ครูคุณภาพ + นักพัฒนาชุมชน : ชวนดู ‘นวัตกรรม’ การสอน จากนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อแก้โจทย์ปัญหาการศึกษาแบบคนที่รู้ลึกรู้จริง

ครูคุณภาพ + นักพัฒนาชุมชน : ชวนดู ‘นวัตกรรม’ การสอน จากนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อแก้โจทย์ปัญหาการศึกษาแบบคนที่รู้ลึกรู้จริง

เป้าหมายของโครงการครูรัก(ษ์)ไม่ใช่แค่การให้ทุนเรียนครูแก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล แต่ยังทลายกรอบให้กว้างไกลไปจนถึงการสร้าง ‘ครูรุ่นใหม่’ และ ‘พัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน’ ไปพร้อมกัน ดังนั้นแล้วจึงไม่ใช่แค่การจบหลักสูตรครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องเพิ่มหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนปลายทาง หรือโรงเรียนที่ครูจะต้องไปสอนเช่นเดียวกัน 

ดังนั้นแล้วความแตกต่างของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นกับหลักสูตรปกติคือการเพิ่มเติมหลักสูตรพัฒนานักศึกษาหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร ที่เรียกว่า Enrichment Program เข้าไปในตารางการเรียนรู้ และการทำ ‘นวัตกรรม’ 

โดยนวัตกรรมที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นทำจะถูกขมวดมาจากการสังเกตการณ์สอนช่วงปี 1-3 ปีละ 1 เดือน และการลงฝึกสอนอย่างเต็มตัวตลอด 3 เดือนที่โรงเรียนปลายทาง เพื่อให้ปรับบริบทการผลิตและพัฒนาบุคลากรครูให้สอดคล้องกับสภาพงานในชุมชนที่ห่างไกล และสร้างเครือข่ายสำหรับหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

“พอเราพูดถึงคําว่านวัตกรรม หลายๆ คน หลายส่วนมีความเป็นกังวลว่าฉันต้องไปสร้างอะไรที่มันใหญ่โตมันใช้เทคโนโลยีมันต้องใช้เครื่องจักร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันคือนวัตกรรมทางด้านการศึกษา เช่น นักศึกษา ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนแล้วรับรู้ว่าเด็กคนนี้ทําไมเรียนรู้ช้า ไม่เกิดการพัฒนาหรือบางคนไม่อยากมาโรงเรียน” 

อาจารย์น้อย นิตยา เรืองมาก รองคณบดีคณะครุศาสตร์ ครูพี่เลี้ยง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรภ.หมู่บ้านจอมบึง) บอกนิยามที่เรียกว่า ‘นวัตกรรม’ ในขอบเขตครูรัก(ษ์)ถิ่น

โดยที่ผ่านมานักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นทั่วประเทศก็ผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้โจทย์การศึกษาแต่ละพื้นที่ และพร้อมที่จะเป็นครูตัวจริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

เราจึงอยากชวนมาดูนวัตกรรมของครูรัก(ษ์)ถิ่นว่ามีชิ้นไหนน่าสนใจบ้าง  และแต่ละชิ้นทำขึ้นมาเพื่ออะไร

‘มู’ ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว สาขาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

‘มัส’ ณัฐวุฒิ งานแข็ง ก็คือเด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 อีกคนหนึ่งจากเกาะยาวเช่นเดียวกัน แต่มัสได้บรรจุที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา โดยมัสเลือกการทำนวัตกรรมนิทาน 10 เรื่องเกาะยาว 

“ผมแต่งนิทานขึ้นมาเอง แต่ข้อมูลทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน หรือเล่าเรื่องคนสำคัญที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะว่าอยากรักษาเรื่องราวที่อยู่ในชุมชนให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน”

มัส บอกที่มาว่าด้วยความที่โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอด บางสิ่งบางอย่างที่เป็นเรื่องราวเก่าๆ เป็นตำนาน หรืออะไรต่างๆ มันก็เริ่มจะหายไปตามบุคคลที่เสียชีวิตไป ถ้าไม่มีการสานต่อเรื่องราวต่างๆ คนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้ว่าเกาะยาวมีความเป็นมาอย่างไร แล้วก็มีใครบ้างที่เป็นและเคยเป็นบุคคลสำคัญในชุมชน โดยแหล่งข้อมูลที่มัสใช้อ้างอิง ก็มาจากพ่อของตัวเอง และโต๊ะครู (ผู้มีความรู้ประจำชุมชน)

‘มัส’ ณัฐวุฒิ งานแข็ง สาขาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

“นิทานเกาะยาวเรื่องแรกจะเล่าถึงความเป็นมาของเกาะยาวก่อน จะเล่าแบบกว้างๆ แล้วก็จะโยงเข้ามาในชุมชน จบด้วยเรื่องของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนสําคัญเพราะส่วนใหญ่นักเรียนจะไม่ค่อยรู้ว่า เดิมทีแล้วโรงเรียนอ่าวมะม่วงไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นตั้งแต่แรก แต่ว่าจริงๆ แล้วโรงเรียนเคยอยู่ที่ริมทะเล”

มัสมองว่าการทำนวัตกรรมเรื่องเกาะยาว ไม่ใช่แค่การเป็นสื่อการสอนให้กับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังได้ด้วย

‘แป๋ม’ วรรณนิษา แสงศรี สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 

‘แป๋ม’ วรรณนิษา แสงศรี นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  แป๋มเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนปลายทางจึงอยู่ที่โรงเรียนบ้านหลักป้ายประชานุเคราะห์ ต.โพนงาม อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี โรงเรียนขนาดเล็กที่มีการสอนถึงแค่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยปีล่าสุดมีจำนวนนักเรียน 250 คน และมีครูรวมบุคลากรอัตราจ้างแค่ 20 คน 

จากการเป็นผู้ช่วยฝึกสอนระยะเวลากว่า 1 เทอมที่โรงเรียนบ้านหลักป้ายประชานุเคราะห์ โดยรับผิดชอบในการดูแลระดับชั้นอนุบาล 2 และ อนุบาล 3 เป็นบางคาบ ทำให้แป๋มเห็นปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กๆ จนกลายมาเป็นนวัตกรรมการศึกษา 

“แป๋มฝึกสอนที่ระดับชั้นอนุบาล 3 ทั้งชั้นมีเด็กประมาณ 13 คน พอไปลองสอนดูแล้วเจอตั้งแต่แรกว่าเด็กไม่ค่อยกล้าแสดงออกในชั้นเรียน ไม่กล้าคุยกับครู ไม่กล้าตอบคำถาม อ่านออกเขียนได้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เลยทำนวัตกรรมเรื่อง หนูน้อยนักวิทย์พัฒนาทักษะการคิดด้วยกิจกรรม PBL (Problem Based Learning)”

แป๋มยอมรับว่าช่วงเวลาหลังพักกลางวัน เด็กๆ ที่ดูแลจะเล่นสนุกตามปกติ แต่หากอยู่ในชั้นเรียนแล้วตั้งคำถามให้ตอบเด็กๆ จะเงียบ ไม่กล้าตอบ ไม่ค่อยอยากคุยกับแป๋ม ที่ ณ ตอนนั้นทำหน้าที่เปรียบเสมือนครูคนหนึ่ง

“เด็กๆ พอให้เขาเล่นกันเองเขาเล่นกันได้ปกติ แต่พอตอนเรียน ครูถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ ไม่ค่อยสนใจ เราคิดว่าเป็นปัญหา ซึ่งช่วงที่ฝึกสอนก็ได้ไปลงพื้นที่เจอครอบครัวเด็กๆ เจอว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่อยู่กับตายาย หรือไม่ก็ถูกเลี้ยงให้อยู่กับโทรศัพท์”

‘แป๋ม’ วรรณนิษา แสงศรี สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

พอเห็นปัญหาคร่าวๆ ประกอบกับที่แป๋มไปเจอการใช้ ‘จิตศึกษา ชง-เชื่อม-ใช้’ ของเพจ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน เลยดึงเอาหลักการนี้มาทำสื่อการสอนให้เด็กๆ หันมาสนใจในคาบการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยตั้งต้นมาจากปัญหาที่เจอที่เรียกว่า Problem Based Learning หรือ PBL

“จุดประสงค์หลักๆ คือให้เด็กคิดแบบมีเหตุผลมากขึ้น กล้าพูด กล้าตอบ สิ่งที่ได้ออกมาคือ ตารางกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้เล่น แบ่งเป็น 4 หน่วยการเรียนรู้ คือ 1. หนูทำได้ ปัญหามาจากเด็กๆ ใส่กระโปรงไม่ได้ด้วยตัวเอง 2.ฤดูฝนจ๋า ให้เด็กๆ เรียนรู้การเกิดฝน 3.อาหารดีมีประโยชน์ และ 4.ข้าวแสนอร่อย เพราะเกิดจากที่เด็กๆ ไม่ค่อยทานผัก และข้าวที่โรงเรียน  ” 

“หลักการชง-เชื่อม-ใช้ จะเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นในห้องนั้น เช่นหน่วยการเรียนรู้ที่ 3.อาหารดีมีประโยชน์ น้องอนุบาลจะได้ดูนิทานเรื่องหนูนิดไม่ชอบทานผัก แล้วหลังจากดูจบก็ตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่าทำไมเขาไม่ทาน แล้วอะไรจะทำให้ทานผักได้ เป็นคำถามง่ายๆ อันนี้คือการชงให้คิด ขั้นตอน ‘เชื่อม’ ก็มีกิจกรรมให้มาแก้ปัญหาที่เข้ากับตัวเองอย่างเรื่องทานผัก แล้วขั้นตอน ‘ใช้’ ก็สร้างกิจกรรมทำแซนวิชผักสลัดแล้วทานกันในห้อง และที่เป็นแซนวิช มาจากการถามเด็กๆ ว่าเรื่องทานผัก อยากทำเมนูอะไร เด็กๆ ก็ช่วยกันโหวตในสิ่งที่เขาไม่ค่อยได้ทาน”

ผลลัพธ์ในมุมผู้สอนหลังจากทำกิจกรรมหน่วยการเรียนรู้แล้ว แป๋มบอกว่าเด็กๆ มีการคิดเชื่อมโยงมากขึ้น และแก้ปัญหาได้พอสมควร เช่น การเรียนรู้เรื่องฝน เด็ก 12 คน จากทั้งหมด 13 คน สามารถจำและเลือกอุปกรณ์กันฝนได้ตามที่สอน 

“เด็กๆ ทำได้ กล้าตอบครูมากขึ้น แต่เพราะไปฝึกสอนระยะสั้นก็เลยไม่รู้ว่าเด็กๆ จะเป็นยังไงบ้างตอนนี้ กำลังจะไปบรรจุที่โรงเรียนแล้วและได้ดูแลน้องๆ อนุบาลเหมือนเดิมก็ต้องไปดูว่าปัญหาของเด็กรุ่นนี้คืออะไร”

ความพร้อมในการเป็นครูเต็มตัวอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หากนับเป็นเปอร์เซ็นต์ แป๋มบอกว่ามีมากถึง 80% ส่วนที่เหลือเจ้าตัวบอกว่าต้องไปสำรวจดูหน้างานอีกทีถึงการแก้ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้น

‘เบียร์’ อัมรินทร์ สุวรรณมงคล สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“เลือกทำนวัตกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมชุมชนเพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์กับทั้งเด็ก และคนรอบข้างด้วย” 

‘เบียร์’ อัมรินทร์  สุวรรณมงคล นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ บอกที่มาของนวัตกรรมที่ต่ออยอดมาจากการลงไปฝึกสอนที่โรงเรียนบ้านห้วยตาเปอะ อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสบนหุบเขา 

เบียร์เล่าว่าโรงเรียนปลายทางที่กำลังจะไปบรรจุเป็นครูเต็มตัวมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมต้น โดยมีจำนวนนักเรียนราว 200 คนเศษ

“ปัญหาหลักๆ คือโรงเรียนโดยเฉพาะชั้นอนุบาล 3 ที่ไปฝึกสอนไม่มีสื่อการสอน หรือมีน้อย เด็กๆ ก็จะมีเกมให้เล่นเท่าที่มี หรือเขียนกระดาษเป็นหลัก”

จากการไปฝึกสอนรวมระยะเวลากว่า 3 เดือน หรือนับเป็น 1 ภาคการศึกษา เบียร์พบว่าสื่อการสอนขาดแคลนในระดับที่ต้องแก้ปัญหา เบียร์มองว่าสื่อการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาการเด็กปฐมวัย

“ตอนกำลังเริ่มวางแผนงานนวัตกรรมก็ไปเดินสำรวจหมู่บ้านรอบๆ ลงพื้นที่คุยกับผู้ปกครอง ก็เห็นว่าชุมชนรอบๆ ทำเกษตรกันหมดเลย โดยเฉพาะสวนยางพาราที่เห็นเยอะสุด เลยเอาข้อมูลนี้ไปปรึกษาครูพี่เลี้ยง และผอ. จนเขาเห็นด้วยเลยร่างเป็นโครงการจริงจัง”

แผนงานของเบียร์ คือใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาสื่อ และสร้างประโยชน์เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุจากธรรมชาติโดยมีสภานักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสื่อและพัฒนาสร้างสื่อ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทของที่ระลึกหรือเครื่องประดับ

‘เบียร์’ อัมรินทร์ สุวรรณมงคล สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“คนที่นี่ทำสวนยางพารา และปลูกมันสำปะหลัง เราเห็นว่าลูกยางพาราน่านำมาใช้ในการเรียนการสอนและต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนได้ เลยตั้งเป้าหมายไปที่ให้สภานักเรียนทั้ง 11 คนก่อน ให้พวกเขาลงพื้นที่ชุมชน ช่วยกันคิดว่าจะเอาลูกยางมาทำอะไร”

ที่เบียร์เน้นการทำงานร่วมกันกับสภานักเรียน ไม่ได้เน้นกลุ่มนักเรียนที่ไปฝึกสอนตั้งแต่แรกเพราะว่า ต้องการให้สภานักเรียนเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนและชุมชนเข้าด้วยกัน 

“วางแผนกับกลุ่มสภานักเรียนให้ลงไปคุยกับคนในชุมชนเพื่อดูว่าเขามีความเห็นยังไง แล้ววางแผนขั้นต่อมาคือทำสื่อจากลูกยางพารา จนสุดท้ายกลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมากเก็บเต่าทองจากลูกยางพารา พอผ่านขั้นตอนนี้ก็มีการจัดบูธให้คนในโรงเรียนเข้ามาชม เชิญผู้ปกครองมาด้วย มีการจำลองขายได้ ซึ่งผู้ปกครองก็สนใจ”

“แล้วหลังจากนั้นก็เอาสื่อพวกนั้นมาสอนน้องๆ อนุบาล น้องสนใจกันเยอะ ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำไว้ก็อาจจะต่อยอดขายเช่น พวงกุญแจลูกยางพารา สร้อยข้อมือลูกยางพารา กิ๊บลูกยางพารา ตุ้มหูลูกยางพารา”

เบียร์สรุปสั้นๆ ว่านวัตกรรมของเบียร์คือการทำสื่อการสอนจากของที่มีในชุมชน และอาจจะต่อยอดไปเป็นสินค้าประจำท้องถิ่นได้ 

‘แคท’ จิตสุภา สมบูรณ์ สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“เอาชุมชนมาพัฒนานักเรียน” 

นิยามผลงานนวัตกรรมของ ‘แคท’ จิตสุภา สมบูรณ์ นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่คือการที่สามารถปรับใช้แก้ปัญหาได้ทั้งโรงเรียน และชุมชน

โรงเรียนบ้านหัวนา ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คือโรงเรียนปลายทางที่แคทกำลังจะไปบรรจุครู และทำการสอนตามเงื่อนไขทุน

‘แคท’ จิตสุภา สมบูรณ์ สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“โรงเรียนบ้านหัวนาเป็นโรงเรียนบนดอย ตอนไปฝึกสอนครั้งแรก กลัวมากเพราะเด็กในโรงเรียนมีแต่คนดาราอาง และไทใหญ่ ฟังภาษาเขาไม่รู้เรื่องเลย พอปรับตัวไปเรื่อยๆ ก็เจอว่าเด็กอนุบาลบวกเลขไม่เป็นเลย”

‘ดาราอัง’(บางทีเรียกดาราอั้ง) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน เช่นเดียวกับ ‘ไทใหญ่’ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ โดยทั้ง 2 กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มประชากรหลักของชุมชนบ้านหัวนา ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ผลงานนวัตกรรมของแคทมีชื่อว่า ‘เอ็มมาดพาเที่ยว’ เพื่อส่งเสริมให้เด็กระดับอนุบาล 2 สามารถนับจำนวนตัวเลขได้ โดยแคทบอกว่าตามมาตรฐานเด็กอนุบาลต้องมีความรู้วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานที่สามารถบวกลบเลขไม่เกินหลัก 5 ได้คล่อง

“นิทานจะเล่าเรื่องเอ็มมาด (ชื่อของเด็กนักเรียนในห้อง) ตอนที่ 1 จะเล่าเรื่องพาเที่ยวสวนส้ม แล้วเนื้อเรื่องจะเป็นการไปเก็บส้มลงตะกร้า แล้วถามว่าส้มเหลือกี่ผลประมาณนี้ เพื่อให้เด็กไปอ่านนิทานแล้วคิดตาม แต่รายละเอียดที่ใส่ในนิทานเป็นเรื่องในชุมชนหมดเลยหรือนิทานตอนที่ 2 คือเอ็มมาดไปงานวัด มีการแสดงในนั้น โจทย์ในนิทานก็ถามว่าคนแสดงมีกี่คน” 

แคทเพิ่มเติมว่าในนิทานจะมีสีสันสดใส โดยตัวละครจะใส่เสื้อผ้าที่แปลกตาไปจากชุดนักเรียน เพราะนั่นคือชุดประจำชาติพันธุ์ อย่างสีแดงคือชุดประจำชาติพันธุ์ของชาวดาราอาง และชุดสีน้ำตาลคือชุดประจำของชาวไทใหญ่ นอกจากนี้การเลือกโลเคชั่นในนิทานก็มาจากสภาพพื้นที่ของชุมชนที่มักจะมีไร่ส้มจำนวนมาก 

“นิทานสอนที่ 2 พาไปเที่ยวงานวัดในนั้นก็จะใส่การแสดงสำคัญ หรือประเพณีสำคัญเข้าใปให้เห็น เช่นงานปอยเทียน งานปอยส่างลอง”

แคทยอมรับว่าตัวแคทเองเป็นคนเมือง ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ แต่การให้ความสำคัญกับประเพณี หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นมีความสำคัญ

นิทานของแคทมีทั้งหมด  6 เรื่อง จะถูกเล่าให้กับเด็กๆ ในชั้นเรียนฟังในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยบางช่วงจะมีการทำกิจกรรมนับส้มกันจริงๆ หรือการเชิญวิทยากร ปราชญ์ชุมชนเข้ามาบรรยาย 

“พยายามเอาชุมชน เข้ามาแก้ปัญหานักเรียน เพราะถ้าหากจะแก้ปัญหาชุมชนเลย คิดว่าทำไม่ได้ เราไม่สามารถไปควบคุม หรือว่าไปแก้ไขอะไรใหญ่ๆ ได้ ก็เลยคิดว่าเริ่มจากจุดเล็กๆ ในโรงเรียน”

• ‘โอเว่น’ ศุภสิทธิ์ จิตอารีย์ สาขาประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เด็กต้องรู้จักที่มา ชุมชน รากเหง้าของตัวเอง” 

‘โอเว่น’ ศุภสิทธิ์ จิตอารีย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกบรรจุชื่อที่โรงเรียนบ้านห้วยโป่งอ่อน อ.เมือง จ.เเม่ฮ่องสอน ที่นับเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก โอเว่นบอกว่าตัวเองเป็นคนไทใหญ่ แต่โรงเรียนปลายทางที่มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘กระเหรี่ยงแดง’ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การเป็นครูที่นี้ต้องใช้เวลาปรับตัวเยอะพอสมควร

‘โอเว่น’ ศุภสิทธิ์ จิตอารีย์ สาขาประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ดูแลน้องๆ ป.1 แต่ตอนทำนวัตกรรมต้องไปใช้ข้อมูลของเด็กป.2 เพราะเป็นชั้นที่นักเรียนเยอะที่สุด คือมี 5 คน ขณะที่ชั้นอื่นๆ มีแค่ 3 คน”

โรงเรียนบ้านห้วยโป่งอ่อน สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 แต่โอเว่นบอกว่าตอนที่เขาไปฝึกสอนนั้นไม่มีการสอนชั้น ป.4 เพราะไม่มีนักเรียนชั้นนั้นเลยต้องยุบ 

โอเว่นเลือกทำนวัตกรรมแบบบูรณาการ โดยตั้งต้นจากปัญหาที่เห็นจากการลงฝึกสอน

“ตอนแรกก็ยังไม่เห็นปัญหาอะไรสักอย่างครับ แต่ว่าพอไปอีกรอบตอนฝึกสอนปีสี่ เจอปัญหาเยอะเลย โดยเฉพาะเด็กไม่มีความเข้าใจในความเป็นรากเหง้าชาติพันธุ์ของตัวเอง แล้วก็ไม่มีความรู้เรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่นทุกวันศุกร์ โรงเรียนจะมีการแต่งชุดตามชาติพันธุ์ ซึ่งเขาแต่งแบบไทใหญ่มา ไม่ได้แต่งแบบกระเหรี่ยงแดง”

“นักเรียนไม่มีความรู้เลย” 

โอเว่นจึงลงสำรวจชุมชน แล้วสร้างแผนการสอนที่คล้ายนิตยสาร โดยแบ่งเป็น 8 บท  เพื่อเล่าข้อมูลที่มาของชาวกระเหรี่ยงแดง พร้อมกับสร้างให้สอดคล้องกับวิชาหลัก 8 วิชา ประกอบไปด้วย 1. ชุมชนมีที่มา คือการอธิบายประวัติชุมชน 2. ชุมชนชวนค้นหา เป็นการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ 3. ไร่ข้าวที่ปลายดอย อธิบายเรื่องการทำนา และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสง น้ำ 4. อาหารสร้างสุข การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ 5. ร้อยเรียงเส้นไผ่ได้จักสาน จำลองรูปทรงเลขาคณิต 6. สัตว์เลี้ยงคู่ชุมชน 7.ถักเส้นใยใช้นุ่งห่ม 8.ปอยต้นธีมีอะไร 

“เด็กควรรู้เรื่องชุมชน และที่มาของตัวเองเพราะว่ามันสามารถนําไปต่อยอดได้หลายอย่าง เช่น ความรักชุมชนที่ควรมาเป็นอันดับหนึ่ง ผมเน้นไปในส่วนของเจตคติของเด็กมากกว่า เพื่อให้เขาได้หวงแหนชุมชน หรือแม้แต่การอนุรักษ์ธรรมชาติของตัวเอง”