“ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้รวมกลุ่ม มีเพื่อน มีสังคม ได้แสดงออก ปลดปล่อยความคิดอย่างอิสระ ได้ถ่ายเทความฝันและปันความรู้กัน เด็กจะเจอเป้าหมาย เจอกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวของเขา”
‘พี่นาย – ฉัตรมงคล ภูเงิน’ ผู้รับผิดชอบโครงการสานสัมพันธ์ชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร พูดถึงแรงบันดาลใจเริ่มต้นในการทำงานกับเด็กเยาวชน ที่ตำบลนานวน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายให้น้อง ๆ ที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษา ได้มีทักษะ มีเป้าหมาย และค้นพบเส้นทางที่ชีวิตแต่ละคนควรเดินไป
“วันนั้นพี่คิดแค่ว่าถ้าคนคนหนึ่งมีพื้นที่ให้เรียนรู้ เขาจะพบว่าตนเองพัฒนาได้ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แล้วจะเริ่มตั้งเป้าหมายกับอนาคต ซึ่งตรงนั้นคือ ‘จุดเปลี่ยน’ เลยนะ ว่าคนคนนั้นจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ หรือจะระหกระเหินบนความสุ่มเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าจะพัดพาชีวิตไปทางไหนต่อไป ถ้ามาที่นี่แล้ว พี่อยากให้เขาเจออะไรสักอย่างที่สนใจ เพื่อมีอาชีพมีรายได้ มีทักษะช่วยเหลือตัวเอง รู้ว่าจะพาตัวเองไปทางไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสำคัญอะไรเลย”
กสศ. ชวนสำรวจการปลดปล่อยความคิดของ ‘พี่นาย’ ไปจนถึงแนวทางการจัดการศึกษา ‘กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร’ ที่เราทำงานร่วมกันเพื่อร่างเส้นทางการเรียนรู้และเติบโตให้กับเด็กเยาวชนที่มีโจทย์ชีวิตอันหลากหลาย จากซีรีส์ ‘หนองสนิทโมเดล : ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ตอนที่ 1 กับเรื่องราวของกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร ที่ว่าด้วย “การเรียนรู้ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อโจทย์ชีวิตยังคงเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง”
‘บทโหมโรง’

“ชุมชนเรามีแต่คนทำเกษตรกรรม หมดหน้านาก็ไม่มีงาน ใครไม่มีอาชีพเสริมก็ไม่มีเงิน พอไม่มีเงินเด็กก็ไม่ได้เรียนต่อ แล้วหลุดออกมาก็มีลูกมีครอบครัวกันไวทั้งที่ยังไม่พร้อม เหมือนวงจรชีวิตวนลูปอย่างนี้”
ภาพวิถีชีวิตที่ตำบลนานวน อำเภอสนม ถูกฉายผ่านสายตาของ ‘พี่นาย – ฉัตรมงคล ภูเงิน’ นักพัฒนาต้นแบบ ผู้ลงพื้นที่ทำงานตลอด 1 ปีเต็ม จนเห็นความเป็นไปของแต่ละชุมชนแทบทุกตารางนิ้ว
“เราเป็นตำบลเล็ก ๆ มีอยู่ 13 หมู่บ้าน แล้วพื้นที่ก็ไม่ใหญ่ คนไม่เยอะ แค่ปีเดียวพี่ขับรถผ่านก็บอกได้หมดแล้ว ว่าใครเป็นคนบ้านไหน เด็กคนไหนเป็นลูกหลานใคร พ่อแม่ชื่ออะไร แล้วข้อมูลที่มีมันยังแตะไปถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงด้วย ว่าคนไหนดื้อมีแววออกจากโรงเรียน คนไหนออกมาจากโรงเรียนเพราะอะไร เราเห็นหมด
“ทีนี้พอเด็กหลุดมาแล้วไม่มีเป้าหมาย วัน ๆ เขาจะทำอะไร มันมีไม่กี่ทาง จับกลุ่มแว้น ติดน้ำกระท่อม เบิ้ลรถกันเสียงดัง บางคนเรียนอยู่เกิดตั้งครรภ์ก็ต้องออกมาเลี้ยงลูก หรือกลุ่มที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่ง บางส่วนก็ไปทำงานรับจ้าง สักพักมีครอบครัว มีลูก เป็นวงจรซ้อนทับเข้าอีหรอบเดิม
“…พี่คิดว่า ถ้าไม่มีใครเข้าไปหา ไปช่วยให้เขามีอะไรทำ หรือช่วยพาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลูปที่ว่ามันก็จะวนไปไม่สิ้นสุด”

สายตาพี่นายจับจ้องที่แปลงเกษตรเบื้องหน้า คล้ายพยายามย้อนรำลึกและเลือกเฟ้นเรื่องราวของเยาวชนกว่า 100 ชีวิต ที่ผ่านเข้ามาทำกิจกรรมในช่วงเวลาราว 18 เดือน ณ ที่ตรงนี้ เพื่อนำมาบอกเล่า …ก่อนสรุปใจความสำคัญอันเป็น ‘บทโหมโรง’ ของการทำงานโครงการ ‘สานสัมพันธ์ชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน’ ที่ตนเองมีสถานะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ว่า
“วันนั้นพี่คิดแค่ว่าถ้าคนคนหนึ่งมีพื้นที่ให้เรียนรู้ เขาจะพบว่าตนเองพัฒนาได้ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แล้วจะเริ่มตั้งเป้าหมายกับอนาคต ซึ่งตรงนั้นคือ ‘จุดเปลี่ยน’ เลยนะ ว่าคนคนนั้นจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ หรือจะระหกระเหินบนความสุ่มเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าจะพัดพาชีวิตไปทางไหนต่อไป
“คือถ้ามาที่นี่แล้ว พี่อยากให้เขาเจออะไรสักอย่างที่สนใจ เพื่อมีอาชีพมีรายได้ มีทักษะช่วยเหลือตัวเอง รู้ว่าจะพาตัวเองไปทางไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสำคัญอะไรเลย”
-1-
‘โควิด-19 ที่เปลี่ยนโลกและหักเหเส้นทางชีวิตของผู้คน’

พี่นายย้อนความว่าตนเป็นคนบ้านตาเพชรโดยกำเนิด สนใจการทำอาหารและฝึกฝนด้วยตัวเอง จนได้เรียนจริงจัง จบแล้วจึงออกเดินทางตามฝันไปทำงานร้านอาหารในต่างประเทศ ไต่เต้าเป็นหัวหน้าเชฟครัวไทยที่ดูไบ โอมาน กาตาร์ มัลดีฟส์ ศรีลังกา ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อโควิด-19 ลุกลามไปทุกหนแห่ง ตอนนั้นเองที่พี่นายตัดสินใจ ‘กลับบ้าน’
“ช่วงโควิดมา พี่ได้ข้อเสนองานที่เยอรมัน ก็เตรียมจะไปยุโรปแล้ว แต่เหมือนกับหลายคนที่แผนชีวิตต้องเปลี่ยนเพราะโควิด พี่เองเป็นคนหนึ่งที่กลับบ้าน หลังจากทำงานอยู่ต่างประเทศตลอด 15-16 ปี ได้กลับแค่ปีละครั้ง
“จำได้ว่าทุกครั้งที่กลับบ้าน เราไม่เคยมองไปรอบ ๆ อย่างจริงจังเลย จนมาได้งานเป็นนักพัฒนานั่นแหละ เราถึงมีเวลามองชุมชนที่เกิดและเติบโตด้วยชุดความคิดและสายตาที่ต่างไป จนเห็นอะไรชัดขึ้น มันเลยจุดประกายว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ให้คนทุกคนพึ่งพาตัวเองได้” พี่นายเล่า
พอความคิดบังเกิด ประสบการณ์ที่สั่งสมของพี่นายก็ทำหน้าที่กลั่นกรอง ว่าลำพังแค่ ‘คิด’ อย่างเดียวคงไม่มีทางทำอะไรได้ ถ้าไม่ ‘ลงมือทำ’ และต้องไม่ใช่ทำด้วยสองมือกับหนึ่งสมองของตนเท่านั้น ย่างก้าวแรกจึงต้องหา ‘เพื่อนร่วมทาง’ ให้พบเสียก่อน
-2-
‘รู้ว่าไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว’

