“ตอนร่วมโครงการ (TSQP) ปีที่สาม จำได้ว่ามีนักเรียนคนหนึ่งที่น่ารักและค่อนข้างสนใจเรียน อยู่ๆ เขาก็จากเราไปด้วยปัญหาสุขภาพ ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้ผู้อำนวยการและคุณครูทุกคนเริ่มสนใจเรื่องสุขภาพของเด็กมากขึ้น”
ครูเกริกฤทธิ์ สุขสมบูรณ์ ครูประจำวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 กล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ เมื่อย้อนรำลึกถึงลูกศิษย์ผู้ล่วงลับ และแม้โรงเรียนจะไม่ได้เป็นสาเหตุหรือต้นตอของโรคร้าย แต่คณะผู้บริหารและครูทุกคนก็ตระหนักว่า นอกจากความรู้และทักษะ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการนำนวัตกรรมทางการศึกษามาปรับใช้ในบริบทด้านสุขภาพ ที่หมายรวมถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจของเด็กไปพร้อมกัน
นี่คือเรื่องราวบางส่วนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดลัฏฐิวนาราม โรงเรียนขนาดกลางในตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ที่ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
บันไดขั้นแรก เปลี่ยน Mindset ครูสู่การเป็นโค้ช
ครูเกริกฤทธิ์ ย้อนเล่าถึงแนวคิดในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนหลังเข้าร่วมโครงการ TSQP ว่า ก่อนจะพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ได้ สิ่งสำคัญคือครูจะต้องเปลี่ยน Mindset ของตัวเองก่อน พอคุณครูเปลี่ยนมันถึงจะส่งผลกระทบไปถึงเด็กๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย
“ในช่วงแรกๆ ครูหลายคนจะติดวิธีการสอนแบบ ‘บอก’ ว่าเธอต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ครูเลยต้องปรับตัวเองให้เป็น คือต้องคอยช้อนประเด็นช้อนคำถามขึ้นมาแทนการบอก เพื่อดูว่าเด็กมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะเราเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีกระบวนการบางอย่างที่สามารถกระตุ้นให้ศักยภาพของเขาเบ่งบานออกมา เพราะเขาต้องเรียนแบบเดิมๆ รอให้ครูบอกทุกอย่าง จนตัวเองไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงความเห็น
สิ่งที่โรงเรียนนำมาใช้คือ PBLกำลังสอง ซึ่งเราได้เครือข่ายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตที่เข้ามาพัฒนาครูก่อน โดย PBLกำลังสอง เป็นเหมือนการขมวดรวมกันระหว่าง Problem Based Learning กับ Project Based Learning คือเราจะเริ่มด้วย Problem Based แล้วจะจบด้วย Project Based”
ครูเกริกฤทธิ์กล่าวต่อว่าในปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้ส่งอาจารย์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับคุณครู ทั้งการให้ความรู้และการตั้งวง PLC เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนนำมาสู่การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning
“ช่วงสองปีแรก เราจัดการเรียนรู้โดยมองจากบริบทโรงเรียนว่านักเรียนส่วนมากมาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีเท่าไหร่ เลยมองว่าจะส่งเสริมทักษะด้านอาชีพ ทำให้สองปีแรกเกิดโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ลัฏฐิ SME ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลักของโรงเรียน คือ 1 ลัฏฐิฟาร์ม ที่ให้นักเรียนได้ลองออกแบบการทำสวนเกษตรภายใต้พื้นที่ที่จำกัด กิจกรรมที่ 2 คือ ลัฏฐิคาเฟ่ เพราะช่วงนั้นจนถึงตอนนี้มีร้านคาเฟ่ผุดขึ้นมาเยอะมาก นักเรียนจึงสนใจ เราเลยให้นำผลผลิตจากลัฏฐิฟาร์ม เช่น นำอัญชันที่ปลูกมาใช้ซึ่งเราเคยพาเด็กไปออกงานมาด้วย
กิจกรรมที่ 3 คือ ลัฏฐิโปรดักชั่น คือจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่สนใจในเทคโนโลยีมาเรียนรู้การถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอ รวมถึงการใช้โปรแกรมออกแบบ อย่างเช่น โลโก้ของลัฏฐิคาเฟ่ และกิจกรรมสุดท้ายคือ ลัฏฐินิวส์ ที่ช่วยให้เด็กๆ มีช่องทางในการแสดงออกมากขึ้น มีทั้งการทำข่าว การเต้น หรือการทำติ๊กต็อก ก็คือโปรดักชั่นอยู่หลังกล้อง และนิวส์อยู่หน้ากล้อง หลักๆ คือเขาจะทำข่าวว่าโรงเรียนช่วงนี้เป็นยังไง ลัฏฐิฟาร์มและคาเฟ่มีอะไรแปลกใหม่บ้าง”
บันไดขั้นที่สอง ตั้งวง PLC เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็ม
หลังจาก ‘ลัฏฐิSME’ ประสบความสำเร็จในสองปีแรก พร้อมๆ กับการที่คุณครูทุกคนมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น ครูเกริกฤทธิ์บอกว่าปัจจัยสำคัญคือการจัดตั้งวง PLC (Professional Learning Community) รวมถึงวง Mini PLC เฉพาะในโรงเรียนที่แม้จะมีขนาดเล็กลง แต่ก็ทำให้ครูทุกคนมีโอกาสแสดงความเห็นและลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น
“เราพยายามทำให้วง PLC เป็นวงที่ปลอดภัย เพราะแรกๆ เหมือนกับครูก็ยังไม่ค่อยกล้าแชร์ แต่พอเราทำกระบวนการนี้ไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นว่าครูได้รับการปรับเปลี่ยนไปด้วยว่าวงนี้เราแค่มาแชร์กันว่าทำอย่างไรให้นักเรียนและลูกๆ ของเรามีศักยภาพหรือดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันว่าแผนของครูจะดีขึ้นอีกถ้าครูทำแบบนี้”
หนึ่งในประเด็นจากวง Mini PLC ที่น่าสนใจคือการเลิกใช้คำว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ มาเป็นตัวตัดสินนักเรียนแต่ละคน
“การตัดสินถูกผิดเหมือนการส่งเสริมให้เด็กเกิดการเปรียบเทียบแข่งขันอยู่ลึกๆ คือถ้าเรามองในมุมปกติของนวัตกรรมการศึกษาทั่วไป ก็จะมองเหมือนการเสริมพลังบวกซึ่งมันก็ถูกต้องในมุมหนึ่ง แต่โรงเรียนทำมาจนถึงมุมที่เรารู้สึกว่ามันใช้ได้ในขั้นของการเรียนการสอนที่เน้น Content (เนื้อหา) ว่า Content นี้มันผิดหรือถูก ตรงนั้นถือว่าโอเค ถูกต้อง จำเป็นต้องบอกเด็ก
แต่ถ้าเราปรับมาเป็น Project Based ที่เน้นเรื่องทักษะ สมรรถนะ และกระบวนการ เราจะไม่ได้ตัดสินตรงเนื้อหาหรือว่าสิ่งที่เขาทำ แต่เราจะใช้คำถามว่าถ้าทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร หรือว่าจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นจริงๆ ตอนเข้าโครงการ TSQP คือการมุ่งไปที่สมรรถนะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ เราโฟกัสที่จะดึงสมรรถนะตรงนั้นของนักเรียนออกมาได้อย่างไร ซึ่งการจะใช้คำถามเพื่อกระตุ้นความคิดเด็ก ครูเองต้องเป็นคนที่มีกระบวนการด้วย”
บันไดขั้นที่สาม ออกแบบการเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตของนักเรียน
แม้สถานการณ์การเรียนรู้ในโรงเรียนวัดลัฏฐิวนารามจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่แล้วกลับมีข่าวร้ายเมื่อนักเรียนคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพ ทำให้ทุกคนในโรงเรียนต่างโศกเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ตอนร่วมโครงการ (TSQP) ปีที่สาม จำได้ว่ามีนักเรียนคนหนึ่งที่น่ารักและค่อนข้างสนใจเรียน อยู่ๆ เขาก็จากเราไปด้วยปัญหาสุขภาพ ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้ผู้อำนวยการและคุณครูทุกคน เริ่มสนใจเรื่องสุขภาพของเด็กมากขึ้น ประกอบกับเทศบาลรายงานว่าโรงเรียนเราถูกจัดอยู่ในลำดับสุดท้ายในเรื่องสุขภาพฟัน มันเลยเป็นที่มาว่าทำไมโรงเรียนต้องทำ Project Based ในเรื่องสุขภาพ
ทีนี้พอคุณครูมีประสบการณ์จากลัฏฐิSME เราก็ปรับตรงนั้นมาเป็นแนวสุขภาพแทน โดยจัดกิจกรรมเฉพาะที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กอนุบาล เราจะใช้ Project Approach คือเลือกตามความสนใจของนักเรียน แต่พอขึ้นชั้นประถม เรามามองกันว่ามีอะไรที่เหมาะกับวัยนี้โดยการกำหนดกรอบกว้างๆ ว่า ป.1 ยังเป็นเด็กเล็กก็อยากให้เขาดูแลกิจวัตรประจำวันของตัวเอง เช่น ใส่เสื้อผ้า เข้าห้องน้ำ เรื่องอาหารการกิน พอป.2 เรามองว่าเด็กมีภาวะที่ฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดออกไป เราเลยเน้นเรื่องการดูแลรักษาฟัน จากนั้นป.3 จะเน้นเรื่องน้ำหนักเพราะเด็กบางคนน้ำหนักเยอะไปน้อยไป จึงอยากปรับเปลี่ยนนิสัยให้รู้จักการออกกำลังกายมากขึ้น จะเห็นได้ว่าป.1-3 เน้นดูแลตัวเองก่อน
ส่วนป.4 จะมีชมรม อย.น้อย ให้นักเรียนร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน อย่างปีนี้มีคนเป็นไข้เลือดออกมากกว่าปกติ ก็เลยเน้นเรื่องการทำสมุนไพรไล่ยุง ทีนี้พอขึ้นป.5 จะเน้นเรื่องการคัดแยกขยะ ส่วนป.6 จะเป็นเรื่องการเกษตรคือโยงเข้ากับลัฏฐิฟาร์ม เพื่อให้เขาดูแลอาหารการกินของตนเองตั้งแต่ต้นทาง”
ครูเกริกฤทธิ์บอกว่าทักษะสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือนักเรียนสามารถดูแลตัวเองและจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้ครูบอก ซึ่งผู้ปกครองเองก็มีสัญญาณตอบรับที่ดีว่าลูกสามารถจัดการกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้นและพึ่งพาพ่อแม่น้อยลง
บันไดขั้นที่สี่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยเชื่อมใจครูกับนักเรียน
ไม่เพียงสุขภาพกายที่โรงเรียนวัดลัฏฐิวนารามนำนวัตกรรมการศึกษาเข้ามาแก้ปัญหา พัฒนาทักษะและเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ในด้านสุขภาพใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คุณครูที่นี่ให้ความสำคัญ
“พอเด็กกำกับตัวเองได้ เราก็ขยับมามุ่งเน้นเรื่องสุขภาพใจของเขา โดยเอาจิตศึกษาเข้ามาในวง PLC ผ่านการเล่านิทานที่สะท้อนปัญหาของโรงเรียนในช่วงนั้นๆ แล้วเราจะถามเด็กๆ ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้กับเรา เราจะทำอย่างไร รู้สึกอย่างไร ซึ่งจะไม่มีการไปตัดสินเลยว่าสิ่งที่นักเรียนแชร์ออกมามันผิดหรือถูก แต่จะให้เขามีคำตอบอยู่ในใจตัวเอง ให้เขาได้ตัดสินทางจริยธรรมด้วยตัวเอง พอเป็นแบบนี้มันเลยทำให้เด็กๆ กล้าพูดถึงความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น แล้วครูกับเด็กก็เหมือนเชื่อมต่อกันมากขึ้น”
พอครูกับนักเรียนเชื่อมต่อกันมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือครูเริ่มกลายเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับเด็ก ซึ่งครูเกริกฤทธิ์มองว่าสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็กกล้าเปิดใจและอยากเรียนรู้กับครูมากขึ้นกว่าเดิม
“ผมมองว่าการเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กสำคัญมาก เหมือนตอนเราเด็กๆ เราจะมีครูที่ชอบกับครูที่ไม่ชอบ น่าสนใจว่าครูที่เราชอบนั้นจะสอนดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่เราจะตั้งใจเรียนเพราะเรารู้สึกว่าเราเคารพครูคนนี้ เราชอบครูคนนี้ ครูคนนี้เข้าใจเรา ทำให้การเรียนดีขึ้น เราเลยกล้าพูดกล้าแชร์ความรู้สึกที่แท้จริงกับครูคนนี้
มีวันหนึ่งในวงจิตศึกษา ครูก็นำนิทานเรื่องครอบครัวมาแชร์กับนักเรียนตามปกติ ปรากฏว่ามีเด็กป.6 ที่ปกติภายนอกดูร่าเริง ออกมาแชร์ว่าเขาถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศที่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กมีการเปรยๆ กับเพื่อนสนิท แต่วันนั้นเขาอาจรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยของเขา เพราะเราทำวงจิตศึกษามาหลายเดือน สุดท้ายเขาก็แชร์กับครูประจำชั้นเพิ่มเติม ทำให้ทางโรงเรียนรีบดำเนินการด้วยการสืบจากนักเรียน เพื่อน และเรียกผู้ปกครองมาคุย จากนั้นจึงแจ้งตำรวจซึ่งตอนนี้เรื่องก็เป็นคดีความเรียบร้อยแล้ว”
ขณะเดียวกันครูเกริกฤทธิ์ยังเน้นย้ำว่า ผลลัพธ์จากการร่วมโครงการ TSQP ทำให้ครูทุกคนมีทัศนคติในการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งพอครูมีพัฒนาการมากขึ้น ตัวนักเรียนเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย
“แรกๆ เราอาจสอนแค่ความรู้ แต่พอมันเกิดกระบวนการพัฒนาตรงนี้ ทำให้ครูมีกระบวนการสอนที่หลากหลายขึ้น ส่วนนักเรียนเองก็กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าคิดมากขึ้น จนเมื่อเราทำลึกไปกว่านั้นคือเข้าไปถึงด้านจิตใจ สำหรับผมรู้สึกว่ามันลึกมากเลย เพราะปัญหาหลายๆ อย่างมันออกมาจากวงจิตศึกษาตรงนั้นที่มีครูกับนักเรียน ซึ่งพอครูแก้ปัญหานักเรียนตรงนั้นแล้วก็จะนำมาแชร์กันในวง PLC ของครูด้วยกันอีกที เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ จากวงนั้น มันจึงไม่ใช่แค่ครูที่พัฒนาเด็ก แต่เป็นเด็กด้วยที่ช่วยพัฒนาครู
ผมมองว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดไม่ได้ทำให้วิชาการของเด็กตกลง กลับจะดียิ่งขึ้นมากกว่า เพราะว่าพอเด็กๆ กล้าคิด ครูก็กล้าสอน ต่างจากตอนแรกที่เด็กเหมือนรอจะให้เราบอกแล้วจึงค่อยทำตามขั้นตอน แต่ว่าเราตัดการบอกขั้นตอนนี้ออก ให้เด็กๆ คิดเองว่า 1 2 3 คืออะไร ไม่มีผิดไม่มีถูก ลองทำดูได้เลย เขาก็จะหาปัญหามาเองและเป็นคนคิดเองว่าจะทำอย่างไรดี ส่วนครูก็จะช่วยสนับสนุนกระบวนการของเขา เพราะความรู้มันหาที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ มัน Worldwide ง่ายมาก แต่จะทำอย่างไรให้เราหาความรู้นั้นได้ มีกระบวนการอย่างไร ซึ่งเด็กๆ จะได้ทักษะตรงนี้ เหมือนคำว่า Learn How to Learn สร้างให้เขาเป็นนักเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่เรียนรู้ว่าจะเรียนรู้อย่างไร แต่เรียนรู้ด้วยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร คือพอได้องค์ความรู้นั้นมาแล้ว เขาต้องสามารถคิดวิเคราะห์ได้ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร โดยใช้องค์ความรู้ที่มี ซึ่งมันจะเป็นทักษะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
ฉะนั้นหน้าที่ของเราไม่ใช่การบอกว่าเธอจะต้องโตแบบนี้เป็นแบบนี้ แต่เป็นการส่งเสริมให้เขาได้ดึงศักยภาพที่เขาเก่งที่สุดในด้านนั้นๆ ออกมา เพื่อที่จะพัฒนาหรือใช้มันดูแลตัวเอง รวมถึงพัฒนาโลกนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้น”