การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท ในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน อยู่ที่จะหยิบโจทย์อะไรมาเป็นสารตั้งต้น พัฒนาและต่อยอดไปสู่การนำไปใช้จริง อย่างเช่นการหยิบทรัพยากรในชุมชนที่ใกล้ตัวเด็กๆ มาตั้งเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ เพื่อให้ในอนาคตพวกเขาสามารถอยู่ร่วมและอยู่รอดในชุมชนได้
เปิดห้องเรียน ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาชั้นป.4 โรงเรียนบ้านแหลมไทร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กับหน่วยการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมกายภาพในจังหวัด ที่ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ของดีในชุมชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ไปจนถึงปั้นนวัตกรตัวน้อยๆ ที่สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาปากท้องในชุมชน
จุดเริ่มต้นปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน สู่ห้องเรียน Active Learning
ห้องเรียนของครูภณิดาเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนด้วย ‘หลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรของโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ครูที่เข้าอบรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับ ประยุกต์ และต่อยอด เพื่อใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียน จุดเริ่มต้นจึงเกิดจากการที่ได้ไปอบรมในหลักสูตรของโครงการที่ว่านี้
“พอนำมาใช้กับโรงเรียนจริงๆ เราก็ปรับกระบวนการให้มันเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเรา และยังคงเป็นการศึกษาภูมิศาสตร์ เพราะเราเป็นครูสังคมศึกษา ภูมิศาสตร์ของแหลมไทรเป็นชายฝั่งทะเล แล้วก็มีทรัพยากรทางทะเล ทีนี้พอเราลงสำรวจปัญหา พานักเรียนลงพื้นที่ ปัญหาที่พบของเราหลักๆ เลยคือปูม้าที่เป็นของดีของแหลมไทร ตอนนี้มีจำนวนลดลง ซึ่งทรัพยากรทางทะเลถ้ามันลดลงก็จะมีผลกับสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวเขา”
สำหรับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียนที่ครูภณิดาตั้งไว้นั้น เน้นไปที่การให้เด็กรู้จักสภาพแวดล้อมในชุมชน มองเห็นปัญหา และรู้จักคิดหาทางแก้ปัญหา รวมไปถึงตระหนักถึงการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อความเป็นอยู่ในอนาคต
“เนื่องจากเป็นโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก ประสบการณ์โลกของเด็กที่นี่ก็คือ ปัญหาที่เขาพบและเลือกมาแล้วว่าอยากแก้ก็คือ ปูม้าที่ลดลง ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักๆ เลยคือ ทำยังไงให้ทรัพยากรปูม้ามีเพิ่มมากขึ้น”
6 ขั้นตอนการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชุมชน
หัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในหน่วยนี้ของแหลมไทรก็คือ ให้เด็กแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และสร้างนวัตกรรมได้ด้วยกระบวนการ Phenomenon-based learning การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน และ Problem-based Learning การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน นอกจากนี้ยังผสมผสานกับ Project Approach หรือการทำโครงงานด้วย โดยครูภณิดาออกแบบการเรียนรู้ใน 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นแรก ‘แหลมไทรอะไรดี?’ ครูหย่อนโจทย์ให้เด็กระดมสมอง เพื่อกำหนดสถานการณ์ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่จะนำมาใช้ในการเรียนรู้ และเป็นการประเมินระดับความคิด