ด้วยข้อเท็จจริงของงานพัฒนาชุมชน จำเป็นต้องมี ‘ทุน’ และมีอีกหลาย ‘มือ’ มาช่วยกัน พี่นายจึงมองหาคนช่วย จังหวะนั้นจะว่าบังเอิญพี่นายก็ยอมรับส่วนหนึ่ง เพราะเป็นช่วงเดียวกับที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ทำงานโครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และทุนพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ร่วมกับตำบลหนองสนิท ที่อยู่ห่างจากตำบลนานวนไปราว 20 กิโลเมตรเศษ
“แรกพบ กสศ. มันเหมือนจังหวะที่ผ่านมาหาเราอย่างบังเอิญระหว่างทำงานนักพัฒนา แต่จากนั้นเป็นความตั้งใจทั้งหมด เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่คิดไว้มันยากมาก ที่จะมีหน่วยงานมาช่วยเหลือ แล้วถ้าจะร่วมงานกับใคร อย่างแรกเราต้องศรัทธาในองค์กรนั้น ต้องรู้สึกเชื่อมั่นกับยูนิฟอร์มที่เราจะสวม
“ที่สำคัญองค์กรนั้นต้องมีองค์ความรู้ มีทุน มีเครื่องมือมากกว่าเรา และตั้งใจมาทำงานกับชุมชนจากต้นทุนที่มีอยู่แล้ว พอรู้จัก พี่เลยไปศึกษาดูงานที่ กสศ. ทำ จนคิดว่าเป้าหมายเราตรงกัน จึงเขียนโครงการเสนอเข้าไป และได้รับพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม : กสศ. สานพลังเครือข่ายจังหวัดสุรินทร์ ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนในอำเภอจอมพระ สู่การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต


จากวันนั้น แนวคิดเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชนโดยเชื่อมโยงแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น พร้อมกับการจัดตั้ง ‘กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร’ ในปี 2565 ที่พี่นาย เครือข่ายชุมชน ภาคีทั่วทั้งจังหวัดสุรินทร์และหน่วยงานภายนอก ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้บริบทชุมชนเป็นฐาน
โดยแม้ระบุนามเป็น ‘กลุ่มเกษตร’ แต่พี่นายบอกว่า เป็นเพียงการปูพื้นฐานอาชีพสำหรับคนที่ยังไม่เจอความสนใจเฉพาะทางเท่านั้น เพราะเนื้อในของกระบวนการจริงจะมุ่งส่งเสริมวิชาชีพ วิชาการ และวิชาชีวิตแบบผสมผสาน โดยเน้นให้เยาวชนค้นพบและต่อยอดทักษะที่ตนสนใจ ผ่านหลักสูตรที่ปราชญ์ชุมชนจากหลายสาขาอาชีพช่วยกันวางแนวทางไว้ อาทิ งานช่าง ทอผ้าไหม ค้าขายออนไลน์ และแน่นอนว่าขาดไม่ได้เลยคือทักษะที่พี่นายคุ้นมือที่สุด คือศาสตร์ด้านคหกรรม
เมื่อทุกอย่างพร้อม พี่นายและเครือข่ายจึงชักชวนเด็กเยาวชนชุดแรกจำนวน 70 คนเข้ามา …แล้วบทเรียนก็เปิดขึ้น
-3-
“ถ้าถอดแบบโรงเรียนมาทำคงไม่มีทางได้ผล ไม่งั้นเด็ก ๆ จะออกมาจากโรงเรียนกันทำไม”

“ที่นี่สนุกค่ะ มาถึงมีประชุมครึ่งวันแล้วก็ได้ออกไปลงมือทำเรื่องที่สนใจ เหลือเวลาดูแลครอบครัว แล้วเอาไปทำอะไรได้อีกเยอะมาก …แต่ตอนไปโรงเรียนเราต้องเข้าเรียนทุกคาบ กินเวลาทั้งวันทุกวันจนไม่ได้ทำอะไรเลย ค่าใช้จ่ายก็เยอะ …รู้สึกว่าชอบเรียนแบบนี้มากกว่า”
‘ยีน’ เยาวชนวัย 20 ปี รุ่นแรกของกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร เผยเหตุผลที่ทำให้เธออยู่กับกลุ่มต่อมาเรื่อย ๆ แม้หมดวาระโครงการปีแรกไปแล้ว
ยีนเล่าว่าในครอบครัวไม่มีใครได้เรียนมากกว่าชั้น ม.3 เพราะต้องใช้เงินมาก แต่ส่วนตัวแล้ว เธอก็ไม่ได้ชอบไปโรงเรียนเท่าไหร่ หลายปีที่ไม่ได้เรียนต่อ ยีนไม่มีงานจริงจัง เพียงรับจ้างเล็กน้อยและช่วยที่บ้านทำนาทำไร่ตามฤดูกาล จนพี่นายชวนเข้ามาทำกิจกรรม ยีนจึงรับปากทันที

“หนูว่างอยู่แล้วค่ะ …คือถึงไม่ชอบเรียน แต่หนูคิดเสมอว่าถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนต่อ เพราะที่นี่ไม่มีอะไรให้ทำเลย” ยีนเว้นวรรค ก่อนพูดด้วยเสียงที่เบาลง “…แต่ถึงยังไงเราก็ไม่มีทุนจะเรียนแล้ว”
จนมาที่นี่ ยีนได้เริ่มเรียนรู้การปลูกผัก ซึมซับทฤษฎีและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำเกษตรตั้งแต่เริ่มเตรียมดิน หยอดเมล็ด จนถึงขั้นตอนการขาย
“หนูว่าความรู้อย่างนี้มันเอาไปทำอะไรต่อได้เยอะ มีรายได้ได้ทันที …ต่างจากไปโรงเรียน ที่เหมือนเรามีเงินเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายไปจนหมด สุดท้ายไม่ได้อะไรกลับมาเลย”
ยีนเปรียบเทียบการเรียนรู้ที่กลุ่มฯ กับการไปโรงเรียนในมุมมองของเธอ

ส่วน ‘ปิ่น’ วัย 18 เรียนถึงชั้น ปวช.2 แล้วตัดสินใจไม่ไปต่อบอกว่า “จริง ๆ หนูเรียนดีนะ แต่ขี้เกียจไปเรียนมาก มันเหนื่อย ขี่รถไปกลับก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องกลับมาทำการบ้าน มีงานต้องส่งก็เยอะ ยอมแพ้ค่ะ”
ปิ่นบอกว่าชอบทำอาหารและทำขนม การมาที่นี่สำหรับเธอจึงเป็นการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความสนใจ นอกจากนั้นเธอยังรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้มาเจอเพื่อน ๆ ที่ ‘ไม่ถูกกับโรงเรียน’ เหมือน ๆ กัน
“ความรู้เรื่องปลูกผัก หนูเอาไปทำที่บ้านด้วย ปลูกไว้กินกันในครอบครัว …ยังไงละ คือมาที่นี่เหมือนเรามีแต่ได้ แต่ไปโรงเรียนเราจ่ายอย่างเดียว แล้วรายงานเยอะมาก หลายวิชาก็ยิ่งเสียเงินหลายบาท ข้อมูลก็ใช้วิธีลอกต่อ ๆ กันไป ทำเสร็จแล้วไม่ได้อะไรเลย”

ความเห็นสั้น ๆ ต่อคำถามที่ว่า ‘การมากลุ่มเกษตรฯ บ้านตาเพชร ต่างจากไปโรงเรียนยังไง ? ’ ที่น้องสองคนเล่ามา แม้ไม่อาจบอกได้ว่าเป็น ‘กระบอกเสียง’ ของเยาวชนบ้านตาเพชรทุกคน หากความในใจของน้อง ๆ ก็ช่วยขยายให้เห็นภาพสิ่งที่พี่นายและเครือข่ายทำร่วมกันชัดขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่พี่เรียนรู้จากการเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ คือในบางสถานการณ์ บางพื้นที่ หรือกับเด็กบางคน เราห้ามไม่ได้หรอกไม่ให้เขาหลุดออกมา ยิ่งยุคสมาร์ตโฟน แค่ขี่รถไปตลาดนัดก็เสี่ยงแล้ว เจออีกทีก็ข้างนอกโรงเรียนนู่น บางคนตั้งครรภ์ ถึงอยากเรียนก็จำเป็นต้องออก ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือหาวิธีสื่อสารกับเขา ชวนเขา พยายามเอาทักษะต่าง ๆ มารวมกัน แล้วออกแบบกระบวนการให้เด็กค่อย ๆ ซึมซับ แล้วต้องยืดหยุ่นไม่ตายตัว เอื้อต่อการใช้ชีวิตของเด็กด้วย”
“คือถ้าทำเป็นหลักสูตรแข็ง ๆ แล้วเอาไปยัดใส่เด็กโพละเดียวเลย ไม่ต้องทำก็รู้ว่าถึงชวนเด็กได้ แต่เขามาทีเดียวแล้วจะหายไปเลย พี่ว่าตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญ ว่าถ้าจะถอดแบบจากโรงเรียนมาทำ คงไม่มีทางได้ผล …ไม่งั้นเด็ก ๆ จะออกมาจากโรงเรียนกันทำไม” พี่นายสรุป
-4-
พลังชุมชนร่วมสร้าง บทเรียนที่ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’ ซึ่งยังคงเลื่อนไหลและเปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด

นอกจากระดมผู้รู้ผู้ชำนาญหลายสาขาวิชาชีพมาช่วยกันออกแบบกระบวนการ ประสบการณ์ชีวิตของพี่นายที่ตกผลึกจากการเดินทาง ความฝัน หน้าที่การงาน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เหนือการคาดเดา ยังถือเป็น ‘คลังทรัพยากร’ ที่นำมาใช้ก่อรูปบทเรียนให้กับเด็ก ๆ บนฐานแนวคิดที่ว่า “กระทั่งตัวโจทย์ชีวิตเอง มันก็ยังจะเปลี่ยนไปได้อีกตามลำดับขั้นตอนการเติบโตตามช่วงวัย และประสบการณ์รับรู้ ดังนั้นการเติมองค์ความรู้และข้อมูลใส่เข้าไปเรื่อย ๆ จึงสำคัญมากต่อการเพิ่มพูนทักษะและทัศนคติ ที่จะผลักดันให้น้อง ๆ มีและมองเห็นทางเลือกของชีวิตที่กว้างออกไปกว่าเพียงไม่กี่อาชีพที่รู้จักในวันนี้
“อย่างเราสอนทำแซนด์วิช เอาผักที่ปลูกมาเป็นวัตถุดิบ เด็กก็สนใจ พอทำเป็น เขาก็เอาไปลองขายหน้าโรงเรียน ปรากฏว่าขายได้ขายดี ก็มีกำลังใจ เขาก็มาฝึกทำอย่างอื่นอีก มีแรงบันดาลใจอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น รอบรู้มากขึ้น เราเองก็ดีใจ ว่าสามารถทำให้เขาเข้าใจ ว่าแม้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน แต่การเรียนรู้มันจะไม่มีวันสิ้นสุด”

พี่นายบอกว่างานเด็กเยาวชนที่ตั้งต้นจาก ‘ชุมชนเล็ก ๆ’ ข้อดีคือ ‘รู้ง่ายและเจอเร็ว’ ว่าเด็กเป็นใคร อยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่ เพราะภาคีเครือข่ายดูแลชุมชนอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะมีข้อมูลระดับลึกของทุกครัวเรือนอยู่แล้ว เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจจุดประสงค์จึงเริ่มงานได้ทันที
“ความร่วมมือของชุมชนคือพลังที่สำคัญมาก ทีมงานในชุมชนเราคุยกันแป๊บเดียว พอบอกว่าจะทำงานกับเด็กเยาวชนที่ไม่ได้เรียนต่อ ทุกหน่วยงานก็พร้อมช่วยกัน พาไปหาน้อง ชวนกันเข้ามา
“แล้วการพัฒนาเด็กเรามีแค่แผน เงิน หรือความรู้มันไม่พอ ถ้าทำให้เด็กไว้ใจเราไม่ได้ การออกแบบกระบวนการจึงต้องทำให้เด็กเชื่อก่อนว่าเราอยู่ข้างเดียวกับเขาจริง ๆ ไม่ได้มาเพื่อหาประโยชน์แล้วจากไป และทิ้งเขาไว้ตรงที่เดิม ดังนั้นพอรู้ว่าอะไรคือสารตั้งต้นให้เด็กหลุดออกมาจากโรงเรียน เราจะไม่ให้เขาต้องเจอ ต้องรู้สึกอย่างเดิมซ้ำอีก เราจะไม่ตัดสิน ไม่จำแนก ไม่ยัดเยียด แต่จะใช้การสร้างความไว้ใจ ชวนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความรู้จักกัน
“แล้วนอกจากปลูกผัก หาความถนัดความสนใจ พี่จะเอาหลาย ๆ อย่างที่เคยพบเคยเห็นมาลองทำ ลองสร้างมูลค่า เช่นเอาพวกสมุนไพรมาทำน้ำหอม หรือใช้วัสดุง่าย ๆ มาทำหมอนแบบที่เขาใช้กันในโรงแรม แล้วสอนให้เขารู้ระบบขายของออนไลน์ เปิดร้านกันจริงจังเลยในลาซาด้า (Lazada) ลองซื้อมาขายไป หรือสต็อกของทำยังไง ทำยังไงให้สินค้าเราน่าสนใจ อะไรพวกนี้มันช่วยเปิดให้น้อง ๆ เห็นว่าการสร้างรายได้มันไร้ขอบเขต และเราคิดต่อยอดจากสิ่งรอบตัวได้ไม่รู้จบ เรื่องไหนเราไม่รู้จริง ก็ไปสรรหาคนที่รู้มาช่วย มันก็ช่วยจุดประกายให้เขามีทางไปต่อได้มากขึ้น”
-5-
‘เสียเวลาเรียนแล้วต้องเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้’

พี่นายย่นย่อเรื่องราวที่กินเวลาประมาณ 1 ปีกับ 6 เดือน ในช่วงสองชั่วโมงสั้น ๆ ของบ่ายแก่วันหนึ่ง แล้วปิดท้ายรวบรัดว่า ด้วยกระบวนการที่เล่ามา ได้ส่งผลให้เยาวชน 70 คนในปี 2565 กลับสู่การศึกษาทั้งในโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยภายใต้การจัดการเรียนรู้ของ ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ หรือ กศน. เดิม รวม 14 คน ส่วนคนอื่น ๆ ได้นำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดในหลายทาง อาทิ ขายของออนไลน์ ร้านขายขนม ร้านขายน้ำ ฯลฯ และหนึ่งคนที่พี่นายอยากพูดถึงเป็นพิเศษ คือน้องคนหนึ่งที่ฝึกฝนเรียนรู้ทักษะอิเล็กทรอนิกส์จนแตกฉาน และสามารถเปิดร้านซ่อมเครื่องมือการเกษตรสมัยใหม่ในตำบลได้สำเร็จ
ขณะที่เยาวชนรุ่น 2 ที่เข้าร่วมกลุ่มในปี 2566 อีก 50 คน กำลังเตรียมที่จะทยอยเดินตามรุ่นพี่ออกไปตามความฝันของตนในอีกไม่นาน
ก่อนพี่นายขอตัวไปจัดของกับเด็ก ๆ เพื่อเตรียมผักออแกนิคไปแสดงและขายในนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานการพัฒนาอาชีพสู่การมีงานทำ ที่ตำบลหนองสนิทในวันถัดไป เราลองหยั่งเชิงถามว่า ในเมื่อโควิด-19 ก็ผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้พี่นายยังคิดจะออกเดินทางอีกไหม แล้ว ‘ฝัน’ ที่วาดไว้ในตอนนี้มีหน้าตาอย่างไร

“ไม่แล้วครับ พี่อยากอยู่กับเด็ก ๆ สนุกดี” พี่นายตอบ ก่อนบอกเล่าความฝันและความท้าทาย ณ ปัจจุบัน ว่า “ตอนนี้ฝันของพี่อยู่ที่นี่แล้ว อย่างแรกคือเรามองในระยะยาวว่าเมื่อเด็กหลุดมาแล้ว ทำยังไงเราจะส่งต่อเขาไปในทิศทางที่ดี ทำให้เขามีโอกาส ต่อมาคือคิดย้อนกลับไปที่ต้นทาง ว่าทำยังไงถึงจะสกัดกั้นให้เด็กหลุดออกมาน้อยลง ซึ่งพี่คิดว่าต้องมีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายคน เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าเด็กทุกคนไม่ได้เหมาะกับการนั่งเรียนทุกวัน วันละแปดชั่วโมง มันยังมีการเรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัว จากระบบออนไลน์ หรือจากพรสวรรค์หรือความสนใจที่เขามี
“แล้ว ‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ มันต้องเป็นสิ่งเดียวกัน คือไม่มีกรอบเกณฑ์ตายตัว ไม่มีวันจบ คนเราสืบค้นความรู้ดัดแปลงประสบการณ์มาปรับปรุงตัวเองได้ตลอดเวลา การออกแบบหลักสูตรจึงต้องหลากหลาย ตรงจุด ช่วยให้เด็กเอาสิ่งที่เสียเวลาเรียนไปใช้ในชีวิตได้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราทำได้เลยในทุกที่ ยิ่งชุมชนเล็ก ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้รวมกลุ่ม มีเพื่อนมีสังคม ได้แสดงออก ปลดปล่อยความคิดอย่างอิสระ ได้ถ่ายเทความฝันและปันความรู้กัน เด็กจะเจอเป้าหมาย เจอกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวของเขา
“…ขอแค่มีที่ทาง มีตาข่ายรองรับให้ชีวิตได้ลองผิดลองถูก ไม่ใช่ใครผิดพลาดแล้วถูกคัดทิ้ง หรือต้องถูกตัดสินตีตราอย่างนั้นไปทั้งชีวิต”
พี่นายกล่าวทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปรวมกลุ่มกับเด็ก ๆ