เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศแสดงความยินดีกับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงซึ่งสำเร็จการศึกษาจำนวน 2,154 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพ 62 แห่งใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้ชื่องาน “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” พร้อมกัน 8 พื้นที่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี สงขลา อุบลราชธานี ขอนแก่น และพิษณุโลก
หนึ่งในกิจกรรมปีนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง “ไอ้เพ้ง: จากลูกจับกัง สู่รัฐมนตรี” มาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนชีวิตและส่งแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาทุนทุกคน
บนเส้นทางแห่งความยากลำบาก
คุณพงษ์ศักดิ์เคยเล่าไว้ในหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติว่า เกิดมาในครอบครัวจับกัง มีพี่น้อง 9 คน ส่วนใหญ่เรียนหนังสือไม่จบชั้น ป.4 วัยเด็กนั้นเคยผ่านความยากลำบากมามายมาก ที่บ้านไม่มีโต๊ะหนังสือ เวลาจะอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน ต้องใช้วิธีจุดเทียนไขบนลังกระดาษ คุณพงษ์ศักดิ์เป็นสมาชิกคนเดียวในบ้านที่มองการณ์ไกล เห็นความสำคัญของการเรียน หลังเรียนจบ ป. 4 ที่โรงเรียนใน จ.นครสวรรค์ ก็บอกพ่อแม่ว่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพมาหางานทำ ระหว่างที่หางานทำก็มีโอกาสได้ลองสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อสอบเข้าได้ก็ยอมรับสภาพความยากลำบาก ว่า ต้องเรียนหนังสือไปด้วยทำงานไปด้วย หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม ก็ลองสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็สอบได้
“หลังจากเรียนจบวิศวะ ผมรู้สึกเคว้งคว้างมาก ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ แต่เมื่อทบทวนจากที่เคยอ่านและศึกษาชีวิตคนอื่นมามากทำให้พบว่า สิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตมีเหมือน ๆ กัน ก็คือ “ความรู้จักอดทนและต่อสู้กับความยากลำบาก”
ความลำบาก เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตคนส่วนใหญ่ หลายคนทราบดีว่ามีชะตาชีวิตที่ตกอยู่ท่ามกลางสภาพปัญหาซึ่งทำให้ต้องยอมรับว่า เกิดมาไม่มีอะไรราบรื่น ต้องเจอกับอุปสรรคปัญหาตลอด เมื่อตระหนักถึงกรณีนี้ก็ย่อมจะทำให้คิดได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีความมุ่งมั่นและความอดทน
โลกนี้มีคนหลากหลายรูปแบบ แต่คนที่เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ คือคนที่รู้จักอดทน นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก หากอุปนิสัยความอดทนนั้น ถูกพัฒนาไปเป็นความตั้งใจที่จะมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
สิ่งที่นักศึกษาหลายคนที่เพิ่งจบการศึกษา เพิ่งจะก้าวพ้นรั้วสถาบันการศึกษา ทุกยุคสมัยต่างต้องพบเจอเหมือน ๆ กัน ก็คือพบว่า เรียนจบออกมาแล้วมีอุปสรรคอื่น ๆ รออยู่มากมาย เพราะก่อนหน้านี้ หลายคนไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่าเรียนจบแล้วจะต้องทำงานหาเงิน และพยายามยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง
ทุกคนจึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายในชีวิต โดยอาจจะออกแบบเป้าหมายเป็นช่วงต่าง ๆ เป็นเป้าหมายที่มีหลายระยะ ทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะยาว และต้องรู้อยู่เสมอว่า หากจะไปให้ถึงเป้าหมายระยะยาวซึ่งอาจจะหมายถึงยอดภูเขาสูงที่ท้าทายนั้นได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเริ่มจากเป้าหมายแรก คือต้องเริ่มออกเดินให้ถึงเชิงเขาให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มปีน
เป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้เรารู้สึกสนุกและยอมรับอุปสรรคความยากลำบากที่ผ่านเข้ามา ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในอดีต คือ ผมได้รู้จักหลายคนที่เดินทางไปทำงานในประเทศตะวันออกกลางอย่าง ซาอุดิอาระเบีย คนที่เคยไปทำงานที่นั่น สามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ หลายคนกลับมาตั้งตัวเป็นเถ้าแก่ในเมืองไทยได้ ก็เพราะยอมรับเงื่อนไขความยากลำบาก ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บังคับให้ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน ทำงานหนักโดยไม่มีโอกาสเข้าสังคม ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตใช้เงินที่หามาได้เลย ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วทำได้แบบเดียวกันนี้ได้ ก็น่าจะตั้งตัวได้ทุกคน ผมค้นพบว่า โอกาสมักจะซ่อนตัวอยู่ในความยากลำบาก
วางแผนชีวิต คือลายแทงของความสำเร็จ
คุณพงษ์ศักดิ์บอกว่า หลายคนเสียโอกาสประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้วางเป้าหมายชีวิตเอาไว้ เมื่อไม่ได้วางแผนว่า ชีวิตของตัวเองจะไปอยู่ตรงจุดไหนของสังคม ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องฟันฝ่าหรือว่าเตรียมใจไว้ว่าจะต้องเดินไปพบเจออะไรบ้าง
