ช่วงที่นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้เด็กหลายๆ คนไม่ได้วิ่งเล่นหรือออกกำลังกายเท่าที่ควร ส่งผลให้กล้ามเนื้อต่างๆ ไม่แข็งแรง และยังเป็นสาเหตุของพัฒนาการการเรียนรู้ที่ลดลง ครูดามิยา หมานเด ครูประจำชั้น ป.3 โรงเรียนบุสมีวิทยามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ติดตามเด็กนักเรียนในชั้นเรียนจำนวน 28 คน มาตั้งแต่ชั้น ป.2 จนมองเห็นปัญหาสำคัญเหล่านี้และพยายามหาวิธีแก้ไข
ในเวที Share & Learn ครั้งที่ 19 หัวข้อ ‘การเล่นกับการแก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ป.3’ จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มูลนิธิสยามกัมมาจล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ครูดามิยาได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในชั้นเรียนของตัวเองที่มักจะรู้สึกเบื่อเมื่อต้องเขียนหนังสือ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ที่ว่า การที่เด็กไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ส่งผลต่อการเขียนและการเรียนรู้ของนักเรียน
“เวลาเขียนเขาจะกดปลายดินสอจนปลายดินสอหักแล้วหักอีก เกือบตลอดเวลา ต้องขออนุญาตคุณครูไปเหลาดินสอ เป็นปัญหาที่นักเรียนไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ตลอดต่อเนื่อง การจับดินสอของนักเรียนก็ผิดวิธี เมื่อนักเรียนจับดินสอผิดวิธีก็จะให้นักเรียนจับแน่นจนเกินไป เมื่อเขียนนานๆ ก็จะรู้สึกเมื่อย” ครูดามิยากล่าว
การที่เด็กมีกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ไม่แข็งแรง ทั้งยังทำงานไม่ประสานกัน ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการเขียน ทั้งนี้ก็เพราะการเขียนต้องใช้การทำงานร่วมกันของตาและมือซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก การนั่งเขียนต้องใช้ความแข็งแรงของลำตัว หลัง และท้อง ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เด็กที่มีกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ไม่แข็งแรงจึงมักจะเกิดอาการล้าได้ง่ายและส่งผลไปถึงลักษณะการจับดินสอด้วย
จากประสบการณ์ของครูดามิยาที่เห็นเด็กๆ จับดินสอผิดวิธีหลายต่อหลายครั้ง และเห็นตัวหนังสือที่เด็กเขียน เช่น ตัวหนังสือไม่ตรงบรรทัด รอยบนสมุดจากการกดดินสอมากเกินไป หรือน้ำหนักของตัวอักษรที่เขียนไม่สม่ำเสมอ เธอจึงเห็นว่า ควรให้เด็กๆ ทำกิจกรรมเพื่อช่วยพัฒนาการเขียน
“การจัดกิจกรรมการเล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมในการเขียน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่สัมพันธ์กันที่ดีระหว่างตากับมือตลอดจนการควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขน” ครูดามิยากล่าว เมื่อเห็นดังนั้นเธอจึงได้ร่วมกับโรงเรียนในการนำกิจกรรมการเล่นที่หลากหลายมาให้นักเรียนได้ฝึกทำ
กิจกรรมที่โรงเรียนเลือกมาให้เด็กๆ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการทำงานที่สัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ตลอดจนการควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขน กิจกรรมที่ทำประจำทุกวัน ได้แก่ ออกกำลังกายตอนเช้าหน้าเสาธง กระโดดยางในช่วงพักกลางวัน ฝึกคิดจินตคณิตก่อนเรียนคาบแรก โดยใช้เวลา 15 นาที เล่นพัฒนากล้ามเนื้อช่วงบ่ายก่อนคาบเรียนที่ 5 เช่น กรอกน้ำใส่ขวด งัดข้อ บิดผ้า ซักผ้า โดยใช้เวลา 15 นาที ซึ่งจะสลับกิจกรรมกันไปในแต่ละสัปดาห์
กิจกรรมที่ทำประจำสัปดาห์ละครั้ง ได้แก่ ว่ายน้ำ ใช้เวลา 60 นาที เล่นเทควันโด ใช้เวลา 50 นาที ทำอาหาร ใช้เวลา 50 นาที และฝึกฝนศิลปะและงานประดิษฐ์ ใช้เวลา 50 นาที
กิจกรรมในคาบเรียนพลศึกษา เช่น การเดินต่อเท้า การวิ่งสลับหลัก การโยนบอลลงห่วง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เด็กสนุกได้ง่ายๆ เช่น การร้อยเชือกรองเท้า การตั้งเหรียญให้ตรง
“กิจกรรมที่คุณครูนำมาใช้ในห้องเรียนของตัวเองจะเป็นกิจกรรมที่เราทำกันประจำทุกวัน ซึ่งจะมีกิจกรรมที่ทำในเวลาและกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้นักเรียนไม่จำเจ” โดยแต่ละกิจกรรมก็จะหวังให้เกิดความแข็งแรงของส่วนต่างๆ อย่างเช่นการกรอกน้ำใส่ขวด ก็จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ ฝึกความสัมพันธ์ระหว่างมือและตาได้
“จินตคณิตจะให้เด็กฝึกมีสมาธิจดจ่อกับที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน ขณะที่นักเรียนของเราใช้มือใช้นิ้วของตัวเองในการคิดนั้น เขาจะเกิดการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับการกระตุ้นเซลล์ของสมอง” ครูดามิยาอธิบาย
ส่วนกิจกรรมงัดข้อก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อแขนของนักเรียนแข็งแรง การกระโดดยางช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความคงทนของร่างกาย กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต และฝึกลมหายใจ หรือแม้แต่การเดินต่อเท้าก็จะช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ หลังจากเด็กๆ ได้เล่นผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ครูดามิยาสังเกตเห็นว่าเด็กจะเอากิจกรรมสนุกๆ ที่ครูฝึกให้ไปเล่นกันเองนอกเหนือจากเวลาที่โรงเรียนจัดให้ด้วย
ผลจากการทำกิจกรรม ‘การเล่น’ ของครูดามิยา ครูได้ประเมินด้วยตัวเลขที่วัดได้ พบว่า ค่าเฉลี่ยแรงบีบมือของนักเรียนได้เพิ่มขึ้นจาก 17.5 กิโลกรัมเป็น 26.1 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือน เป็นค่าแรงบีบมือที่จัดว่าอยู่ในกลุ่ม ‘แข็งแรง’ ถึง 21 คน ‘ปกติ’ 7 คน และไม่มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่ม ‘อ่อนแอ’ เลย ซึ่งเมื่อครูประเมินด้วยสายตาก็เห็นลายมือของนักเรียนดีขึ้นมาก หรือสามารถนั่งหลังตรงได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น และพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนก็ดีขึ้น เด็กๆ มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนเพิ่มขึ้น
“ถ้าจะเทียบกับเมื่อก่อนถึงปัจจุบันจะเห็นชัดเจนว่า นักเรียนมีความตั้งใจในการเรียน มีความกระตือรือร้นที่จะเรียน จากที่เบื่อหน่ายกลายเป็นเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก” ครูดามิยาเล่า พร้อมส่งข้อความถึงเพื่อนครูคนอื่นๆ ว่า ถ้าหากพบปัญหาในห้องเรียนให้รีบแก้ ซึ่งวิธีการหรือตัวช่วยก็มีอยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนครูด้วยกันหรือหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมจะให้ความรู้แก่ครูที่สนใจ
“การที่เราใส่ใจนักเรียนดูแลนักเรียนเป็นพิเศษเท่ากันทุกคนจะทำให้เราได้พบปัญหาและแก้ปัญหาได้ตรงจุด การที่เราจะนำกิจกรรมใดๆ มาใช้กับนักเรียนเราก็ต้องศึกษาเรื่อยๆ ไม่ได้ศึกษาแค่ครั้งเดียว อ่านบทวิจัย เข้าไปพูดคุยกับทาง มอ. บ้าง ถามอาจารย์บ้าง เข้าไปอ่านอยู่เสมอ เพราะเราเชื่อว่าการที่เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาทำให้เราสำเร็จ”จากห้องเรียนของครูดามิยา จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของการเล่น ไม่ได้ช่วยเรื่องการเขียนอย่างเดียว การเล่นทำให้สมองพร้อมที่จะเรียนรู้ ในขณะเล่นเด็กได้ใช้การเคลื่อนไหว ใช้กล้ามเนื้อ ใช้กระดูกข้อ ใช้ประสาทรับรู้ รวมไปถึงการทรงตัว ยิ่งเป็นเด็กในวัยอนุบาลถึงป.3 เมื่อได้เล่นแล้วจึงได้ผลมากเพราะเป็นวัยที่ต้องการการเล่นเพื่อสร้างพัฒนาการ นอกจากนี้การเล่นยังนับเป็น Active Learning อย่างหนึ่งที่ช่วยให้ทักษะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ทั้งการสังเกต การรวบรวมข้อมูล แล้วก็การคิดออกแบบ ซึ่งนำไปสู่การเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ในที่สุด
ถ้าครูสังเกต รีบแก้ปัญหา ใช้กิจกรรมที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง ก็จะมองเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน