ครูโก้ “จิรายุ มัทธจิตร์” ครูรัก(ษ์)ถิ่นที่อยากสอนทักษะชีวิตให้เด็กพร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง

ครูโก้ “จิรายุ มัทธจิตร์” ครูรัก(ษ์)ถิ่นที่อยากสอนทักษะชีวิตให้เด็กพร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง

ครูโก้เล่าว่า เพราะเป็นเด็กที่เกิดและโตมาบนเกาะช้าง จึงมองเห็นความเป็นมาและเป็นไปในตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา และเมื่อมีโอกาสได้ทุนเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จนได้กลับมาทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิด ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู ก็ตั้งใจที่จะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้น ค่อย ๆ ต่อยอดสิ่งที่วาดหวังไว้ ต่อยอดงานสอนอย่างสุดกำลังที่มี เพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ไปจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่วาง…

ครูจิรายุ มัทธจิตร์

เส้นทางการเดินทางจากจุดลงเรือที่ท่าเรืออ่าวธรรมชาติ  ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด มาขึ้นฝั่งบนเกาะช้างที่ท่าเรือเฟอร์รี่ เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางทางหลวงชนบท ผ่านโซนพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ของเกาะช้างไปด้วยระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะเดินทางถึงกลุ่มอาคารที่รายล้อมไปด้วยเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่มีสีสันดึงดูดสายตา เสียงเด็ก ๆ ดังมาจากห้องเรียน ที่นี่คือ โรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง สถานที่ทำงานของ ครูจิรายุ มัทธจิตร์  หรือ ครูโก้ ของเด็ก ๆ

หลังเรียนจบสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ครูโก้กลับมาเป็นครูที่นี่ด้วยความตั้งใจในโรงเรียนที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ๆ และอยากจะใช้ความคุ้นเคยกับสถานที่และท้องถิ่นโรงเรียนซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง มาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การทำงาน โดยเล่าว่า ตอนยังเป็นเด็ก เคยฝันอยากเป็นครูด้วยเหตุผลคือ ความเป็นเด็กเกาะ ได้เห็นนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก เห็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่สอนและพูดภาษาต่างประเทศด้วยความมั่นใจ จึงฝันและตั้งใจที่จะสอนภาษาอังกฤษเพื่อปูพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่แรก

“ผมอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะจำได้ว่า เห็นครูสอนภาษาอังกฤษ แล้วรู้สึกว่าท่านเท่มาก นอกจากเรื่องบุคลิก ความสามารถที่ผมอยากเอาอย่างแล้ว สิ่งที่ผมซึมซับจากครูสอนภาษาอังกฤษท่านนั้นก็คือ ความเชื่อมั่นว่าครูสาขานี้มีโอกาสที่จะใช้ความสามารถทางภาษาสอนให้เด็ก ๆ สื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้อย่างด้วยความมั่นใจ

“ความสามารถด้านนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีเครื่องมือในสร้างโอกาสทางอาชีพให้ตัวเอง เด็กบนเกาะควรจะมีทักษะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้ ทุกวันนี้ แม้จะได้มาเป็นครูสอนชั้นอนุบาลก็ยังเชื่อมั่นเรื่องนี้ และพยายามสอนภาษาอังกฤษง่าย ๆ ให้กับเด็ก ๆ สอนให้พวกเขาคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อพวกเขาเริ่มเรียนในชั้นที่สูงขึ้นก็จะไม่รู้สึกกลัวการเรียนรู้ด้านภาษา”

แม้จะไม่ได้เป็นเรียนต่อทางด้านภาษาอังกฤษ แต่ครูโก้ก็ยังเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงจุดไหนของอาชีพนี้ ความเป็นครูมืออาชีพล้วนมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

“ความเป็นครู คิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือตัวเด็ก คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกับเด็กที่เราสอน ความฝันครั้งใหม่ที่วาดไว้และนึกอยู่ตลอด คือการเป็นครูที่ช่วยให้เขามีความพร้อมในการเรียนรู้ ผมจึงตั้งใจว่า ถ้าตัวเองได้เรียนรู้มากขนาดไหนได้เรียนรู้ 10 เท่า 20 เท่า ก็อยากเอาตรงนั้นมาต่อยอดให้กับเด็กให้ได้มากที่สุด ให้เด็กได้รับมากกว่าสิ่งที่เราเรียนรู้มา เพราะว่าผมมองว่าสิ่งเราเรียนรู้มาแล้ว คือเรียนรู้ในปัจจุบันนี้ เนื้อหาประมาณนี้ แต่เด็กแต่ละคน กว่าที่พวกเขาจะโตขึ้นมา แต่ละคนยังต้องเผชิญอีกหลายสิ่ง เราจึงต้องเรียนรู้ให้มากพอที่จะเตรียมตัวให้เขาพร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับสังคมที่เปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา แล้วก็เอามาสอนเด็กให้มากกว่าตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้พวกเขานำสิ่งที่เราสอนไปใช้ในอนาคต”

บทเรียนและความสำเร็จก้าวแรกสำหรับครูมือใหม่

เมื่อต้องมาปฏิบัติงานเป็นครูประจำชั้นอนุบาล 3 ของโรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง ประสบการณ์ครูมือใหม่อย่างครูโก้ได้เรียนรู้ว่า ความรู้ที่เรียนมากับความรู้ที่ต้องนำมาสอนจริง เป็นเรื่องที่บูรณาการ

“สิ่งที่เรียนมากับสิ่งที่ต้องนำมาสอนจริงต่างกันหลายด้าน ความรู้ที่เรียนมาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของทฤษฎี แม้จะมีการปฏิบัติอยู่บ้างด้วยการให้โอกาสพวกเราฝึกสอน แต่การฝึกสอนกับการสอนจริงก็ยังแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะเรื่องของตัวเด็ก ถ้าเด็กที่พวกเราฝึกสอนเป็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งความพร้อมของตัวเด็กเอง ความพร้อมของฐานะทางบ้านและครอบครัว ขณะที่เด็กในโรงเรียนที่เราต้องมาสอนจริง พบว่าเด็กจำนวนหนึ่งขาดแคลนหลาย ๆ ด้าน จึงต้องขอความรู้จากครูท่านอื่น ขอความรู้จากผู้อำนวยการโรงเรียน นำมาตั้งหลักการทำงาน ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา มาประยุกต์วิธีการสอนใหม่ให้เหมาะสมและให้ได้ผลกับเด็กมากที่สุด

“เด็กในเมืองกับเด็กในท้องถิ่นนั้นแตกต่างกันมาก แม้เด็กในท้องถิ่น จะมีประสบการณ์ชีวิตและทักษะชีวิตซึ่งใช้สำหรับดูแลตัวเองและเอาตัวรอดได้มากกว่าเด็กในเมือง แต่สิ่งที่ผมอยากเติมเต็มให้กับเด็กในโรงเรียนที่กำลังสอน คือเรื่องทักษะชีวิตในอีกด้านหนึ่ง หรือด้านที่พวกเขายังไม่รู้ ทักษะที่จะช่วยให้เขาปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และนำไปใช้สำหรับเรียนในระดับที่สูงขึ้น และใช้เอาตัวรอดได้

“สิ่งที่ผมภูมิใจมาก และเป็นเสมือนความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกของการเป็นครู คือ ผู้ปกครองของเด็กชั้นอนุบาล 3 ที่ผมสอนคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า น้องได้นำทักษะชีวิตที่ผมสอนนำไปใช้จริง ผมเคยสอนเรื่องการดูแลตัวเองจากอาการเลือดกำเดาไหล หลังจากที่เกิดเหตุเด็กคนหนึ่งในชั้นเรียนมีอาการเลือดกำเดาไหล โดยสอนว่า ถ้าเลือดกำเดาไหลต้องไม่เงยหน้า ให้คว่ำหน้าลงจนกว่าเลือดจะหยุดไหล เพราะถ้าเงยหน้าขึ้นเลือดกำเดาจะยิ่งไหลลงไปในคอมากขึ้น หากไม่สามารถไอออกมาได้อาจเกิดการสำลัก ควรก้มหน้าจนกว่าเลือดกำเดาหยุดไหลแล้วค่อยใช้น้ำล้างและทำความสะอาด

“ผู้ปกครองท่านนั้น เล่าให้ฟังว่า พี่ชายของน้อง ซึ่งเรียนในระดับชั้นมัธยมปีที่สอง มีอาการเลือดกำเดาไหล ทุกคนในบ้านตกใจกัน แต่นักเรียนอนุบาลที่ผมสอน กล้าที่จะใช้ทักษะที่เรียนบอกพี่ว่า ครูโก้สอนว่า ให้คว่ำหน้านะ ไม่ให้เงยหน้า ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ช่วยให้เด็กอนุบาล 3 สามารถนำสิ่งที่เราสอนไปต่อยอดในชีวิตจริง ดูแลพี่ที่มีอาการเลือดกำเดาไหลได้” ครูโก้ กล่าวทิ้งท้าย และบอกอีกว่า

อยากถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของตัวเองไปถึงเพื่อนครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคน ที่อาจจะกำลังรู้สึกท้อถอยและเหนื่อยในช่วงที่ปรับตัวในการทำงานสอนว่า หลายเรื่องอาจจะยาก แต่ไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่จะรับมือได้

“หากพบปัญหา เชื่อว่าทุกคนจะหาทางออกได้ เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อเราหาทางออกและผ่านพ้นไปได้ สิ่งที่ได้กลับมา ก็คือวิธีการหรือเส้นทางการทำงานที่จะช่วยให้เราดีขึ้นกว่าเดิม เราจะพบวิธีพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง”