้ว เงินมันซื้อไม่ได้

การที่เด็กหนึ่งได้มีโอกาสเรียน มันเหมือนเป็นทุนมนุษย์ที่เราไปติดอาวุธให้ ทำให้เขามีประสบการณ์ มีความรู้ไปช่วยชีวิตคนได้อีกหลายร้อยหลายพันชีวิต”

รศ.ดร.ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

การรับนักศึกษาตามระบบ TCAS อาจารย์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะคณบดีทำหน้าที่เพียงรอเด็กมาสมัครและสอบสัมภาษณ์ แต่การเอาตัวเองและคณะเข้ามาเป็นหนึ่งของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ทำให้ อ.น้อย หรือ รศ.ดร.ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ต้องเดินเท้าเข้าไปหาเด็กเอง 

“แต่พอมาทุนผู้ช่วยพยาบาล เราต้องไปคัดกรองเด็กยากจนเอง แต่จะยากจนขนาดไหนเนี่ยตอนแรกเราไม่รู้เลย ตอนลงพื้นที่ไปคัดกรอง เราก็ ‘ยังไม่ถึงอีกหรือ’  เข้าป่ายาง(ยางพารา) แล้วก็เดินอีก เข้าไปในสวนก็ยังไม่เห็นบ้านเขา ต้องเลาะแนวป่าถึงเจอบ้าน แล้วในทีมอาจารย์ต้องเอาคนมุสลิมไปด้วย เพราะว่าบางทีพ่อแม่พูดไทยไม่ได้ แต่เราต้องไปให้ถึงบ้านเพื่อให้เห็นความตั้งใจและความอยากเรียนของเขา”

อ.น้อย ทำอย่างนี้เพื่อคัดกรองนักศึกษาทุกปี คำถามสำคัญคือทำไปเพื่ออะไร 

“เด็กตาดำ ๆ ไง ฟังเมื่อเช้า(เด็กพูดแสดงความรู้สึกวันรับประกาศนียบัตร) เราก็จะร้องนะ เพราะเราเข้าใจเขา เราหนื่อยแต่เราเข้าใจ ถ้ามหา’ลัย ไม่ช่วยดูแล มาเชื่อมต่อเป็นสะพานถึง กสศ. แล้วใครจะทำ อย่างน้อยพอเขาพูด มันก็เหมือนมีน้ำชะโลมใจ มีเด็กเข้ามากราบแล้วก็บอกว่า “อาจารย์ชุบชีวิตหนู” แค่นี้มันก็อิ่มแล้ว เงินมันซื้อไม่ได้

การที่เด็กหนึ่งได้มีโอกาสเรียน มันเหมือนเป็นทุนมนุษย์ ที่เราไปติดอาวุธให้ ทำให้เขามีประสบการณ์ มีความรู้ไปช่วยชีวิตคนได้อีกหลายร้อยหลายพันชีวิต ไปช่วยชีวิตคนในครอบครัว แล้วเขาก็บอกกันต่อ ๆ กันว่ามันเป็นโครงการที่ดี เดี๋ยวปีหน้าจะพาน้องๆ มาสมัครทุนนี้อีกเพราะหลายคนรอโอกาสนี้อยู่” 
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ https://www.eef.or.th/article-240624/

มูฮัมหมัดซามีฮูดีน อาแซ

“ถ้าไม่มีทุนก็ไปต่อไม่ได้เลยครับ ถ้าไม่ได้คือทำงานอิสระ รับจ้างทั่วไป หรือไม่ก็ไปทำงานร้านอาหารที่มาเลเซียเพราะแถวสามจังหวัดไม่มีงานทำ แต่พอประกาศชื่อว่าติดทุนนี้ รู้สึกว่าตัวเองได้ไปต่อ และตัดสินใจว่าจะเรียนให้เต็มที่”

มูฮัมหมัดซามีฮูดีน อาแซ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2566

ถ้าถามถึงความฝันตั้งแต่ต้น ‘ดีน’ มูฮัมหมัดซามีฮูดีน อาแซ บอกว่าอยากทำงานด้านไอที แต่เพราะครอบครัวฐานะไม่สู้ดี มีพ่อทำงานหาเลี้ยงคนเดียว แต่เพราะนราธิวาสหางานทำได้ค่อนข้างยาก คนไทยส่วนใหญ่จึงไปทำงานที่มาเลเซีย ส่วนใหญ่ทำงานร้านอาหาร ส่วนพ่อของดีนขายลูกชิ้นปิ้งที่กลันตัน

