เมื่อโรงเรียนกำลังจะเปิด ...เด็ก ๆ อยู่ที่ไหน?
ตามรอย ‘ปฏิบัติการครูเสมอภาค’ กับเปิดเทอมนี้ที่ชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อ.แม่สาย จ.เชียงราย

เมื่อโรงเรียนกำลังจะเปิด …เด็ก ๆ อยู่ที่ไหน?

พรพรรณ …อพยพออกไปนอกชุมชนยังไม่กลับมา

โชคดี …ย้ายไปอยู่กับญาติที่ตำบลอื่น

ภูผา …ช่วยพ่อกวาดดินโคลนออกจากบ้านเกือบหมดแล้ว แต่ถนนหน้าบ้านยังสัญจรลำบาก 

รณกฤต …เพิ่งกลับไปดูบ้านได้ แต่ไม่รู้ว่าจะอาศัยอยู่ได้เมื่อไหร่

เหล่านี้คือสถานการณ์หลากหลายของเด็ก ๆ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ในวันที่เทอมใหม่กำลังจะมาถึง

หลายสัปดาห์หลังวิกฤตน้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อันเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวของเด็ก ๆ ชั้นอนุบาลถึง ป.6 รวม 404 คน และพื้นที่หลายชุมชนรายรอบ ตั้งแต่ชุมชนบ้านไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเกาะสวรรค์ ชุมชนผามควาย ต้องเผชิญกับสิ่งที่มหาอุทกภัยทิ้งไว้ เมื่อหลายครอบครัวต้องสูญเสียบ้านไปกับภัยพิบัติอย่างไม่อาจฟื้นฟู ส่วนบ้านที่รอดจากกระแสน้ำเชี่ยว ยังทับถมด้วยดินโคลนที่โดนแดดโดนลมจนจับตัวแข็งยากกำจัด

ขณะที่เดือนพฤศจิกายนมาถึงพร้อมวาระ ‘เปิดเทอมใหม่’ เสียงจากครูบอกว่า ‘เด็กเกือบครึ่งหนึ่งยังติดต่อไม่ได้’ ส่วนกลุ่มที่ทราบความเคลื่อนไหวแล้ว โดยมากยังไม่กลับเข้าพื้นที่ มีทั้งที่อพยพไปอยู่บ้านญาติที่อยู่ห่างจากโรงเรียนออกไป บ้างไปเช่าที่อยู่ชั่วคราวบริเวณนอกชุมชน และอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิง ซึ่งหลายแห่งกำลังเตรียมทยอยปิดตัวลงพร้อม ๆ กับการถอนกำลังของทีมอาสาสมัครบางส่วน คงเหลือไว้เพียงสถานการณ์ที่บ่งชี้ว่า ผลพวงจากน้ำท่วมใหญ่ที่แม่สาย จะกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนไปอีกยาวนาน และแน่นอนว่าในแง่มุมด้านการศึกษา แนวโน้มเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยง

กสศ. ชวนติดตามเส้นทางการค้นหาเด็ก ๆ ผ่านการลงพื้นที่ของ ‘ทีมครูเสมอภาค’ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 ที่ผลัดเวียนกันลัดเลาะไปทุกตรอกซอกซอยรอบรัศมีโรงเรียน เพื่อสำรวจความสูญเสียที่น้อง ๆ กับครอบครัวต้องประสบ ก่อนรวบรวมข้อมูลนำมาออกแบบกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาอย่างสุดกำลังร่วมกับ กสศ. ตั้งแต่เบื้องต้นในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน ยารักษาโรค จนถึงที่พักพิงชั่วคราว เพื่อสำรวจความพร้อมเปิดเทอมใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้โดยไม่หลุดไปกลางทาง ซึ่งประเด็นสำคัญคือความพยายามที่ไม่ลดละของทีมครูเสมอภาค กับการหาทางติดต่อค้นหากลุ่มที่ยังติดต่อไม่ได้ เพื่อให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนไปอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

และนี่คือการระดมกำลังและข้อมูลจากทุกทิศทาง ใน ‘ปฏิบัติการค้นหา-ดูแลช่วยเหลือ-ฟื้นฟูเยียวยา’ เพื่อก้าวข้ามความสูญเสียไปด้วยกัน เพื่อหาทางดำเนินชีวิตต่อไป และเพื่อเหนี่ยวรั้งทุกวิถีทางไม่ให้เด็กยุติเส้นทางการเรียนรู้

