นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาชั้น ปวส. 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา พร้อมด้วยบุคลากร อาสาสมัคร และหน่วยงานสนับสนุน จัดกิจกรรมดนตรีที่ Pattaya Walking Street ระดมทุนค่าอะไหล่เพื่อเดินทางไปตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
“เมื่อเราเห็นภาพวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปพร้อมกัน ความรู้สึกของแต่ละคนอาจเป็นไปได้หลากหลาย แต่เชื่อว่าทุกคนคิดเหมือนกันว่า ถ้ามีอะไรช่วยได้ เราอยากช่วย สำหรับพวกเราที่อาจไม่มีกำลังพอเข้าไปช่วยฟื้นฟู ณ จุดที่เสียหายที่สุดได้ ก็จะขอเอาความรู้ความสามารถที่มีไปซ่อมแซมสิ่งของ และส่งกำลังใจให้คนที่สูญเสียได้มีแรงยืนหยัดอีกครั้ง”
‘ภูมิ’ ภาคภูมิ จุลิวรรณลี นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา พูดถึงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมดนตรีที่เขาร่วมกับเพื่อน ๆ ชั้น ปวส. 2 มาแสดงกันที่ ‘Pattaya Walking Street’ โดยตั้งใจระดมทุนค่าอะไหล่และค่าเดินทางสำหรับทีมงานช่างอิเล็กทรอนิกส์ 23 ชีวิต ที่จะยกทีมขึ้นเหนือในวันที่ 28 กันยายน – 4 ตุลาคม 2567 เพื่อไปตั้งศูนย์บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่วัดหิรัญญาวาส อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
อาจารย์มงคล จินาวรณ์ ผู้ดูแลน้อง ๆ ชั้น ปวส. และเป็นคนริเริ่มไอเดีย กล่าวว่า งานนี้ได้แรงสนับสนุนจากสมาคมชาวอีสานเมืองพัทยา กสศ. สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายจังหวัดเชียงราย สมาคมคนพิการอำเภอแม่สาย ร้านมาสเตอร์ไอเดีย กรุ๊ป พัทยา รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่แสดงดนตรีจากร้าน King Seafood ขณะที่มีบุคลากรทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา นักศึกษา และอาสาสมัครจากหลายฝ่ายที่มาร่วมกันทำให้เกิดขึ้น
“ปกติเวลามีเหตุฉุกเฉินโดยเฉพาะน้ำท่วม เราจะมีทีมช่างทั้งศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันที่พร้อมลงพื้นที่ซ่อมแซมสิ่งของที่เสียหายอยู่แล้ว มีทั้งช่างอิเล็กทรอนิกส์ มีโปรแกรมเมอร์ มีอาสาสมัครที่เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ แล้วทีมนี้พร้อมไปทุกที่ ฉะนั้นน้ำท่วมจังหวัดเชียงรายรอบนี้เราจึงเตรียมทีมไป ซึ่งพอไปถึงที่นู่นก็จะมีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จะมาสมทบด้วยอีกแรง ทีมเราก็จะพร้อมทำได้ทั้งงานซ่อมแซม จนถึงงานส่วนทำความสะอาด ล้างถนน ช่วยเอาโคลนออกจากบ้านผู้ประสบภัย และงานอื่น ๆ เท่าที่ทำได้”
พลบค่ำวันเสาร์ ถนนคนเดินเลียบชายหาดพัทยาใต้เริ่มคึกคัก คนหลากเชื้อชาติเดินผ่านไปมา หลายคนหยุดยืนดูการแสดงดนตรีจากน้อง ๆ ก่อนร่วมสมทบเงินลงในกล่องรับบริจาค ชาวต่างชาติส่วนหนึ่งเดินเข้ามาหาอาสาสมัคร สอบถามถึงสาเหตุการระดมทุน พอรู้ว่าเป็นเหตุเร่งด่วนจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ทุกคนก็พร้อมร่วมควักเงินสมทบ
‘ภูมิ’ ผู้เป็นมือกลองของวง บอกว่า “ที่เลือกมาเล่นดนตรีบนถนนเส้นนี้ เพราะเป็นที่ที่มีคนเดินผ่านเยอะที่สุด แม้จะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ แต่เรามองว่าในทุกภัยพิบัติ ไม่ว่าผู้ประสบภัยจะเป็นใครก็ตาม มันจะไม่มีเส้นแบ่งใด ๆ เรื่องความเห็นอกเห็นใจ หรือความช่วยเหลือที่ต่างคนก็อยากจะส่งไปให้ถึงผู้รับให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เพื่อนมนุษย์ของเราพ้นจากวิกฤตโดยไว คือใครมีอะไรให้ได้ก็ให้ คนละไม้ละมือ ผมว่าสังคมของเราดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งนี้”
‘ภูเขา’ ร่มเกล้า รุขชาติ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ สำทับว่า “พวกเราเองก็เช่นกันที่เรียนรู้ทักษะงานช่างมา พอเห็นจากข่าวแล้วคิดว่ามีสิ่งของมากมายที่เสียหาย ก็ตั้งใจว่าจะไปช่วยกันซ่อมแซมให้ได้มากที่สุด”