ขั้นที่สอง ‘ตามมาจะพาไปล่องทะเล’ เป็นการคิดประเด็นสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เด็กมองเห็นภาพที่ชัดขึ้น ครูจึงพาลงสำรวจพื้นที่ชุมชนบ้านแหลมไทร ทำหน้าที่เป็นโค้ช เพราะว่าการเรียนรู้จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ และอยากหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ นอกจากนี้ต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน
“เพราะความรู้มันไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน เขาเอาปัญหาจากชุมชน แล้วบางทีการแก้ปัญหาคนที่รู้ดีมากกว่าคุณครูก็คือคนในชุมชน ดังนั้นเราต้องเป็นทั้งโค้ช ทั้งผู้อำนวยความสะดวกให้เขา แล้วก็เป็นผู้ที่จุดประกายให้เขาได้คิด บางทีต้อง เอ๊ะ! ไปเรื่อยๆ ให้เขาได้สงสัย”
“ตอนเราไปลงพื้นที่เราต้องชวนเด็กมองในสิ่งที่เขาอาจจะมองข้าม เช่น ป่าชายเลนมีต้นพังกางอกออกมา ซึ่งเขาอาจจะมองไม่เห็นหรือเขาเห็นทุกวันจนไม่ได้สังเกต เราต้องเอ๊ะ! นี่อะไรนะ แล้วตรงนี้แค่มีต้นไม้แค่ต้นเดียวมีสัตว์อะไรอยู่บ้าง เราต้องชี้ เราต้องแนะเขานิดนึงให้เขาได้เห็น ได้สังเกต ถ้าเขาได้เห็นอะไรจากพื้นที่จริงๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์มากขึ้น”
ในขั้นที่สาม ‘หนูน้อยนักอนุรักษ์ พิทักษ์พันธุ์ปูม้า’ กลับเข้ามาสู่ห้องเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าแต่ละคนมองเห็นอะไรที่เป็นจุดเด่นของชุมชน และอะไรที่เป็นปัญหาที่เจอ เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาตนเองร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือ FILA Map ในการจัดระบบความคิดที่กระจัดกระจายให้เป็นกลุ่มก้อน วิเคราะห์ข้อมูลที่มี และนำเสนอ ซึ่ง FILA ย่อมาจาก
F = Fact ข้อเท็จจริง เป็นที่มาของปัญหา ในที่นี้สิ่งที่เด็กๆ วิเคราะห์กันก็คือ ทรัพยากรปูม้าลดลง
I = Innovation นวัตกรรม หรือวิธีการที่จะทำให้ปัญหาหายไป ก็คือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มจำนวนปูม้า
L = Learning ความรู้และทักษะที่ต้องใช้สร้างนวัตกรรม
A = Action Plan การวางแผนการทำงาน
ขั้นที่สี่ ‘คิดไม่ OUT เราทำได้’ เป็นการจัดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ บูรณาการรายวิชาสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และการงานอาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการประดิษฐ์นวัตกรรม
“ทีนี้พอประเด็นปัญหาได้แล้วนักเรียนก็แบ่งกลุ่มกันทำกิจกรรมได้ 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเขาก็จะทำ ‘ชุดอนุบาลปูม้า พลังงานแสงอาทิตย์’ ซึ่งจริงๆ แล้วชุดอนุบาลปูม้า การอนุบาลปูม้าก็มีอยู่ในชุมชนนะคะ แต่กลุ่มนี้เขาคิดเพิ่มขึ้นมาเขาอยากนำพลังงานสะอาดมาใช้ ก็คือการใช้โซลาร์เซลล์ค่ะ กลุ่มที่สองเขาคิดแค่เขาอยากลงไปช่วยในชุมชนเป็น ‘อาสาช่วยดูแลธนาคารปูม้าในชุมชน’ กลุ่มที่สามเขาอยากสร้างชุดอนุบาลแบบของเขา โดยทำ ‘ภาชนะอนุบาลปูม้าจากระป๋อง’ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นการ ‘ทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยอนุรักษ์ปูม้า’ รณรงค์ในการอนุบาล ก็จะเป็นรูปแบบที่ต่างกันของแต่ละกลุ่มในการที่จะช่วยอนุรักษ์ปูม้าของเขา กลุ่มไหนคิดยังไงเราก็ให้เขาได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาคิด ไม่ได้ปิดกรอบความคิดของเขานะคะ แต่ละกลุ่มความสำเร็จก็จะแตกต่างกัน”
ขั้นที่ห้า ‘ถอดบทเรียน เปลี่ยนชีวิต’ หลังจากผ่านการคิดและลงมือทำกันแล้ว ให้นักเรียนประเมินตนเอง โดยใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs
“การพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย เป็นความรู้ที่นักเรียนจะต้องมาวิเคราะห์ตามใบงานว่าสิ่งที่นักเรียนทำอย่างกลุ่มที่สร้างนวัตกรรมอนุบาลปูม้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถตอบโจทย์ SDGs ใดได้บ้าง เช่น ตรงกับเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน ถ้ามีปูม้าเพิ่มขึ้นรายได้ของผู้ปกครองก็จะเพิ่มขึ้น, เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย ถ้ามีปูม้าเพิ่มขึ้นแหล่งอาหารในชุมชนก็จะเพิ่มขึ้น, เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดและจ่ายได้ เพราะว่าเราทำโซลาร์เซลล์โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่เราสามารถนำใช้ได้ และเป้าหมายที่ 14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร ชุมชนของเราอยู่ติดชายฝั่งทะเล อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นอาชีพประมงก็เลยต้องอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า เพื่อให้ปูม้ามีในอนาคต”
สุดท้ายขั้นที่ 6 ‘สู่ชุมชน อุดมสุข’ คือต่อยอดองค์ความรู้ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้กลับคืนสู่ชุมชนนั่นเอง
ผลลัพธ์การเรียนรู้คือจิตสำนึกและสมรรถนะ
ครูภณิดาเล่าว่าการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ใช้ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างเห็นได้ชัดคือ เด็กสนุกกับการเรียนรู้ มีความอยากเรียนรู้ และจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น
“จริงๆ วิชาสังคมศึกษา ถ้าเกิดว่าเราสอนปกติมันอาจจะทำให้เด็กเบื่อ จำไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยจดจ่อ ถามสภาพภูมิประเทศเป็นยังไงก็จะบอกว่าอากาศร้อน คือเขาจำเนื้อหาไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นการท่องจำแบบเดิมๆ แต่ถ้าเกิดเราทำแบบนี้ พาเขาไปลงพื้นที่จริงๆ เห็นชัดเจน เขาจะจำเนื้อหาได้แม่นกว่า”
ในด้านทักษะที่ได้นั้น ครูภณิดาเล่าต่อว่าเกิดทักษะขึ้นตามมาหลายตัว ที่ไม่ใช่แค่การได้ความรู้ในรายวิชาสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือการงานอาชีพ แต่สิ่งที่เด็กได้ด้วยคือสมรรถนะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต
“การเรียนที่ตอบโจทย์คือการฝึกเขาให้เป็นคนที่มีสมรรถนะที่พร้อมในอนาคตข้างหน้า นั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขามากกว่าการเอาความรู้ที่เหมือนกับเป็นแบบแผนเดียวกันมาทั้งหมด”
นอกจากทักษะต่างๆ แล้ว สิ่งที่ครูภณิดามองว่าจำเป็นและเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ครั้งนี้คือ จิตสำนึก
“ตอนนี้เขาก็รักและหวงแหนในทรัพยากรและบ้านเกิดของเขา มันไม่ใช่แค่เกิดในห้องเรียน เพราะว่าพอเขาเริ่มทำ คนในโรงเรียนคนอื่นเห็น ชาวบ้านเห็น แล้วทุกคนถ้าเข้ามาช่วย มันก็จะเกิดการสะท้อนให้เห็นในภาพใหญ่ว่า เราต้องมาช่วยกันดูแลชุมชนของเราแล้ว ทำให้เห็นกว้างกว่าในห้องเรียน
เพราะนี่คือบ้านของเขา ถ้าระยะยาว ทรัพยากรมันอยู่กับเขาก็จะเป็นผลดีกับครอบครัวกับลูกหลานในชุมชน ดังนั้นถ้าเราปลูกตรงนี้ได้ สร้างได้ มันก็จะเป็นผลระยะยาวกับครอบครัวของเขาเอง”