ที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169

มีนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ.จำนวน 31 คน ชั้นอนุบาล 10 คน ชั้นประถมศึกษา 21 คน

คุณย่าวิไลวรรณพา ‘น้องบีลีฟ’ พลอยไพลิน ชั้น ป.2 เข้ารับทุนเสมอภาคพร้อมเครื่องนอนและสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็น คุณย่าบอกว่า “น้ำไปหมดแล้ว เหลือแต่โคลน ข้าวของไม่มีอะไรเหลือ ตัวบ้านยังทำอะไรไม่ได้ต้องรอให้มีหน่วยงานมาช่วยเอาโคลนออกให้หมดก่อน”

กับวันเปิดเทอมที่จะมาถึง คุณย่าวิไลวรรณกังวลด้วยไม่รู้เลยว่าจะกลับไปอยู่บ้านได้เมื่อไหร่ ส่วนการพาน้องบีลีฟซ้อนท้ายจักรยานมาเรียนที่ทำเป็นปกติก็ไม่อาจทำได้ เพราะตอนนี้ต้องไปอาศัยอยู่บ้านญาติที่อยู่ไกลออกไป และจักรยานคันเดิมก็สูญหายไปกับน้ำแล้ว ตอนนี้จึงคิดว่าถ้ามีที่อยู่ที่ใกล้โรงเรียนและมีสิ่งของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ก็อาจหาทางให้หลานมาโรงเรียนได้

และเมื่อถามถึงวันเปิดเทอมใหม่ น้องบีลีฟตอบสั้น ๆ เพียงว่า “คิดถึงสมุดหนังสือเรียน คิดถึงครู อยากให้เปิดเทอมเร็ว ๆ จะได้กลับมาโรงเรียนค่ะ”

จากโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน ‘ทีมครูเสมอภาค’ พาคณะทำงาน กสศ. เข้าพื้นที่ชุมชนสำรวจสถานการณ์ของเด็ก ๆ เพื่อนำข้อมูลกลับมาออกแบบกระบวนการช่วยเหลือเยียวยา และมองถึงความเป็นไปได้ของการจัดการเรียนรู้ที่สอดรับกับชีวิต ณ ภาวะปัจจุบัน  

บ้านหลังแรกตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาย เราพบ ‘น้องมิว’ ชมพูนุช กับคุณแม่ ที่พาไปดูสิ่งก่อสร้างซึ่งเคยเป็นบ้านสองชั้นตอนนี้ครึ่งหนึ่งของชั้นล่างอัดแน่นด้วยกองดิน กับพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งที่น้องมิวบอกว่าตรงมุมหนึ่งเคยเป็นที่นอนของเธอ วันนี้น้ำยังท่วมขัง และยิ่งเดินใกล้เข้าไปก็ยิ่งได้ยินเสียงของกระแสน้ำสายที่ยังไหลเชี่ยว

“คงอีกนานกว่าจะกลับมาอยู่ได้ค่ะ เพราะน้ำยังแรงอยู่ เข้ามาซ่อมบ้านไม่ได้” คุณแม่น้องมิวประเมินสถานการณ์

เมื่อถามถึงวันเปิดเทอมว่าจะเป็นอย่างไร เด็กหญิงชั้น ป.6 บอกว่า “ถ้าไปได้ก็อยากไปค่ะ หนูอยากไปอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีชุดนักเรียน ไม่มีหนังสือเรียน ไม่มีอุปกรณ์การเรียน รู้สึกไม่พร้อมเลยค่ะ เพราะวันที่น้ำมามันเร็วมาก ไม่ทันเอาของอะไรออกไปสักอย่าง มีแค่เสื้อผ้าติดตัวชุดเดียว ตอนนี้ของที่ใช้อยู่ทุกวันก็เป็นของบริจาคทั้งหมด”

วันที่พบกัน มิวกับแม่อาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงซึ่งกำลังจะปิดตัวลง โดยน้องมิวเผยถึงแผนต่อจากนี้ว่าคงต้องไปหาบ้านเช่าอยู่ชั่วคราว จนกว่าถึงวันที่บ้านซ่อมเสร็จ และกลับเข้ามาอยู่ได้อีกครั้ง

หลังต่อมาคือบ้านของ ‘พรพรรณ’ ชั้นป.6 ซึ่งอยู่ในตรอกแคบที่ทางเดินยังมีน้ำผสมโคลนท่วมถึงตาตุ่ม ระหว่างที่ครูตะโกนเรียนชื่อน้อง มีเด็กที่จับกลุ่มกันอยู่ในตรอก 3-4 คนมองออกมา แต่ในนั้นไม่มีลูกศิษย์ที่ครูมาตามหา ชาวบ้านใกล้เคียงให้ข้อมูลว่าครอบครัวของพรพรรณอพยพไปอยู่ข้างนอกตั้งแต่วันแรก ๆ ที่น้ำเริ่มท่วม และตั้งแต่นั้นก็ยังไม่กลับมา

บ้านของ ด.ญ.โชคดี ชั้น ป.5 สภาพของสิ่งก่อสร้างบอกเล่าเรื่องราวทันทีว่าไม่มีใครอยู่ คุณครูให้ข้อมูลว่ารู้อยู่แล้วว่าน้องกับครอบครัวออกไปอยู่ที่อื่น

“ไม่เหลืออะไรเลย” ครูท่านหนึ่งพยายามประกอบถ้อยคำจากภาพที่เห็น เมื่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือเค้าโครงของบ้าน และกองดินที่จับตัวแข็ง สูงพะเนินกินพื้นที่เกือบทั้งหมดในรั้วบ้าน “บ้านของโชคดีทำอาชีพเย็บผ้าทำพวงกุญแจ น้ำมารอบนี้คงทำลายเครื่องมือทำมาหากินไปหมดแล้ว แต่ตอนนี้เด็กย้ายออกไปอยู่กับญาติไม่ไกลออกไปเท่าไหร่ ผู้ปกครองเขาแจ้งแล้วว่าเปิดเทอมน่าจะกลับมาเรียนได้”

คุณครูกล่าวสรุป ก่อนพากันออกเดินไปยังบ้านหลังต่อไป เหลือไว้เพียงคำถามที่ต้องรอถึงวันเปิดเทอมจึงจะมีคำตอบ ว่า ด.ญ.โชคดี จะกลับมาเรียนเมื่อไหร่

ด.ช.ภูผา ชั้น ป.6 วิ่งจากในบ้านออกมาต้อนรับ บนเสื้อและแขนขาเปรอะเปื้อนด้วยร่องรอยจากสีทาผนัง ภูผาบอกว่ากำลังช่วยพ่อขัดกำแพงบ้านเพื่อจะทาสีใหม่ทับ ก่อนพาเข้าไปดูในบ้านที่หลังเอาโคลนออกและทำความสะอาดแล้ว แต่คราบโคลนยังคงทิ้งรอยด่างไว้ถ้วนทั่วทั้งบนผนัง พื้นบ้าน และเพดาน

…รถดันโคลนเคลื่อนผ่านหน้าบ้านของภูผา ไปและกลับ และวกมาอีกครั้ง ส่งเสียงแผดลั่นกลบทุกอย่าง เราจึงไม่มีโอกาสถามภูผาเรื่องเปิดเทอมใหม่ แต่เป็นคุณครูที่ยืนยันว่า บ้านของ ด.ช.ภูผา ถือเป็นกลุ่ม 5% ของเด็กทั้งโรงเรียนที่โดนผลกระทบไม่มาก จึงคิดว่าภูผาน่าจะกลับไปเรียนได้เมื่อโรงเรียนเปิด

จากถนนเส้นหนึ่งถึงอีกเส้น ซอยหนึ่งถึงอีกซอย คุณครูพาเราเข้าไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่เริ่มเข้าถึงยากขึ้น ก่อนจะพบว่าเด็กและครอบครัวส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน จำนวนหนึ่งครูพอมีข้อมูลว่าออกไปอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใคร แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปดูสภาพบ้านเพื่อประเมินความสูญเสีย แต่อีกจำนวนหนึ่ง คุณครูยอมรับว่าแม้อีกไม่กี่วันโรงเรียนจะกลับมาเปิดแล้ว แต่ก็ ‘ยังไม่รู้ข่าวคราว’

ก่อนย้อนกลับไปที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน คุณครูบอกว่าจะแวะบ้านนักเรียนอีกสัก 2-3 หลัง ด้วยหวังว่าจะเจอลูกศิษย์อีกสักคนสองคนก็ยังดี    

ด.ช.ภูผา ชั้น ป.6 วิ่งจากในบ้านออกมาต้อนรับ บนเสื้อและแขนขาเปรอะเปื้อนด้วยร่องรอยจากสีทาผนัง ภูผาบอกว่ากำลังช่วยพ่อขัดกำแพงบ้านเพื่อจะทาสีใหม่ทับ ก่อนพาเข้าไปดูในบ้านที่หลังเอาโคลนออกและทำความสะอาดแล้ว แต่คราบโคลนยังคงทิ้งรอยด่างไว้ถ้วนทั่วทั้งบนผนัง พื้นบ้าน และเพดาน

…รถดันโคลนเคลื่อนผ่านหน้าบ้านของภูผา ไปและกลับ และวกมาอีกครั้ง ส่งเสียงแผดลั่นกลบทุกอย่าง เราจึงไม่มีโอกาสถามภูผาเรื่องเปิดเทอมใหม่ แต่เป็นคุณครูที่ยืนยันว่า บ้านของ ด.ช.ภูผา ถือเป็นกลุ่ม 5% ของเด็กทั้งโรงเรียนที่โดนผลกระทบไม่มาก จึงคิดว่าภูผาน่าจะกลับไปเรียนได้เมื่อโรงเรียนเปิด

จากถนนเส้นหนึ่งถึงอีกเส้น ซอยหนึ่งถึงอีกซอย คุณครูพาเราเข้าไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่เริ่มเข้าถึงยากขึ้น ก่อนจะพบว่าเด็กและครอบครัวส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน จำนวนหนึ่งครูพอมีข้อมูลว่าออกไปอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใคร แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปดูสภาพบ้านเพื่อประเมินความสูญเสีย แต่อีกจำนวนหนึ่ง คุณครูยอมรับว่าแม้อีกไม่กี่วันโรงเรียนจะกลับมาเปิดแล้ว แต่ก็ ‘ยังไม่รู้ข่าวคราว’

ก่อนย้อนกลับไปที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน คุณครูบอกว่าจะแวะบ้านนักเรียนอีกสัก 2-3 หลัง ด้วยหวังว่าจะเจอลูกศิษย์อีกสักคนสองคนก็ยังดี    

ระหว่างตระเวนไปในชุมชนจนย้อนกลับมาที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ‘ครูแวว’ หนึ่งในทีมครูเสมอภาค ฉายภาพสถานการณ์โดยรวมว่าปัญหาที่ที่จะมากับเปิดเทอมใหม่นี้ ครอบคลุมหมดทุกอย่าง ด้วยน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้ทำลายเพียงสิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สิน หรือถนนหนทาง หากยังพรากเอาอาชีพของคนไปด้วย ซึ่งหมายถึง ‘การเริ่มต้นใหม่จะไม่นับจากศูนย์’ แต่ครอบครัวที่สูญเสียหมดทุกอย่างจะ ‘ตั้งต้นกันที่จุดติดลบ’ เนื่องจากจำเป็นต้องเข้าสู่วงจรการกู้หนี้ยืมสิน เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้

“ที่หนักใจที่สุดคือการเดินทาง คิดว่าเปิดเทอมนี้ยังไงก็คงจัดการเรียนการสอนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ อย่างที่เห็นว่าหลายคนยังขาดการติดต่อ เพราะเครื่องมือสื่อสารพัง สูญหายไปกับน้ำ หลายบ้านที่เราเข้าไปเจอคือต้องรออีกเป็นเดือนถึงจะกลับมาอยู่ได้ หลายบ้านก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปแล้ว …ฟื้นฟูไม่ได้ถาวร

“ประเมินให้เห็นภาพคือในเด็กร้อยคน มีเพียงหนึ่งในสิบเท่านั้นที่บ้านยังอาศัยอยู่ได้ อีกเก้าสิบโดนหนักมาก และแม้แต่ครูก็ไม่ต่างกัน เพราะเราอยู่ที่โรงเรียน พอบ้านพักครูโดนน้ำท่วมของใช้ส่วนตัวและเครื่องมือที่ใช้ในการสอนต่าง ๆ ก็ไม่เหลือสักอย่าง”

ครูแววเว้นวรรค วกกลับมาเรื่องเด็ก “ช่วงเปิดเทอม คิดว่าแรก ๆ คงใช้วิธีส่งใบงานให้เด็กที่เจอตัวแล้ว ส่วนคนที่ยังติดต่อไม่ได้ที่มีมากกว่า 50% ก็จะจัดทีมครูช่วยกันตามหา จนกว่าจะรู้ว่าเด็กไปอยู่ที่ไหน เป็นยังไง และต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง”

‘ครูโอ’ ดนัยวัฒน์ เผยว่าเรื่องที่ห่วงที่สุดคือเด็กจะทยอยหลุดจากระบบ เพราะสภาพตอนนี้ถึงรัฐจะช่วยเรื่องเสื้อผ้าชุดนักเรียนหรืออาหาร แต่ตนกลับคิดว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดจริง ๆ ควรเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย รวมถึงสนับสนุนเรื่องการเดินทางมาเรียน การกินอยู่ที่บ้าน และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย เพราะตอนนี้การเยียวยายังครอบคลุมไปไม่ถึง

“อย่าลืมว่าหลายบ้านที่หายไปกับน้ำ ผู้ปกครองเด็กสูญเครื่องมือทำมาหากินไปด้วย แล้วการมาโรงเรียนมันคือค่าใช้จ่าย จึงเชื่อว่าบางครอบครัวอาจตัดสินใจว่าให้เด็กอยู่บ้านไปก่อน ทีนี้พอนานเข้าเด็กก็หลุดโดยปริยาย ดังนั้นพร้อม ๆ กับความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย เราจำเป็นต้องมองเรื่องการฟื้นฟูอาชีพด้วย”

ส่วนเรื่องที่ศูนย์พักพิงและโรงครัวหลายแห่งกำลังทยอยปิด ครูโอบอกว่าเป็นสิ่งที่โรงเรียนต้องคิด ว่าเปิดเทอมแล้วเด็กส่วนนี้จะไปอยู่ที่ไหนและจะกินยังไง รวมถึงต้องเตรียมการรับมือกับอีกหนึ่งปัญหา คือ PM 2.5 ที่จะมาถึงช่วงปลายปี ซึ่งคุณครูบอกว่า “ปีนี้น่าจะหนัก เพราะจะมีฝุ่นจากดินโคลนที่มากับน้ำด้วย”      

‘ครูนุช’ นุจรี อีกหนึ่งครูผู้ลงพื้นที่สำรวจค้นหาเด็ก มองว่า ‘ทุน’ ที่เป็นตัวเงินก็เป็นปัจจัยหลักเช่นกัน “เพราะของที่บริจาคมา มันคือของที่บางครั้งไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการจริง ๆ แล้วพอมาถึง บางอย่างก็ไปกองไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นเงินที่ลงไปที่ครอบครัวเด็กตรง ๆ อาจตอบโจทย์มากกว่าในแง่ที่สามารถเอาไปซื้อหาสิ่งจำเป็นได้เลย           

“คือน้ำท่วมครั้งนี้ต้องบอกว่ามันไม่ได้ค่อย ๆ ไหลเข้ามา แต่เป็นน้ำป่าไหลเชี่ยวและมาเป็นโคลน ซึ่งไม่มีใครเคยเจอมาก่อน ฉะนั้นในความตื่นตระหนกทุกคนก็ต่างต้องเอาชีวิตรอด ไม่มีเวลาหยิบจับอะไรเลย ทีนี้พอน้ำไปแล้ว สิ่งของที่ขาดที่จำเป็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ตรงนี้ใครยังพอมีเงินฝากในธนาคารก็อาจพอเริ่มใหม่ได้ แต่คนที่นี่ส่วนใหญ่ค้าขายได้เงินก็มักใส่กระปุกไว้ที่บ้าน มันก็ลอยหายไปกับน้ำหมด”

‘ปฏิบัติการครูเสมอภาค’ ของโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 ครั้งนี้ คือ ความพยายาม ‘เช็คชื่อ’ น้อง ๆ ก่อนเปิดเทอมใหม่ ในช่วงเวลาอันเปราะบางที่วิกฤตยังไม่ผ่านพ้น เพื่อที่สิ่งที่คณะครูค้นพบ จะกลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการช่วยเหลือเด็กๆไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างทันสถานการณ์ ร่วมกับกสศ.