เพื่อนดีนส่วนใหญ่ไม่มีทุนเรียนต่อหลังจบ ม.6 บางคนก็ไปทำงานเป็น รปภ. ที่กรุงเทพฯ และดีนถ้าพี่ชายไม่ได้ชวนให้สมัครทุนนวัตกรรสายอาชีพชั้นสูงหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก็คงออกมาทำงานเช่นกัน 

“ผู้ช่วยพยาบาลจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการเรียนต่อมหา’ลัย พอเรียนผู้ช่วยพยาบาล ได้ฝึกงาน รู้สึกว่าตัวเองก็มีความสามารถด้านนี้เหมือนกัน แค่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองชอบด้านนี้” 

ดีนบอกอย่างตรงไปตรงมา และโชคดีที่ดีนสามารถหาความชอบในสิ่งที่ต้องทำได้ ในที่สุด

“ผมชอบทำงานในห้องฉุกเฉินครับ” ดีนตอบทันที ก่อนจะอธิบายว่าตัวเองไม่กลัวเลือด เกือบๆ จะตรงข้ามเสียด้วยซ้ำ  “ยิ่งทำแผลที่เลอะๆ เพื่อนเทให้เราหมดเลย เราก็ ได้ครับ ชอบอยู่แล้ว ยิ่งเลือดเยอะๆ แผลหนักๆ ยิ่งท้าทาย” 

ในวันที่จบหลักสูตรแล้ว ดีนบอกว่าอยากทำงานในห้องฉุกเฉิน เขาดีใจที่ได้ทำงานและจุนเจือที่บ้าน ที่สำคัญ เขาไม่ต้องไปไหนไกลได้อยู่ใกล้ครอบครัว 

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ https://www.eef.or.th/article-210624-3/ 

นัจมี หะเดร์

“พี่ข้างบ้านที่หนูไปช่วยเขาทำแผล เขาบอกว่าเนี่ยเป็นหมอให้พี่ได้เลยนะ 

หลังจากเรียน 1 ปี หนูคิดว่ากล้าแสดงออกมากขึ้น มั่นใจที่จะมอบความรู้ให้กับชาวบ้าน สมมุติว่าชาวบ้านมาถามว่าอาการอย่างนี้มันเป็นอะไร หนูก็แนะนำให้ไปหาหมอหรือให้ซื้อยาตามที่หนูรู้ได้”

นัจมี หะเดร์ นักศึกษาทุนนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2566

เพื่อนผู้หญิงหลายคนของ ‘มี’ นัจมี หะเดร์ ที่ไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้มีสถานะเป็นแม่ มีลูก มีครอบครัว 

แต่มีไม่ได้ฝันอย่างนั้น มีอยากเรียนต่อด้านพยาบาล แต่ถ้าไม่ได้ก็จะไปทำงานกับพี่สาวที่ภูเก็ต 

ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน และมีความตั้งใจจริงที่อยากจะเรียนต่อ มีสมัครทุนนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จนได้รับคัดเลือก

แรงจูงใจสำคัญในการเรียนต่อสายนี้ของมีคือแม่ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ พ่อที่ทำงานไม่ได้เพราะประสบอุบัติเหตุ

ตอนนี้มีไม่เพียงแต่ใช้ความรู้ที่เรียนมา 1 ปี ดูแลคนในครอบครัวแต่เพื่อนบ้านก็ยังมาขอความช่วยเหลือจากมีบ่อยๆ เพราะสะดวกใจกว่าและสำหรับพวกเค้า มีน่าเชื่อถือ 

“บางคนก็จะมาถามหนูว่ามีแผลแบบนี้ ต้องไปทำแผลไหม ติดเชื้อไหม หรือ หายใจไม่ค่อยออกต้องหายใจยังไง ไปหาหมอไหม แถวนี้มีคนเป็นหอบเยอะ” 

