ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช : What Next All For Education แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ด้วยพลังของทุกคน

ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช : What Next All For Education แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ด้วยพลังของทุกคน

ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวกับผู้เข้าร่วมมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน “All For Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน” ที่ IMPACT Forum เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ว่าเรามาร่วมประชุมกันสองวันเกือบสามวัน จากที่ทั้ง 8 ห้องมาสรุปความประทับใจให้พวกเราฟังแล้ว ประเด็นของก้าวต่อไปง่ายนิดเดียว คือทุกคนกลับไป ณ ที่ตั้งแล้วก็ทำในสิ่งที่ท่านใฝ่ฝัน ทำในสิ่งที่จะทำให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น ทำให้พลเมืองไทยมีคุณภาพยิ่งขึ้น เพราะว่างานนี้ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้ของเด็กก็เกี่ยวข้องกับคนในทุกหน้าที่และทุกย่างก้าวของชีวิตด้วย คือ Education For All และ All For Education

ก้าวต่อไปในสายตาของผมนั้น มองว่าสามวันนี้และรวมถึงก่อนหน้านี้ที่ กสศ. และภาคีได้ทำหน้าที่เป็นกลไก Networking ต้องไม่ใช่แค่ทำกันอยู่สามวันต่อปีเหมือนอย่างงานในสามวันนี้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของอีก 362 วันที่เราจะ Networking กัน ซึ่งมีอีกหลายกรณีใน 362 วันนั้นเป็นของจริงยิ่งกว่า ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง และช่วยเหลือกันได้ในสภาพของความเป็นจริง ได้เรียนรู้ในสภาพความเป็นจริงได้ยิ่งกว่า 

การรวมพลังการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองไทยและสร้างคุณภาพการศึกษานั้น หัวใจคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้จากเรื่องที่อยู่ในชีวิตจริงของผู้คน ต้องช่วยกันทำให้ระบบการศึกษาเป็นระบบที่ออกไปนอกโรงเรียนได้เยอะขึ้น ให้เด็กได้ออกไปเรียนในพื้นที่ของชีวิตจริงให้มากขึ้น เป็นเรื่องสำคัญของการเรียนรู้ที่เรียกว่า Experiential learning หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งมีประสบการณ์แล้วต้องใช้เครื่องมือการสะท้อนคิดที่เรียกว่า Reflection ทันที ผู้ใหญ่ต้องตั้งคำถามชวนเด็กสะท้อนคิด แล้วฝึกให้เด็กตั้งคำถามแก่ตัวเองและเพื่อนด้วยเพื่อสะท้อนคิดร่วมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในโลกของการเรียนรู้ยุคปัจจุบันและในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด อาจจะเรียกได้ว่า KOLB’s experiential learning cycle ซึ่งเป็นวงจรแห่งปัญญาที่แท้จริง 

การเรียนที่รับถ่ายทอดจากหนังสือหรือครูเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การเรียนรู้ที่สำคัญอีกอย่างคือ Multiple loop learning คือการเรียนลึกเข้าไปถึงการตั้งคำถามถึงสมมติฐานหรือความเชื่อบางอย่าง ทั้งหมดนั้นเราต้องการการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย หรือ System transformation ซึ่งเป็นเหมือนในปัจจุบันไม่ได้เพราะจะทำให้บ้านเมืองล่มจมและทำให้พลเมืองไทยคุณภาพตกต่ำลง เราต้องช่วยกัน Transform education system ให้ได้ 

KOLB’s experiential learning cycle เป็นวงจรการเรียนรู้ที่เริ่มจากการมีประสบการณ์ตรงจากการสังเกตหรือ Concrete experience จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของ Reflective observation คือการสังเกตแล้วสะท้อนคิดในทันที เมื่อสะท้อนคิดแล้วจะนำไปสู่ขั้นตอนที่สามคือทักษะหรือวิธีการ แต่ที่เขาแนะนำว่าปัญญาสูงคือต้องฝึกสะท้อนคิดสู่หลักการที่เป็นนามธรรมที่เรียกว่า Abstract conceptualization ซึ่งสำคัญที่สุด เราต้องฝึกสะท้อนคิดสู่หลักการให้เป็น โดยคนทั่วไปถ้าไม่ฝึกจะสะท้อนคิดสู่วิธีการ ซึ่งดีแต่ยังดีไม่พอ ต้องไปสู่หลักการที่อาจจะสอดคล้องกับที่เคยอ่านเคยพบมา หรือมีข้อแตกต่าง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญญา เมื่อได้แนวคิดใหม่แล้ว หลักการสำคัญคืออย่าเชื่อทั้งหมด ให้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ต้องฝึกเด็กว่าไปทำอะไรมาต้องสะท้อนคิดแล้วถ้ามีสิบคน ต้องได้การสะท้อนคิดหลายแบบไม่ใช่เหมือนกันหมด แล้วจึงรวบรวมความคิดมาปรึกษากันเพื่อหาประเด็นสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การทดลองหรือ Active experimentation ว่าได้ผลอย่างที่เราคิดหรือไม่ กระบวนการนี้เกิดขึ้นเป็นล้านครั้งในชีวิต ซึ่งจะช่วยให้บุคคลเกิดปัญญา มีการคิดจากประสบการณ์ตรงและคิดจากหลักการ ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้สมัยใหม่

ในภาพนี้คือ Double loop learning หรือบางทีเรียกว่า Multiple loop learning หมายความว่าจะมีกล่องทางซ้ายเกิดขึ้นอีกหลายกล่อง หลักการคือเราทำอะไรมีเป้าหมายคือกล่องสีเขียว วิธีการคือกล่องสีแดง และหลักการหรือวิธีการคือกล่องสีฟ้าทางซ้ายมือ ซึ่งหลักการจะนำไปสู่วิธีการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกล่องสีเขียวมักจะไม่เหมือนกับที่คิดไว้ตรงทั้งหมด ข้อมูลการทำงานจึง Feedback ไปที่กล่องสีแดง คือไปเปลี่ยนวิธีการหรือ Action ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่จะดียิ่งกว่าถ้ามี Feedback กลับไปที่กล่องสีฟ้า คือการตั้งคำถามต่อสมมติฐานหรือความเชื่อบางอย่าง ถ้าจะเป็น Multiple loop learning คือมีกล่องที่ 4 อยู่ทางซ้ายมืออีก อาจจะเป็นเรื่องของกฎหมายกติกาบ้านเมืองที่ยังไม่ดี ซึ่งวงจรนี้จะทำให้คนมีปัญญาและสังคมมีปัญญา คือหลักการของการเรียนรู้แบบ Feedback loop

ทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมของการศึกษาหรือการเรียนรู้ในสังคมไทย โดยการใช้ข้อมูลจากหลักฐานไม่ใช่การคิดเอาเองหรือเอามาจากตำราที่ไหน แต่เจาะข้อมูลไปว่าเราทำแบบนี้แล้วผลที่เด็กเป็นอย่างไร ดู Learning outcome ของเด็กในด้าน VASK เช่น การสร้างค่านิยมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เราตั้งคำถามกับเด็กว่า ความซื่อสัตย์สำคัญอย่างไร เป็นคำถามเชิงค่านิยม ด้านเจตคติหรือทัศนคติอาจจะตั้งคำถามว่า การใช้ท่าทีแบบนี้นำไปสู่ผลแบบนี้ แล้วถ้าอยากให้ดีกว่าต้องมีทัศนคติแบบไหน รวมถึงด้านทักษะและความรู้ต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือ Learning outcome ที่ครบด้าน VASK หรือ Head Heart Hand นี้ โรงเรียนแต่ละแห่งจะจัดทำเพื่อใช้หมุนยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กเองเป็นหลัก ถ้าทำได้แล้วการทำรายงานต่อหน่วยเหนือนั้นง่ายมากและไม่ต้องกังวล แต่ต้องเน้นที่การทำระบบข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการ Feedback การทำงานของตัวเอง และรายงานเป็นผลพลอยได้ ที่สำคัญคือถ้าเราจะมีหลักฐานแบบนี้ส่วนกลางต้องช่วยหนุนเสริม ซึ่งท่าทีของการหนุนเป็นการ Empower ให้โรงเรียนทำได้อย่างแม่นยำ

เป้าหมายที่ก้าวต่อไปในระยะยาว คือ การพลิกโฉมระบบหรือ System transformation โดยใช้แนวทางในการพูดคุยสามวันนี้ที่เราทำงานกันมาหลายปี การศึกษานั้นไม่ได้ทำอยู่ที่เฉพาะโรงเรียน และไม่ใช่เฉพาะครูกับผู้อำนวยการเท่านั้น ยังมีภาคีอีกมากมายที่มาช่วยกันอย่างที่จะเห็นในห้องประชุมต่าง ๆ ที่มีการช่วยกันหลายฝ่าย ในโลกยุคปัจจุบันนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น มีความไม่แน่นอน ปั่นป่วน ผันผวน ทุกคนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การพลิกโฉมระบบการศึกษาหัวใจสำคัญที่สุด คือเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยจากระบบแนวดิ่งสั่งการด้วยอำนาจมาเป็นแนวราบ เป็นระบบที่เอื้ออำนาจหรือ Empower หน่วยปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ และมีตัวอย่างที่มีการใช้กันอยู่แล้วโดยไม่ได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกา 

อีกประเด็นที่สำคัญคือทุกคนมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่โยนความรับผิดชอบให้ครูหรือโรงเรียนเท่านั้น แต่ทั้งผู้ปกครอง ครอบครัวที่บ้าน ชุมชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามาร่วม หัวใจสำคัญของระบบทุกระบบคือ EQE ซึ่งมาจาก Equity, Quality, Effectiveness & Efficiency รวมถึงระบบข้อมูลซึ่งจากการฟังในห้องย่อย D ก็มีคนมาพูดเรื่อง Q-info ที่สามารถช่วยหนุนได้เห็นปัญหาของเด็กหลายคนเพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือได้ ทั้งหมดนั้นเป็นการใช้ระบบข้อมูลเพื่อหนุนทั้งตัวเด็กเป็นรายคนและหนุนการเปลี่ยนระบบ โดยมีหัวใจสำคัญก็คือ GPA mindset เกี่ยวข้องกับ Growth mindset Positive mindset การมองในด้านบวกแม้จะมีความยากลำบาก และ Authentic คือการพูดเรื่องจริง ไม่ใช่พูดเอาใจนายให้สบายใจ และสุดท้ายคือการทำและเรียนรู้ร่วมกัน