“ตอนแรกก็มีเหมือนกันที่ครูบางท่านมองว่า การให้เด็กที่ตั้งครรภ์กลับมาเรียนจะทำให้เกิดการเอาอย่าง แต่เราใช้วิธีคุยสร้างความเข้าใจตั้งแต่แรกจนทุกคนเข้าใจตรงกันว่า การที่เด็กคนหนึ่งตั้งครรภ์ในตอนที่เขาไม่พร้อม เขาต้องเจอปัญหามากมายที่ต้องจัดการ เด็กมีความทุกข์มากมายอยู่แล้ว เขาอาจจะก้าวพลาดไปบ้าง แต่พวกเราในฐานะครูต้องให้โอกาสเขา สุดท้ายทุกคนจึงมาช่วยกัน จนตอนนี้น้องเรียนจบแล้วพร้อมกับเพื่อนๆ”
กมลทิพย์ สงค์ดำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะขวัญ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวขึ้น พร้อมกันนั้นยังได้ขยายความถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ให้พวกเราได้ฟัง
สถานการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอาจมีหลายรูปแบบ แต่ที่ผ่านมาทางโรงเรียนยังพอรับมือได้จนกระทั่ง การมาถึงของโควิด-19 ได้ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น สำหรับชุมชนเล็กๆ โรงเรียนจะมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของนักเรียน ยิ่งครูเองมีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนหรือคลี่คลายปัญหาเพื่อให้เด็กสามารถเรียนต่อไปได้จนจบ ก่อนหน้านี้แม้จะเจอบ้างที่อยู่ดีๆ นักเรียนก็หายไป แต่ก็เป็นเหตุผลเฉพาะหน้า อย่างการย้ายตามครอบครัวกระทันหัน หรือถ้าเป็นเพราะความเกเรตามวัย ด้วยความใกล้ชิดของครูจะดึงกลับมาได้ทัน แตกต่างจากช่วงโควิด เมื่อต้องเรียนแบบออนไลน์เป็นหลัก ความสัมพันธ์แบบเดิมจึงค่อยๆ ห่างไป กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้แนวโน้มของเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามีมากขึ้น ดังกรณีของนักเรียนคนหนึ่งซึ่งยังเรียนอยู่ชั้น ม.3 ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในหลายด้าน การรีบเข้าไปให้คำปรึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“บทบาทของครูสำคัญมากต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ครูในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนก็ได้ไปคุยกับครอบครัวด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้คุณพ่อ คุณแม่ รวมถึงตัวน้องเองเชื่อมั่นได้ว่า แม้อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดแล้วและต้องแบ่งเวลาไปเลี้ยงลูก โรงเรียนจะช่วยเหลือเต็มที่เพื่อให้น้องกลับมาเรียนได้ ตอนแรกคุณพ่อคุณแม่ก็ยังกังวลว่าท้องแล้วจะกลับไปเรียนได้หรือ ตัวน้องเองก็หายจากห้องเรียนออนไลน์ไปเลย”
ผอ.กมลทิพย์ กล่าวว่า เรื่องวิธีการเรียนอาจไม่ใช่ปัญหา เราพยายามทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่า น้องยังเรียนได้เหมือนปกติ ยิ่งในช่วงนี้เป็นการเรียนแบบออนไลน์ก็เข้าเรียนได้ ทางโรงเรียนก็จะปรับให้ยืดหยุ่นกับตัวน้องมากขึ้น เช่นการให้ส่งงานทีหลังตามเวลาที่พร้อม แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการกลับมาเรียน คือการพูดคุยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับตัวน้อง รวมถึงการต้องพูดคุยกับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างบริบทแวดล้อมให้เข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู และเพื่อนๆ
“การพูดคุยคือการให้กำลังใจไม่ตอกย้ำซ้ำเติมหรือกล่าวโทษให้นักเรียนรู้สึกผิดและอับอาย ขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับตัวน้องเองว่า ในสถานการณ์แบบนี้ คำพูดเสียดสีทำร้ายจิตใจอาจเป็นสิ่งเจอได้เมื่อกลับมาเรียน การมีจิตใจแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันจึงสำคัญที่สุดสำหรับตัวเด็ก ถ้าเขาเข้มแข็งแล้วหลังจากนี้อะไรก็มากระทบไม่ได้ โชคดีอย่างหนึ่งที่เป็นช่วงโควิด จึงไม่ค่อยมีช่วงที่ต้องมาโรงเรียนบ่อย อาจมีบ้างในการนัดมาสอบหรือทำบางกิจกรรม ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เพื่อนๆ ก็น่ารักมาก ช่วยกันดูแลกันเป็นอย่างดี”
“มีช่วงที่เขาคลอดแล้วจะหายไปพักหนึ่ง ไม่ได้เข้ามาเรียนออนไลน์ แต่เราจะมีไลน์สำหรับคุยกัน ครูได้สอบถามสาเหตุไป น้องบอกว่า ต้องเลี้ยงลูก เลยบอกว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นไปได้ก็หาโอกาสติดตามงาน น้องก็เข้ามาส่งงานเป็นระยะ เวลาเจอปัญหาอะไรก็มาคุย และก็ได้เพื่อนๆ คอยช่วยเหลือในเรื่องเรียนและการส่งงานของน้องด้วย”
ผอ.กมลทิพย์ กล่าวว่า ในส่วนของครูก็มีการพูดคุยเช่นกัน ยอมรับว่าบางคนอาจไม่เข้าใจในช่วงแรก แต่เมื่อปรับมุมมองให้เห็นตรงกันแล้วก็กลายมาเป็นการช่วยกันสนับสนุน ที่ต้องใกล้ชิดหน่อยก็คือครูประจำชั้นจะคอยติดตามสอบถามปัญหากับตัวน้องและครอบครัว เพื่อช่วยกันคลี่คลายอุปสรรคต่างๆ จนในที่สุดน้องก็สามารถเรียนจบ ม.3 พร้อมเพื่อนๆ
“ครูเคยสอบถามถึงอนาคตหลังจากนี้ว่าจะเอาอย่างไรต่อ น้องตอบว่าอยากเรียนต่อสายอาชีพ แต่คงขอหยุดเรียนเอาไว้ก่อนสัก 1 ปี เพื่อเลี้ยงลูก จึงให้คำปรึกษาเพิ่มเติมไปว่า ไม่อยากให้หยุดเรียนแบบขาดไปเลย เพราะถ้าห่างจากการเรียนไปเรื่อยๆก็มีโอกาสที่จะเลิกเรียนไปเลย อย่างน้อยก็น่าจะลงเรียน กศน. แล้วแบ่งเวลาช่วงเสาร์อาทิตย์น่าจะทำให้เรียนไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกได้”
“ครูเป็นครูบรรจุตั้งแต่ปี 41 ถึงวันนี้ก็ประมาณ 24 ปี ครูเห็นปัญหาของเด็กวัยนี้มาไม่น้อย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องตั้งครรภ์ ในวัยของเขาอาจยังไม่เข้าใจและมองว่าการศึกษาไม่สำคัญ บางคนมองว่าไม่เรียนก็ได้แล้วออกไปเลย แต่พอโตขึ้น เจอบ่อยมาก หลายคนเลยกลับมานึกเสียดายว่า ถ้าตอนนั้นอดทนอีกนิดเดียวก็จบแล้ว เพราะเขาต้องใช้วุฒิการศึกษาไปทำงาน ไปช่วยเบิกทางสร้างโอกาสใหม่ๆได้ อย่างในกรณีนี้ ครูไม่อยากให้การตั้งครรภ์เป็นเงื่อนไขที่ทำลายโอกาสของน้องไป”
ผอ.กมลทิพย์ ยังให้มุมมองเพิ่มเติมว่า สำหรับเด็กวัยนี้ความสนิทสนมไว้ใจมีความสำคัญ ครูมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าเพื่อนๆของเขา ต้องหมั่นสังเกตนักเรียน ต้องรีบดึงเขากลับเข้ามา หากพบเห็นแนวโน้ม เพราะถ้าปล่อยเวลาไว้ ระยะห่างจะมากขึ้นเรื่อยๆ พูดคุยอะไรเขาก็จะไม่ฟังแล้ว เด็กจะกลับมาไม่ได้และหลุดไปเลย โดยเฉพาะเด็กผู้ชายวัยนี้ยิ่งต้องรีบดึงกลับมา
“แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะครูในยุคปัจจุบันต้องรับภาระในหลายด้าน ค่าตอบแทนก็อาจไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับ ผู้บริหารจึงต้องเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือครูด้วย จะต้องเป็นผู้สนับสนุนและต้องเห็นปัญหาร่วมกับครู ที่โรงเรียนจะใช้วิธีคุยกันทุกเรื่อง ไม่ใช่การสั่ง เป็นทีม เป็นพี่เป็นน้องกัน อย่างเวลาครูไปนิเทศฟังปัญหาของนักเรียน ช่วงนี้จะเป็นแบบออนไลน์ เราก็ขอเข้าฟังด้วย ส่วนใหญ่เมื่อก่อน ถ้าผู้บริหารมาร่วมรับฟังครูก็จะเกร็ง พอดีในวันนั้นเราสังเกตว่า การสื่อสารมีสัญญาณกระตุกบ่อย เสียงก็ไม่ชัด ได้มาสอบถามสาเหตุกันภายหลัง พบว่ามาจากคอมพิวเตอร์เก่าไม่มีประสิทธิภาพ จึงให้ไปรวบรวมว่ามีปัญหาแบบนี้กี่เครื่อง รู้สึกจะ 15 เครื่อง ก็จัดการจัดหาเครื่องใหม่มาให้ทั้งหมด เพื่อให้ครูทำงานของเขาได้สะดวกราบรื่น จากนั้นมากลายเป็นครูมาบอกให้ ผอ.เข้านิเทศบ่อยๆ เพราะถ้าเจอปัญหาจะได้ร่วมกันแก้ไขได้เลย” ผอ.กมลทิพย์ กล่าวด้วยน้ำเสียงสดใด
“โอกาสของการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ กรณีการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ถ้าเป็นสมัยก่อนเวลามีเรื่องแบบนี้ เด็กจะหนีไปเลย เพราะเขาอายไม่กล้ากลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน นักเรียนอาจจะก้าวพลาดในบางเรื่องก็จริง แต่เรามองว่า ต้องสร้างโอกาสให้เขาในอนาคตให้ได้ ต้องช่วยให้เขากล้าออกมาจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ให้ได้ เพราะถ้าออกมาได้ เขาจะเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราต้องทำให้เขามีโอกาสในอนาคต อย่าให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตและโอกาสของเขาได้” ผอ.กมลทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย