กสศ. เปิดข้อค้นพบจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2566 ตั้งเป้าสร้างทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ
เน้นกลุ่มยากจนรุนแรง ประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

กสศ. เปิดข้อค้นพบจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2566 ตั้งเป้าสร้างทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ

25 ตุลาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี ‘Equity Forum ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ’ ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 และผลงานวิจัย รวมถึงข้อเสนอการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ในประชากร 3 ช่วงวัยสำคัญของประเทศ โดยมี ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เป็นผู้นำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2566

รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 ชี้ว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สถานการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำและกลายเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงมากยิ่งขึ้น

ดร.ไกรยส เปิดเผยว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบาง เนื่องจากมีปัญหาความยากจนหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว

ในขณะเดียวกัน เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้ เด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟูหรือหลุดออกจากระบบ จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหายจากการเรียนรู้ (Lost Generation) ซึ่งสามาถยืนยันได้จากข้อค้นพบ ‘ปัญหาทุนมนุษย์ช่วงวัยสำคัญ’ 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า หากไม่เร่งช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ ประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวเป็นลักษณะ K-Shaped ซึ่งหมายความว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย กับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่า จะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น

“การพัฒนาทุนมนุษย์ในวันนี้ต้องเปลี่ยนไปตามบริบทและเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียจากการที่เด็กและเยาวชนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว” ดร.ไกรยส กล่าวก่อนที่จะระบุให้เห็นว่า ปีการศึกษา 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง (Extremely Poor) จำนวน 1,248,861 คน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน

นอกจากนี้ยังกล่าวต่ออีกว่า เด็กกลุ่มนี้แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ความยากจนในระดับรุนแรงยังคงเป็นอุปสรรคทำให้ครอบครัวเด็กไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้ 

“หากสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็ง และสามารถทำงานไปกับสถาบันทางการศึกษาได้แล้ว โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเป็นโจทย์ที่เราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”

ข้อค้นพบบนเส้นทางการศึกษา กับอุปสรรคที่ดับฝันเด็กและเยาวชน

กสศ. ได้ติดตามข้อมูลเส้นทางการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปี 2562-2566 โดยติดตามจากจุดสำคัญบนเส้นทางการศึกษา 4 จุดด้วยกัน คือการสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาต่อในปีการศึกษา 2562 การศึกษาต่อในปีการศึกษา 2563 และการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2566 (ผ่านระบบ TCAS)

พบว่าในปีการศึกษา 2562 นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ หรือ ม.3 จำนวน 168,307 คน และในปีการศึกษา 2563 นักเรียนในกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ (33,547 คน) ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่พบการศึกษาต่อในระบบ (รวม กศน.) สาเหตุหลักคือความยากจนและความห่างไกลของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และอีก 80 เปอร์เซ็นต์ (134,760 คน) คือจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 ปวช. กศน. หรือเทียบเท่า

เมื่อติดตามต่อเนื่องถึงปีการศึกษา 2566 เห็นว่านักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา 12.46 เปอร์เซ็นต์ (21,921 คน) และอีก 87.54 เปอร์เซ็นต์ (112,839 คน) ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาและระบบประกอบอาชีพ (อาจศึกษาต่อโดยไม่ผ่านระบบ TCAS เรียน ปวส. หรือไม่ได้เรียนต่อ)

จากสถิติดังกล่าวสามารถสรุปข้อค้นพบ ดังนี้

  1. ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศกว่า 3 เท่า
  2. ช่วงชั้นรอยต่อเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอม พร้อมกับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

• รอยต่อ ม.ต้น ถึง ม.ปลาย หรือ ปวช.

สิ่งที่พบว่าเป็นอุปสรรคในช่วงรอยต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจากการสัมภาษณ์เชิงลึก สาเหตุหลักมาจากการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน กล่าวคือ เด็กจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลแหล่งทุน และแหล่งทุนเองก็มีจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืม 

นอกจากนี้เงื่อนไขของแหล่งทุน เงินกู้เพื่อการศึกษา หรือกระทั่งเงื่อนไขของสถาบันการศึกษาเองก็ไม่เอื้อให้กับเด็กยากจนและยากจนพิเศษเท่าที่ควร เนื่องจากในบางกรณีเปิดเทอมไปแล้ว 3-6 เดือน จึงจะได้รับเงิน กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคในการเรียนต่อ เช่น ค่าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง เป็นต้น

• รอยต่อ ม.ปลาย หรือ ปวช. ถึงอุดมศึกษา

นักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษที่จำต้องยอมแพ้และตัดสินใจไม่เรียนต่อในที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายในช่วงรอยต่อการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสูงถึง 12 เท่าของรายได้นักเรียนยากจนพิเศษ หรือราว 13,200-29,000 บาท โดยภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น ค่าใช้จ่ายในระบบ TCAS ค่าแรกเข้ามหาวิทยาลัย (หอพัก ประกัน เครื่องแบบนักศึกษา กิจกรรม) และค่าเทอมที่อาจต้องจ่ายทันทีเพื่อรักษาสิทธิ์

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องของแหล่งทุนเองก็คล้ายคลึงกับช่วงรอยต่อก่อนหน้า โดยมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบข้อมูลแหล่งทุน แหล่งทุนมีจำกัด รวมไปถึงหากต้องการเรียนโดยการใช้ทุน จะต้องเลือกเรียนสาขาที่ให้ทุนและค่าเทอมไม่แพง ซึ่งอาจไม่ตรงตามความต้องการ

อีกทั้งยังพบเจอกับปัญหาที่เงินจากแหล่งทุนหรือเงินกู้ให้เงินล่าช้า เกินเวลาการรักษาสิทธิ์และการจ่ายค่าเทอม ประกอบกับนักศึกษาไม่สามารถขอผ่อนผันค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยไปก่อนได้

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลงทุนในเด็กและการพัฒนาทุนมนุษย์

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวขึ้นหลังจากนำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สะท้อนภาพเด็กยากจนและยากจนพิเศษที่ต้องทยอยหลุดออกจากระบบ จากนานาอุปสรรคที่ฉุดรั้งเส้นทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยชี้ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการลงทุนในทุนมนุษย์ เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน เพราะด้วยอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยเหลือเด็กและเยาวชนให้ลงทุนได้น้อยลงทุกปีและทุกวัน

“ตอนนี้ทองแพงมาก แต่มูลค่าเด็กทั้งคนสูงกว่าทองคำ เด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำในวันนี้ อย่าปล่อยให้เขาต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา”

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะทยอยครบกำหนดในอีก 5-7 ปี ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมาย หากไม่เร่งลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์

การลงทุนในทุนมนุษย์คือกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2579

นอกจากนี้ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การขยายฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.ไกรยส กล่าวทั้งหมดเพื่อเป็นการบอกว่าทำไมประเทศไทยควรเร่งลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคตั้งแต่วันนี้ 

ทั้งหมดทั้งมวลถูกกลั่นกรองออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. ลงทุนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย (Invest Early) โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยจากครัวเรือนใต้เส้นความยากจน มุ่งเน้นการลงทุนที่ตัวเด็กและครัวเรือน รวมทั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว

ควรวางระบบการพัฒนาทุนมนุษย์แบบวงจรปิด (Closed-loop Human Development Model) มุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาพัฒนาทุนมนุษย์จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน โดยไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

2. ลงทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของประเทศและด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด (Invest Smartly) คือการลงทุนสร้างระบบการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตและครอบครัวของเยาวชนมากขึ้น 

“เป็นเรื่องยากถ้าจะให้เด็กเรียนอยู่ในห้องเรียน หรือเรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบเดิมๆ เราต้องพยายามทำให้เขามีทางเลือกทางการศึกษา ซึ่งทางเลือกนั้นอาจมาจากสถานประกอบการ”

กสศ. จึงมีข้อเสนอว่า รัฐควรเพิ่มแรงจูงใจทางภาษี 2 เท่า แก่สถานประกอบการ ภาคเอกชนที่จะทำหน้าที่เป็นระบบการศึกษาทางเลือกให้แก่เยาวชน 150,000 คน ที่ออกจากระบบการศึกษา แต่ยังต้องการพัฒนาทักษะแรงงาน และมีรายได้เสริมระหว่างการพัฒนา รวมไปถึงสมาชิกครัวเรือน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการเทียบโอนวุฒิและหน่วยกิตให้แก่สถานประกอบการและเยาวชนวัยแรงงาน

ในข้อเสนอนี้หน่วยงานผู้พัฒนาทุนมนุษย์ทุกฝ่าย ควรพิจารณานำข้อมูลเยาวชน 150,000 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อหาแนวทางสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ 20 ปีไร้รอยต่อ (ตั้งแต่ปฐมวัย-อุดมศึกษา) โดย กสศ. ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่พร้อมร่วมสนับสนุน ภายใต้หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

3. ลงทุนอย่างเสมอภาค (Invest Equitably) ให้ความสำคัญต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนมาก่อนเงื่อนไขทางบัญชีและการเงินของสถาบันที่สามารถยืดหยุ่นได้

“อย่าเอาเงื่อนไขในการเก็บค่ารักษาสิทธิ์ เพื่อป้องกันการสละสิทธิ์ มาเป็นอุปสรรคในการศึกษาของเด็ก เพราะถ้าเขาไม่ได้โอกาสในการศึกษาต่อ ก็จะเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น”

สิ่งสำคัญคือ ต้องพิจารณาลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวและการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะเยาวชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงกว่ารายได้ครัวเรือนถึง 12 เท่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของประชากรที่ยากจนที่สุดของประเทศ

4. ลงทุนด้วยนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Invest Innovatively) โดยใช้แรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า มาพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือและนวัตกรรมทางสังคม เพื่อสนับสนุนการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน 

กสศ. เสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน เช่น การออกสลากการกุศล หรือออกพันธบัตร ตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้อาจมีการเหนี่ยวนำทรัพยากรจากตลาดเงินและตลาดทุน มาร่วมลงทุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน

ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการนำเสนอว่า ถ้าหากสามารถลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคได้ จะเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าที่สุดอย่างน้อย 3 ประการ คือ ประเทศไทยจะมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยพาคนออกจากวงจรความยากจนได้ในรุ่นของเรา และประเทศไทยจะออกจากกับดักรายได้ปานกลางในช่วงชีวิตของเราได้