จนตอนนี้มีหลายคนเรียกมีว่าพยาบาลแล้ว มีบางคนเรียกว่าหมอด้วย 

“พี่ข้างบ้านค่ะ ที่หนูไปช่วยพี่เขาทำแผล เขาบอกว่า เนี่ยเป็นหมอให้พี่ได้เลยนะ เรียกหมอเลย(ยิ้ม)” 
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ https://www.eef.or.th/article-210624-3/

มูฮัมหมัดซัมรี  อาแซ

“ระหว่างความฝันกับการเลี้ยงครอบครัว ผมเลือกการเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงตัวเองครับ เพราะมันคือชีวิตจริง คือความจริงที่เรายืนอยู่ เราเติบโต มีกินมีใช้ มีชีวิตที่ดีได้”

มูฮัมหมัดซัมรี  อาแซ นักศึกษาทุนนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2565

“โรงพยาบาลตากใบเค้าพรีออเดอร์ผู้ช่วยพยาบาลจากที่นี่เลย บอกว่าผลิตอีก เค้าจะรับ (ยิ้ม)” คำของ อ.น้อย รศ.ดร.ศิริพันธุ์​ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ปิดความภูมิใจของลูกศิษย์ไว้ไม่มิด 

อ.น้อยหมายถึง มูฮัมหมัดซัมรี  อาแซ ลูกศิษย์หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลปีที่แล้ว (รุ่นปี 2565) ที่ไปประจำโรงพยาบาลตากใบ ทำงานชนิดหนักเอาเบาสู้ รับหมดทั้งขึ้นเวรและโอที 

‘รี’ มูฮัมหมัดซัมรี หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่าสำลี คือพี่ชายคนที่ 3 ของ ‘ดีน’ มูฮัมหมัดซามีฮูดีน อาแซ ที่เป็นคนแนะนำน้องชายให้สมัครทุนเดียวกันนี้เพราะรู้ดีว่าที่บ้านยังต้องการคนทำงานแบ่งเบาพ่อ 

รี ลงทุนแลกเวรกับเพื่อน และแต่งตัวครบชุดเพื่อมาร่วมงานรับประกาศนียบัตรของดีน รีบอกว่าตั้งแต่ไปทำงานที่โรงพยาบาลตากใบ ชีวิตดีขึ้น ดีแบบไม่คิดว่าจะดีขนาดนี้

“มีเงินเลี้ยงครอบครัว มีเงินเก็บ ชีวิตดีขึ้น อยากซื้ออะไรก็ทำได้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น” 

แต่รีก็รู้ตัวดีว่าเขาเป็นเพียงส่วนน้อยท่ามกลางหมู่มากของเด็กและเยาวชนในพื้นที่นราธิวาส 

“มีส่วนน้อยมากที่จบม.6 แล้วไปต่อปริญญาตรีได้ เพราะมันใช้เงินเยอะและใช้เวลาเรียนยาวเกินไป ครอบครัวส่งไม่ไหว แต่เค้าก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นหรอก เค้าก็อยากให้เรียน แต่ไม่มีโอกาส แต่ละคนก็อยากเลือกสิ่งที่ดีให้ตัวเอง ให้ลูก” 

ดังนั้นหลักสูตรระยะสั้นผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี จึงตอบโจทย์รีและเยาวชนหลายคนในพื้นที่ 

“ส่วนใหญ่คิดว่าเรียนอะไรก็ได้ ให้ได้งานทำเร็วๆ” 

ลองถามถึงความฝันสมัยเด็กของผู้ช่วยพยาบาลโรงพยาบาลตากใบคนนี้ เขานึกอยู่นานและบอกว่าไม่มี แต่พอเปลี่ยนคำถามว่า ระหว่างความฝันกับปากท้อง อะไรสำคัญกว่ากัน รีตอบทันทีว่า 

“ผมเลือกการเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงตัวเองครับ เพราะมันคือชีวิตจริง คือความจริงที่เรายืนอยู่ การที่เราเติบโต มีกินมีใช้ มีชีวิตที่ดีได้ ส่วนความฝันถ้ามันไม่เป็นไปตามที่วางไว้ เราอาจจะหาเส้นทางอื่นที่ดีพอที่เราจะไปต่อได้” 

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ https://www.eef.or.th/article-210624-3/