‘ปาตีเม๊าะ’ สีตีปาตีเม๊าะ กาเซ็ง อีกหนึ่งนักศึกษาทุน ฯ ที่มาในฐานะตัวแทนเพื่อน ๆ วันนี้ บอกว่า “ปีนี้น้ำท่วมหนักจริง ๆ ในหลายพื้นที่ ซึ่งแม่สายเป็นหนึ่งในที่ที่รับผลกระทบรุนแรงที่สุด และถึงน้ำจะลดลงแล้ว ก็ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนถึงจะฟื้นฟูเมืองและสภาพจิตใจผู้คนให้ดีขึ้นได้ ในฐานะนักศึกษาทุน เราคิดเสมอว่าหากไม่มีโอกาสที่ได้รับจากคนในสังคม ก็คงไม่ได้เรียน ไม่ได้มีความรู้มีทักษะติดตัว หรืออาจไม่มีพลังมาช่วยสนับสนุนให้เดินไปบนเส้นทางประกอบอาชีพ ฉะนั้นในวันที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ เราจึงอยากออกมาทำให้เต็มที่ เพื่อบรรเทาความทุกข์และความสูญเสียให้ได้มากที่สุด”
‘แอม’ พรศิลป์ สุปัญโญ นักศึกษาชั้น ปวส. 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ผู้รับหน้าที่ ‘MC’ สื่อสารความตั้งใจจากกิจกรรมไปยังผู้บริจาค ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยว คนทำงาน และผู้ประกอบการบนถนน Pattaya Walking Street กล่าวในฐานะคนเชียงรายคนหนึ่ง ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีคนเดือดร้อนรอความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ อีกจำนวนมาก
“เราเป็นคนเชียงรายที่จากบ้านออกมาเรียน เห็นข่าวก็รู้ว่าน้ำท่วมปีนี้เสียหายหนักที่สุด แทบไม่มีใครตั้งตัวทันเลย บางคนสูญที่ทำกิน บางคนเสียบ้าน เสียทรัพย์สินทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ทำใจยากและต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าที่แต่ละคนจะลุกขึ้นไหว เราได้แต่หวังและภาวนาว่าน้ำใจและกำลังใจที่ส่งไปตรงนั้น จะเป็นต้นทุนหรือเป็นแรงใจที่จะช่วยเยียวยาผู้ประสบภัยให้พาชีวิตไปต่อได้”
“เราเชื่อว่าทุกคนต่างอยากจะช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ สำหรับพวกเราที่ซ่อมสิ่งของได้ จึงตั้งใจนำความสามารถที่มีไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ซึ่งนอกจากตามบ้านเรือนแล้ว ยังมีโรงเรียนหรือสำนักงานต่าง ๆ ที่ต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีสื่อการสอนและเครื่องมือทำงานเมื่อเปิดทำการอีกครั้ง”
แอมบอกว่าที่เธอและเพื่อน ๆ ทุกคนร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าคนทุกคนมีคุณค่า มีความสามารถในตัวเอง และต่างเป็นได้ทั้ง ‘ผู้รับ’ และ’ ผู้ให้’
“สำหรับพวกเราผู้พิการที่ได้รับแรงสนับสนุนมาตลอด ในช่วงเวลาเช่นนี้ เราอยากเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ อยากเป็นผู้ส่งต่อความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ อยากส่งมอบกำลังใจไปให้กับคนที่ต้องการที่สุด เช่นที่พวกเราเองเคยได้รับโอกาส ได้รับการระดมทุนจากสังคมเพื่อให้เราได้ศึกษาเล่าเรียน ได้มีงานทำ ได้มีต้นทุนเพื่อเอาไปใช้ดูแลชีวิตของเรา ดังนั้นวันนี้เราจะเอาความรู้และทักษะที่สังคมมอบให้ส่งคืนกลับไปที่คนอื่น ๆ บ้าง
“อีกด้านหนึ่ง พวกเราอยากบอกแก่สังคมว่า ไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตาม เราทำประโยชน์ได้ เราเอาความสามารถมาใช้เพื่อคนอื่นในยามที่พึงต้องทำได้ ซึ่งนี่คือความหมายของการอยู่ร่วมกัน ของการเป็นมนุษย์ที่เราจะรู้สึกถึงความทุกข์ความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ไปด้วยกัน แล้วในภาวะเช่นนี้ เราจะยิ่งเห็นสายสัมพันธ์นั้น เมื่อพวกเราจะรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยปราศจากข้อแม้ เพราะต่างรู้ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเรื่องของเราทุกคน”
ทีมช่างอาสา กสศ. พร้อมลุย!! ออกหน่วยซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ฟื้นฟูวิกฤตน้ำท่วมเชียงราย
โดยนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ร่วมด้วยนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. และคณะครูอาจารย์ ในนาม ‘กลุ่มช่าง (คนพิการ) จิตอาสา เพื่อสังคม’ เปิดรับสมทบทุนค่าอะไหล่ เพื่อนำไปซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจะไปตั้งศูนย์ซ่อมให้บริการฟรี ณ วัดหิรัญญาวาส อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 28 กันยายน – 4 ตุลาคม 2567
ผู้สนใจร่วมสมทบความช่วยเหลือ ติดต่อครูมงคล จินาวรณ์ (ครูกี้) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา 086-616-3501