“คนที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิต มักจะมีโอกาสหลงไปตกอยู่ในวงจรชีวิตได้ง่ายมาก พอหลงไปในวงจรชีวิต ก็จะไปอยู่ในกลุ่มเพื่อน กลุ่มสังคม และพบว่าชีวิตในแต่ละวันผ่านไปเร็วมากจนตั้งตัวแทบไม่ทัน การพยายามต่อสู้กับชะตากรรม สิ่งแรกที่แต่ละคนมักจะพบเจอก่อนสิ่งอื่น นั่นคือปัญหาที่มาจากตัวเราเองที่ได้พบเจอสิ่งยั่วยวนและหลงไปกับสิ่งบันเทิง จนลืมเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต พ่ายแพ้ให้กับความสนุกและสะดวกสบายที่ถาโถมเข้ามา
ไม่มีใครบอกคนอื่นได้ว่าต้องตั้งเป้าหมายอะไร แต่ละคนต้องบอกตัวเอง ผมเคยบอกตัวเองตอนที่เข้าทำงานเป็นลูกจ้างว่าถ้าอยากเป็นเถ้าแก่ ต้องตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้จากทุกสิ่งรอบตัวให้ได้มากที่สุด ความรู้ที่มาจากประสบการณ์การทำงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ผมได้มีโอกาสไปทำงานในบริษัทก่อสร้างครั้งแรก ในฐานะนายช่างคุมแรงงานคนอื่น ๆ ผมจะทำงานแค่นั้นโดยยึดความสบายของตัวเองก็ได้ แต่ผมเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าตำแหน่งนี้เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ
ผมเลือกที่จะทำงานเหมือนคนงานคนอื่น ๆ ด้วยการไปช่วยและไปดูว่างานช่างประกอบแบบทำอย่างไร ขึ้นแบบอย่างไร ตัดเหล็กวิธีไหนที่ทำให้เหลือเศษเหล็กที่ใช้งานไม่ได้ให้น้อยที่สุด ยอมทำงานแทนเจ้าของโครงการ ด้วยการไปดีลสินค้า ไปดีลวัสดุก่อสร้าง ไปต่อรองราคาวัสดุก่อสร้างด้วยตัวเอง ผมยอมทำงาน 24 ชั่วโมง ยอมทำงานนอกหน้าที่ตัวเอง เพื่อหาความรู้และทำงานอย่างซื่อสัตย์ ใช้โอกาสนั้นสร้างเครดิตด้านประสบการณ์ในการทำงาน และสร้างเครดิตจากร้านค้า ผลที่ได้รับในเวลาต่อมา คือ เมื่อผมเปิดกิจการก่อสร้างของตัวเอง ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ผมเคยดีลตอนเป็นลูกจ้างให้เครดิตผมถึง 5 ล้านบาท ผมเริ่มต้นกิจการของตัวเองได้โดยไม่ต้องมีเงินทุน ไม่ต้องไปกู้ยืมใครก่อน ทั้งหมดเกิดขึ้นจากแผนชีวิตที่วางไว้ ผมเริ่มต้นชีวิตจากตัวเปล่า ๆ ได้ น้อง ๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพทุกคนก็ต้องทำได้
มองหาต้นแบบที่ดีในการสร้างอนาคต
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนสามารถพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วมาก ความก้าวหน้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนกลายเป็นสิ่งที่ประเทศตะวันตกคาดไม่ถึง ทั้งหมดเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม จนสามารถแปลงสิ่งที่เรียนรู้เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนตัวเองจากอดีต ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศลอกเลียนเทคโนโลยีของต่างชาติ ทุกวันนี้กลายเป็นผู้ริเริ่มหลายสิ่งหลายด้านและเป็นประเทศแถวหน้าของโลก
“ผมเคยทำบริษัทก่อสร้าง ต้องสั่งซื้อหินแกรนิตจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้ในงานก่อสร้าง ตารางเมตรละประมาณ 20,000 บาท ประเทศจีนเห็นความสำคัญในการทำให้วัสดุนี้มีราคาถูกลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับบริษัทก่อสร้าง ด้วยการใช้วิธีนำหินแกรนิตมาบดเพื่อขึ้นรูปเป็นแผ่น พัฒนาแนวทางและรูปแบบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีให้เลือกหลากหลายชนิดหลากหลายแบบ มีราคาเพียงตารางเมตรละไม่กี่พันบาท
บทเรียนสำคัญ ที่จีนทำให้ทั่วโลกเห็นในวันนี้ คือการพยายามทุกวิถีทางในการมองหาโอกาส พยายามแข่งขันทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ที่ดีกว่า จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ โดยใช้ความรู้ และเทคโนโลยีที่มีอย่างเต็มกำลังความสามารถ
เราต้องเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างเริ่มต้นจากพลังความคิดที่เราแต่ละคนมีอยู่และสร้างขึ้นได้ ให้ตระหนักว่าเราสามารถที่จะใช้ความรู้ที่มีและกำลังจะพบเจอจากการทำงานในวันข้างหน้า มาสร้างอนาคต และพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไข สร้างสิ่งที่ดีกว่าอยู่ตลอดเวลา เพราะนี่คือกุญแจของความสำเร็จในยุคนี้ อยากฝากคำคมของ สตีฟ จ็อบส์ ที่บอกว่า “จงกระหายและทำตัวให้โง่ตลอดเวลา” เพราะเมื่อใดที่คุณคิดว่าคุณเก่งแล้ว คุณจะหยุดพัฒนาตนเอง
อย่ากลัว ต้องกล้าทดลอง ไม่มีใครทำอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกครั้ง ทำแล้วผิดพลาดก็พยายามแก้ไข และคิดให้รอบคอบว่าจะเปลี่ยนส่วนที่ผิดพลาดนั้นอย่างไรให้ดีขึ้น จะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนั้นให้เป็นเป้าหมายของชีวิตและทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเองได้อย่างไร อย่าลืมมองความยากลำบากเป็นเรื่องท้าทาย เป็นเรื่องที่ควรจะต้องสนุกหรืออินไปกับมัน หากคิดได้แบบนี้ โอกาสที่จะพบกับความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน”